เมื่อดิฉันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (1)/บทความพิเศษ วัลยา วิวัฒน์ศร

บทความพิเศษ

วัลยา วิวัฒน์ศร

 

เมื่อดิฉันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (1)

 

บ้าน

ร.พ.สนามพลังแผ่นดิน

ร.พ.พระมงกุฎเกล้า

ดิฉันได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มแรกเมื่อเช้าวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ไม่มีอาการข้างเคียงแต่อย่างใด นอกจากง่วงนอนในตอนบ่าย ทั้งนี้คงเป็นเพราะคืนก่อนวันฉีดมีเหตุให้ได้พักผ่อนไม่เพียงพอ

สามีดิฉันอายุ 72 ปี ดิฉันมีอายุ 73 สามีเป็นโรคพาร์กินสันมาเก้าปีเต็ม ทำให้ดิฉันจำเป็นต้องหาแม่บ้านมาช่วยตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเพราะตนเองไม่อาจดูแลคนเดียวได้อีก แม้สามีจะยังไม่ใช่ผู้ป่วยติดเตียง

แล้วเราก็ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากแม่บ้าน

จมูกดิฉันเริ่มไม่ได้กลิ่นตั้งแต่เย็นวันที่ 20 มิถุนายน เริ่มมีเสลด สามียังได้กลิ่น น้องสาวดิฉันช่วยติดต่อหาโรงพยาบาลเพื่อให้มารับไปทำสวอป โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะมารับไปเมื่อวันที่ 22 โทรมาแจ้งผลว่าติดเชื้อโควิดทั้งคู่ตอนบ่ายวันที่ 23 และส่งรถมารับไปอยู่โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน

ดิฉันติดเชื้อมากกว่าสามี เมื่อถึงโรงพยาบาลสนามก็ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หลังอาหารเย็นทันที 9 เม็ด และยาแก้แพ้ Loratadine อีก 1 เม็ด ยาฟาวิฯ นี้กินต่อเช้า-เย็นอีก 3 มื้อ ส่วนสามีได้รับยาแก้ไอเดกซ์โทรเมทอร์แฟนวันละ 3 ครั้ง ได้เอ็กซเรย์ปอดและเริ่มฟาวิฯ 9 เม็ดกับยาแก้ไอ 1 เม็ดในวันที่ 25

น่าแปลกใจที่ใน 2 วัน 3 คืนแรกที่โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน ดิฉันยังมีเรี่ยวแรงเดินได้ พอเขาแจกอาหาร ดิฉันก็จะรีบรับประทานแล้วเดินมายังเตียงของสามีซึ่งอยู่คนละฝั่งของห้องขนาดใหญ่ ห่างกันประมาณ 40 เตียง เพื่อป้อนอาหารให้เขา เนื่องจากเตียงกระดาษเตี้ยและเป็นเตียงราบ เขาจึงกลืนได้เพียงน้ำแกง

ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่เรียกว่าสีเขียว ผู้ป่วยมีจำนวนมาก โรงพยาบาลสนามมีหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ตลอดจนเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยอาการหนักไม่เพียงพอ

ดิฉันจึงคิดหาทางไปรับการรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่ใช่โรงพยาบาลสนาม โชคดีที่สามารถติดต่อโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าซึ่งมีเตียงว่าง 2 เตียงพอดี เราจึงได้ย้ายในเย็นวันที่ 26 มิถุนายน

ดิฉันยังนึกขอบคุณโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะอยู่เสมอที่ได้ให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ดิฉันทันที และแก่สามีใน 2 วันถัดมาตามอาการของเขา

ในรถพยาบาล เจ้าหน้าที่ที่นั่งข้างๆ ให้ดิฉันวัดค่าออกซิเจนโดยใส่เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เขาอ่านค่า 90 91 90 ตอนนั้นดิฉันไม่ทราบความหมายค่าตัวเลข รู้แต่ว่าตัวเองเหนื่อย ส่วนสามีดิฉันนอนเตียงเข็นในรถ

ก่อนรถออก เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสนามวิ่งมาบอกว่าส่งไฟล์การรักษาไปยังโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าแล้ว

 

หอความดันลบ

ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เราอยู่ที่ตึกอุบัติเหตุ ชั้น 4 ซึ่งทำเป็นหอความดันลบสำหรับผู้ป่วย สามีและดิฉันอยู่ชั้นเดียวกันแต่คนละส่วน เขารับอาหารปั่นทางสายยาง หมอได้นำยารักษาพาร์กินสันของเขาตลอดจนบันทึกอาการที่เกิดขึ้น ปริมาณยา เวลากินยา และใบสั่งยาของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งสามีรักษาโรคพาร์กินสันและดิฉันนำติดตัวมาด้วยไป บันทึกนี้ดิฉันทำรายงานคุณหมอที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ทุกครั้งที่พาสามีไปพบหมอ

ต่อมามีคุณหมอซึ่งแนะนำตัวว่าเป็นหมอสมองโทร.มาถามรายละเอียดอาการของเขาหลังจากดูยาและบันทึกทั้งหมด รายละเอียด เช่น การละเมอ การเพ้อตอนกลางคืน ลักษณะการเคลื่อนไหว

ระหว่างสนทนาคุณหมอจับได้ว่าดิฉันกำลังนอนคว่ำอยู่ จึงขอโทษและจะขอซักถามภายหลัง แต่ดิฉันตอบว่าไม่เป็นไร หลังจากสอบถามทั้งหมด สรุปว่าจะบดยาใส่รวมกับอาหารปั่น

ในหอความดันลบส่วนที่ดิฉันอยู่มีเตียงผู้ป่วยประมาณ 15 เตียง เตียงดิฉันอยู่ริม มองผ่านผนังกระจกเห็นห้องใหญ่อีกฝั่งหนึ่งซึ่งใช้เป็นที่ทำงานของทีมแพทย์และพยาบาล ดิฉันเข้าใจว่าเป็นห้องปกติที่ไม่ใช่ห้องความดันลบ มีแพทย์และพยาบาลประจำการ 24 ชั่วโมง

ในช่วงเวลาที่แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาลออกไปพักเพื่อถอดชุดพีพีอี เพื่อรับประทานอาหาร ก็จะมีผู้คอยเฝ้าดูผู้ป่วยในหอความดันลบผ่านกล้องตลอดเวลา และส่งเสียงตามสายมาตักเตือนหรือห้ามผู้ป่วยมิให้ลงจากเตียง เพราะถ้าหกล้มจะเป็นอันตรายยิ่ง

ดิฉันขอเรียกห้องนี้ว่า ห้องบัญชาการ

ในสัปดาห์แรกที่หอความดันลบ ดิฉันหลับเป็นส่วนใหญ่ พยาบาลมาเจาะเลือดไปแต่วันแรก คุณหมอมาบอกวันรุ่งขึ้นว่าคุณป้าเป็นเบาหวานและถามว่ารักษาอย่างไร

ดิฉันตอบคุณหมอไปตามจริงว่า ไม่รู้ว่าตนเองเป็นเบาหวานและไม่ได้รักษา

ดังนั้น ทุกเช้าจึงมีเจาะเลือดเบาหวานเพิ่มอีก 1 รายการ นอกเหนือไปจากการรักษาโรคโควิด-19

อันได้แก่ วัดไข้และความดันวันละ 3 เวลา (เช้า บ่าย เย็น) เอ็กซเรย์ปอดทุกเช้า (มีเจ้าหน้าที่เข็นรถเอ็กซเรย์ขนาดกะทัดรัดซึ่งผ่านแถวเตียงได้ ผู้ป่วยลุกขึ้นนั่งบนเตียง เจ้าหน้าที่เอาแผ่นเอ็กซเรย์ประกบหลัง แล้วกดปุ่มปลายสายขนาดยาวในมือถ่ายภาพ)

กินยาฟาวิพิราเวียร์ 4 เม็ด เช้า-เย็น (จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม หลังจากฝ้าที่ปอดจางลง)

ใส่เครื่องช่วยหายใจ High Flow Nasal Cannula (การใช้ออกซิเจนอัตราไหลสูง-ปลายสายเข้าทางจมูก)

ฉีดยาบำรุงปอด ฉีดยาละลายลิ่มเลือดรอบสะดือวันละครั้ง รับยาฆ่าเชื้อวันละขวดผ่านทางน้ำเกลือ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นกินยาเม็ดเมื่ออาการดีขึ้น) กินยารักษาเบาหวาน (มีฉีดอินซูลิน 1 ครั้ง)

ทุกเช้าพยาบาลจะมาเจาะเลือดไปหลอดใหญ่ แล้วไปแบ่งเป็นหลอดเล็ก ดิฉันไม่แน่ใจว่าถึง 4 หลอดหรือไม่ ดิฉันมาตระหนักภายหลังว่าการวิเคราะห์เลือดของเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์สำคัญขนาดไหน เพราะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยความรุนแรงของโรคและตัดสินใจในการรักษา (แน่ละภาพเอ็กซเรย์ปอดก็สำคัญยิ่ง) เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์จึงเป็นผู้ปฏิบัติงานสำคัญอีกทีมหนึ่งที่ผู้ป่วยไม่ได้พบหน้า

เหนือเตียงดิฉันมีกระดาษแปะไว้ เขียนชื่อ วัลยา กำหนดให้นอนคว่ำวันละ 3 เวลา รอบละ 2 ชั่วโมง เวลาที่ระบุไว้คือ 10-12 น. 14-16 น. และ 19-21 น.

การนอนคว่ำจะช่วยเพิ่มออกซิเจนให้แก่ปอด

การนอนคว่ำนี้ไม่สบาย หมอนของดิฉันทั้งหนาทั้งแข็ง ประกอบกับมีอุปกรณ์แผ่นยางทรงกลมหนาๆ ติดหน้าอกและหน้าท้องเพื่อวัดการทำงานของหัวใจ จึงรู้สึกเจ็บ แต่ก็ต้องทน พยายามมีวินัย นอนคว่ำตรงเวลา ครบเวลา บางครั้งเผยอตัวดูเวลาว่าเหลืออีกเท่าไหร่จึงจะครบ แล้วก็ถอนใจ นอนคว่ำต่อ จนบางคราก็หลับไป

ดิฉันขอเปลี่ยนหมอนที่แบนกว่านี้ ตอนแรกน้องพยาบาลบอกว่าไม่มี แต่วันรุ่งขึ้นก็นำมาให้ อุปกรณ์ติดหน้าอกก็หลุดจากตัวช่วงนอนคว่ำและขยับตัว จึงบอกคุณหมอว่าปกติกินยาบำรุงกล้ามเนื้อหัวใจแต่ไม่ได้กินตั้งแต่เข้าโรงพยาบาล คุณหมอจึงให้พยาบาลจดชื่อยาไปเพื่อหาส่วนประกอบและคุณสมบัติ วันรุ่งขึ้นคุณหมอสั่งยาให้และให้เอาอุปกรณ์ออก การนอนคว่ำนี้จึงสุนทรีย์ขึ้น

ในสัปดาห์แรกซึ่งดิฉันหลับเป็นส่วนใหญ่ ตื่นขึ้นมานึกว่าเช้า อ้าว กลายเป็นบ่ายสอง ครั้งหนึ่งตื่นขึ้นมาช่วงที่ทีมพยาบาลออกไปพัก เขาจะหรี่ไฟในหอความดันลบให้ผู้ป่วยหลับสบาย ดิฉันลืมตาขึ้นมารู้สึกเหมือนอยู่ในแดนสนธยา เห็นเสาสเตนเลสสำหรับแขวนขวดยาและถุงน้ำเกลือที่หัวเตียงปลายเตียงของทุกเตียง ราวสเตนเลสแขวนผ้าม่านรอบเตียง ท่ออากาศมากมาย อีกทั้งโลหะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเจาะรูเหมือนรังผึ้งเหนือเตียงท่ามกลางแสงสลัว

หากท่านผู้อ่านอยากเห็นลักษณะภายในหอความดันลบ ก็ถามกูเกิลได้ พิมพ์ว่า หอความดันลบ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

บางครั้งแดนสนธยาจะถูกรบกวนด้วยเสียงตามสายจากห้องทำงานของทีมแพทย์พยาบาลฝั่งตรงข้าม หรือที่ดิฉันเรียกว่าห้องบัญชาการ

 

ตาวิเศษ

ในหอความดันลบนี้ติดตั้งอุปกรณ์ ‘สอดแนม’ สำหรับสอดส่องดูความเคลื่อนไหวของผู้ป่วยอันทีมแพทย์ พยาบาลไม่ประสงค์จะให้เกิด เช่น พยายามลงจากเตียง ถอดสายให้ออกซิเจนทางจมูก (Cannula) ออก (ช่วงที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ High Flow ไม่มีปัญหานี้เพราะยังหายใจเองแทบจะไม่ได้ ไม่มีใครคิดจะดึงออก) จะมีเสียงตามสายดังมาได้ยินทั้งหอว่า

“คุณป้า (ชื่อ) เตียงหมายเลข (…) คะ นอนค่ะ นอนลง ห้ามลงจากเตียงนะคะ อันตรายมากค่ะ”

“อาม่า (ชื่อ) อาม่าคะ อย่าเอาสายออกซิเจนออกสิคะ ใส่กลับเข้าไปใหม่ค่ะ ใส่ค่ะ นั่นแหละค่ะ ดีค่ะ ดีมากค่ะอาม่า”

แม้แต่ในเวลาที่ทีมพยาบาลยังอยู่ในหอความดันลบ ตาวิเศษก็ช่วยสอดส่อง

เช้าหนึ่งดิฉันได้ยินเสียงตามสายขอให้เจ้าหน้าที่เอ็กซเรย์ช่วยผู้ป่วยทำอย่างใดอย่างหนึ่ง (ดิฉันจำรายละเอียดไม่ได้) เนื่องจากไม่มีพยาบาลอยู่บริเวณนั้นเพราะดูแลผู้ป่วยเตียงอื่นห่างไปมาก

บางครั้งถ้าเป็นเรื่องฉุกเฉิน เสียงตามสายก็จะเรียกพยาบาลสักคนให้ปลีกตัวไปดูทันที

อานุภาพตาวิเศษที่เกิดกับดิฉันก็มี กล่าวคือ เวลาพลิกตัว บางทีสายออกซิเจนก็ขยับออก ไม่เข้าที่ จึงต้องใส่ใหม่ ต่อมาดิฉันรู้สึกคัดจมูกจึงม้วนทิชชู่สอดดู ปรากฏว่ามีเลือดจางๆ ติดออกมา ดิฉันค่อยๆ เช็ดขี้มูกแห้งๆ ออกมาด้วย

ทำเช่นนั้นอยู่ 2 วัน ก็มีคุณหมอเดินมาหาบอกว่า คุณป้าจมูกตัน หมอจะจัดการให้

แล้วคุณหมอก็ทำความสะอาดรูจมูกดิฉัน อธิบายว่าที่มีเลือดออกจางๆ เพราะดิฉันใส่สายออกซิเจนโดยเอาส่วนที่เป็นปลายงอขึ้นด้านบน แทนที่จะคว่ำลง ปลายงอจึงสัมผัสเนื้อเยื่อในจมูก คุณหมอชี้ให้ดิฉันดูปลายงอซึ่งสังเกตไม่ง่ายนัก แล้วให้ดิฉันส่องดูให้ดีก่อนใส่

เมื่อทำได้ ปัญหานี้ก็หมดไป