หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๙๕.๒)/บทความพิเศษ ฟ้า พูลวรลักษณ์

ฟ้า พูลวรลักษณ์

บทความพิเศษ

ฟ้า พูลวรลักษณ์

 

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๙๕.๒)

 

ฉันอ่านประวัติศาสตร์ไทยแล้ว มีเพียงบางเล่มที่ชอบ ส่วนใหญ่จะไม่ชอบ สาเหตุสำคัญมาจากสำนวนการเขียน ที่ในวันนี้ รู้สึกอ่านได้ยากมาก บางครั้งอ่านไม่รู้เรื่องเลย มันเบลอไปหมด

รองลงมา เพราะข้อมูลผิดพลาด หลายส่วนผิดพลาดแบบไม่น่าให้อภัย เหมือนคนเขียนจะเลินเล่ออะไรได้ขนาดนี้ เหมือนทำงานแบบขอไปที ไม่รู้ว่าข้อมูลนี้มาจากไหน ไม่มีที่มา

เทียบกับฝรั่งที่เขียนถึงประวัติศาสตร์ไทย ฉันว่าเขียนได้ดีกว่ามาก ทั้งที่เขียนในยุคสมัยโน้น แต่สำนวนกลับอ่านง่าย เนื้อหาน่าเชื่อถือ

แม้จะไม่ถึงกับจริงทั้งหมด เพราะบางคนเขียนแบบมีเจตนา มีอคติ หรือเข้าใจผิด แต่อคติเหล่านี้ก็อ่านได้ง่าย และทำให้เห็นภาพ ตรวจสอบเทียบเคียงได้

รายละเอียดเล็กๆ ที่ฝรั่งมองคนไทย กลับซึ้งใจยิ่งกว่าราชโองการใดๆ

 

เมื่อฉันอ่านประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ ก็อดทึ่งไม่ได้ มีประเด็นมากมายให้ครุ่นคิด

เช่น พระนารายณ์ผู้นี้ ได้ทำคุณให้แก่แผ่นดินไม่น้อย ทำให้ประเทศมีชื่อเสียง การค้าเฟื่องฟูและร่ำรวย

แต่ที่แปลกใจคือ พระองค์นำมาซึ่งหายนะด้วยเช่นกัน ถึงขนาดว่าทำให้ราชวงศ์ประสาททองของตน ต้องดับลง และเปิดทางให้ราชวงศ์บ้านพลูหลวงเข้ามาแทนที่

แปลกที่กษัตริย์ที่ทำให้ราชวงศ์ตัวเองล่มสลาย กลับได้เป็นมหาราช

ความผิดที่ร้ายแรงประการเดียวของพระองค์ คือการลงทัณฑ์เฆี่ยนโกษาเหล็กจนเสียชีวิต เท่ากับว่าในวินาทีนั้น พระองค์ตัดแขนขวาพระองค์เอง และทำลายดวงตาขวาจนบอดสนิท เพราะโกษาเหล็กคนนี้สำคัญมาก เมื่อสิ้นชีวิต เกิดช่องว่างแห่งอำนาจ มีคนสองคนขึ้นมาแทนที่ คือ

พระเพทราชา

ฟอลคอน

สองคนนี้ตรงข้ามกันพอดี และเป็นคู่อาฆาต ปลายทางของพวกเขาคือต้องทำสงคราม

คนแรกคือขวาจัด เมื่อมีอำนาจ ก็ทำการรัฐประหาร จนราชวงศ์ประสาททองต้องหมดอายุลง ฆ่าน้องพระนารายณ์ และฆ่าลูกเลี้ยงพระนารายณ์ด้วยอีกคน ข้ออ้างคือ ทำเพื่อพุทธศาสนาที่กำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ทำเพื่อวิถีชีวิตแบบเก่า เพื่อให้พ้นจากอิทธิพลชาวตะวันตก

จึงได้กำลังสนับสนุนจากฝ่ายพุทธและชาวบ้านอย่างท่วมท้น และจากขุนนาง ข้าราชการเก่าๆ

 

คนที่สองคือฟอลคอน ที่ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ในที่นี้เขาคือซ้าย คนต่างชาติที่เรืองอำนาจหลังการสิ้นชีวิตของโกษาเหล็ก เขาเป็นคนเฉลียวฉลาด กล้าหาญ มากด้วยเล่ห์เหลี่ยม ปากหวาน

เขาเคารพเทิดทูนพระนารายณ์ แต่การกระทำของเขาทุกอย่างเพื่อตัวเอง

หากเขาประสบความสำเร็จ ประเทศไทยคงต้องตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส โดยมีตัวเขาเป็นผู้สำเร็จราชการในประเทศไทย อาจมีคนไทยเป็นกษัตริย์สักองค์ที่เป็นหุ่นเชิดของเขา และประเทศไทยจะมีกษัตริย์ไทยคนแรกที่เป็นคริสต์

ความขัดแย้งนี้รุนแรงเป็นอันมาก แต่มันเกิดขึ้นจากพระนารายณ์ สมัยยังมีพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์ก็ใช้กุศโลบาย Balance of Power มาโดยตลอด ซึ่งก็ทำได้ดี แต่มันดีเท่าที่พระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ สุขภาพดี วันใดที่สิ้นพระชนม์แล้ว หรือป่วยไข้ อำนาจที่พยายามสร้างความสมดุลนี้ จะสมดุลต่อไปได้อย่างไรกัน มันคือหายนะ

พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ กับพระนารายณ์ เป็นคู่บุญกันจริงๆ พระเจ้าหลุยส์เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศส ปกครองนานถึง ๗๒ ปี เรียกได้ว่านานที่สุดในยุโรป หรืออาจจะนานที่สุดในโลก ส่วนพระนารายณ์ พระองค์ปกครองนาน ๓๒ ปี ซึ่งถือว่านานไม่น้อย เป็นอันดับห้าของประเทศไทย แต่ทว่า ในโลกนี้ ไม่มี Free Lunch พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แม้เปลือกนอกจะเป็นคนที่แสนดี คล้ายแค่ต้องการให้พระนารายณ์เข้ารีต แต่ทว่าเขาก็ยังมีเจตนาอื่นแอบแฝง

สรุปคือเขาต้องการประเทศไทยเป็นเมืองขึ้น

งานนี้จบลง ทุกคนเสียหายใหญ่หลวง ฝรั่งเศสขาดทุนใหญ่หลวง ไทยก็เสียหายใหญ่หลวง ฟอลคอนก็ต้องเสียชีวิตอย่างทรมาน คนที่ได้คือบ้านพลูหลวง แต่เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่

 

๑๐

พระนารายณ์ พระองค์น่าจะรู้อยู่ ว่าวันใดที่พระองค์สิ้นพระชนม์ ต้องเกิดศึกกลางเมือง เพราะความขัดแย้งของสังคมยุคนั้นรุนแรงยิ่งนัก พระองค์ไม่ได้แต่งตั้งทายาทไว้ คงเพราะทำไม่ได้ ด้วยเพราะหากทำ Balance of Power นี้จะสูญเสียไป และสงครามกลางเมืองจะเกิดเร็วขึ้น พระองค์กำลังเล่นกับไฟ

๑๑

ซ้ายกับขวาในที่นี้ เป็นการเปรียบเทียบ แต่มันไม่ใช่ซ้ายกับขวาในวันนี้ แต่มีบางอย่างเหมือนกัน

กล่าวคือ ขวาคือฝ่ายอนุรักษ์ ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณ นับถือพุทธศาสนา คนไทยไม่ได้ต่อต้านศาสนาอื่น ยกเว้นแต่ว่า ศาสนาอื่นมีอำนาจมาก จนมาคุกคามพวกเขา แต่รังเกียจคนต่างชาติที่มามีบทบาทมากเกินไป และหวาดกลัวที่จะตกเป็นเมืองขึ้นของคนต่างชาติ

๑๒

ส่วนซ้ายในยุคพระนารายณ์ คือกลุ่มคนที่ยอมรับว่าโลกนี้ ชาติตะวันตกมีอำนาจมาก และวิธีการต่อสู้กับพวกเขา ไม่อาจต่อสู้ตรงๆ ได้ ต้องหาพันธมิตร ฝ่ายซ้ายไม่จำเป็นต้องเป็นคริสต์ จะนับถือศาสนาใดก็ได้ แต่ก็ไม่ได้ยึดมั่นในศาสนานั้นอย่างรุนแรง พร้อมจะอะลุ้มอล่วย ปรับตัวตามโลก มีความทึ่งและหลงใหลในวิทยาการของชาวตะวันตก

๑๓

ความผิดพลาดครั้งใหญ่ อยู่ที่การลงทัณฑ์เฆี่ยนโกษาเหล็กจนเสียชีวิต ไม่รู้เพราะอะไร จะบอกว่าทำไปด้วยความโกรธ ไม่ได้ตั้งใจให้ตาย ก็แปลกใจอยู่ดี ไม่รู้ทำผิดอะไร เท่าที่มองเห็นคือคอร์รัปชั่น แต่ในยุคนั้น การคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติ หากจะเฆี่ยนให้ตาย จะไม่มีขุนนางคนไหนอยู่รอดเลย น่าจะลงโทษสถานเบาก็พอ

จะมีสิ่งใดที่มีค่าเพียงพอที่จะทำให้ Balance of Power นี้ล่มสลายไป

 

๑๔

วิเคราะห์ลึกๆ นี้เป็นแผนการของฟอลคอน เขาทำแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว เรียกได้ว่า เห็นทีเดียวก็จำได้ เหมือนเป็นลายเซ็นของเขา

กล่าวคือ ในกรณีการสร้างป้อมที่บางกอก เขาคิดว่าจะใช้โอกาสนี้กำจัดขวากหนามของตนให้พ้นทาง เขาจึงไปยุยงชาวบ้านที่ไม่อยากทำงานนี้ และคงมอบเงิน ๕๐ ชั่งให้พวกเขา นำไปติดสินบนโกษาเหล็ก ซึ่งเป็นจุดอ่อนของเขาพอดี โกษาเหล็กเป็นคนชอบรับสินบน นี้เป็นความผิดที่ยอมรับได้ในยุคนั้น ให้เขาไปทัดทานการสร้างป้อม ด้วยเหตุผลที่ฟังดูดี เช่น ว่าสร้างยาก ต้องลงทุนสูง สร้างแล้วก็จะป้องกันไม่ได้ กลับจะโดนคนต่างชาติยึดไป และท้ายสุดจะไปเป็นประโยชน์แก่คนต่างชาติ

แล้วฟอลคอนก็จะมาแอบกระซิบบอกพระนารายณ์อีกที ว่าโกษาเหล็กได้รับสินบนมาให้พูดทำนองนี้ ทำให้พระนารายณ์โกรธนักหนา โกษาเหล็กตกหลุมพราง เข้าไปในกับดักนี้อย่างไม่รู้ตัวเลย ตอนเดินเข้าไปทูลคัดค้าน พระนารายณ์ท่านยิ้มกริ่ม พูดด้วยสำเนียงอ่อนหวาน ว่ามึงได้รับสินบนมาเท่าไร

๑๕

อาจเป็นไปได้ว่า โกษาเหล็กเสียใจ และตรอมใจตาย และอับอายยิ่งนัก เพราะการเฆี่ยนขุนนางผู้ใหญ่ระดับท่าน ยังกระทำท่ามกลางเหล่าขุนนาง และคงเสียใจหนัก ที่มารู้สึกตัวว่าเสียรู้ฟอลคอน หรือบังเอิญท่านอายุมากแล้ว ร่างกายทนพิษบาดแผลไม่ไหว หรืออำนาจของซ้าย-ขวายุคนั้น มันกำลังทวีแรงขึ้นทุกขณะ จนตัวท่านที่ขวางอยู่ ก็อยู่ต่อไปไม่ได้ ต้องถูกทำลายลง โดยวิบากกรรม

๑๖

แม้ฟอลคอนจะทำสำเร็จ และมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นมากมาย แต่ที่ว่างแห่งอำนาจนี้ ก็เปิดโอกาสให้คนอีกคนหนึ่งขึ้นมาด้วยเช่นกัน คือพระเพทราชา ฝ่ายขวาก็รวมพลัง ผุดเขาขึ้นมา

๑๗

ระนารายณ์อาจมีความผิดแบบผู้มีอำนาจทั้งหลาย

คือมีอำนาจแล้วไม่กล้าวาง อีกทั้งคิดเสมอว่าพระองค์เองทำได้ พระองค์เองคือผู้ชนะตลอดกาล ไม่ได้คิดถึงความตาย

เช่นเดียวกับฟอลคอน เขาเป็นนักผจญภัยมาทั้งชีวิต เขาคิดว่าเขาจะเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด มีความอยากได้ไม่สิ้นสุด และเขาก็เตรียมทางหนีทีไล่ไว้พร้อมแล้ว

เช่น เข้าหุ้นกับบริษัทฝรั่งเศสหลายแสนฟรังก์ เท่ากับว่าเขาได้ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สมบัติของเขากลับฝรั่งเศสแล้วส่วนหนึ่ง อีกทั้งขอทหารจากฝรั่งเศสมาช่วยปกป้องตัวเขา

เรียกว่าเขาเตรียมตัวสู้เต็มที่ เตรียมตัวยึดอำนาจ แต่เขาคิดไม่ถึงพลังของมวลชนในยามคับขัน ว่ารุนแรงปานไหน เขาจึงแพ้

๑๘

วันหนึ่ง ฉันอ่านจดหมายเหตุของมองซิเออร์เซเบเรต์ เขาเขียนได้ตรง ละเอียดดี ได้เห็นความอลังการยิ่งใหญ่ของพระนารายณ์ในยุคนั้น ความยิ่งใหญ่ของฟอลคอนที่กุมอำนาจในการติดต่อกับชาวตะวันตกไว้หมด เรียกว่าหากไม่ผ่านเขา ก็ไปต่อไม่ได้

แต่ที่แปลกใจคือ ฉันตรวจสอบปี พ.ศ.แล้วตกใจ พบว่าเรื่องราวทั้งหมดที่ฉันอ่านนี้ เกิดขึ้นในปี ๒๒๓๐ เท่ากับว่าในปีถัดไป พระนารายณ์ก็สวรรคตแล้ว และฟอลคอนก็ถูกประหาร

๑๙

ยุคล่าอาณานิคมได้หมดไปแล้ว ชาวตะวันตกยุคปัจจุบัน ไม่ได้มีจุดหมายเช่นนั้นอีก เช่นเดียวกับพลังของศาสนา ความสำคัญของศาสนา ก็ไม่ได้เหมือนสมัยก่อน ฝ่ายขวาก็ไม่รู้จะไปอนุรักษ์อะไร เพราะทุกสิ่งกำลังเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินคำนวณ ไม่มีใครไปยับยั้งมันได้

๒๐

แต่ซ้าย-ขวาก็ยังมีอยู่ ยังอันตรายทั้งคู่ คนมีอำนาจก็ยังไม่ระวังตัว ยังคิดว่าตัวเองคือผู้ชนะตลอดกาล ทั้งที่ชีวิตของเขา อาจอยู่ได้อีกแค่ปีเดียว

แมลงเล็กๆ เหล่านี้ ยังช่างฝันหวาน