คำ ผกา | มีอะไรมากกว่าชฎา

คำ ผกา

ฉันคิดว่าสังคมไทยของเรามีการรับรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมบันเทิง หรือเคป๊อปของเกาหลี อย่างค่อนข้างหลากหลาย

ย้อนไปเมื่อสัก 20 ที่แล้ว ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีเป็นโมเดลของรัฐบาลไทยในการใช้ซอฟต์เพาเวอร์ และวัฒนธรรม ศิลปะในฐานะที่เป็น “สินค้า”

ในยุคนั้นเราตื่นเต้นกับกับคำว่า เจป๊อป ก่อนจะตามมาด้วยกระแสเคป๊อป

ณ ตอนนั้นเราตื่นเต้นกันว่า เมื่อถึงจุดอิ่มตัวของการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโนโลยี หรือแม้กระทั่งการจบลงของสงครามเย็น ประเทศที่ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางวัฒนธรรมเช่นญี่ปุ่นนั้นได้ครองใจคนทั้งโลกผ่านนินเทนโด้ มังกะ อานิเมะ ภาพยนตร์ และดนตรี

ในระหว่างที่เจป๊อปกำลังได้รับความนิยมสูงสุดนั้น ไม่มีใครคิดฝันว่า วันหนึ่ง เกาหลีจะมาโค่นบัลลังก์นี้ของญี่ปุ่นลงได้

เท่าๆ กับที่เราไม่คิดว่า “ซัมซุง” จะเข้าแทนที่ทุกยี่ห้อของทุกอุปกรณ์ที่แบรนด์ญี่ปุ่นเคยเป็นเจ้าครองตลาดและครองความน่าเชื่อถือด้านคุณภาพ และอย่างไม่น่าเชื่อ

ถ้าจะบอกว่าในการย้อนไปสามสิบปีที่แล้ว เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ยักแย่ยักยันกับวิกฤตการเมือง รัฐประหาร เผด็จการทหาร ฯลฯ

เผด็จการชุนดูฮวานเข้ายึดอำนาจในปี 2522 ปี 2523 ฆ่านักศึกษาที่ออกมาประท้วงที่เมืองกวางจูไปถึง 600 คน (ที่มาของรางวัลกวางจู ที่ล่าสุดคนที่ได้รางวัลคือ อานนท์ นำภา) และครองอำนาจมายาวนานจนถึงปี 2531

หลังจากได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา ประชาชนเกาหลีใต้ยังคงเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้เสียชีวิต ผู้ที่สูญหาย บาดเจ็บ จนในที่สุด ชุนดูฮวานถูกศาลตัดสินประหารชีวิตในปี 2539

ก่อนจะมีการลดโทษเหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิต

 

หนึ่งในทฤษฎีที่ใช้อธิบายความสำเร็จของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีรวมทั้งเคป๊อปคือ “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย” ของเกาหลีใต้ โดยอธิบายว่า เมื่อโค่นล้มเผด็จการได้ รัฐบาลมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นมาก เซ็นเซอร์สื่อน้อยลง สื่อเลยมีอิสระ

อีกทั้งรัฐบาลในยุคต่อมาเล็งเห็นแล้วว่า อุตสาหกรรมบันเทิงจะเป็น “สินค้า” ที่สำคัญเพื่อการส่งออก จึงมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเต็มที่ทั้งในเรื่องเงินทุนสนับสนุน การไปโรดโชว์ต่างประเทศ

เรียกได้ว่า มีความตั้งอกตั้งใจจะให้หนัง เพลง ละคร เกาหลี เป็นสินค้าส่งออกครองใจคนทั่วโลกให้ได้

แต่เอาเข้าใจจริงๆ แล้วมันไม่ได้เรียบง่ายขนาดนั้น เพราะมันยังมีปัจจัยดังต่อไปนี้

ก. การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอล อินเตอร์เน็ต และการเป็นนัมเบอร์วันด้านเทคโนโลโลยีไอทีของเกาหลีใต้เอง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้ก้าวเข้าสู่ “ยุคใหม่ของสุนทรียศาสตร์ความบันเทิงของคนในเจนที่เรียกว่า ดิจิตอลเนทีฟ”

ข. เกาหลีใต้มีองค์ความรู้เรื่องการทำภาพยนตร์ ดนตรีที่เป็นตัวจริงเสียงจริง ไม่ก๊อบ ไม่ปลอม มาตั้งแต่อยู่ภายใต้เผด็จการแล้ว เรียกว่าองค์ความรู้พื้นฐาน และความต่อเนื่องของการผลิตหนัง เพลง ละคร พัฒนามาต่อเนื่อง ต่างแค่ในยุคเผด็จการก็ทำเนื้อหาที่ตอบโจทย์รัฐบาลเท่านั้นเอง ดังนั้น พอเป็นประชาธิปไตย ใช้ความรู้เก่าแต่เปลี่ยนแค่คอนเทนต์ใหม่ ก็ไปต่อได้เลย

ค. ข้อนี้สำคัญที่สุด แม้เมื่อเป็นประชาธิปไตยแล้ว สังคมเกาหลีใต้และภาคประชาสังคม คนเกาหลีใต้เอง ไม่เคยหยุดที่จะแสวงหาความจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองของตัวเอง การเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ ทั้งด้านมืด ด้านสว่างของตัวเอง

เผชิญหน้ากับบาดแผลในประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมาและไม่หยุดที่จะมีบทสนทนากับมัน

มิวเซียม นิทรรศการงานศิลปะ จัดแสดงเรื่องราว ความทรงจำ เหตุการณ์ที่รัฐบาลฆ่าประชาชน

บรรยากาศในเกาหลีใต้ยังคงคุกรุ่นไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึกของผู้คนที่มีต่ออดีตอย่างเข้มข้นและหลากหลาย

บางเรื่องยังคงคุกรุ่น ไม่ได้ถูกทำให้ลืมๆ แล้วผ่านไป – ความเข้มข้นทางอารมณ์ ความรู้สึก ความคับแค้น ความอึดอัด

เหล่านี้คือวัตถุดิบชั้นดีที่ทำให้เกาหลีใต้สามารถผลิตทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม ออกสู่ตลาดโลกและประสบความสำเร็จ

และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ประเทศไทยเห็นตัวอย่างจากเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ก็บังเกิดความอยากจะทำเหมือนเขาด้วย

เช่น มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปพัฒนาอะเจนด้านนี้ให้สำเร็จ

แต่อนิจจา เรื่องน่าเศร้าของประเทศไทยคือ กระทรวงวัฒนธรรมเอย รัฐบาลเอย ข้าราชการเอย หรือแม้กระทั่งคนไทยจำนวนมากก็ไม่เข้าใจว่า “สินค้าทางวัฒนธรรม” คืออะไร

หนัง หรืออนิเมะที่กระทรวงวัฒนธรรมให้ทุนสนับสนุน จึงมักเวียนว่ายตายเกิดอยู่กับประเด็นการเผยแพร่ความยิ่งใหญ่ งดงาม หรือน่ารักน่าเอ็นดูของวัฒนธรรมไทยไปให้ชาวโลกอึ้งทึ่งเสียว

นั่นแปลว่า สังคมไทยแยกไม่ออกระหว่างสินค้าทางวัฒนธรรม กับศิลปะเพื่อ “โฆษณาชวนเชื่อ”

คนไทย ข้าราชการไทย และกระทรวงวัฒนธรรมชอบคิดว่า เอาการ์ตูนที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับช้าง ต้อง “ก้านกล้วย” หรือภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนากับชนบทไทยไปฉายทั่วโลก หรือการประกาศความเกรียงไกรของพระนเรศวร คือหมุดหมายสำคัญของการขายซอฟต์เพาเวอร์

ซึ่งไม่ใช่เลยสักนิดเดียว

พอจะทำเพลงหรือดนตรี ก็ไพล่ไปเข้าใจว่า ถ้าเอาแร็พมาปนกับระนาดเอกได้สุดยอด!!!!

อันนี้แหละเรียกว่า การขาย “ความเป็นไทย” ซึ่งก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน

ถามต่อว่า “อ้าว แล้วมันต้องขายอะไรเหรอ?”

 

ลองนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Parasite แล้วลองจินตนาการว่า เนื้อหาแบบนี้ ถ้าเป็นหนังไทย อย่าว่าแต่จะไปได้รางวัลทั่วโลก คนทำหนังแบบนี้ในเมืองไทยน่าจะติดคุก หรือถูกกระทรวงวัฒนธรรมแจ้งความจับในข้อหาภัยความมั่นคง เพราะจะทำให้ประเทศไทยต้องอับอายขายขี้หน้าไปทั่วโลก

นอกจากประเด็นทางสังคม การเมืองใน Parasite เราต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่า หนังเรื่องนี้ต่อให้ประเด็นหรือเนื้อหาดีแค่ไหน แต่ถ้าในความเป็น “หนัง” มันห่วย ภาษาหนังมันห่วย มันก็คือหนังที่ “ห่วย”

ดังนั้น อุตสาหกรรมบันเทิงที่จะไปขายตลาดโลกได้ อันดับแรกคือ คุณภาพของมันในฐานะหนังหรือเพลงต้อง “ผ่าน” มาตรฐานเสียก่อน แล้วถ้าทำเนื้อหาได้ดี ทำได้สนุกอีก ก็นั่นแหละ ที่เขาเรียกว่า “ขายได้”

หันมามองอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ยังไม่พูดเรื่อง “เนื้อหา” จะเอาแค่ “คุณภาพ” ในเชิงภาพ แสง สี เสียง ยังหายาก

ประเทศไทยของเราจึงวนเวียนอยู่กับการเป็นประเทศ “ห้ามพัฒนา”

วันๆ เวียนว่ายตายเกิดอยู่กับเรื่องพระทำเฟซบุ๊กไลฟ์เหมาะสมหรือไม่?

หรือไม่มีอะไรทำเต็มแก่ ก็ไปริบตำแหน่งศิลปินแห่งชาติคืนมาจากศิลปินที่วิจารณ์รัฐบาล

เก่งในเรื่องจีบผ้าสีมันๆ ล้อมเวที โพเดียมให้ “คนสำคัญ” ขึ้นพูด บลา บลา ไร้แก่นสาร

เผด็จการก็ยังไล่ไม่ไป รัฐบาล “กินเมือง” ก็สักแต่นั่งกินเมือง และเอางบฯ ไปใช้ผลิตสื่อเชยๆ เพื่ออวยตัวเองไปวันๆ

วงการภาพยนตร์ ดนตรีซบเซาอย่างหาที่สุดไม่ได้ และคงนานหลายชาติ กว่าเราจะชุบชีวิตมิติทางศิลปะของสังคมนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวากันได้ใหม่

เมื่อในประเทศของเรามันแร้นแค้นซึ่ง “ความสำเร็จ” ในทุกเรื่องเช่นนี้ วิกฤตที่เกิดขึ้นกับคนไทยคือวิกฤตของความภูมิใจ

เรามีชีวิตอยู่ใน “ชาติ” นี้แบบไม่รู้จะเอาอะไรไปอวดชาวโลก

นอกจากเป็นประเทศที่รัฐประหารบ่อยที่สุด

เป็นประเทศที่ความเหลื่อมล้ำสูงสุด

เป็นประเทศที่เด็กอายุสิบกว่าๆ ออกไปประท้วงแล้วโดนตำรวจยิงไม่เลี้ยง

เป็นประเทศที่จับนักศึกษาขังคุกเพราะออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

เป็นประเทศที่มีนายกฯ บุคลิกเหมือนมิสเตอร์บีน วันดีคืนดีก็นั่งเกาเท้าบนเวทีนานาชาติซะงั้น

สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่เฝ้าดูว่ามี “คนไทย” คนไหนดังระดับโลกบ้าง แล้วเราค่อยไปเคลมว่า “เฮ้ย คนไทยเก่ง”

เช่น ถ้ามีดีไซเนอร์คนไทยในอเมริกาไปออกแบบชุดให้มิเชล โอบามา ใส่ เราก็รีบเคลม “กรีสคนไทย”

ทั้งๆ ที่เขาอพยพออกจากประเทศนี้ตั้งแต่เด็ก

พอไทเกอร์ วู้ด ดัง เราก็กรีสแม่เค้าเป็นคนไทย

พอวาเนซซ่า เมย์ ดัง เราก็กรีสอีก นี่ไงคนไทย

มีนายแบบไทยดังอยู่ในอังกฤษ เราก็กรีสคนไทยบนเวทีโลก – ทั้งๆ ที่ถ้าเขาอยู่เมืองไทย ก็คงไม่มีที่อยู่ที่ยืน แถมยังจะโดนดูถูกเหยียดหยาม

หาอะไรไม่ได้จริงๆ ก็ลุ้นให้มีนางงามไทยไปได้มงกุฎมิสยูนิเวิร์สก็ยังดี

ไม่ได้ต่างอะไรจากที่เราภูมิใจว่า เรามีคนไทยเป็นศิลปินระดับโลกอย่าง “ลิซ่า” ซึ่งนำมาสู่คำถามสำคัญๆ ว่า เรามีเด็กไทยที่โคตรมีความสามารถ มีพรสวรรค์ มีศักยภาพ เป็นเพชรที่รอการเจียระไนอย่างถูกต้องอีกกี่หมื่นกี่แสนคนในประเทศไทย

แต่คนเหล่านี้ถูกทำลายลงยับเยินผ่านระบบการศึกษา ระบบอุปถัมภ์ วัฒนธรรมอำนาจนิยม

หรือแม้กระทั่งอาจถูกทำลายลงอย่างถึงที่สุดด้วยการถูกล้างสมองให้กลายเป็น “สลิ่ม”

ความสำเร็จของลิซ่าจึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความเป็นไทย และความเป็นคนไทยเลยแม้แต่น้อย

และแทบจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่เธอได้ออกจากประเทศไทย ไปอยู่ในประเทศที่สามารถเจียระไนให้เธอได้เป็นดาวจรัสแสงบนเวทีระดับโลกได้จริงๆ

กุญแจที่ทำให้ลิซ่าประสบความสำเร็จระดับโลกคือการที่เธอได้ออกจากทุกอย่างที่เป็นความ “ไทยๆ” ออกจากความเป็นไทยไปแล้ว

ยังมีกุญแจอีกดอกหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยด้วยเช่นเดียวกัน

สิ่งหนึ่งที่คนไทยพึงรู้คือ ในปี 2011 Korean Creative Content Agency เริ่มตั้งศูนย์ช่วยเหลือศิลปินที่ได้รับความทุกข์ทรมาน เอารัดเอาเปรียบในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี

ปี 2017 Korean Fair Trade Commission สั่งให้อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีหยุดทำสัญญาทาสกับศิลปินในสังกัด

ปี 2019 กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ออกกฎหมายให้สังกัดศิลปินรับรองสิทธิของศิลปิน อันรวมไปถึง “สิทธิเหนือบุคลิกภาพ” และ “สิทธิสำหรับการนอนหลับ”

ทำไมถึงมีสิ่งเหล่านี้ออกมา ด้านมืดของความสำเร็ของในอุตสาหกรรมสร้าง “ไอดอล” ของเกาหลีใต้นั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเซ็นสัญญาเข้าสังกัดและเข้ารับการฝึกฝนในฐานะศิลปินฝึกหัดจนกว่าจะผ่านได้ debut อัลบั้มแรก

การเป็นศิลปินฝึกหัดใช้เวลา 3-5 ปี และต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง โดยมากจะหักหนี้สินหลังได้เป็นศิลปินและเริ่มมีรายได้

โปรแกรมการฝึกนั้นโหดมาก ไม่ต่างอะไรจากการฝึกนักกีฬาไปโอลิมปิก ทุกคนต้องทำตามตาราง ร้อง เต้น ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก

ศิลปินบางคนบอกว่า ไม่เคยได้รับอนุญาตให้กินอะไรนอกจากน้ำแข็งหนึ่งก้อน

และมีแนวโน้มว่าจะถูกสั่งไม่ให้คบใคร ไม่ให้ไปไหน นอกจากไปโรงเรียน ต้องทำศัลยกรรม ห้ามมีแฟน อาจต้องตื่นตั้งแต่ตีสามเพื่อฝึก

คำถามคือ ในกระบวนการอันหนักหนาสาหัสนี้จะมีกี่คนที่กลายเป็นลิซ่า และที่เหลือจะกลายเป็นอะไร?

ในช่วงที่ศิลปินเกาหลีฆ่าตัวตายเป็นข่าวให้เห็นบ่อยๆ ทางหน่วยงาานที่รับผิดชอบเรื่องสุขภาพจิตของเกาหลี วิเคราะห์ว่า ช่วงอายุ 14-16 ที่คนเหล่านี้เป็นศิลปินฝึกหัด พวกเขาขาดทักษะการเข้าสังคม ทักษะชีวิต และไม่มีเพื่อน

คนที่เป็นเกย์ก็ถูกสั่งให้ปกปิดความเป็นเกย์ของตนเอง

ดังนั้น เมื่อเขามีความทุกข์หรือปัญหาในชีวิต จึงไม่มีคนที่ไว้ใจพอจะคุยด้วย ไม่มีเพื่อนสนิท หรือไม่มีประสบการณ์ที่หลากหลายในชีวิตมากพอที่จะรับมือกับมัน

เหล่านี้คือความซับซ้อนของอุตสาหกรรมบันเทิงและการสร้างไอดอลในฐานะมันเป็น “สินค้า”

เก็บความเป็นไทยใส่ลิ้นชัก แล้วเราก็จะเห็นอะไรมากกว่าชฎา