ว่าที่ 7 อรหันต์ กสทช…ตัวเต็งแพ้ฟาล์ว ผู้ผ่านคัดเลือก…คุณสมบัติชอบกล วุฒิสภาโหวตผ่าน-ไม่ผ่าน…ลุ้นกัน/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

ว่าที่ 7 อรหันต์ กสทช…ตัวเต็งแพ้ฟาล์ว

ผู้ผ่านคัดเลือก…คุณสมบัติชอบกล

วุฒิสภาโหวตผ่าน-ไม่ผ่าน…ลุ้นกัน

 

และแล้วก็ถึงเวลาประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกการสรรหา ‘กรรมการ กสทช.’ หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ภายใต้ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่

หลังเปิดให้ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสทช.จำนวน 78 คน ได้แสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม-3 กันยายน ‘กรรมการสรรหา กสทช.’ ได้นัดหารือเพื่อนำคะแนนมารวมกันและสรุป เมื่อวันเสาร์ที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

แต่ถึงกับเหวอหนัก เพราะไร้ชื่อตัวเต็งที่เก็งกันไว้

ซึ่งปรากฏผลดังนี้

 

ด้านกิจการกระจายเสียง พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต ศาสตราจารย์สาขานิเทศศาสตร์ ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านกิจการโทรคมนาคม นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ศาสตราจารย์ คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ที่ปรึกษาประจำรองประธาน กสทช.

และด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ได้แก่ ด้านกฎหมาย คือ ร.ท.ดร.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์

และด้านเศรษฐศาสตร์ คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ผู้อำนวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

กว่าที่ผู้สื่อข่าวจะแน่ใจว่า รายชื่อที่ปรากฏดังกล่าวเป็นของจริง ก็งงเต็กอยู่หลายนาที เพราะนอกจากหนังสือประกาศข่าวจะส่งให้สื่อมวลชนในเย็นวันเสาร์ วันเดียวกัน หลังการหารือของกรรมการสรรหาแล้ว ฉบับแรก นายเกียรติพงศ์ อมาตยกุล ประธานกรรมการสรรหา กสทช. มีการเซ็นลายมือชื่อ แต่ไม่ลงวันที่ มีเพียงเดือนกันยายน 2564 เท่านั้น ต้องรออยู่พักใหญ่กว่าฉบับที่ 2 จะออกมาและลงวันที่เรียบร้อย

แถมยังไร้ชื่อตัวเต็งอย่าง ‘นายฐากร ตัณฑสิทธิ์’ อดีตเลขาธิการ กสทช. ที่ยื่นใบสมัครรอบ 2 โดยโยกจากด้านกิจการโทรคมนาคม มาเป็นด้านกิจการโทรทัศน์ แต่ก็ยังไม่เข้าตา เนื่องจากกรรมการสรรหาเห็นว่า สิ้นสุดวาระเลขาธิการ กสทช.ไม่ถึง 1 ปีก่อนปิดรับสมัคร ทำให้พ้นจากตำแหน่ง ผอ.วิทยุ 1 ปณ.ไม่ครบ 1 ปี โดยได้รับคะแนนโหวตเพียง 1 เสียง จาก 7 กรรมการสรรหา

ขณะที่ ‘พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด’ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ หรือเสธ.ไก่อู ตกคุณสมบัติ เนื่องจากยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งถือครองใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กสทช.

และ ‘พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล’ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตกคุณสมบัติ เนื่องจากยังดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

 

แต่ว่าไปแล้ว หากทั้ง 3 รายตกคุณสมบัติด้วยสาเหตุข้างต้น ไหง พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์จึงผ่านการคัดเลือก ทั้งที่ยังดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการภูมิภาค ซ้ำยังเป็นโต้โผในการจัดการประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) แม้ต้องล้มไป เพราะมีผู้เล่นเพียงรายเดียว

ทั้งนี้ หากเทียบรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกกับก่อนที่ต้องโละใหม่ยกแผง เนื่องจาก พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้แบบพอดิบพอดี จะพบว่า มี 3 รายที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 2 ครั้ง คือ ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ และ ร.ท.ดร.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ

ซึ่ง 2 ใน 3 รายดังกล่าว พล.ต.สุพิชาติ เสนานุรักษ์ ข้าราชการบำนาญ กองทัพบก ผู้สมัครกรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย เคยยื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เรื่อง ผู้สมัครเป็น กสทช. ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย

โดยกล่าวหาว่า ‘นายกิตติศักดิ์’ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ แคท เป็นบุคคลที่เคยถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้พ้นจากการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพราะมีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (วศ.บ.) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจร.) และได้เรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์และบริหารธุรกิจที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยเป็นผู้ผ่านการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช.ในรอบ 14 คนปี 2561 (แต่ถูกมาตรา 44 ยกเลิก)

และมีข้อมูลปรากฏในประวัติการสมัครเข้ารับการสรรหา กสทช. ว่า นายกิตติศักดิ์ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านโทรคมนาคมให้แก่ ‘บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด’ ภายหลังจากที่ได้ออกจากแคทแล้ว แต่คาดว่าเป็นตำแหน่งที่ไม่เป็นจริง เพราะเพลย์เวิร์คไม่ได้ประกอบกิจการใดๆ ทั้งยังพบว่า ทำงานด้านบริหารธุรกิจตลอดมา ดังนั้น ระยะเวลาการทำงานในด้านกิจการโทรคมนาคม จึงขาดตอนเป็นช่วงๆ ไม่สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง รวมแล้วไม่ถึง 10 ปี อีกทั้งเป็นผู้ไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และผลงานด้านโทรคมนาคม ตามที่ลงสมัครแต่อย่างใด

ขณะที่ ‘ร.ท.ดร.ธนกฤษฎ์’ เป็นนักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ถูกกล่าวหาว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีตำแหน่งเทียบได้กับข้าราชการพลเรือนในระดับ 8 เท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ใช่รองหัวหน้าหน่วยงานใดๆ

จึงเห็นได้ว่าเป็นบุคคลผู้ที่ขาดคุณสมบัติ

ย่างไรก็ตาม กรรมการสรรหา กรรมการ กสทช. จะส่งรายชื่อให้วุฒิสภาพิจารณาและลงมติ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 15 คน ได้แก่

1.นายจรินทร์ จักกะพาก 2.นายเจตน์ ศิรธรานนท์ 3.พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ 4.ว่าที่ ร.ต.เชิดศักดิ์ จำปาเทศ 5.นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม 6.นายนิพนธ์ นาคสมภพ 7.พล.อ.บุญธรรม โอริส 8.ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล 9.พล.อ.วลิต โรจนภักดี 10.นายวันชัย สอนศิริ 11.พล.ต.ท.วิบูลย์ บางท่าไม้ 12.พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง 13.นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ 14.นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย 15.พล.อ.อู้ด เบื้องบน

จากนั้น จึงเสนอให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติ ซึ่งพิจารณาตามกรอบเวลาคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาในสมัยประชุมหน้า ที่จะเปิดในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

ล้มกระดานกันมา 3 ครั้งแล้ว รออีกนิดคงไม่เป็นไร เพราะมีให้ได้ลุ้นต่อยาวๆ