เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์! คุณอยู่ที่ไหนในวันนั้น?/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์!

คุณอยู่ที่ไหนในวันนั้น?

 

“อาคารเวิลด์เทรดเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ของตึกสูงระฟ้า หรือไม่อาคารนี้ก็คือหลุมศพที่ใหญ่ที่สุดของโลก”

Ada Louise Huxtable

 

ด้วยการเติบโตของสังคมแบบทุนนิยมอเมริกันนั้น มักจะมีการสร้างสัญลักษณ์ให้เป็นตัวแทนของความสำเร็จดังกล่าว

และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในสัญลักษณ์นี้คือ “อาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์” ที่ถูกสร้างขึ้นในย่านพื้นที่เขตการเงินของเกาะแมนฮัตตัน และเมื่อมีการเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้ในปี 1973 อาคารนี้เป็นตึกที่สูงที่สุดในโลก

นัยที่สำคัญก็คือ อาคารเวิลด์เทรดเป็นตัวแทนของ “ความทะเยอทะยาน นวัตกรรม และความสุดยอดทางเทคโนโลยี” ของสังคมอเมริกัน

ฉะนั้น เราอาจกล่าวได้ว่าอาคารเวิลด์เทรดเป็นตัวแทนของ “ความยิ่งใหญ่และความสำเร็จ” ของอเมริกา ที่สร้างขึ้นเพื่อให้โลกเห็นเป็นที่ประจักษ์

จนมีการเรียกโครงการก่อสร้างหมู่อาคารนี้ว่าเป็น “สถาปัตยกรรมแห่งอำนาจ” (The architecture of power) [คำของ Ada Louise Huxtable นักวิจารณ์ทางด้านสถาปัตยกรรมของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส]

และด้วยนัยเช่นนี้ ตึกจึงมีความเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองในตัวเอง

 

วันนั้น!

แล้วในวันที่ 11 กันยายน 2001 สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ด้วยการโจมตีสหรัฐ ที่มุ่งทำลายอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ โดยในวันนั้นมีการใช้อากาศยานโดยสารสองลำพุ่งชนอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่นครนิวยอร์ก อีกทั้งตามมาด้วยลำที่สามบินเข้าโจมตีตึกกระทรวงกลาโหมที่กรุงวอชิงตัน และอากาศยานลำที่สี่ซึ่งเชื่อกันว่าผู้โดยสารตัดสินใจที่จะต่อสู้กับผู้ก่อเหตุ จนเครื่องตกลงกลางทุ่งในรัฐเพนซิลเวเนีย

การโจมตีสหรัฐในวันนั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญ ไม่ใช่เพียงกับสังคมอเมริกันเท่านั้น หากเป็นเหตุสำคัญกับความเป็นไปในเวทีโลกอีกด้วย เพราะการก่อการร้ายในวันที่ 11 นี้เป็นเสมือนกับสัญญาณของการเริ่มต้นด้วยศตวรรษที่ 21 ด้วยความรุนแรง

ความเชื่อเดิมที่มองว่าการสิ้นสุดของสงครามเย็นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสันติภาพของโลกนั้น เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงด้วยผลจากเหตุการณ์นี้

ในอีกด้านหนึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงนี้ได้เปลี่ยนชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก อาจจะไม่ต่างกับหลายเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนทั้งชีวิตของคน ของสังคม และของโลก หรือกล่าวในอีกด้านหนึ่งว่า เหตุครั้งนี้เปลี่ยนสังคมอเมริกัน และเปลี่ยนสังคมโลกพร้อมกันไปอย่างไม่คาดคิด

ดังนั้น ในวาระครบรอบสองทศวรรษของ “เหตุการณ์ 9/11” จึงอยากจะขอชวนท่านทั้งหลายร่วมรำลึกถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยอยากจะขอชวนด้วยคำถามง่ายๆ ว่า ถ้าย้อนกลับไปสู่อดีตแล้ว ท่านอายุเท่าไหร่ในวันนั้น?…

ท่านอยู่ที่ไหนในวันนั้น?…

เห็นวันนั้นแล้วท่านคิดอย่างไร?

 

มุมมองสังคมอเมริกัน

ในวาระครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ 9/11 มีการสำรวจความทรงจำพบว่า ร้อยละ 93 ของชาวอเมริกันที่อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปจะจำได้ทันทีว่า ในวันนั้นเขาอยู่ที่ไหน และกำลังทำอะไรเมื่อมีข่าวการโจมตีเกิดขึ้น

ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีที่แล้ว เหตุการณ์สำคัญที่อยู่ในความทรงจำคือ การสังหารประธานาธิบดีเคนเนดี้

นอกจากนี้ การสำรวจในปี 2016 พบว่า มากกว่า 3 ใน 4 ของชาวอเมริกันถือว่าเหตุการณ์ 9/11 เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตของพวกเขา

และการสำรวจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็มีผลออกมาในทิศทางเดียวกัน

อีกทั้งผลสำรวจที่ดำเนินการในต้นเดือนกันยายนนี้ ยืนยันว่าเหตุการณ์ 9/11 มีส่วนอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขา

เช่น บางคนไม่อยากเดินทางด้วยเครื่องบิน บางคนไม่อยากขึ้นตึกระฟ้า บางคนไม่อยากไปร่วมงานที่มีคนมาก และบางคนไม่อยากเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเหมือนเช่นที่เคยไปตอนก่อน 11 กันยาฯ เป็นต้น

อีกทั้งเมื่อเห็นเหตุการณ์การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นแล้ว ผลสำรวจในขณะนั้นพบว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่สนับสนุนการบุกโจมตีอัฟกานิสถานอย่างมาก

แต่ความสนับสนุนนี้ค่อยๆ ลดลง และหลังจากการสังหารบิน ลาเดน ในปี 2011 แล้ว ร้อยละ 56 ของชาวอเมริกันกลับสนับสนุนการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน

 

อาคารในความทรงจำ

สําหรับส่วนตัวผมแล้ว อยากจะขอเล่าสักนิดถึงอาคารเวิลด์เทรด

มหานครนิวยอร์กเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตทางวิชาการของตัวผม โดยหลังจากได้รับนิรโทษกรรมจากคดี 6 ตุลาฯ แล้ว ผมได้สมัครขอทุนไปฝึกงานกับองค์กรที่ทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชนที่ตั้งอยู่ในนิวยอร์ก

เมื่อมาถึงแล้ว สิ่งแรกๆ ที่พี่คนไทยพาไปเที่ยวชมก็คือ “อาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์” ซึ่งเป็นหมู่อาคาร และเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของเมืองคู่กับตึกเอมไพร์สเตต (ตึกในภาพยนตร์เรื่อง “คิงคอง”)

และหลังจากนั้น ผมมีหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์พาอาจารย์ และเพื่อนหลายคนที่แวะมาเที่ยวนิวยอร์กไปเที่ยวที่ตึกนี้

การไปขึ้นไปชมอาคารสูงระฟ้าอย่างตึกเวิลด์เทรดนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นทั้งความตื่นเต้น และความตื่นตา

ซึ่งในช่วงที่ผมออกจากประเทศไทยไปในปี 1980 นั้น เรายังไม่มีอาคารที่สูงมากๆ ในกรุงเทพฯ

และตื่นเต้นที่สุดอีกส่วนคือ ความเร็วของลิฟต์ที่พาเราขึ้นสู่ชั้นสูงสุดที่สูงถึง 110 ชั้นได้อย่างรวดเร็วจนมักเกิดอาการหูอื้อแบบนั่งเครื่องบิน

นอกจากนี้ ในวันที่อากาศดี เราสามารถเดินออกไปชมวิวด้านบนของดาดฟ้า และจะมองเห็นออกไปไกลสุดสายตาจริงๆ

กล่าวกันว่าในวันที่สดใส เราจะมองออกไปได้ไกลถึง 45 ไมล์

เป็นอันว่าใครมาเที่ยวนิวยอร์ก ผมต้องพาไปเยี่ยมชมอาคารนี้ เพราะถือว่าอาคารนี้เป็น “หมุดหมาย” สำคัญของเมือง และเป็นตัวแทนที่สำคัญของวัฒนธรรมร่วมสมัยของความเป็นนิวยอร์ก เช่นที่ทุกคนอยากไปชมอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ หรือเที่ยวตึกเอมไพร์สเตต

เมื่อผมกลับไปเรียนปริญญาเอกที่นิวยอร์กอีกครั้ง อาคารเวิลด์เทรดกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ผมและครอบครัวมักจะแวะเวียนไปเที่ยวเล่นในเย็นวันศุกร์ ทุกวันศุกร์จะมีตลาดนัดเกษตรกร หรือ “ฟาร์เมอร์มาร์เก็ต” ซึ่งเรามักจะซื้อสิ่งของและอาหารกลับบ้าน

ขณะเดียวกันลูกชายผมจะชอบไปวิ่งเล่นที่ลานขนาดใหญ่หรือ “พลาซ่า” ของอาคารดังกล่าว เราจึงไปเที่ยวเล่นที่อาคารนี้กันเป็นประจำ

ฉะนั้น อาคารนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผมที่นิวยอร์ก และเป็นหนึ่งในความทรงจำของชีวิต

 

อาคารแห่งความท้าทาย!

ว่าที่จริงแล้วอาคาร “เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์” ไม่ใช่ตึกแฝดอย่างที่เรามักจะได้ยินจากข่าว แต่เป็นหมู่ตึกของอาคารชุด จำนวนเจ็ดอาคาร และอาคารนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางใต้ของเกาะแมนฮัตตันที่เป็นย่านธุรกิจของเมือง อาคารนี้เริ่มก่อสร้างในปี 1966 และสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 1975

แต่เดิมมีการประมาณการว่า มูลค่าการก่อสร้างกำหนดไว้ที่ 280 ล้านเหรียญอเมริกัน แต่เอาเข้าจริงแล้ว มูลค่าการก่อสร้างสูงถึง 400 ล้านเหรียญอเมริกัน (มูลค่าปัจจุบันคิดเป็น 2.27 พันล้านเหรียญอเมริกัน)

อาคารนี้เปิดทำการในวันที่ 4 เมษายน 1973

แต่อาคารทั้ง 7 นี้ อาคารที่สูงที่สุดคือ อาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 1 และอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 2 ซึ่งมีความสูงถึง 110 ชั้น อาคารที่เหลืออีกส่วนไม่สูงมากนัก เช่น อาคารเวิลด์เทรด 7 สูง 47 ชั้น หรืออาคารเวิลด์เทรด 3 สูงเพียง 22 ชั้น ส่วนอีกสามตึกไม่สูงมากนัก และด้วยความใหญ่ของหมู่อาคารนี้ ทำให้หมู่อาคารเวิลด์เทรดเป็นดัง “เมืองซ้อนเมือง” ของนครนิวยอร์ก (คำกล่าวของนิวยอร์กไทม์ส)

ดังได้กล่าวแล้วว่าในบริบททางการเมือง อาคารนี้มีนัยที่เป็นตัวแทนถึงความยิ่งใหญ่ของ “มหาอำนาจอเมริกัน” ดังนั้น อาคารนี้จึงเป็นดังสิ่งที่ “ยั่วยวน” ให้ฝ่ายต่อต้านอเมริกัน อยากทำลาย

แต่การทำลายตึกเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่ว่าจะมีการออกแบบให้ตัวอาคารมีความแข็งแรง สามารถทนต่อการเกิดภัยที่เกิดขึ้น

เช่น อาคารนี้เคยเผชิญกับไฟไหม้ใหญ่ในปี 1975 มาแล้ว อีกทั้งตึกมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ช่วยป้องกันการก่อเหตุร้าย

เช่น ความพยายามครั้งแรกในการทำลายอาคารนี้ด้วยการวางระเบิดเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1993 การวางระเบิดครั้งนั้นเกิดในชั้นใต้ดินด้วยรถระเบิด แต่ไม่สามารถทำลายอาคารได้จริง

การวางระเบิดในปี 1993 มาจากกลุ่มมุสลิมสุดโต่ง ซึ่งในทางความมั่นคงแล้ว เท่ากับเป็นสัญญาณเตือนภัยอย่างชัดเจนว่า ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายเดินทางมาถึงตัวประเทศของสหรัฐแล้ว

แต่เดิมเหตุรุนแรงมักจะเกิดนอกประเทศสหรัฐ ไม่ว่าจะเกิดในตะวันออกกลาง ในเอเชียใต้ หรือในยุโรป แต่การใช้รถระเบิดครั้งนี้เป็นคำตอบในตัวเองว่า สหรัฐอาจไม่สามารถปกป้องตัวเองให้พ้นจากการก่อการร้ายที่เป็นความรุนแรงจากภายนอกได้ แม้สหรัฐจะสามารถป้องกันตัวภาคพื้นทวีปให้ปลอดภัยได้ สงครามไม่เคยเดินทางมาถึงสหรัฐ

แล้วในที่สุดปฏิบัติการที่เกินจินตนาการเกิดขึ้นในวันที่ 11 กันยายน 2001 เมื่อเครื่องบินโดยสารแบบโบอิ้ง 767 สองลำพุ่งชนอาคารเวิลด์เทรด 1 และ 2 โดยมีระยะเวลาชนห่างกันเพียงไม่กี่นาที และในระยะเวลาเพียงไม่ถึงสองชั่วโมง อาคารสูงทั้งสองจึงพังทลายลง มีผู้ที่ติดอยู่ในอาคารเสียชีวิต 2,606 คน และผู้โดยสารบนเครื่องบินทั้งสองลำเสียชีวิตอีก 157 คน

 

วันนี้ท่านคิดอย่างไร?

วันที่เครื่องโบอิ้งทั้งสองพุ่งชนอาคาร ภาพปรากฏเป็นข่าวในไทยทันที… มีเพื่อนสนิทโทร.มาว่า ให้รีบเปิดทีวี สงสัยอเมริกันกำลังถ่ายภาพยนตร์ ซึ่งตอนนั้นหลายคนเชื่อว่า ภาพที่เห็นเป็นเพียงการถ่ายหนัง และแทบไม่มีใครเชื่อเลยว่า เรากำลังเห็นการก่อการร้ายครั้งใหญ่ของโลกผ่านหน้าจอโทรทัศน์

ผมยอมรับว่า เห็นแล้ว “ช็อก” อย่างมาก

เพราะไม่เพียงตกใจกับภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ยังตกใจกับภาพการทำลายอาคารสูงที่เมื่อครั้งที่ผมเรียนปริญญาเอกเคยใช้เป็นเหมือนสถานที่พักผ่อนในเย็นวันศุกร์

และที่สำคัญการก่อเหตุในครั้งนี้ทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่า การเดินทางของการเมืองโลกสู่ศตวรรษที่ 21 คือการเดินทางสู่สงคราม

แล้วต่อมาในต้นเดือนตุลาคม 2001 กองทัพอเมริกันเปิดสงครามในอัฟกานิสถาน

แต่เมื่อผ่านไป 20 ปี สงครามกลับจบลงอย่างไม่น่าเชื่อด้วยการถอนตัวของสหรัฐ และชัยชนะของกลุ่มทาลิบันที่ถูกกล่าวว่ามีส่วนพัวพันกับการก่อการร้ายที่ทำลายอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์

ถ้าเช่นนั้น วันที่ 11 กันยายน เมื่อ 20 ปีที่แล้วท่านอยู่ที่ไหน ท่านคิดอย่างไร… แต่วันนี้ท่านคิดอย่างไร?