การเมืองอำนาจนิยม : ผู้นำสิ้นอำนาจอย่างไรบ้าง?/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

การเมืองอำนาจนิยม

: ผู้นำสิ้นอำนาจอย่างไรบ้าง?

 

“พวกคุณมีนาฬิกาข้อมือ ส่วนพวกเรามีเวลา”

ถ้อยคำที่พวกทาลิบันชอบกล่าวกับทหารอเมริกัน

วิถีสิ้นอำนาจของผู้นำอำนาจนิยม

 

ต่างจากระบอบประชาธิปไตย น้อยนักที่ผู้นำในระบอบอำนาจนิยมจะแพ้โหวตจนพ้นตำแหน่งไปโดย สวัสดิภาพ (https://www.matichon.co.th/politics/news_2921640) ส่วนใหญ่แล้วจะสิ้นอำนาจไปในลักษณะที่ไม่ค่อยน่าอภิรมย์นัก

วิถีสิ้นอำนาจของผู้นำอำนาจนิยมปกติแล้วจะจัดอยู่ใน 2 ประเภทกว้างๆ ได้แก่ 1) พ้นอำนาจไป โดยคนในชักนำ (insider-led exits) และ 2) พ้นอำนาจไปโดยคนนอกชักนำ (outsider-led exits)

แน่นอนว่าย่อมมีผู้นำอำนาจนิยมบางคนตายคาเก้าอี้ในตำแหน่งด้วย เช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี พ.ศ.2506 เป็นต้น (https://www.silpa-mag.com/history/article_45888)

กลุ่มทาลิบันบุกยึดทำเนียบประธานาธิบดีอัฟกานิสถานในกรุงคาบูล, มติชนออนไลน์, 16 สิงหาคม 2564 & พล.ต.คริส โดนาฮิว ผบ.กองพลอากาศโยธินที่ 82 ของสหรัฐก้าวขึ้นเครื่องบินขนส่ง C-17 ในฐานะทหารอเมริกันคนสุดท้ายที่ออกจากอัฟกานิสถาน ณ สนามบินฮาร์มิด คาร์ไซ, The Guardian, 31 August 2021

วิถีการพ้นอำนาจไปโดยคนในชักนำ ยังแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ รัฐประหาร (coups) และการพ้นจากตำแหน่ง “ตามปกติ” (“regular” removals from office)

1.1) รัฐประหารคือการที่ทหารใช้กำลังบังคับขับไสผู้นำพ้นจากตำแหน่งไป ปกติแล้วผู้ก่อการจะเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นชนชั้นนำของระบอบอำนาจนิยมนั้นด้วย หรือในบางกรณีก็เป็นนายทหารชั้นผู้น้อยที่สังกัดกองกำลังซึ่งขึ้นต่อระบอบดังกล่าว ดังตัวอย่างรัฐประหาร 13 ครั้งของไทย ซึ่งบ่อยและมากที่สุดในอาเซียนจนมิพักต้องยกมากล่าว (http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=รัฐประหาร) สำหรับตัวอย่างความพยายามก่อรัฐประหารโดยนายทหารชั้นประทวนของไทยซึ่งล้มเหลวได้แก่ กบฏนายสิบ พ.ศ.2478 (https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1370)

ส่วน 1.2) การพ้นจากตำแหน่งตาม “ปกติ” นั้นหมายถึงการพ้นอำนาจไปโดยคนในชักนำที่ไม่ต้องใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน ซึ่งอาจเป็นไปได้หลายรูปแบบ อาทิ ครบกำหนดวาระการครองตำแหน่งที่ถูกจำกัดไว้, ลาออก, พ้นจากตำแหน่งโดยฉันทามติของกรมการเมืองหรือคณะทหารผู้ปกครอง, รวมทั้งแพ้เลือกตั้งด้วย (รูปแบบหลังสุดนี้มีน้อย)

เนื่องจากเป้าหมายเอกของผู้นำอำนาจนิยมคือธำรงรักษาอำนาจไว้และเราย่อมมิพึงคาดหมายให้พวกท่านสละอำนาจโดยสมัครใจ (‘บิ๊กตู่’ รับเป็น ‘นักการเมือง’ เต็มตัว ขอยอมตายคาเก้าอี้เพื่อ ‘ปชช.’ 12 ธันวาคม 2561, https://www.matichon.co.th/politics/news_1269178) จึงสันนิษฐานโดยชอบด้วยเหตุผลได้ว่าการพ้นจากตำแหน่งตาม “ปกติ” จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยแรงกดดันจากคนวงในของระบอบ ซึ่งย่อมหมายความว่ามีกลุ่มชนชั้นนำในระบอบที่เข้มแข็งพอจะบังคับขับไสผู้นำให้ออกจากตำแหน่งได้โดยไม่ต้องใช้กำลัง

อาทิ การยุบสภาจัดเลือกตั้งใหม่และปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งนายกฯ อีกของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาด้วยการผลักดันของกลุ่มยังเติร์กซึ่งสนับสนุนพันเอกหลวงพิบูลสงครามให้ขึ้นเป็นนายกฯ แทน เมื่อปี พ.ศ.2481 (http://www4.phahol.go.th/index.php/general/ประวัติพระยาพหล.html) และการประกาศลาออกกลางสภาของนายกฯ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้มาจากการรัฐประหาร พ.ศ.2520 เมื่อปี พ.ศ.2523 หลังกองทัพโดยกลุ่มยังเติร์กและพรรคการเมืองต่างๆ ไม่สนับสนุนและถูก ส.ส. และ ส.ว.บีบ (https://www.prachachat.net/politics/news-523334)

ตัวอย่างเปรียบเทียบในต่างประเทศก็เช่นการพ้นจากตำแหน่งต่อเนื่องกันตามลำดับของประธานาธิบดีเม็กซิโกหลายคนในช่วงการปกครองของพรรคสถาบันปฏิวัติ (PRI – Partido Revolucionario Institucional) ยาวนานหลายทศวรรษ ความที่พรรคเข้มแข็งทางการจัดตั้งเสียจนกระทั่งสามารถกำหนดธรรมเนียม dedazo (ชี้นิ้วเลือก) ให้ผู้นำพรรคที่ชนะเลือกตั้งได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีครบวาระ 6 ปีมีสิทธิ์เลือกตัวทายาทในพรรคที่จะขึ้นมาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนถัดไปในนามพรรคต่อจากตนได้

(https://en.wikipedia.org/wiki/Institutional_Revolutionary_Party)

แผนภูมิ : จอมเผด็จการสิ้นอำนาจอย่างไร? จากปี ค.ศ.1950-2012 แกนตั้งบอกร้อยละของจำนวนการสิ้นอำนาจทั้งหมด, แกนนอนบอกช่วงทศวรรษ แท่งสีทึบ–>ขาว : รัฐประหาร/พ้นจากตำแหน่งตาม “ปกติ”/ประชาชนลุกฮือ/การก่อการกำเริบ/ตายในตำแหน่ง (อ้างอิงจาก Erica Frantz, Authoritariansim : What Everyone Needs to Know, p. 57)

ส่วนการพ้นอำนาจไปโดยคนนอกชักนำ (outsider-led exits) นั้นแบ่งไปเป็นสองประเภทหลัก ได้แก่

2.1) การก่อการกำเริบ (insurgencies) และ 2.2) การลุกฮือของประชาชน (popular uprisings)

ลำพังชื่อเรียกของการพ้นอำนาจไปโดยคนนอกชักนำทั้งสองประเภทดังกล่าวก็ค่อนข้างชัดเจนอยู่ในตัว กล่าวคือ กลุ่มมวลชนบางกลุ่ม (ได้แก่องค์การกบฏในกรณีการก่อการกำเริบ และพลเมืองสามัญในกรณีการลุกฮือของประชาชน) ใช้กำลังบังคับให้ผู้นำพ้นอำนาจไปโดยไม่ต้องคำนึงถึงระดับความรุนแรงที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่างการก่อการกำเริบ เช่น การบุกยึดกรุงคาบูลและโค่นรัฐบาลที่อเมริกาเคยค้ำจุนหนุนหลังอยู่ร่วม 20 ปีโดยกลุ่มทาลิบันในอัฟกานิสถานเมื่อสิงหาคมศกนี้ (https://www.matichon.co.th/foreign/news_2886868)

หรือใกล้บ้านเราเข้ามา กองกำลังอาวุธคอมมิวนิสต์ต่อสู้จนยึดอำนาจรัฐได้ในสามประเทศอินโดจีน ได้แก่ กัมพูชา เวียดนามและลาว ตามลำดับในปี พ.ศ.2518 สำหรับการลุกฮือของประชาชนก็เช่นการลุกฮือโค่นรัฐบาลทหารของนักศึกษา-ประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และของมวลชนคนชั้นกลางและชั้นล่าง เมื่อพฤษภาคม พ.ศ.2535 เป็นต้น (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บก.กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554, น.150, 153, 140-141, 224-225)

ท้ายที่สุด จอมเผด็จการอำนาจนิยมบางรายก็ตายในตำแหน่งคาเก้าอี้ โดยอาจถูกลอบสังหารบ้าง (เช่น ประธานาธิบดีปักจุงฮีแห่งเกาหลีใต้เมื่อปี ค.ศ.1979 ด้วยฝีมือคิมแจคยู หัวหน้าหน่วยข่าวกรองแห่งชาติเกาหลีใต้เอง https://www.britannica.com/biography/Park-Chung-Hee) หรือป่วยตายคาเตียงตามธรรมชาติบ้าง (เช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์)

 

กล่าวโดยรวม จากปี ค.ศ.1950-2012 มีผู้นำอำนาจนิยมพ้นจากอำนาจไป 473 คน

คนในระบอบเป็นตัวการให้ผู้นำพ้นจากอำนาจไปในกรณีส่วนใหญ่ (65%) โดยแบ่งเป็นผ่านการรัฐประหารและผ่านการให้พ้นจากตำแหน่งตาม “ปกติ” ราววิธีละ 1/3 ของการพ้นจากอำนาจทั้งหมด

ผู้นำอำนาจนิยมตายคาเก้าอี้ในตำแหน่งราว 20% และถูกมวลชนขับไล่พ้นตำแหน่งไปเพียง 10% (โดยแบ่งเป็นผ่านการก่อการกำเริบ 3% และผ่านการลุกฮือของประชาชน 7%)

ที่เหลืออีกราว 5% คือผู้นำอำนาจนิยมที่ถูกโค่นด้วยการรุกรานของกองกำลังต่างชาติ เช่น รัฐบาลเขมรแดงของพอล พต ซึ่งถูกกองทหารเวียดนามโค่นในปี ค.ศ.1978 (https://www.bbc.com/thai/international-46621685) และนายพลมานูเอล นอรีเอกา แห่งปานามา ผู้ถูกกองทหารอเมริกันโค่นในปี ค.ศ.1989 (https://www.bbc.com/news/world-latin-america-50837024) หรือด้วยวิธีอื่นซึ่งยากจะจัดแบ่งประเภทออกมาได้

จากสถิติข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่าทำไมผู้นำอำนาจนิยมจึงหวาดระแวงชนชั้นนำในระบอบเดียวกัน? ทั้งนี้ก็เพราะในกรณีส่วนใหญ่อย่างท่วมท้น (65%) คนในกากี่นั้งนี่แหละเป็นตัวการขับโค่นผู้นำให้พ้นอำนาจไป (insider-led exits)

และแม้ว่าส่วนใหญ่ต้องใช้กำลังไล่ผู้นำให้พ้นตำแหน่ง (รัฐประหาร 1/3 หรือ 33% + ก่อการกำเริบ 3% + ประชาชนลุกฮือ 7% + ต่างชาติรุกราน 5% = 48%) แต่ก็มีที่ไม่ต้องใช้กำลังโดยพ้นจากตำแหน่งไป ตาม “ปกติ” ถึง 1/3 หรือ 33% เช่นกัน

ภาพจำที่เรามักมีในหัวเมื่อคิดถึงการสิ้นอำนาจของผู้นำอำนาจนิยมคือการขับโค่นกันด้วยกำลังรุนแรง แต่ในบางกรณีกลุ่มชนชั้นนำรวมหมู่ก็เข้มแข็งพอจะกดดันขับไสผู้นำให้หลุดจากตำแหน่งไปโดยไม่ต้องถึงขั้นควักปืนออกมาจี้จ่อหัวกัน

อีกทั้งเอาเข้าจริงผู้นำอำนาจนิยมก็ตายคาเก้าอี้ไปเองตามธรรมชาติบ่อยกว่าที่เราคิด คือถึงราวทุก 1 ใน 5 คนทีเดียว…

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่าผู้นำอำนาจนิยมพิศวาสตำแหน่งอำนาจเพียงใด คืออยากยักแย่ยักยันปกครองอยู่จนลมหายใจเฮือกสุดท้ายนั่นแหละถ้าทำได้