นิ้วกลม : ยุคนี้ทุกคนต้องปรับตัวให้ทัน (จริงดิ)

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

คอลัมน์ มิตรสหายเล่มหนึ่ง / นิ้วกลม [email protected]

ยุคนี้ทุกคนต้องปรับตัวให้ทัน (จริงดิ)

ปี 2018 MIT Technology Review เผยข้อมูล 50 บริษัท โดยทางกองบรรณาธิการตั้งข้อสังเกตว่าล้วนเป็นบริษัทที่คิดค้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการสร้างโมเดลทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่เรารู้จักกันดี ใช้งานอยู่ทุกวี่วัน เช่น Apple, Microsoft, Amazon, Facebook, Tencent เป็นต้น

ยิ่งนับวันอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยียิ่งโดดเด่น ทำกำไรดี ผนวกกับสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้บริษัทกลุ่มเทคโนโลยีทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง

ในยุคอุตสาหกรรม เทคโนโลยีคือเครื่องมือการผลิตและปัจจัยที่ช่วยเพิ่มอัตราเร่งการขยายตัวของทุนนิยม มาถึงวันนี้จึงกลายเป็น ‘Technocapitalism’ หรือทุนนิยมเทคโนโลยีซึ่งใช้ความทันสมัยหลายอย่างมาร่วมขับเคลื่อนการผลิตและค้าขาย

ตั้งแต่ Internet of things, Big Data, หุ่นยนต์กลไกอัตโนมัติ, อัลกอริธึ่ม, อากาศยานไร้คนขับ (โดรน), 3D printing, ฯลฯ

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อชีวิตและความคิดของมนุษย์ไม่น้อย

ส่วนบริษัทต่างๆ ที่พัฒนาได้เร็วก็ยิ่งทำกำไรได้มากขึ้น

เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในตารางจัดอันดับทั้งหลายที่บริษัทเทคโนโลยีวิ่งแซงมหาอำนาจเก่าอย่างอุตสาหกรรมรถยนต์หรือธุรกิจน้ำมัน เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการงานมากมาย

หลายธุรกิจล้มหายตายจากเมื่อถูก ‘ดิสรัปต์’ จากคลื่นยักษ์ที่เร็ว แรง ตั้งตัวไม่ทัน

ข้อมูลข่าวสารนับไม่ถ้วนถูกบรรจุเข้าไปในโลกดิจิตอล ย่อมหมายถึงโอกาสใหม่ในโลกใบนั้น แค่เหล่ตามองยูทูบเบอร์ บล็อกเกอร์ ศิลปินอินดี้ร้อยล้านวิวโดยไม่ต้องอยู่ค่ายใหญ่หรือออกทีวีช่องไหน ก็เข้าใจทันทีว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว

มองเผินๆ ดูเหมือนเทคโนโลยีมาพร้อมโอกาสใหม่

แต่ปรากฏว่าสิ่งที่จูงมือมาพร้อมกันคือความเหลื่อมล้ำแห่งโลกดิจิตอลที่สะท้อนความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ไม่เฉพาะผู้คนทั่วไปแต่ยังหมายรวมไปถึงผู้ประกอบการดั้งเดิมที่ปรับตัวไม่ทันแล้วกลายเป็นผู้แพ้ในโลกใหม่ ไม่ต่างอะไรกับขุนนางชั้นสูงถูกปลดลงจากบัลลังก์ในโลกยุคก่อน ซึ่งแน่นอนว่าพนักงานตัวเล็กตัวน้อยก็หนีไม่พ้นผลกระทบจากความทันสมัยที่พวกเขาวิ่งตามไม่ทัน

คนรุ่นใหม่ก็ต้องวิ่ง คนรุ่นเก่าก็ต้องไล่กวด ในเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไวเหลือเกิน

เราได้ยินเสียงพร่ำสอนและร้องเรียกให้ทุกคนปรับตัว โลกยุคนี้แบ่งคนออกเป็นสองประเภท นั่นคือคนปรับตัวได้กับคนปรับตัวไม่ได้-อ่อนแอก็แพ้ไป

อาจารย์ชณาน์ทัต ศุภชลาศัย เขียนถึงแง่มุมน่าคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ Technopocene ว่ามันเป็นปัญหาที่วิ่งคู่กันมากับระบบทุนนิยม

มาค่อยๆ ไล่เรียงไปด้วยกันครับ

หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีกระทบวิถีชีวิตมนุษย์อย่างไร ตั้งแต่ความสามารถของเทคโนโลยีทั้งหลายที่ค่อยๆ จำลองความสามารถของมนุษย์แล้วทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ ต่างเพิ่มศักยภาพมากขึ้นจนสามารถทดแทน (เผลอๆ จะแซง) บทบาทหน้าที่ซึ่งมนุษย์เคยทำ

มันค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาอยู่ในชีวิตและการงานของพวกเรามากขึ้นจนมาถึงจุดที่ถกเถียงกันแล้วว่าเส้นขอบการพัฒนา

ปัญญาประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์ควรอยู่ตรงไหนจึงไม่เป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ แต่ก่อนไปถึงจุดนั้น มนุษย์จำนวนมากอาจได้รับผลกระทบไปก่อนแล้ว

ในตอนแรก เราพยายามสร้างเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อเลียนแบบมนุษย์

แต่ไปๆ มาๆ มนุษย์เองนี่แหละที่อาจกลายไปเป็นคนที่คิดเหมือนหุ่นยนต์

เมื่อเอไอทั้งหลายทำหน้าที่ป้อนข้อมูลมหาศาลให้เราด้วยความเร่งที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลเหล่านั้นเป็น ‘สินค้า’ ที่แทรกซึมเข้าไปสมองของเรา ต้องไม่ลืมว่าสิ่งเหล่านี้ถูกคิดคำนวณมาเป็นอย่างดีว่าควรให้ผู้คนรับรู้ข้อมูลใดบ้าง

เช่น ข้อมูลที่เขาชอบหรือเชื่ออยู่แล้ว ข้อมูลเหมือนสิ่งที่เขาเคยถูกใจในอดีต ข้อมูลที่ทำให้เขาซื้อของมากขึ้น ข้อมูลที่ทำให้เขาอยู่กับหน้าจอนานขึ้น ฯลฯ

ในความสัมพันธ์แบบนี้ มนุษย์มิใช่คนสร้างเทคโนโลยีอีกต่อไป แต่เรากลายเป็นส่วนหนึ่งกับเทคโนโลยี (technological being) จนกระทั่งสภาวะความเป็นมนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่เกิดมาเพื่อการขบคิดค่อยๆ หายไป เราไหลไปตามอัลกอริธึ่มเหมือนขับรถไปตามเสียงบอกทางของกูเกิลแม็ป

ในระบบเช่นนี้ มนุษย์กลุ่มที่มีอำนาจมากกว่า (คนผลิต) จะเป็นผู้คิด ขณะที่คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มสูญเสียพลังการคิด (สูญเสียความเป็นมนุษย์) จากการได้รับการอำนวยความสะดวกจากเครื่องจักร

ฝ่ายผู้ครอบครองทุนซึ่งสะสมกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เร่งพัฒนาเพื่อทำกำไรจนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นรวมถึงสภาพแวดล้อมของโลกทั้งใบด้วยความเร่งที่ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม

สิ่งที่ดำเนินไปพร้อมกันคือ คนส่วนใหญ่ที่ปรับตัวไม่ทันสูญเสียงานให้หุ่นยนต์ อำนาจต่อรองลดลง สวนทางกับอำนาจของทุนและรัฐที่จับมือกันแล้วแข็งแกร่งขึ้นอีก จึงมีผู้วิจารณ์ว่าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยที่ทำให้ทุนนิยมกลายเป็นประโยชน์สูงสุดแก่คนจำนวนหยิบมือบนโลกนี้เท่านั้น

ในหนังสือเล่มนี้อ้างถึงคำพูดของฟรังโก ‘บิโฟ’ เบอราดี ว่า ขณะนี้เราทุกคนกำลังอยู่ในโลกที่ชื่อว่า ‘ความเบ็ดเสร็จนิยมแห่งการจัดการระบบประสาทความคิด’ หมายถึงร่างกาย ความคิด จิตใจของมนุษย์ถูกกำหนดโดยเทคโนโลยีและทุนนิยมการรับรู้ อาจลองสังเกตดูง่ายๆ ก็ได้ว่าเวลาวิ่งเราวิ่งตามนาฬิกาบนข้อมือหรือดูจังหวะเต้นของหัวใจมากกว่ากัน

กูเกิล เฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ติ๊กต็อก จึงเป็นเสมือนผู้ครอบครองข้อมูลข่าวสารที่จัดระบบให้มนุษย์คิดไปตามข้อมูลเหล่านั้น ทุกแอพพลิเคชั่นที่เราใช้ล้วนแล้วแต่หลอมรวมให้เรากลายไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน นอกจากนั้น ยังเป็น ‘แรงงาน’ ที่ผลิตคอนเทนต์ป้อนเข้าไปทุกวี่วันเพื่อแลกกับยอดไลก์ ยอดวิว ยอดรีทวีต

เมื่อเป็นเช่นนี้ สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วเทคโนโลยีรับใช้พวกเขาหรือพวกเขารับใช้เทคโนโลยีอยู่กันแน่?

 

หนังสือเล่มนี้เสนอว่า ชนชั้นแรงงาน (ในยุคสมัยใหม่) ต้องร่วมกันแบ่งปันและเผยแพร่ภูมิปัญญาเกี่ยวกับปมปัญหาภายในทุนนิยมให้กลายเป็นสิ่งที่หาเจอง่าย ไม่ต่างจากเวลาค้นคำยอดฮิตจากกูเกิล

แรงงานเหล่านี้ต้องไม่เป็นมนุษย์กูเกิล คือไหลไปตามอัลกอริธึ่มแบบที่แพลตฟอร์มยอดฮิตทั้งหลายจูงจมูกเราให้สนใจสิ่งที่ได้รับความนิยม โดยใช้วิธีใส่ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและความเลวร้ายของทุนนิยมลงไปในกูเกิลนี่แหละเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

และนี่อาจเป็นนิยามหนึ่งของ ‘งาน’

ที่มิใช่เพียงทำงานไปตามกระแสความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโดยปราศจากคำถาม แต่ตั้งคำถามกับปัญหาของมัน แล้วผลิตความรู้เพื่อวิพากษ์มันโดยใช้เวลานอกเวลางาน นอกระบบทุนนิยม

เช่นนี้แล้ว ผู้ที่ทำแบบนี้จึงเป็นศิลปินในตัวเอง สิ่งที่ทำอาจได้ค่าตอบแทนบ้างหรืออาจไม่ได้ พวกเขาอาศัยเครื่องมือที่นายทุนผลิตขึ้น เช่น อินเตอร์เน็ต สมาร์ตโฟน แอพพ์ต่างๆ ฯลฯ เพื่อขับเคลื่อนอุดมการณ์ร่วมกันโดยอาจไม่เคยพบปะกันมาก่อน ทว่ามีเป้าประสงค์ร่วมกันคือเปิดโปงความอยุติธรรม ชี้ปัญหาของมายาเทคโนโลยี และเสนอทางเลือกใหม่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

โดยถ้อยคำและโทนเสียงอาจเป็นวิธีคิดแบบมาร์กซิสต์ ซึ่งคงมีคนชอบหรือไม่ชอบ กระนั้นสิ่งที่ผมเห็นด้วยคือการถ่วงสมดุลของโลกที่เร่งไปข้างหน้าและทิ้งคนจำนวนมากไว้ข้างหลัง

การพัฒนาที่สร้างความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ จำเป็นต้องถูกหน่วงรั้งไว้ด้วยข้อวิพากษ์วิจารณ์บ้าง

ยูจีน สโตเออเมอร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนเป็นผู้เสนอคำว่า ‘Anthropocene’ หรือ ‘สมัยมนุษย์’ ซึ่งหมายถึงยุคที่ความเปลี่ยนแปลงในโลกจำนวนมากเกิดจากการกระทำของมนุษย์

เป็นยุคที่คนเราขูดรีดเอาธรรมชาติมาเป็น ‘ทรัพยากร’ เรามองไปที่ธรรมชาติแล้วครุ่นคิดว่าเอามันมาทำกำไรได้ยังไงบ้าง ไม่ได้มองธรรมชาติอย่างที่เป็น

ไม่เพียงเท่านั้น ในสายตามนุษย์ยังมองธรรมชาติเป็นสิ่งไร้ระเบียบ ขาดความเป็นศิลปะ ทั้งนี้เกิดจากการใช้สายตามนุษย์ไปตัดสิน ทั้งที่ธรรมชาติมีความงามในแบบของมัน แต่มนุษย์มักพยายามดัดแปลงธรรมชาติให้กลายมาเป็นวัฒนธรรมของตัวเองโดยไม่เคารพต่อตัวธรรมชาติดั้งเดิมที่มีคุณค่าแตกต่างไป

เช่น ป่าดงดิบก็มีคุณค่าสำหรับสรรพชีวิต แต่มันจะเป็น ‘ประโยชน์’ ก็ต่อเมื่อมนุษย์ได้เข้าไปเที่ยวหรือใช้สอย

หรือต้นยางไม่ได้มีคุณค่าในตัวมันจนกระทั่งมนุษย์ได้กรีดยางมาใช้ ฯลฯ

เราจึงเติบโตมาในยุคสมัยที่เห็นว่าวัฒนธรรมมนุษย์โดดเด่นและยิ่งใหญ่กว่าธรรมชาติ

ธรรมชาติกลายเป็นอีกหนึ่ง ‘แรงงาน’ เพื่อสังคม

ประวัติศาสตร์ทุนนิยมจึงมิได้พึ่งพาแรงงานมนุษย์เท่านั้น แต่ยังพึ่งพาพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติด้วย ธรรมชาติกลายเป็น ‘วัตถุใช้สอย’ ของมนุษย์ ทั้งที่ในความเป็นจริงธรรมชาติก็มีวัฒนธรรมในแบบของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมมนุษย์ สิ่งที่ธรรมชาติเป็นก็มีความหมายและคุณค่าในตัวเอง การมองธรรมชาติเป็น ‘ทรัพยากร’ เป็นการขีดเส้นแบ่งธรรมชาติกับมนุษย์ออกจากกัน เราจำเป็นต้องมีความคิดที่ยอมรับต่อ ‘สิ่งไม่ใช่มนุษย์’ มากขึ้น

หนึ่งตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ ‘ประวัติศาสตร์โลก’ ซึ่งมักเป็นประวัติศาสตร์มนุษย์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของสงคราม อำนาจทางการเมือง ศาสนา ผู้นำ ปรัชญา ความคิด สิ่งประดิษฐ์ ฯลฯ ทั้งที่จริงแล้วประวัติศาสตร์โลกควรเป็นเรื่องราวของพื้นพิภพและสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย เพราะโลกนี้ขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันกับสรรพสิ่ง หาใช่มนุษย์เพียงสายพันธุ์เดียวเสียเมื่อไหร่

เช่นนี้แล้ว เราเองก็ควรเปลี่ยนท่าทีต่อการมองสัตว์ด้วยเช่นกัน โดยเคารพในบารมีที่เปล่งออกมาจากสัตว์อย่างที่ชีวิตหนึ่งเป็น มิใช่มองในฐานะต่ำต้อยกว่า

ในมุมมองที่แตกต่างไปนี้ ธรรมชาติจึงไม่ได้เป็น ‘กรรม’ ของประโยคที่รอ ‘ถูกกระทำ’ จากมนุษย์ หากกลายเป็น ‘ประธาน’ ที่สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้

กลับไปที่ Technopocene หรือยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีซึ่งเพิ่มอัตราเร่งให้มนุษย์ทำลาย ‘สิ่งอื่น’ รวมถึงเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองที่ก้าวไม่ทันโลกมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมุมมองว่าตนเองสำคัญที่สุด ให้ความสำคัญกับการทำกำไร บวกรวมเข้ากับความเร็วด่วนจี๋ของเทคโนโลยีที่กลืนมนุษย์ให้กลายเป็นหุ่นยนต์กลไก จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องช่วยกันถาม ช่วยกันตอบว่าเราจะดำเนินชีวิตกันไปแบบนี้กระทั่งไปถึงจุดที่หมดหนทางแก้ไขหรืออย่างไร

เป็นไปได้ไหมว่าเรากำลังถูกลวงตาจากการพัฒนาเทคโนโลยีว่ามันจะทำให้มนุษยชาติไปไกลยิ่งกว่าทุกสมัยที่ผ่านมา

ภาพลวงตานั้นละเลยไปว่าในความเร่งระดับนี้มีผู้คนที่ถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลังมากแค่ไหน

มีผู้คนที่ต้องป่วยไข้จากการปรับตัว unlearn-relearn-resilience-agile โดยไม่มีใครหยุดรออีกมายเพียงใด

เรากำลังวิ่งไปที่ไหนกัน?

วิ่งไปเพื่อใคร?

มีใครบ้างได้ประโยชน์?

ใครบ้างเสียเปรียบ?

ธรรมชาติของโลกนี้จะเป็นอย่างไร?

เป็นเรื่องจำเป็นที่อาจต้องวางอุปกรณ์ ‘สมาร์ต’ ทั้งหลายลงบ้าง เพื่อกลับคืนสู่ความเป็นมนุษย์ แล้วถามคำถามเหล่านี้อย่างจริงจัง ก่อนสูญเสียความสามารถในการเลือกเส้นทางให้เทคโนโลยีเหมือนที่ขับรถตามเสียงบอกของแอปแผนที่ในมือถือ

บ่อยครั้งไม่ใช่หรือที่มันพาไปเจอทางตัน