วิรัตน์ แสงทองคำ : ซีพี… ‘ขาใหญ่’ กระชับพื้นที่

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ / https://viratts.com/

 

 

ซีพี… ‘ขาใหญ่’ กระชับพื้นที่

 

ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ มักดำเนินไปอย่างแข็งขัน เมื่อมองว่าวิกฤตเริ่มคลี่คลาย

อันที่จริง มิใช่เรื่องตื่นเต้นสักเท่าไหร่ ในกรณีบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO รับโอนกิจการ Lotus’s

เรื่องราวอันครึกโครมอย่างแท้จริงได้ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว (มีนาคม 2563) เมื่อเครือซีพีแถลงบรรลุแผนการลงทุนซื้อกิจการเครือข่าย Tesco ในประเทศไทยและมาเลเซีย ด้วยวงเงินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 338,445 ล้านบาท

ดีลซีพี กับ Tesco แห่งสหราชอาณาจักร เกิดขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์ไม่ปกติ ในภาวะตื่นตระหนกช่วงต้นๆ โรคระบาดครั้งใหญ่ในโลก ความสนใจของผู้คนจึงเบี่ยงเบนไปบ้าง เกี่ยวกับดีลที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจไทยก็ว่าได้ ผมฟันธงในเวลานั้น “จะส่งผลสะเทือนอย่างพลิกโฉม”

หนึ่ง-เครือข่ายค้าปลีกในสังคมไทย จะกลายเป็นธุรกิจใหญ่ มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น เป็นธุรกิจเดียวก็ว่าได้ อยู่ในกำมือของธุรกิจไทยอย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อเทียบเคียงกับธุรกิจอิทธิพลอื่นๆ ไม่ว่าธุรกิจการเงิน ธนาคาร หลักทรัพย์ หรือสื่อสาร

และสอง– มีอิทธิพลระดับภูมิภาค ด้วยธุรกิจค้าปลีกไทย จะกลายเป็นธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

กล่าวเฉพาะซีพีกับดีลแห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งสั่นสะเทือนธุรกิจค้าปลีกไทยอย่างมาก เมื่อเข้าครอบครองเครือข่าย Tesco Lotus แล้วผนวกพลังกับ 7-Eleven และ Makro ที่มีอยู่เดิม ซีพีกลายผู้ครอบครองเครือข่ายค้าปลีกครอบคลุมมากที่สุดในสังคมไทย

จากนั้นผู้คนสนใจจางลงไป ภายใต้กระบวนการที่เป็นไปทางวิศวกรรมทางการเงิน จนมาถึงบทสรุปสั้นๆ อีกครั้ง เมื่อบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ในฐานะผู้เกี่ยวข้อง พร้อมใจกันแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ภาพสรุปเกี่ยวกับการลงทุนในบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. หรือเรียกว่า “ธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชีย” โดยเป็นการลงทุนโดยอ้อม ผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ ตั้งใจระบุว่า “ในวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มเทสโก้เอเชียได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว”

จนกระทั่งล่าสุด (1 กันยายน 2564) MAKRO ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง “การรับโอนกิจการทั้งหมดของบริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด และการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)” มีความยาวถึง 120 หน้า เนื้อหาค่อนข้างวกวน ข้อมูลซ้ำไปมาหลายช่วงหลายตอน

หากจะได้ภาพอันกระจ่างมากขึ้นในเวลาอันสั้น คงต้องพิจารณาจากข้อมูลนำเสนอ (presentation) ในหัวข้อ Makro : A transformational opportunity, Joint Announcement Presentation (August 31, 2021) ของ MAKRO CPALL และ CPF นำโดยศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ MAKRO ที่สำคัญเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วย

 

ภาพกว้างๆ เมื่อกระบวนการจบสิ้นลง (คาดว่าปลายปี 2564) จะเป็นว่า กิจการเครือข่าย Lotus’s ทั้งในไทยและมาเลเซีย จะมาอยู่ภายใต้ MAKRO ทำให้กิจการใหญ่ขึ้นราวหนึ่งเท่าตัว โดยเฉพาะมียอดขายรวมกันมากกว่า 4 แสนล้านบาท

ขณะ CPALL ผู้ถือหุ้นใหญ่เกือบทั้งหมดใน MAKRO จะลดสัดส่วนลง อย่างไรก็ยังมีมากกว่า 50% จำต้องแสดงผลประกอบการของ MAKRO รวมด้วย คาดว่าจะมีรายได้รวมกันมากกว่า 7 แสนล้านบาท

ในทันที CPALL ในฐานะเป็นบริษัทแกนของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก จะกลายเป็นกลุ่มธุรกิจหลัก (1 ใน 3) ของซีพี สามารถสร้างรายได้มากที่สุด โดยเฉพาะแซงกลุ่มธุรกิจสำคัญดั้งเดิม-ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ภายใต้ CPF

ในอีกมิติที่สำคัญกว่านั้น สะท้อนว่าธุรกิจค้าปลีกของซีพีในประเทศไทย ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลเชิงสังคม มากกว่าอีก 2 ธุรกิจหลักเสียอีก ไม่ว่าธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร หรือธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม

สิ่งที่น่าสนใจกว่าแผนภูมิโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่ปรับเปลี่ยนไปคือ ข้อมูลทางธุรกิจเกี่ยวกับ Lotus’s ซึ่งจำเป็นต้องเปิดเผยมากขึ้น (โปรดพิจารณาข้อมูลบางส่วนที่ยกมา “ข้อมูลจำเพาะ”) และเชื่อว่า จะมีข้อมูลที่เป็นระบบ เป็นประโยชน์มากขึ้นอีก (สำหรับการวิเคราะห์ เจาะค้นและติดตาม) เมื่อมีการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อสาธารณชน (Public Offering) คาดว่าจะมีความคืบหน้าในปลายปีนี้ ดูเหมือนมีความตั้งใจให้เป็นช่วงเวลาวิกฤตการณ์ COVID-19 คลี่คลาย และหวังว่าราคาหุ้นคงปรับตัวดีขึ้น

ที่น่าติดตามต่อจากนั้น คือความเป็นไปของ MAKRO

 

 

 

มีสิ่งที่น่าสนใจสำคัญอื่นๆ อีกเช่นกัน ในช่วงเวลาค่อนปีที่ผ่านมา ว่าด้วยความเป็นไปของ Lotus’s ภายใต้การบริหารของซีพี เป็นที่รู้กันดีว่า อยู่ในกำมือของบุตรทั้งสามของธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้เพิ่งเข้ามามีบทบาทนำทั้งกลุ่มซีพี และมีบทบาทมากเป็นพิเศษในความพยายามใหม่ๆ ในแผนการเชิงรุกทางธุรกิจ ขณะแผนการขยับปรับโครงสร้างธุรกิจซีพีโดยรวมตามสมควร

ข้อมูลที่นำเสนออันยืดยาว ปรากฏความเป็นไปอย่างสั้นๆ 2 ช่วง-กุมภาพันธ์ 2564 “มีการรีแบรนด์ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตภายใต้แบรนด์ Lotus’s และเปิดให้บริการร้านมินิซูเปอร์มาร์เก็ตภายใต้แบรนด์ Go Fresh”

และมิถุนายน 2564 “ขยายเครือข่ายบริการระบบช้อปปิ้งออนไลน์ จากร้านค้า 25 สาขาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เป็น 89 สาขา” ในบางช่วงบางตอนของเอกสารข้างต้น มีการขยายความเอาไว้

“ปรับแบรนด์ดังกล่าวจะช่วยดึงดูดและจับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีอายุน้อยลง กลยุทธ์การปรับแบรนด์ให้มีความทันสมัยขึ้น… การศึกษาการใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาเสริมเพื่อให้ …เพิ่มความแข็งแกร่งของการจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ และการเปิดตัวโปรแกรมสมาชิกใหม่ (loyalty scheme) โดยตั้งเป้าหมายในการปรับร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมดเป็นแบรนด์ Lotus’s ให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2565”

ข้างต้นเป็นชิ้นส่วนในสิ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษ เป็นแนวคิดเชิงบริหาร แผนการเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจ ซึ่งได้เสนอไว้เป็นระบบพอสมควร

เห็นทีจะต้องขยายความในโอกาสต่อไป