บทสนทนากับทูตจีนคนใหม่ : การทูตแบบ ‘หมัดต่อหมัด’/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

บทสนทนากับทูตจีนคนใหม่

: การทูตแบบ ‘หมัดต่อหมัด’

ถ้าใครยังสงสัยว่าการทูตแบบจีนวันนี้กำลังมีความเปลี่ยนแปลงอย่างคึกคักมากน้อยแค่ไหนก็ไม่ต้องคลางแคลงใจอีกต่อไป

เป็นที่ประจักษ์จากหลักฐานทั้งปวงว่าจีนภายใต้สีจิ้นผิงกำลังใช้กลยุทธ์ “หมัดต่อหมัด” กับสหรัฐ และใครก็ตามที่ยืนอยู่คนละข้างกับแนวทางที่ปักกิ่งกำลังวางเอาไว้เพื่อให้จีนมายืนอยู่แถวหน้าของเวทีประชาคมโลก

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยคนใหม่ “หานจื้อเฉียง” น่าจะเป็นตัวแทนของ “การทูตจีนยุคใหม่” นี้ได้ดี

วันที่ท่านทูตหานขอ “พูดคุยแนะนำตัวเอง” ผ่านระบบ zoom กับผมเมื่อเร็วๆ นี้ ลีลาและวาทะล้วนตอกย้ำว่านักการทูตจีนวันนี้ใช้วิธี “ยิงตรงเป้า” เข้าประเด็นเพื่อยืนยันจุดยืนของจีนในประเด็นระหว่างประเทศทั้งหลายอย่างหนักแน่น

เราฟังจากแง่มุมของไทยจะเห็นพ้องหรือเห็นต่างก็ตาม จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญด้านนี้เพื่อให้ “ตามทัน” ความเคลื่อนไหวที่กำลังร้อนแรงขึ้นทุกที

ทำนองเดียวกับที่เราต้องเข้าใจว่าสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังวางทีท่าและท่วงทำนองนโยบายต่างประเทศต่อโลกและภูมิภาคนี้อย่างไร

เพราะสองยักษ์นี้กำลังพันตูกันในเกือบจะทุกเวทีอย่างไม่ต้องสงสัย

ท่านทูตหานมารับตำแหน่งที่กรุงเทพฯ ได้ไม่นานก็นัดหมายพบปะพูดจากับคนวงการต่างๆ ในประเทศเพื่อตอกย้ำถึงนโยบายของจีนต่อประเทศไทย

โดยย้ำว่าจีนต้องการเป็นมิตรกับไทย ด้วยความสัมพันธ์อันยาวนานและความเป็นหุ้นส่วนในหลายมิติของความสัมพันธ์ ท่านทูตย้ำถึงเรื่องความร่วมมือเรื่องการสู้กับโควิด-19 วัคซีนจีน, การฟื้นฟูเศรษฐกิจ

และไม่ลืมที่จะย้ำว่ามี “บางประเทศจากข้างนอก” ที่กำลังพยายามจะเสี้ยมให้จีนกับอาเซียนมีปัญหาระหองระแหงกัน

ไม่ต้องตีความให้ยากก็เข้าใจได้ทันทีว่าท่านทูตหมายถึงสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรของวอชิงตันในภูมิภาคนี้

 

วันที่ท่านทูตหานแลกเปลี่ยนกับผมผ่านระบบออนไลน์นั้นเป็นวันเดียวกับที่สถานทูตจีนออกแถลงการณ์ประกาศ “คัดค้าน” คนหรือองค์กรที่พยายามจะ “ด้อยค่า” และ “ใส่ร้าย” วัคซีน Sinovac ของจีนด้วยภาษาการทูตแบบเข้มข้นไม่น้อย

ระหว่างที่พูดคุยกัน ท่านทูตก็ย้ำในประเด็นที่ว่าเรื่องวัคซีนต้องพิจารณาบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์, ไม่ใช่ความเชื่อหรืออคติส่วนตัว

ทำให้ผมย้อนไปฟังคำอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาในสัปดาห์เดียวกันนั้น

ชัดเจนว่าทั้งนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา, รองนายกฯ และรัฐมนตรีสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล, กับรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ก็เตือนในคำชี้แจงว่าอย่า “ด้อยค่า” วัคซีนสัญชาติจีน

เพราะ “อาจมีผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างเรากับประเทศจีน”

นี่คือประเด็นที่น่าใคร่ครวญ

เพราะหากรัฐบาลจีนบอกว่าไม่ควรเอา “การเมือง” มาปนกับ “ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ” การออกแถลงการณ์เรื่อง “คัดค้านการด้อยค่า” ของวัคซีนจีนก็ย่อมจะถือได้ว่าเป็น “การเมือง” ได้เหมือนกัน

เพราะความเห็นที่แสดงกันในประเทศไทยเกี่ยวกับคุณภาพและประสิทธิผลของ Sinovac นั้นส่วนใหญ่อยู่บนพื้นฐานของงานวิจัยและรายงานจากแพทย์และนักวิชาการในประเทศต่างๆ ที่เปรียบเทียบประสิทธิผลหรือ efficacy ของวัคซีนยี่ห้อต่างๆ เมื่อเจอกับไวรัสกลายพันธุ์ Delta

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแสดงความคิดเห็นในภาวะที่มีความหงุดหงิดและอึดอัดต่อการทำงานของรัฐบาลในเรื่องวัคซีนนั้นทำให้เกิดความโน้มเอียงไปด้านหนึ่งด้านใดที่โยงกับ “ความชอบและไม่ชอบ” ต่อรัฐบาลไทยเช่นกัน

น่าสังเกตเช่นกันว่าการแสดงความคิดเห็นของคนไทยบางกลุ่มเกี่ยวกับ Sinovac ก็ต่างกับที่มีต่อ Sinopharm

ทั้งๆ ที่ทั้งสองยี่ห้อก็มีสัญชาติจีนและเป็นประเภท “เชื้อตาย” เหมือนกัน

แต่ความคิดเห็นที่แลกเปลี่ยนกันอยู่ในไทยต่อวัคซีนสองยี่ห้อนี้ก็มีระดับความชอบไม่ชอบที่แตกต่างกันไป

เหตุผลก็คงเป็นเพราะยี่ห้อหนึ่งถูกมองว่ามีความโยงใยกับรัฐบาลไทย แต่อีกยี่ห้อหนึ่งนำเข้าโดยองค์กรที่ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล

ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือขณะที่รัฐบาลจีนออกมาปกป้องวัคซีน Sinovac ไม่ให้ใคร “ด้อยค่า” หรือ “ใส่ร้าย” นั้น

รัฐบาลสหรัฐก็ไม่ได้แสดงท่าทีไม่ว่าทางบวกหรือทางลบเมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อยี่ห้อ Pfizer

และรัฐบาลอังกฤษก็ไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องแสดงจุดยืนต่อ AstraZeneca ในกรณีที่มีบางประเทศที่มีแนวทางวิเคราะห์ต่อคุณภาพและประสิทธิผลของวัคซีนยี่ห้อ “สัญชาติ” ของตน

นี่กระมังที่มีสาเหตุมาจากระบอบการปกครองของจีน, สหรัฐ และยุโรปที่แตกต่างกันไป

ทำให้ท่าทีของรัฐบาลแต่ละประเทศต่อวัคซีนที่ผลิตในประเทศของตนมีความแตกต่างกันไปเช่นกัน

ทำให้คนไทยต้องแยกแยะให้ได้ว่า “การทูตวัคซีน” นั้นมีความละเอียดอ่อนจนมี “การเมือง” เข้ามาพัวพันอย่างปฏิเสธไม่ได้

เราจึงต้องจับตาดู “การทูตระหว่างประเทศว่าด้วยวัคซีน” ว่าจะทำให้มหาอำนาจอย่างจีน, สหรัฐ และยุโรป มีวิวัฒนาการไปทางใด

โดยที่เราต้องไม่ถูกดึงเข้าไปกลายเป็นคู่กรณีแห่งความขัดแย้งนี้ด้วย

 

ผมพูดคุยกันท่านทูตหานของจีนแล้วก็ได้รับรู้ถึงการปักหลักต่อต้าน “ข้อกล่าวหา” จากโลกตะวันตกว่าด้วยประเด็นอื่นๆ ที่โยงกับเรื่องโควิด-19 ด้วย

เช่น เรื่องที่สหรัฐกล่าวหาว่าเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคระบาดโควิด-19 ครั้งนี้มาจากการที่เชื้อโรคตัวนี้หลุดออกจากห้องทดลองที่อู่ฮั่นของจีน

ท่านทูตหานยืนยันว่าทางจีนเปิดกว้างให้มีการสอบสวนเรื่องนี้ และทีมผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกก็ได้เข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียดที่ประเทศจีนแล้ว ได้ข้อสรุปว่าข้อกล่าวหาของสหรัฐไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

จากนี้ไปเราคงจะได้เห็น “นักการทูต” จีนที่จะออกมาปะฉะดะกับข่าวคราวที่ปักกิ่งเห็นว่าทำให้เกิดภาพทางลบของรัฐบาลจีนแรงขึ้นและถี่ขึ้น

 

ดูจากประวัติของท่านทูตจีนคนใหม่ก็ต้องถือว่าผ่านประสบการณ์ด้านนี้มาพอสมควร

เอกสารทางการของสถานทูตจีนเกี่ยวกับประวัติของท่านทูตหานบอกว่าอย่างนี้

“หานจื้อเฉียง” เกิดเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.1963 ที่ยีทง มณฑลจี๋หลิน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์

1987-1988 เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการ กรมเอเชีย กระทรวงต่างประเทศ

1988-1989 เจ้าหน้าที่สำนักงานประจำประเทศญี่ปุ่น สมาคมการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างประเทศของประเทศจีน

1989-1994 ผู้ช่วยเลขานุการ เลขานุการตรี กรมเอเชีย กระทรวงต่างประเทศ

1994-1998 เลขานุการตรี เลขานุการโท สถานทูตจีนประจำประเทศญี่ปุ่น

1998-2004 เลขานุการโท เลขานุการเอก ที่ปรึกษากรมการกลาง กระทรวงต่างประเทศ

2004-2008 รองอธิบดีกรมการกลาง กระทรวงต่างประเทศ

2008-2011 เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศฟิจิ

2011-2015 อัครราชทูตสถานทูตจีนประจำประเทศญี่ปุ่น

2015-2016 ผู้ทรงคุณวุฒิระดับอธิบดี กรมการกลาง กระทรวงต่างประเทศ

2016-2021 อธิบดีกรมการกลาง กระทรวงต่างประเทศ

2021- ปัจจุบัน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย

สมรส มีบุตรชาย 1 คน

นั่นย่อมแสดงว่าวาทกรรมด้านการเมืองการทูตจากสถานทูตจีนจากนี้ไปต่อความเคลื่อนไหวระหว่างประเทศที่โยงกับไทยและจีนจะมีความเข้มข้นต่อเนื่องอย่างน่าติดตามยิ่ง