นิธิ เอียวศรีวงศ์ : มหาวิทยาลัยกับห้างสรรพสินค้า (1)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อตอนเป็นหนุ่ม นักวิชาการออสเตรเลียคนหนึ่งบ่นให้ฟังว่า ในวันหยุดราชการ เขาประสบความยากลำบากในการเข้าไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะประตูด้านที่ติดถนนอังรีดูนังต์ปิดทุกประตู เขาต้องเดินอ้อมไปเข้าประตูทางถนนพญาไท

ผมเลยถามว่า ก็ทำไมไม่ปีนเข้าไปเล่า

เขามองหน้าผมอย่างผงะนิดๆ แล้วบอกว่า นั่นมันต่ำกว่ามาตรฐานที่คนอย่างเขาจะทำได้

ผมยักไหล่แล้วบอกว่า ถ้าอย่างงั้นก็เดิน

แต่ที่จริงแล้วผมผงะกับคำตอบของเขาเหมือนกัน เพราะผมและเพื่อนทำอย่างนั้นมาหลายครั้งแล้ว รั้วไม่เคยศักดิ์สิทธิ์แก่ผมขนาดนั้น จึงไม่รู้สึกอะไร

แม้ว่าพื้นที่บนโลกนี้มันต่อกันเป็นพืด แต่คนในทุกวัฒนธรรมคงรู้จักแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ให้มีความต่างกันในเชิงต่างๆ เช่นตรงนี้ศักดิ์สิทธิ์นะโว้ย, ตรงนี้มีระเบียบเคร่งครัด, ตรงนี้เล่นกันเลยเถิดได้, ฯลฯ

ในวัฒนธรรมไทย ใช้รั้วหรือกำแพงน้อย แต่มักกำหนดพื้นที่ด้วยสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมมากกว่า เช่นราชวัตรฉัตรธงของวัฒนธรรมหลวง ประตูป่าของชาวบ้าน ศาลผีซึ่งไม่มีอาณาเขตพื้นที่แน่นอน แต่อาจรวมทั้งป่า, ทั้งเทือกเขา, ทั้งบริเวณขุนน้ำ ฯลฯ

ดังนั้น การเดินฝ่า (หรือปีนฝ่า) เข้าไปในแต่ละพื้นที่จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ ใครๆ ก็ทำ เพียงแต่ว่าต้องแสดงความเคารพพื้นที่นั้นๆ ให้เหมาะสมเท่านั้น เช่นเข้าป่าไม่พูดเรื่องลามก เข้าวัดอย่านุ่งผ้าลอยชาย ขึ้นเรือนตามประเพณีของไทบางกลุ่ม ไม่ควรล่วงละเมิดเข้าไปในบางพื้นที่ เช่นใน “ห้อง” หรือ “ส้วม” ที่เขาตั้งผีเรือนไว้ ละจากพื้นที่ของผีหนึ่ง ล่วงเข้าสู่พื้นที่ของอีกผีหนึ่ง พึงวางหินไว้สามก้อนเป็นการบูชาทั้งผีที่เพิ่งละมาและผีใหม่ที่กำลังเข้าหา

กำแพงวังและกำแพงวัด(หลวง)ก็มีบ้าง แต่ไม่สู้จะมากนัก

ส่วนใหญ่ของการกำหนดพื้นที่แบบไทย ไม่ได้มีไว้เพื่อกันคนเข้า แต่เพื่อแสดงอาณาเขต แยกพื้นที่หนึ่งออกจากพื้นที่ส่วนที่เหลือ มีประเพณีพิธีกรรมกำหนดพฤติกรรมของคนในพื้นที่ซึ่งแยกออกมานั้น

จุฬาฯ เป็นพื้นที่แบบใหม่ ซึ่งเพิ่งเข้ามาในสังคมไทยไม่นานนัก เป็นพื้นที่ “สาธารณะ” ที่ไม่เหมือนเดิมทีเดียวนัก ผมอยากเปรียบกับท้องสนามหลวงอันเป็นพื้นที่ “สาธารณะ” ในสมัยโบราณ

ท้องสนามหลวงเป็นของ “หลวง” แน่ แต่เปิดเป็นสาธารณะแก่คนทั่วไป เพลงลาวครวญบอกให้รู้ว่า เชลยชาวลาวใช้เป็นที่หากบหาเขียดเมื่อฝนตก แต่เมื่อยามที่ท่านใช้เป็นท้องพระเมรุ แม้ฝนจะตก ผมเข้าใจว่าเชลยชาวลาวจะใช้เป็นที่หากบหาเขียดไม่ได้

ท้องสนามหลวงจึงเป็นพื้นที่สาธารณะแบบเก่าโดยแท้ ถูกใช้โดยคนหลายกลุ่ม และใช้เพื่อกิจกรรมหลายประเภท มีประเพณีพิธีกรรมกำหนดพฤติกรรมของคนที่จะเข้าไปยังพื้นที่นี้ในยามที่ถูกใช้ต่างกัน

แม้พื้นที่จุฬาฯ เป็นพื้นที่สาธารณะเหมือนกัน แต่เป็นสาธารณะแบบใหม่ของไทย คือเพื่อทำกิจกรรมของรัฐโดยเฉพาะ คือจัดการศึกษาอันประกอบด้วยกิจกรรมหลายอย่างนอกจากห้องเรียน จึงไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาทำกิจกรรมอะไรได้ตามใจชอบ

ความเป็นพื้นที่ของรัฐในประเทศไทยสมัยใหม่ หมายถึงเป็นของรัฐจริงๆ นะโว้ย เพราะเป็นของรัฐจึงเป็น “สาธารณะ” แต่ไม่ได้หมายความว่าใครจะเข้ามาทำอะไรก็ได้ มีกฎระเบียบของราชการหลายอย่างที่กำหนดพฤติกรรมของคนที่จะเข้ามาในพื้นที่สาธารณะแบบนี้ สมัยหนึ่งที่ว่าการอำเภอยังบังคับให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการต้องแต่งกายอย่างไร (เช่น ต้องสวมรองเท้า, ไม่นุ่งโสร่ง, ต้องสวมเสื้อ, ต้องพูดภาษากลาง ฯลฯ)

ทั้งหมดนี้คือที่มาของรั้ว เพื่อแยกพื้นที่สาธารณะของรัฐ ออกจากพื้นที่สาธารณะของประชาชน ผมสังเกตเห็นในสหรัฐและญี่ปุ่นว่า สถานที่ราชการของเขาไม่มีรั้วเป็นส่วนใหญ่ (ยกเว้นที่ทำการซีไอเอในเวอร์จิเนียกระมัง) ยิ่งหากเป็นมหาวิทยาลัยแล้ว แทบจะหาที่มีรั้วไม่เจอเลย

ผมไม่มีเวลาไปค้นว่าจุฬาฯ สร้างรั้วเมื่อไร แต่แน่ใจว่าสร้างไม่พร้อมกัน รั้วและซุ้มประตูด้านถนนอังรีดูนังต์น่าจะสร้างพร้อมกับเมื่อสร้างหอสมุดกลาง(หลังเดิม)ให้คู่กับตึกคณะอักษรศาสตร์(หลังเดิม) และคงไม่มีงบประมาณพอจะสร้างได้ตลอดแนว รั้วและประตูของคณะรัฐศาสตร์จึงแตกต่างไปจากรั้วและซุ้มประตูทางคณะอักษรศาสตร์ (ส่วนใครจะสร้างก่อนกันผมไม่ทราบ)

นอกจากหอประชุมแล้ว มหาวิทยาลัยไทยชอบสร้างรั้วครับ ในระยะหลังเมื่อไทยมีเงินมากขึ้น มหาวิทยาลัยใหม่ๆ จะสร้างขึ้นพร้อมกับรั้วเลยทีเดียว ทั้งนี้เพราะมหาวิทยาลัยไทยอยากเป็นสถานที่ราชการมากกว่าเป็นมหาวิทยาลัยนี่ครับ

เดี๋ยวนี้ แม้แต่สวนลุมพินี, จตุจักร, และสนามหลวง ล้วนมีรั้วกันหมด เพราะต่างเป็นสวนสาธารณะ “ของรัฐ” ทั้งสิ้น

ผมยกพื้นที่จุฬาฯ (อย่างยาวไปหน่อย) อันเป็นพื้นที่สาธารณะของรัฐ เพื่อเอามาเปรียบกับพื้นที่สาธารณะของทุน คือห้างสรรพสินค้า

เปรียบเทียบทำไม?

โดยอาศัยหลักเกณฑ์ว่า พื้นที่ต่างๆ นั้นล้วนเป็นผลผลิตของมนุษย์ เราสร้างพื้นที่ต่างๆ ขึ้นมาจากความเชื่อ, ค่านิยม, ความใฝ่ฝัน, อดีตและอนาคตของเรา ด้วยเหตุดังนั้น พื้นที่ซึ่งเราสร้างขึ้นจึงไม่ใช่ช่องว่างเปล่าๆ ที่มนุษย์แทรกตัวเข้าไปมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่มนุษย์จะถูกพื้นที่นั้นบังคับเกลี้ยกล่อมชักจูง ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ให้ซึมซับเอาความเชื่อ, ค่านิยม, ความใฝ่ฝัน, อดีตและอนาคตของมนุษย์คนอื่น นับตั้งแต่ผู้สร้างพื้นที่นั้นรวมไปถึงผู้ใช้พื้นที่นั้นร่วมกัน หรือแม้แต่คนที่อยากเข้าไปพื้นที่นั้น แต่ไม่เคยเข้าไปเลย จนมีผลต่อบุคลิกภาพของเขา

จิตใจมนุษย์มีผลต่อวัตถุ และวัตถุมีผลต่อจิตใจมนุษย์

เมื่อเอาสองพื้นที่มาเปรียบเทียบกัน มนุษย์ถูกแปรเปลี่ยนไปด้วยอิทธิพลของพื้นที่อย่างไร

การศึกษาสังคมและวัฒนธรรมมนุษย์จากพื้นที่นั้น อาจทำได้สองระดับ คือระดับพื้นถนนติดดิน เพื่อดูว่ามนุษย์มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขของพื้นที่ซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นไว้ หรือดูระดับตานก ซึ่งจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่หนึ่งกับอีกพื้นที่หนึ่ง (เช่นจุฬาฯ อยู่ในละแวกของแหล่งช็อปปิ้งที่ใหญ่สุดของกรุงเทพฯ) ทำให้มองเห็นความสัมพันธ์อีกระดับหนึ่ง คือระดับโครงสร้าง ในที่นี้ผมขอพูดเฉพาะความสัมพันธ์ระดับพื้นถนนติดดินเท่านั้น

ห้างสรรพสินค้าแรกที่ผมรู้จักในชีวิตคือห้างใต้ฟ้า (หรือไต้ฟ้าหว่า) บนถนนเยาวราช แต่นั่นคงไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าแรกของเมืองไทย “ผู้ดี” สมัย ร.5 และ 6 พูดถึงห้างฝรั่งชื่อไวท์เวย์ที่ขายเครื่องอุปโภคบริโภคนานาชนิด แต่ผมเกิดไม่ทันและไม่เคยเห็น

คล้ายกับห้างสรรพสินค้าปัจจุบัน ใต้ฟ้ามีแผนกขายของหลายชนิด ทั้งเสื้อผ้า, ของกินของใช้อื่นๆ ไปจนถึงเครื่องออกกำลังกาย แต่แผนกที่ผมจำได้แม่นยำมากคือแผนกของเล่นเด็ก จะแตกต่างจากห้างสรรพสินค้าปัจจุบันก็คือ ของมีน้อย เช่นเสื้อเชิ้ตแอร์โรว์ ก็มีอยู่ตู้เดียว ไม่ถึงกับตั้งเป็นร้านแยกไปต่างหาก

แต่ที่แตกต่างอย่างสำคัญที่สุดก็คือ ใต้ฟ้ามีเจ้าของเดียว สั่งซื้อสินค้าต่างๆ มาขาย แล้วจ้างพนักงานมายืนเฝ้าอยู่ตามแผนกต่างๆ ผมไม่ทราบว่าเขาเป็นใคร แล้วก็เด็กเกินกว่าจะไปสังเกตว่ามีตาแป๊ะยืนโบกพัดอยู่หลังร้านหรือไม่ แต่ลักษณะเจ้าของเดียวนี้ทำให้ใต้ฟ้าเป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่สู้จะเสรีนัก เหมือนเราเดินเข้าร้านขายยา, ขายเครื่องจิ้มหลังตลาดสด, หรือโชห่วยข้างตลาดในทุกวันนี้

คือเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีเจ้าของ และก็มักจะปรากฏตัวในร้าน อย่างห่างๆ หรืออย่างใกล้ชิดก็ตาม สายตาของเขากวาดมองทั้งลูกค้า, พนักงาน, และสินค้าอยู่ตลอดเวลา เมื่อเราเดินเข้าร้านก็จะตกอยู่ภายใต้การมองของพนักงานและเจ้าของร้านซึ่งอาจแอบซุ่มอยู่ที่ไหนสักแห่ง เรามักถูกถามว่าจะเอาอะไร มีคำตอบให้เลือกได้เพียงสองอย่าง คือหนึ่งกำลังหาซื้ออะไร หรือสองกูมาปล้นมึง

ใต้ฟ้าก็อย่างนั้นแหละครับ คือเดินชมโน่นชมนี่ได้ แต่ทุกตู้โชว์ก็มีพนักงานยืนเฝ้าอยู่ หากหยุดดูนานก็จะถูกถามด้วยคำถามที่ไม่มีทางเลือกนั้น

เป็นพื้นที่ซึ่งไม่ “เสรี” เพราะอย่างนี้แหละครับ เมื่อเปรียบเทียบกับการ “เดินห้าง” ในทุกวันนี้ จะเห็นได้ว่าเราเดินได้อย่างอิสระเสรีกว่ากันมากทีเดียว แม้แต่เมื่อถูกพนักงานถามว่าสนใจอะไรถามได้นะคะ เราก็ยังอาจตอบอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า เดินดูเฉยๆ น่ะครับ ที่ตอบได้ก็เพราะเรารู้สึกว่าเป็น “สิทธิ์” ที่จะเดินดูเฉยๆ ในห้างสรรพสินค้า อันเป็นคำตอบที่ให้แก่ห้างใต้ฟ้าหรือโชห่วยหลังตลาดไม่ได้

แม้แต่ไปเดิน “ตากแอร์” ในห้าง ก็ได้รับการต้อนรับไม่ต่างจากคนที่ไปช็อปปิ้ง ว่าที่จริงเดิน “ตากแอร์” ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ต้องเจออะไรบางอย่างที่อยากได้ ถึงไม่มีเงินซื้อวันนี้ ก็คงถูกความอยากเผาผลาญให้ไปหาเงินมาซื้อวันอื่นจนได้ นักช็อปแบบผมซึ่งรู้ว่าจะไปซื้ออะไร ซื้อแล้วก็กลับเลยเสียอีก ที่ไม่น่าต้อนรับเท่า

แต่ระวังนะครับ การลิดรอนเสรีภาพที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือการเปิดให้เลือกทางเลือกที่มีอยู่ทางเดียวโดยสมัครใจ

ผมพูดเรื่องนี้เพราะคิดถึงพื้นที่ซึ่งกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ในที่นี้จะขอยกเอาเรื่องเครื่องแต่งกายหรือเครื่องแบบมาเป็นตัวอย่าง

มหาวิทยาลัยประสบความล้มเหลวกับเครื่องแบบนิสิตนักศึกษาตลอดมา ผมจำได้ว่าอธิการบดีจุฬาฯ สมัยที่ผมยังเรียนที่นั่น มักจะเดินตรวจความเรียบร้อยของมหาวิทยาลัย หนึ่งในความเรียบร้อยที่ท่านมักตรวจเสมอ คือการแต่งกายของนิสิต โดยเฉพาะน้องใหม่ เช่นดูว่านิสิตชายใช้เข็มขัดอันเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบหรือไม่ ทั้งหมดนี้แสดงว่านิสิตพยายามเลี่ยงการแต่งเครื่องแบบ

นิสิตหญิงก็ดัดแปลงเครื่องแบบให้สอดรับกับแฟชั่นยุคสมัย เพื่อนนิสิตรุ่นผมก็ทำ นักศึกษาที่ผมสอนในภายหลังก็ทำ ซึ่งเป็นสมัยที่สาวๆ เขานิยมนุ่งสั้นกัน จนต้องมีระเบียบเสริมเข้ามาว่ากระโปรงนักศึกษานั้นจะต้องไม่สูงเกินเข่าเท่าไรๆ เป็นต้น

ในบางมหาวิทยาลัย ห้ามนักศึกษาที่ไม่สวมเครื่องแบบเข้าห้องเรียน หรือห้ามไปติดต่ออาจารย์ในที่ทำการภาควิชา

ทั้งหมดนี้ล้วนแสดงว่ามหาวิทยาลัยล้มเหลวในการบังคับให้นิสิตนักศึกษาแต่งเครื่องแบบ

เครื่องแบบหรือการแต่งกายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการแสดงอัตลักษณ์ของผู้สวมใส่ ดังนั้นคนเราจึงสวมเครื่องแบบหรือแต่งกายเพื่อให้คนห่างๆ ที่เราไม่รู้จักได้เห็น ส่วนคนใกล้ชิดเช่นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ไม่ต้องสวมเครื่องแบบหรือแต่งกายเป็นพิเศษ เนื่องจากเราได้แสดงอัตลักษณ์ของเราให้เขาเห็นด้วยวิธีอื่นๆ มามากแล้ว

สมัยที่ผมเรียนหนังสืออยู่ จุฬาฯ มีนิสิตแค่ 5,000 คน ดังนั้นจึงแทบไม่มี “คนอื่น” อยู่ในจุฬาฯ เลย แม้ไม่ได้รู้จักมักจี่กันทุกคน แต่ก็รู้จักหน้าค่าตากันแทบหมด จะแต่งเครื่องแบบซึ่งแสดงอัตลักษณ์ได้จำกัดให้แก่คนคุ้นเคยดูทำไม

แม้ว่าสมัยนี้มหาวิทยาลัยมีนิสิตนักศึกษาเป็นหลายหมื่น แต่มหาวิทยาลัยเป็นโลกต่างหากที่แยกออกจากพื้นที่ส่วนอื่นนะครับ เพราะมหาวิทยาลัยชอบล้อมรั้วตัวเอง เครื่องแบบแสดงสถานภาพของผู้สวมใส่ ทั้งสถานภาพภายในองค์กร (เช่นเครื่องแบบทหาร-ตำรวจ) และสถานภาพของเขากับคนภายนอก

เครื่องแบบนักศึกษาไม่แสดงสถานภาพภายในองค์กร แต่แสดงสถานภาพกับคนภายนอก (ซึ่งก็ลดคุณค่าลงไปเรื่อยๆ ด้วย) ในเมื่อมหาวิทยาลัยถูกล้อมรั้ว จนไม่มีคนนอกเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัย จะให้แต่งเครื่องแบบไปแสดงสถานภาพกับคนที่อยู่ในสถานภาพเดียวกันทำไมล่ะครับ