ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 กันยายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เป็นวันที่ชาวโลกจำนวนมากรวมทั้งผมด้วยย้อนรำลึกนึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่เรียกชื่อกันโดยทั่วไปว่า เหตุการณ์ 9/11
อันหมายถึงเหตุการณ์การก่อการร้ายบันลือโลกที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 เดือนกันยายน พุทธศักราช 2544 เวียนมาบรรจบครบรอบปีที่ยี่สิบ
ในโอกาสนั้นผมได้เขียนข้อความทวนความทรงจำของผมเกี่ยวกับตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ว่ามีความใกล้ชิดสนิทสนมกันอย่างไรบ้างในอดีตเมื่อครั้งที่ผมไปเรียนหนังสืออยู่ที่นครนิวยอร์ก ระหว่างเดือนกันยายน พุทธศักราช 2521 จนถึงเดือนมกราคม พุทธศักราช 2523
โดยผมได้อาศัยข้อมูลจากจดหมายที่ผมเขียนส่งกลับมาถึงครอบครัวตัวเองระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวจำนวนมากถึงราว 300 ฉบับ เป็นเครื่องช่วยทบทวนความทรงจำ
ใช่แล้วครับ ทุกท่านอ่านไม่ผิดและตาของท่านก็ไม่ได้ฝาดด้วย
เพียงระยะเวลาไม่ถึงปีครึ่งผมเขียนจดหมายกลับมาถึงบ้านมากมายถึงเพียงนั้น
ถ้าไม่บ้าก็เมาล่ะครับ
เราต้องมานึกย้อนหลังไปดูความเป็นไปในโลกครั้งนั้นเสียก่อนว่า คำว่าอินเตอร์เน็ตยังไม่เคยปรากฏขึ้นในความรับรู้ของมนุษย์ Facebook, LINE, Instagram หรือทวิตเตอร์ เป็นเรื่องของโลกอนาคตที่อยู่ห่างไกลเกินจินตนาการ
การสื่อสารทางไกลที่นิยมใช้และต้องถือว่าทันสมัยมากที่สุดแล้วคือโทรศัพท์ข้ามประเทศ แต่ราคาก็แพงเหลือใจ
โทรศัพท์จากอเมริกากลับมาเมืองไทยมีราคาค่าใช้จ่ายอยู่ที่สามนาทีแรก 9 เหรียญ แปลเป็นเงินไทยก็ 180 บาท ในขณะที่เงินเดือนคนจบปริญญาตรีของเมืองไทยแล้วรับราชการดูเหมือนจะอยู่ที่ 1,750 บาทเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ตลอดเวลาที่ผมเรียนหนังสืออยู่ที่เมืองนอก การโทรศัพท์กลับบ้านจึงต้องถือเป็นเหตุพิเศษจริงๆ เช่น วันเกิดของพ่อ-แม่ หรือวันเกิดของตัวเอง
ไม่ได้โทรศัพท์หากันพร่ำเพรื่อแบบที่เราใช้ LINE คุยกันทุกวันนี้
นักเรียนไทยสมัยผมเวลาโทร.กลับบ้านแล้วคุณแม่ร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรด้วยความคิดถึงลูกสุดที่รัก ลูกต้องเตือนว่า แม่อย่าร้องไห้มากนักเพราะมันแพง ฮา!
การติดต่อสื่อสารของผมกับเมืองไทยในขณะเดียวกันกับเป็นการคลายเหงาของตัวเองด้วยจึงไม่มีอะไรดีไปกว่าการเขียนจดหมาย
ข้างฝ่ายเมืองไทย ครอบครัวของผมและเพื่อนๆ ก็ใช้วิธีเขียนจดหมายไปหาผมเหมือนกัน
ด้วยความที่ผมเป็นคนขยันเขียน คนอื่นก็จำเป็นต้องขยันตอบบ้างเพื่อให้สมน้ำสมเนื้อกัน
จดหมายที่ผมได้รับจากเมืองไทยในช่วงนั้นจึงน่าจะมีจำนวนหลายร้อยฉบับอยู่เหมือนกัน
แต่น่าเสียดายมากที่ตอนเรียนหนังสือจบและเดินทางกลับเมืองไทยผมไม่ได้มีความสามารถที่จะนำจดหมายเหล่านั้นกลับบ้านมาด้วย จึงต้องทิ้งไว้เป็นเหยื่อของกาลเวลาอยู่ที่นิวยอร์กนั่นเอง
จดหมายที่ใครต่อใครเขียนไปหาผมยุคนั้นคงจะกลายเป็นถุงกล้วยแขกเมืองนิวยอร์กที่อ่านสนุกน่าดู
แต่ข้างฝ่ายจดหมายที่ผมเขียนส่งมาถึงครอบครัวของตัวเอง ผมต้องขอยกย่องว่าแม่ของผมเป็น “นักจดหมายเหตุแห่งชาติ” ตัวจริงเสียงจริง เพราะแม่เก็บเอาไว้ครบถ้วนทุกฉบับ ไม่มีตกหล่น
จดหมายเหล่านี้เองทำให้เรื่องราวของชีวิตผมในระหว่างอยู่ที่นิวยอร์ก มีหลักฐานอ้างอิงเป็นลายลักษณ์อักษรอักษรที่สามารถสืบค้นได้
เป็นประโยชน์มากที่จะเก็บไว้ใช้ทำงานได้หลายอย่าง
เพราะลำพังความทรงจำของมนุษย์นั้นมีขีดจำกัด ผมได้เคยเขียนและพูดไว้ในหลายที่แล้วว่าการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่ได้พบเห็นไว้เป็นตัวหนังสือจะช่วยรักษาความทรงจำของเราให้ยืนยาวได้ดีกว่าเก็บรักษาไว้ในสมองเป็นไหนๆ
เมื่อนำจดหมายจำนวนนั้นมานั่งพลิกอ่านในเวลานี้ จดหมายดังกล่าวก็ได้ทำหน้าที่เป็นยานวิเศษพาผมย้อนหลังกลับไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตวัยเรียนครั้งนั้น มีทั้งเรื่องสนุกสนาน ข้อคิดเตือนใจ
แถมความคิดบางอย่างเมื่อนำกลับมาทบทวนดูในเวลานี้ก็พบว่า ประเด็นต่างๆ บางประเด็นยังไม่ได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไปข้างไหนเลย
นี่ก็เป็นนิจจังอย่างหนึ่งในท่ามกลางของที่เป็นอนิจจังทั้งหลาย
ขึ้นหัวข้อเป็นธรรมะอย่างนี้มาแล้ว พากันไปเข้าวัดเข้าวาดีไหมครับ คนไทยไปอยู่ที่ไหนก็อดไม่ได้ที่จะต้องคิดสร้างวัดวาอารามขึ้นเพื่อเป็นบุณยสถาน
ยิ่งไปกว่านั้น วัดไทยในเมืองนอกยังทำหน้าที่อีกหลายอย่างคล้ายๆ กับวัดยุคโบราณของเรา คือเป็นที่พึ่งพิงไปเสียทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสอนหนังสือ เป็นที่จัดงานประเพณี เป็นที่ประชุมสมาคม และอื่นๆ อีกสารพัด
ผมเองไปอยู่นิวยอร์กได้สักพักก็รู้สึกคิดถึงผ้าเหลืองเป็นอันมาก ไม่ได้คิดเอามาห่มเองนะครับ แต่อยากกราบไหว้ให้อุ่นใจ
เมื่อได้ข่าวว่าจะมีพระผู้ใหญ่เดินทางไปถึงนิวยอร์ก และเป็นพระเถระที่ผมเคยได้ยินกิตติศัพท์ของท่านมาช้านานแล้ว ในฉายาว่า “ปัญญานันทภิกขุ” หรือพระพรหมมังคลาจารย์ในเวลาต่อมา ยุคสมัยที่ท่านไปนิวยอร์กในปีพุทธศักราช 2522 นั้น ท่านดำรงศักดิ์สมณศักดิ์เป็นที่ พระราชนันทมุนี
พอถึงวันกำหนด ผมกับเพื่อนนักเรียนที่อยู่มหาวิทยาลัยเดียวกันก็ขึ้นรถใต้ดินไปฟังเทศน์ที่วัดไทยซึ่งชื่อว่าวัดวชิรธรรมประทีป ซึ่งตั้งอยู่ในเขตบร็องซ์ของนครนิวยอร์ก
ผมเขียนจดหมายบันทึกว่า
“กว่าเราจะไปถึงวัดนั้น ท่านเจ้าคุณลงมือเทศน์ไปแล้ว แต่ก็ยังได้ฟังเทศน์อยู่จนจบอีกราวครึ่งชั่วโมง เรื่องที่ท่านเทศน์เลือกได้เหมาะสมกับคนที่มาอยู่ทางนี้ ทางที่มาเรียนหนังสือและมาทำงาน ใจความโดยสรุปก็คือ ให้ทุกคนดำเนินชีวิตอย่างมีจุดหมาย มีความพยายามที่จะสร้างบุญกุศล และละเว้นจากการประพฤติผิดทั้งหลาย ทรัพย์สินที่หามาได้ก็ต้องใช้จ่ายอย่างถูกทาง เรียกว่าฟังเทศน์วันนี้ไม่ผิดหวังกับที่เดินทางไปเลย…”
นอกจากฟังเทศน์ฟังธรรมตามกาลแล้ว ส่วนตัวผมเอง วันไหนมีเวลาว่างก็นึกถามตัวเองเหมือนกันครับว่า อยู่ในศีลในธรรมมากน้อยสักแค่ไหน
ได้คำตอบว่าอย่างนี้ครับ
“เมื่อสักสี่-ห้าวันก่อน มานั่งทบทวนว่าศีลห้านั้นรักษาได้สักเท่าไหร่ ศีลข้อแรกปาณาติบาตนั้น อยู่ทางนี้รักษาได้ดีมากทีเดียว เพราะมดไม่มี แมลงวันไม่มี ยุงไม่มี เรื่องที่จะต้องไปรบราฆ่าฟันกับมันจึงหมดไป แมลงสาบนั้นถึงมีมากเพราะนิวยอร์กเป็นเมืองเก่า แต่ที่หอพักของเราไม่มีเลย เขามีพนักงานมาพ่นยากันเอาไว้ทุกเดือน วันทั้งวันถึงไม่มีเรื่องจะต้องบี้ต้องตบตัวอะไรเลย ศีลข้อสองลักทรัพย์นั้น ไม่ค่อยแน่ใจตัวเองนัก เพราะบางทีก็เผลอ ‘ขอยืม’ ใครอยู่บ่อยๆ แต่ชนิดจะจงใจขโมยนั้นไม่มีเลย ศีลข้อสามไม่ต้องพูดอยู่แล้ว เพราะแถวนี้ไม่มีลูก-เมียใครเลย มีก็แต่ฝรั่งมังฆ้องทั้งนั้น ซึ่งเราไม่สนใจมัน มันก็ไม่สนใจเรา ข้อถัดไปเรื่องโกหกนั้น วันนี้รักษาไม่ได้จริงๆ เพราะถ้าขืนต้องพูดแต่ความจริงตลอดกาลแล้ว จะต้องถูกคนโกรธหลายราย จึงต้องเอาแต่เฉพาะที่ทำให้คบกันได้ยืด ข้อนี้เลยโดนละเมิดบ้างนิดๆ หน่อยๆ เสมอ ส่วนข้อสุดท้ายนั้น ในชั้นเหล้ายังไม่ผิดข้อห้ามเลย แต่มีเบียร์บ้างตามความจำเป็น ในกรณีที่งานเลี้ยงเขาไม่มีเครื่องดื่มอื่นเลยและเจ้าภาพเขาส่งมาให้ อย่างนี้ก็ไม่มีทางเลือก ข้อนี้ถ้าจะถือว่าศีลขาดก็คงขาดนิดหน่อยกระมัง…”
นี่เป็นคำอธิบายเรื่องศีลห้าของคนหนุ่มวัย 23 ปีอธิบายกับตัวเองเมื่อ 40 กว่าปีก่อน อธิบายไปก็มีคำแก้ตัวสารพัด ฟังขึ้นบ้าง ฟังไม่ขึ้นบ้าง
แต่ถ้าต้องมาทำข้อสอบแบบเดียวกันอีกครั้งในเวลานี้ ผมจะได้คะแนนเท่าเดิมหรือน้อยกว่าเดิมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน
เอาเป็นว่าเรามองข้ามประเด็นนี้ไปก่อนแล้วกันนะครับ
ในจดหมายหลายร้อยฉบับที่ผมเขียนจบถึงบ้าน เล่าเรื่องสารพัด รวมทั้งการเมืองของสหรัฐอเมริกาและการเมืองของไทยด้วย หลายท่านคงสงสัยว่าอยู่ไกลถึงขนาดนั้นจะรู้เรื่องเมืองไทยได้อย่างไร ก็รู้แบบงูๆ ปลาๆ ล่ะครับ สมัยนั้นอินเตอร์เน็ตออนไลน์อะไรก็ไม่มี ข่าวโทรทัศน์เมืองอเมริกาก็ไม่มีเมืองไทยอยู่ในสายตา
ดังนั้น ข้อมูลส่วนมากจึงต้องอาศัยจากคนที่อยู่เมืองไทยส่งข่าวไปให้ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะไม่ครบถ้วนทุกแง่มุม
แต่ถึงกระนั้นก็เป็นที่หิวกระหายของคนอยู่ไกลบ้านอย่างผม รู้นิดรู้หน่อยก็วิจารณ์ได้ครับ เพราะเป็นจดหมายที่วิจารณ์แล้วให้พ่อกับแม่อ่าน ไม่ได้ไปลงหนังสือพิมพ์ที่ไหน ไม่ได้เขียนมาลงมติชนแบบนี้นี่นา
ในราวเดือนพฤษภาคม ปีพุทธศักราช 2522 นั้น เพิ่งจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกในเมืองไทยหลังจากมีการยึดอำนาจติดต่อกันถึงสองครั้งในปี 2519 และ 2520 หลังเลือกตั้งแล้ว พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้จัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างที่ยังชิงไหวชิงพริบใครจะเป็นคนตั้งรัฐบาล เพราะไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมากเด็ดขาดนั้นเอง เพื่อนของผมที่เรียนหนังสืออยู่ที่อเมริกาเมืองอื่นโทรศัพท์มาเล่าว่า คุณเกรียงศักดิ์กับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ตกลงรวมกันตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งต่อมาปรากฏว่าไม่เป็นความจริง ผมได้ออกความเห็นไว้ในระหว่างนั้นว่า
“พอเป็นนักการเมืองเข้าไปแล้วไม่มีมิตรและศัตรูที่จีรัง ตอนไหนที่ผลประโยชน์หรือความคิดมันรวมกันได้ ตอนนั้นก็เป็นมิตร เมื่อไหร่ก็ตามขัดแย้งกันก็เป็นศัตรู กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้เอง คนที่ด่ากันเมื่อวาน พอวันนี้กอดคอกันก็มีถมไป…”
อ่านแล้วก็สงสัยและถามตัวเองว่า ตกลงที่เขียนนี้ เขียนไว้เมื่อปี 2522 หรือเขียนไว้หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมากันแน่ ทำไมข้อความนี้ถึงยังใช้ได้ทุกตัวอักษรหนอ
นี่แหละครับคือตัวอย่างที่ผมบอกว่า เป็นนิจจังอย่างหนึ่งของเมืองไทย
อันที่จริงเรื่องการเมืองที่เป็นทำนองนี้บ้านอื่นประเทศอื่นเขาก็มีเหมือนกัน
แต่ตามสติปัญญาความรู้ของผมแล้ว บ้านเราเด็ดดวงอยู่ในแถวหน้าไม่แพ้ใครเลยทีเดียว
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผมก็พร่ำบอกกับตัวเองและคนรอบข้างเสมอว่า บนวิถีประชาธิปไตยนั้นเราต้องมีความอดทน
ถ้าเราคิดแต่จะล้มกระดานแล้วกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เมื่อไหร่จะถึงเก้าถึงสิบถึงร้อยกันเสียที การเลือกตั้งแต่ละครั้งจะทำให้ประชาชนเรียนรู้และสร้างบทเรียนใหม่ให้กับนักการเมืองอยู่เสมอ อะไรไม่ดีก็แก้ก็ปรับกันไป
นี่พูดเหมือนกับจะเลือกตั้งอยู่ในวันในพรุ่งอย่างนั้นแหละ คนเขียนบทความวันนี้เพ้อมากนะครับ
อย่าไปฟังแกมากเลย ปล่อยให้เป็นบ้าไปคนเดียวเถิด