ส่องแผนแต่ละชาติ ฉีดวัคซีนโควิดให้เด็ก/บทความต่างประเทศ

Oliver Ortega, 13, receives the second dose of the Pfizer-BioNTech "Comirnaty" vaccine against the coronavirus disease (COVID-19) as his twin-brother Aitor waits his turn next to him, during a vaccination rollout for minors between 12 and 17 years old, ahead of the start of the school year, at a vaccination centre in Ronda, Spain September 1, 2021. REUTERS/Jon Nazca

บทความต่างประเทศ

 

ส่องแผนแต่ละชาติ

ฉีดวัคซีนโควิดให้เด็ก

 

ขณะที่ไทยเราเปิดแผนที่จะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปีในเดือนตุลาคมนี้ โดยจะใช้วัคซีนชนิด mRNA ยี่ห้อไฟเซอร์

หลังหลายประเทศทั่วโลก บ้างลุยฉีดวัคซีนโควิดให้กับเด็กในกลุ่มอายุที่กำหนดกันไปแล้ว

บ้างกำลังพิจารณาขยายการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมเด็กในกลุ่มอายุที่ต่ำลงไปอยู่

ซึ่งต้องพิจารณาข้อมูลกันอย่างรอบคอบรอบด้าน โดยเฉพาะอาการไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงของวัคซีน

ส่วนประเทศไหนมีแผนการจัดสรรวัคซีนโรคโควิด-19 ให้กลุ่มเด็กกันอย่างไรบ้าง และใช้วัคซีนชนิดใด

สำนักข่าวบีบีซีรวบรวมข้อมูลมาให้ส่วนหนึ่ง

 

โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หน่วยงานควบคุมกฎระเบียบของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เป็นที่แรกที่อนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ ฉีดให้เด็กในกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งได้มีการกระจายวัคซีนฉีดให้กับกลุ่มเด็กในช่วงอายุดังกล่าวทั่วสหรัฐในทันที จำนวน 2 โดส ฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์

ทำให้ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม มีเด็กกลุ่มอายุ 12-17 ปีในสหรัฐได้ฉีดวัคซีนโดสแรกไปแล้วราว 42 เปอร์เซ็นต์ และอีก 32 เปอร์เซ็นต์ที่ได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์หรือวัคซีนของโมเดอร์นา ซึ่งเป็นชนิด mRNA เช่นกันครบสองโดสแล้ว

การเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเด็กมากขึ้นมีขึ้นหลังจากสหรัฐที่เป็นชาติหนึ่งที่มีอัตราการฉีดวัคซีนมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ต้องกลับมาเผชิญจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มสูงขึ้นอีกจากการแผลงฤทธิ์ของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า

ขณะเดียวกันบริษัทไฟเซอร์ ผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของสหรัฐ ยังกำลังทำการทดลองใช้วัคซีนโควิดในกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปีอยู่ด้วย

คาดว่าข้อมูลผลการทดลองนี้น่าจะออกมาได้ภายในเดือนกันยายนนี้

และผลการทดลองใช้วัคซีนโควิดในกลุ่มทารกอายุ 6 เดือนถึงอายุ 4 ปี คาดว่าจะออกมาได้ในปลายปีนี้

 

ในยุโรป องค์การยาแห่งยุโรป (อีเอ็มเอ) ได้ทำการอนุมัติในเดือนพฤษภาคมเช่นกันให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ในกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปีได้ แต่ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ก็ได้มีการจัดการแผนกระจายวัคซีนที่แตกต่างกันไป โดยเดนมาร์กที่กำหนดให้เด็กฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในกลุ่มอายุ 12-15 ปี และสเปนที่กำหนดกลุ่มอายุไว้ 12-19 ปี ได้ทำการฉีดวัคซีนให้กับประชากรเด็กส่วนใหญ่ในประเทศไปแล้วอย่างน้อยคนละ 1 โดส

ฝรั่งเศสเป็นอีกประเทศที่ทำการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปีอย่างรวดเร็ว โดยประชากรกลุ่มนี้มากถึง 66 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 โดส และ 52 เปอร์เซ็นต์ที่ฉีดครบ 2 โดสแล้ว และในเดือนตุลาคมที่จะถึง บัตรผ่านสุขภาพ (pass sanitaire) จะถูกขยายให้มีผลบังคับใช้ครอบคลุมถึงกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีด้วย นั่นหมายความว่ากลุ่มเด็กวัยรุ่นในฝรั่งเศสทุกคนจะต้องแสดงบัตรผ่านสุขภาพที่รับรองว่าได้ฉีดวัคซีนแล้ว หรือมีผลตรวจเชื้อเป็นลบในการจะเข้าไปในสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น โรงภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์ ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า

ที่เยอรมนี คณะที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ได้เสนอแนะเมื่อเดือนมิถุนายน ว่าควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดให้เฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปีที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพเท่านั้น แต่หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ในเดือนถัดมาทางการเยอรมนีได้ปรับแผนการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปทั้งหมดในทันที

ในสวีเดน กำหนดให้กลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปีที่เป็นโรคปอด ภูมิแพ้ หรือเป็นโรคที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น ที่จะได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด

ส่วนนอร์เวย์ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มอียู ได้ขยายแผนกระจายวัคซีนโควิดให้กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี ไปเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ยังให้เพียงแค่โดสแรกเท่านั้น ส่วนโดสที่ 2 ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา

สำหรับสหราชอาณาจักรเพิ่งมีการประกาศออกมาจากนายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีสาธารณสุข ที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของหัวหน้าคณะทางการแพทย์ (ซีเอ็มโอ) ที่เสนอให้ขยายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ ให้ครอบคลุมถึงกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี ภายใต้การยินยอมของพ่อ-แม่หรือผู้ปกครอง

เพื่อป้องกันเด็กๆ จากการติดเชื้อโควิด ลดการแพร่เชื้อในโรงเรียน และทำให้เด็กได้กลับมาเรียนหนังสือในชั้นเรียนที่โรงเรียน

 

จีนได้เริ่มอนุญาตให้เด็กส่วนหนึ่งอายุตั้งแต่ 3-17 ปี ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้จีนเป็นประเทศแรกที่ไฟเขียวให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้กับเด็กในกลุ่มอายุน้อยเพียง 3 ขวบ โดยวัคซีนที่จีนใช้เป็นวัคซีนของบริษัทซิโนแวค ไบโอเทคของจีน

จีนที่เป็นต้นตอการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แห่งแรกของโลก ได้ตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนโควิดให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรจีนทั้งประเทศที่มีราว 1,400 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ จึงเป็นไปไม่ได้เลยหากจีนจะไม่รวมเอาประชากรกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปีรวมเข้าไว้ในแผนกระจายวัคซีนด้วย

ชิลี ประเทศในแถบอเมริกาใต้ เป็นอีกชาติที่ใช้วัคซีนซิโนแวคของจีนในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 โดยชิลีได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนซิโนแวคกับกลุ่มเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ขณะเดียวกันทางบริษัทซิโนแวคเองยังได้เริ่มทำการทดลองทางคลินิกในการใช้วัคซีนตัวนี้ในกลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนจนถึง 17 ปีในแอฟริกาใต้แล้ว

อินเดีย ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่องค์กรยูนิเซฟประเมินว่าอินเดียน่าจะมีประชากรกลุ่มวัยรุ่นมากที่สุดในโลก ประมาณ 253 ล้านคน ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดของสำนักสำรวจวิทยาเซรุ่มแห่งชาติชี้ว่าราว 60 เปอร์เซ็นต์ของเด็กในอินเดียได้สัมผัสไวรัสโควิด-19 มาตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดแล้ว และมีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะมีภูมิคุ้มกันส่วนหนึ่งจากการติดเชื้อที่ผ่านมา

ในเดือนสิงหาคม หน่วยงานควบคุมกฎระเบียบด้านยารักษาโรคของอินเดียได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิดที่พัฒนาโดยบริษัท Zydus Cadila ของอินเดีย เป็นกรณีฉุกเฉินได้ในเด็กมีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป นับเป็นวัคซีนโควิดตัวแรกที่อินเดียอนุมัติให้ใช้ในกลุ่มเด็กได้ โดยวัคซีนตัวนี้จะต้องได้รับ 3 โดสทิ้งระยะห่างกัน