จาก ‘โอปิออยด์’ ถึง ‘กระท่อม’ ตลาดใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

จาก ‘โอปิออยด์’ ถึง ‘กระท่อม’

ตลาดใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา

 

เมื่อ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางการไทยได้ถอดเอา “กระท่อม” ออกจากบัญชียาเสพติด เปิดทางให้ใช้ และซื้อ-ขายกันได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย

ต่อมาเมื่อ 8 กันยายน สภาผู้แทนราษฎรก็ผ่านร่างกฎหมาย ที่อนุญาตให้มีการ “นำเข้า” และ “ส่งออก” พืชกระท่อมได้ หลังจากมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกัญชามาแล้วก่อนหน้านี้

เป้าหมายก็คือ การปั้น “กระท่อม” ให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ สำหรับการ “ส่งออก” ไปยังต่างประเทศให้ได้

ประเทศไหนจะซื้อ? ซื้อไปทำอะไร?

 

รายงานของบลูมเบิร์กนิวส์ เมื่อ 12 กันยายนที่ผ่านมา บอกเอาไว้ชัดเจนว่า “กระท่อม” มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในสหรัฐอเมริกา และเป็น “ตลาดใหญ่ที่สุดในโลก” สำหรับพืชกระท่อม

เหตุผลสำคัญคือ คนอเมริกันใช้ผลิตภัณฑ์จากกระท่อมสำหรับเป็นทางเลือก ทดแทนการใช้ยาระงับปวดจำพวก “โอปิออยด์” ที่เคยใช้เป็นหลักในการรักษาอาการปวดเฉียบพลัน และอาการปวดเรื้อรัง ในผู้ป่วยเป็นจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา

“โอปิออยด์” เป็นสารสกัดที่ได้จากฝิ่น หรือไม่ก็เป็นสารสังเคราะห์ขึ้นเลียนแบบสารจากธรรมชาติ ดังนั้น จึงเกิดปัญหาเรื่องการติดยา และอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากยาขึ้น ในขณะที่การหยุดใช้ยาอย่างเฉียบพลัน อาจส่งผลร้ายแรง บางรายถึงกับเสียชีวิต

ว่ากันว่า กระท่อมเป็นทางออก เป็นทางแก้ปัญหา ช่วยให้ผู้ติดอยู่ในวังวนของการใช้ยาโอปิออยด์ ให้สามารถหลุดพ้นจากวัฏจักรที่ว่านั้นได้ เลยเป็นที่นิยมกันมากถึงขนาดมี “สมาคมกระท่อมอเมริกัน” (the American Kratom Association) ก่อตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการ

 

ตามข้อมูลของบลูมเบิร์ก สหรัฐอเมริกา นอกจากจะเป็นตลาดนำเข้ากระท่อมใหญ่ที่สุดในโลกแล้วยังมีมูลค่าสูงที่สุดในโลกด้วยอีกต่างหาก

คนอเมริกันใช้กระท่อมเป็นประจำอยู่ประมาณ 11 ล้านถึง 15 ล้านคน มูลค่าของตลาดโดยรวมในแต่ละปีจึงสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

แต่กระท่อมที่คนอเมริกันใช้กันอยู่ ทั้งในรูปของ “ผงกระท่อม” และผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆ ไม่ได้มาจากไทย แต่เป็นกระท่อมจากอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็น “เจ้าตลาด” อยู่ในเวลานี้

“สมาคมกระท่อมอเมริกัน” และบรรดาผู้แทนจำหน่าย รวมทั้ง “คราเคน กระท่อม” บริษัทผู้จัดจำหน่ายกระท่อมในรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ขานรับการทำให้พืชกระท่อมเป็นพืชถูกกฎหมายในประเทศไทยด้วยความยินดี

เจนน์ ลอเดอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของคราเคน กระท่อม ชี้ว่า การทำให้กระท่อมถูกกฎหมาย จะทำให้พืชชนิดนี้ได้รับการยอมรับกันมากขึ้น ส่งผลให้มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่เป็นเหตุเป็นผลทั้งในกระบวนการปลูกและกระบวนการแปรรูปในประเทศต้นทางที่เป็นผู้ส่งออก

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ทำให้บริษัทผู้นำเข้าในสหรัฐอเมริกาสามารถควบคุมแหล่งผลิตได้มากขึ้น สามารถติดตามตรวจสอบไปจนถึงเมล็ดพันธุ์ และเกิดมาตรฐานในการรับประกันคุณภาพขึ้นตามมา ทั้งในแง่ของแหล่งผลิต หรือการนำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งเหล่านี้

 

แต่จังหวะเวลาของไทยในการปลดพืชกระท่อมพ้นจากการเป็นยาเสพติด ไม่ค่อยดีนักในสายตาของบลูมเบิร์ก เหตุผลก็คือ ทางสำนักงานอาหารและยา (เอฟดีเอ) มองกระท่อมไปในทางไม่ดีนัก

เอฟดีเอเพิ่งออกมาเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับกระท่อมไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แสดงความวิตกต่อ “ความปลอดภัยของกระท่อม” โดยชี้ให้เห็นว่า “อาจเสี่ยงต่อสุขภาพของสาธารณชน” และ “อาจเกิดการใช้อย่างล่วงละเมิด” เหมือนกับการใช้ยาเสพติดอื่นๆ

ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กำหนดจัดการประชุมคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการพึ่งพาทางยา (Expert Committee on Drug Dependence) ในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อประเมินอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เป็นการศึกษาทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับกระท่อมทั้งหมด ซึ่งเป็น “ก้าวแรก” ที่อาจนำไปสู่การออกมาตรการควบคุมพืชชนิดนี้เข้มงวดมากขึ้นได้

ในข่าวร้ายก็มีข่าวดีเจือปนอยู่ด้วย นั่นคือ ทางการอินโดนีเซียกำลังดำเนินการสวนทางกับทางการไทยในกรณีของพืชกระท่อมนี้

เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา สำนักงานยาเสพติดแห่งชาติ ของอินโดนีเซีย ออกประกาศให้ “กระท่อม” เป็นยาเสพติดต้องห้ามตามกฎหมาย การบังคับใช้ตามประกาศดังกล่าว ถูกชะลอช้าเรื่อยมา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ปลูกกระท่อมขายเลี้ยงชีพได้หันไปเพาะปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน

กำหนดชะลอการบังคับใช้ที่ว่า จะสิ้นสุดในปี 2024 นี้ ซึ่งหมายความว่า ตลาดสหรัฐอเมริกาที่นำเข้ากระท่อมจากอินโดนีเซียอยู่เกือบทั้งหมด จะต้องหันมาหาแหล่งนำเข้ากระท่อมใหม่

ถือเป็นโอกาสอันดีที่กระท่อมของไทยจะเข้าไปแทนที่กระท่อมจากอินโดนีเซียในเวลานั้นครับ