หนังสือ ‘มนตรีวิทยา’ : ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ปกครองยุคประชาชนเป็นใหญ่/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

หนังสือ ‘มนตรีวิทยา’

: ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ปกครองยุคประชาชนเป็นใหญ่

 

อำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการต้องมีความเกี่ยวเนื่องกับประชาชน (ม.ศรีมา-กุล, 2479)

 

ไม่แต่เพียงการปฏิวัติ 2475 จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ประชาธิปไตยอันเป็นการเปลี่ยนแปลงจากการปกครองที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุด ไปสู่ประชาชนมีอำนาจสูงสุด โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการรับรองเสรีภาพ สิทธิและความเสมอภาคของพลเมืองเท่านั้น

แต่ยังเปลี่ยนแปลงความสำนึกของประชาชนที่มีต่อเหล่าชนชั้นปกครอง ข้าราชการอีกด้วย จากเดิมที่มองคนเหล่านั้นเป็นเจ้าขุนมูลนาย และประชาชนต้องพลีแรงกายรับใช้เจ้าขุนมูลนาย ตลอดจนการยอมจำนนตกอยู่ใต้อาณัติการปกครองของเหล่าเสนาบดีและขุนนางมาสู่คติใหม่ในระบอบประชาธิปไตยที่ “มนตรี” ต้องเป็นผู้รับใช้ประชาชนและเห็นประโยชน์ของประชาชนสูงสุด

ดังปรากฏอยู่ในหนังสือ “มนตรีวิทยา” อันเป็นหนังสือการเมืองร่วมสมัยที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงนี้

เจ้าขุนมูลนาย เหล่าเสนาบดี และข้าราชการ

การประชุมคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยไทยปกครองแบบระชาธิปไตย

สัมพันธภาพระหว่างเจ้าขุนมูลนาย ขุนนางกับเหล่าไพร่ในการปกครองสมัยโบราณ เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน

กล่าวคือ ไพร่ต้องทำงานรับใช้หรือส่งส่วยให้มูลนายเพื่อแลกกับการได้รับการคุ้มครอง

ในบางกรณีไพร่รับใช้นายจนไม่มีเวลาทำมาหากินของตนเอง ไพร่จึงมีความทุกข์ยากมากแต่ก็จำเป็นต้องทนเพราะในสังคมโบราณแทบจะไม่มีไพร่อิสระที่ไม่สังกัดมูลนาย เนื่องจากบุคคลที่ดำรงตนเป็นอิสระออกจากระบบไพร่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดมากมาย

หมายความว่า ไพร่จะต้องพินอบพิเทา เอาใจมูลนาย ด้วยเหตุนี้ ในสังคมโบราณจึงไม่มีหลักประกันอันใดให้กับไพร่ นอกจากความสามารถในการเอาตัวรอดด้วยการประจบมูลนายหรือด้วยโชคชะตาไพร่เอง

แม้นการปกครองสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะมีการรับอารยธรรม เทคโนโลยีจากตะวันตกเข้ามาก็เป็นเพียงการสร้างความเข้มแข็งให้รัฐและกลไกการบริหารในการสร้างความเหนือกว่าในการควบคุมประชาชนมากกว่าการนำเข้าคติเสรีภาพและความเท่าเทียมที่จะยังประโยชน์ให้ราษฎร

การประชุมคณะเสนาบดีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ

ด้วยเหตุที่การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามคติพระมหากษัตริย์ทรงราชย์และทรงรัฐไปพร้อมกัน ที่มาของเหล่าคณะเสนาบดีที่บริหารราชการแผ่นดินตามกระทรวงสมัยใหม่นั้นมาจากการแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระญาติวงศ์และขุนนางที่ทรงไว้วางพระราชหทัย โดยคณะเสนาบดีเหล่านี้รับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์

หนังสือการเมืองเล่มหนึ่งหลังการปฏิวัติได้สะท้อนอารมณ์แห่งยุคสมัยว่า ในทุกวันนี้ สิทธิทั้งหลายของมนุษย์เปล่งประกายขึ้นมาก ที่ผ่านมาในไทย สิทธิของมนุษย์ได้ถูกเหยียบย่ำมาหลายร้อยปี ในที่สุด คณะราษฎรมีปรารถนาอันแรงกล้าที่จะได้เห็นประเทศรีบรุดไปสู่ความเจริญ พวกเขาทนไม่ได้ที่เห็นสิทธิและเสรีภาพของคนไทยต้องจมอยู่ในความมืด ในที่สุดจึงเกิดการปฏิวัติ

รัฐบาลประชาธิปไตยจำต้องเร่งยกระดับความสำนึกให้กับราษฎรให้เป็นพลเมืองที่สอดคล้องกับการปกครองใหม่ ดังนั้น รัฐบาลจึงจัดทำหนังสือคู่มือพลเมืองเพื่อที่จะสอนสิทธิและหน้าที่พลเมือง ด้วยการใช้ภาษาให้เข้าใจง่าย หนังสือถูกจัดจำหน่ายหลายแสนเล่ม ด้วยราคาถูก เป็นปกแข็ง พิมพ์หลายครั้งและขายหมดอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ภายหลังการปฏิวัติจึงมีหนังสือเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งที่เขียนเป็นหนังสือ ตำราวิชาการอย่างง่ายและสรุปย่อในทำนองหยิบอ่านเข้าใจง่ายว่า คู่มือนั้นถูกผลิตอย่างกว้างขวาง ทั้งจากหน่วยงานของรัฐและจากสังคมเอง ส่งเสริมให้ผู้คนในสังคมมีความรู้ที่สอดคล้องกับการปกครองแบบใหม่ที่เกิดขึ้น

เมื่อระบอบการปกครองเปลี่ยนแล้ว ย่อมมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงคติความเชื่อที่มีต่อผู้ปกครองด้วยเช่นกัน

จากเดิมพระมหากษัตริย์ทรงเป็นทั้งประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหาร มีเหล่าคณะเสนาบดีช่วยบริหารงานโดยรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์

ในขณะที่ในระบอบประชาธิปไตยนั้น รัฐบาล คณะรัฐมนตรีมาจากสภาผู้แทนฯ และระบบราชการล้วนต้องยึดถือประโยชน์ของประชาชนสูงสุดพร้อมรับผิดชอบต่อประชาชนด้วย

ความคาดหวังต่อผู้นำใหม่ที่ต้องรับใช้ประชาชน

หนังสือ “มนตรีวิทยา” (2479) คือหนังสือการเมืองร่วมสมัยที่สะท้อนความเฟื่องฟูในช่วงนั้นเช่นกัน

หนังสือเล่มนี้มีชื่อรองขยายด้วยว่า “เป็นหลักวิชาการเมือง” ผู้เขียนใช้ชื่อย่อว่า “ม. ศรีมา-กุล” เขาเห็นว่า หนังสือของเขาเหมาะสมสำหรับ “ผู้แทนราษฎร, นักการเมือง, นักบริหารรัฐการ, ข้ารัฐการทั้งทหารและพลเรือน, นักเรียนธรรมศาสตร์และการเมือง, สมาชิกสภาจังหวัด มนตรีสภา, ครู, ทนายความ ฯลฯ”

“ม. ศรีมา-กุล” อธิบายสร้างความเข้าใจทั่วไปว่า ประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยย่อมยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนสูงสุด ความขัดแย้งทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากรัฐบุรุษและนักการเมืองย่อมมีเป้าหมายเพื่อประเทศและชาติ แนวทางแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ดังนั้น แนวทางใดที่ประชาชนไม่เห็นด้วย แนวทางนั้นเป็นอันพับไป เขายกตัวอย่างว่า หลายประเทศในโลก รัฐบาลต้องล้มไปเนื่องมาจากความขัดแย้งในทางแนวคิด แม้นในบางครั้งแผนงานของรัฐบาลดูดี แต่ปฏิบัติไม่ได้ หรือไม่เกิดประโยชน์แก่ประชาชนก็นำไปสู่การล้มรัฐบาลและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด (ม. ศรีมา-กุล, 20-21)

เขาเห็นว่า ด้วยการปกครองประชาธิปไตยยึดถืออำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นหลัก ดังนั้น หากแม้นมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจากพระมหากษัตริย์แล้ว แต่หากเกิดกรณีสภาผู้แทนฯ ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล สภาก็สามารถล้มเลิกและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ได้ ด้วยเหตุที่สภามีอำนาจ เนื่องจากสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน

สภาผู้แทนราษฎร สถาบันการเมืองมีหน้าที่ควบคุมคณะรัฐมนตรีและกลไกการบริหารของรัฐ

ด้วยเขาเห็นว่า ประชาชนคือที่มาของอำนาจสูงสุดในการปกครองใหม่นี้ ดังนั้น อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ จึงต้องมีความเกี่ยวเนื่องกับประชาชน ส่วนข้าราชการที่เป็นกลไกของรัฐนั้น ข้าราชการต้องตระหนักถึงการเป็นผู้รับใช้ราษฎร เป็นผู้ทำงานเพื่อราษฎรเฉกเช่นเดียวกับสถาบันการเมืองอื่นๆ (ม. ศรีมา-กุล,182-184)

การอภิปรายความคิดเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ทุกสถาบันการเมืองต้องมีที่มา เกี่ยวข้องและรับผิดชอบต่อประชาชน อันเป็นความคิดที่ก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่งในครั้งนั้น

ในหนังสือเล่มนี้ เขาเห็นว่า มนตรี คือ ผู้นำของประชาชน ดังนั้น เหล่ามนตรีต้องตระหนักในความเป็นชาติเดียวกันกับประชาชน ไม่ทะนงว่าตนฉลาดแล้วดูถูกผู้อื่น มนตรีต้องทำงานโดยยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ มนตรีต้องต้องรู้จักช่วยเหลือประชาชน พูดจาไพเราะสามารถจูงใจคนได้ ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่ถือตัวเหนือประชาชน (16-20)

สำหรับคุณสมบัติของมนตรี คือ รอบรู้ มีศีลธรรม มีความกล้าหาญ มีความเพียร มุ่งความสำเร็จ สุขภาพแข็งแรง เห็นประโยชน์ส่วนรวม มีบุคลิกภาพที่ดี

เขาเห็นว่า คุณสมบัติดังกล่าว คือ คุณสมบัติของมนตรี และหลักสากลของมนตรี ที่ประชาชนทั่วโลกสรรเสริญ คือ การยึดถือประชาชนสำคัญสูงสุด บริหารประเทศด้วยความยุติธรรม

ดังนั้น ประชาชนในประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงมีหน้าที่เลือกสรรเหล่ามนตรีที่มีคุณสมบัติและถนอมรักษาคนเหล่านี้ไว้

คณะรัฐมนตรีในชุดรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร

เขาย้ำหลายครั้งถึงมนตรีต้องยึดถือประโยชน์และทำงานรับใช้ประชาชนนั้น เนื่องจากภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเป็นที่มาแห่งอำนาจและประชาชนมีความสำคัญสูงสุด

ดังนั้น การที่ประชาชนจะมอบหมายให้ผู้ใดทำงานแทน หรือรับผิดชอบแทนประชาชนแล้วจะต้องเลือกเฟ้นคนให้เหมาะสม (184-185) จึงดูราวว่า เขากำลังนิยามหรือเรียกร้องราษฎร์มนตรี หรือผู้รับใช้ประชาชนนั่นเอง

“ม. ศรีมา-กุล” อภิปรายถึงสิทธิทั่วไปของมนุษย์ตามคติแบบฝรั่งเศส คือ “เสรีภาพ สมภาพและภราดรภาพ”

เขาอภิปรายสิทธิทั่วไปโดยอ้างคำอธิบายกฎหมายปกครองของนายปรีดี พนมยงค์ รวมทั้งการอภิปรายถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน และเอกชนต่อรัฐอีกด้วย

กล่าวโดยสรุป หนังสือมนตรีวิทยาเขียนโดยปัญญาชนคนหนึ่งที่พยายามประยุกต์หลักคำสอนทางพุทธศาสนาเข้ากับคุณสมบัติของผู้นำและหลักประชาธิปไตยสากลขึ้น หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามที่จะนิยาม เรียกร้องคุณสมบัติ พร้อมย้ำถึงภาระหน้าที่ของฝ่ายการเมืองและระบบราชการต้องรับผิดชอบต่อประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีความแตกต่างไปจากมนตรีในระบอบเดิมนั่นเอง

พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ผู้มีความเรียบง่ายใกล้ชิดกับประชาชน ในสมัยรัฐประชาชาติ