ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 กันยายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
ผู้เขียน | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
เผยแพร่ |
นิธิ เอียวศรีวงศ์
สัทธรรมปฏิรูป
แม้ “ปฏิรูป” ในภาษาบาลีจะมีความหมายไปทางดี คือสมควรหรือเหมาะสม แต่ถ้านำไปสมาสกับนามอื่น เช่น “สัทธรรมปฏิรูป” ความหมายกลับเปลี่ยนไปทางไม่ดี คือแปลว่าปลอมหรือเทียม
อย่างไรก็ตาม คำว่า “สัทธรรม” ก็มีความหมายเจาะจงว่า หมายถึงโลกุตรธรรมหนึ่ง และปริยัติธรรมหนึ่ง ฉะนั้น การปฏิรูปอะไรอื่นที่ไม่ใช่สองอย่างนี้ จึงไม่ใช่ “สัทธรรมปฏิรูป” (ตามคำอธิบายของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์และพจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม)
ผมไม่แน่ใจว่าที่จะพูดต่อไปนี้เป็นสัทธรรมปฏิรูปหรือเป็นการปฏิรูปเฉยๆ เพราะการแก้ไขปรับปรุงอะไรในศาสนา แม้ไม่ใช่หลักการสำคัญของคำสอน ก็อาจกระทบต่อหลักการสำคัญของคำสอนได้ ขึ้นชื่อว่าศาสนา ย่อมมีมิติหลากหลายด้าน ซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกันมากบ้างน้อยบ้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นธรรมดา
แต่ผมค่อนข้างแน่ใจว่า แทบไม่มีศาสนาอะไรเลยที่ไม่ผ่านการปฏิรูปมาก่อนจะถึงเรา คำสอนของศาสดาอายุเป็นพันปี จะผ่านความแปรผันของโลกมาอย่างไร ด้วยผู้ศรัทธาจำนวนมากต่อเนื่องกันมา โดยไม่ปฏิรูปหรือปรับปรุงให้สมควรหรือเหมาะสมกับยุคสมัย ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงผลประโยชน์ทาง “การเมือง” ของคนกลุ่มต่างๆ ที่มักดึงเอาศาสนาไปช่วยค้ำจุนหรือขยายอำนาจและผลประโยชน์ของตนเอง
แต่ “ปฏิรูป” ไม่ได้หมายถึงแปรเปลี่ยนคำสอนหลักจนผิดรูปผิดร่างไป ส่วนใหญ่คือการตีความใหม่ เปลี่ยนจุดเน้น ให้ความสำคัญมิติที่ไม่เคยได้รับความสำคัญ หรือตรงกันข้าม ลดความสำคัญมิติที่เคยได้รับความสำคัญลง เช่นระหว่างมหิทธานุภาพของพระเจ้าในคัมภีร์เก่า กับความรักของพระเจ้าในคัมภีร์ใหม่ จะเน้นตรงไหนกว่ากัน เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น การปฏิรูปศาสนาต่างๆ มักอ้างหลัก Back to the Book คือกลับไปหาพระคัมภีร์ฉบับแท้หรือฉบับดั้งเดิมด้วย จะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่มักอ้างว่าปฏิรูปเพื่อให้ตรงกับคำสอนหลักของศาสนา (หลังจากได้เลื่อนเปื้อนไปมากแล้ว)
ด้วยความรู้เกี่ยวกับพุทธธรรมเท่าหางอึ่ง ผมคงไม่อ้างอะไรอย่างนั้นหรอกครับ เพียงแต่เห็นว่านับวันพุทธศาสนาไทยก็ยิ่งแปลกแยกจากความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านจริยธรรม ของโลกปัจจุบันมากขึ้นทุกที จนกระทั่งการจะดำรงอยู่สืบไปในอนาคตเป็นไปได้ยาก
บางคนอาจมองว่า เมื่ออยู่ได้ยากก็ต้องยอมรับการอันตรธานไปอันเป็นธรรมดาของสังขารทั้งหลาย เพราะพุทธศาสนาในฐานะ “สังขาร” (สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย, สิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมา) ย่อมมีเสื่อมมีดับเป็นธรรมดา แม้จะยอมรับว่าพุทธธรรมอาจเป็นอกาลิโกก็ตาม แต่เพราะอคติส่วนตัวของผมเอง ที่อยากเห็นพุทธศาสนาดำรงอยู่สืบไปได้นานๆ จึงไปห่วงเรื่องไม่ควรห่วง
เรื่องที่ผมอยากนำมาพูดเป็นเรื่องแรกคือคติเกี่ยวกับ “อัตตา” ในคำสอนของพุทธศาสนาไทย เพราะผมคิดว่ามันไปสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ ที่จะพูดต่อไปทั้งหมด
คงเคยได้ยินสำนวนที่ว่า “กว้างศอก ยาววา หนาคืบ” ซึ่งก็คือร่างกายของมนุษย์เราเอง ท่านเปรียบว่าเป็นโลกของแต่ละคน เพราะในร่างกายแคบๆ เล็กๆ นี้ มีจิตใจซึ่งถูกห่อหุ้มด้วยการยึดติดใน “อัตตา” ซึ่งท่านแปลว่า “ตัวกูของกู” อันคอยปรุงแต่งให้เกิดการยึดมั่นถือมั่นในเรื่องอื่นๆ หนักยิ่งขึ้นไปอีก ฉะนั้นตราบเท่าที่ยังไม่รู้เท่าทัน ก็จะหลงใหลอยู่ในโลกแคบๆ นี้ตลอดไป
สิ่งที่ผมสงสัยตลอดมา (อาจด้วยความรู้ในพุทธธรรมที่ไม่เพียงพอ) ก็คือ อัตตาหรือตัวกูของกูนี้ นอกจากถูกสร้างขึ้นด้วยกิเลสตัณหาของตัวแล้ว สังคมไม่มีส่วนสร้างขึ้นหรอกหรือ ผมเห็นความยึดมั่นถือมั่นของผู้คนที่เกิดจากการถูกสังคมยัดเยียดอยู่เสมอ อุปาทานของสังคมอาจมีใน “ตัวกูของกู” มากกว่าที่ตัวสร้างขึ้นด้วยซ้ำ
แน่นอนว่าทั้งสองอย่าง คือกิเลสตัณหาภายในและภายนอกย่อมทำงานร่วมกัน ความโลภอาจมาจากกิเลสตัณหาภายใน แต่โลภหรืออยากได้ใคร่ดีกับอะไร เป็นสิ่งที่สังคมภายนอกปลูกฝังให้ เช่นคงไม่มีใครในสมัยอยุธยาที่อยากได้รางวัลโนเบล
พูดภาษาสมัยใหม่ก็คือ “ตัวกูของกู” ย่อมเป็น “สิ่งสร้างทางสังคม” หรือ social construct อยู่ด้วย ไม่น้อยเลย
มิติทางสังคมซึ่งได้รับความสำคัญน้อยในเถรวาทนี้เองกระมัง ที่ทำให้เถรวาทอ้างว่าเป็นนิกายที่รักษาคำสอนของพระพุทธองค์ไว้ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม การเพ่งเฉพาะมนุษย์ในฐานะปัจเจก รวมทั้งวางแนวทางสู่ความหลุดพ้นไว้ที่ปัจเจกเพียงอย่างเดียว คือลักษณะเด่นของพุทธศาสนาสายเถรวาท แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาไปพร้อมกันด้วย เพราะพุทธศาสนาสายมหายานเห็นว่าคับแคบเกินไป ผมเข้าใจว่าเขาคงเห็นว่าไม่ใช่คับแคบที่เป้าหมายคือความหลุดพ้นเฉพาะตัวเท่านั้น แต่คับแคบตั้งแต่ตัวมรรควิถี คือไม่เห็นปัญหาที่มาจากสังคมอันมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้มนุษย์ไม่ได้พบกับความหลุดพ้นที่แท้จริง
ผมคิดว่า แม้แต่แนวคิดเรื่องโลกพระศรีอาริย์ที่มีในพุทธสายเถรวาทเหมือนกัน ก็น่าจะมาจากการขาดหายไปของสังคมในหนทางสู่ความหลุดพ้นในเถรวาท สังคมแห่งความอุดมสมบูรณ์และเสมอภาคอย่างโลกพระศรีอาริย์ต่างหาก ที่นำคนไปสู่ความหลุดพ้นได้อย่างง่ายดาย
ไม่จำเป็นที่ศาสนาโบราณทั้งหลายต้องมุ่งไปที่การแก้ปัญหาปัจเจกบุคคลเสมอไป หนึ่งในบัญญัติสิบประการของศาสนายิวหรือยูดายส์คือห้ามเป็นพยานเท็จ เทวปกรณัมของกรีก, เปอร์เซีย และพระเวทของอินเดีย คือความสัมพันธ์ของเทพกับมนุษย์ และพิธีกรรมที่พึงทำเพื่อความปรกติสุขของมวลมนุษยชาติ
ถ้าพุทธศาสนาสายเถรวาทเป็นคำสอนเก่าสุดจริงอย่างที่พูดกัน ผมก็อยากจะเดาว่า มาจากอิทธิพลของแนวคิดในสมัยเวทานตะ (หรือที่สุดของพระเวท) ในอินเดีย ที่หันมาเน้นความหลุดพ้นของปัจเจก และด้วยเหตุผลหลายอย่างในประวัติศาสตร์ ที่ทำให้เมื่อพุทธสายเถรวาทขยายมาถึงลังกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะที่เน้นความหลุดพ้นของปัจเจกก็ยิ่งถูกตอกย้ำให้หนักขึ้นไปอีก
แต่การเน้นความหลุดพ้นของปัจเจกไม่ใช่จุดอ่อนของพุทธเถรวาทเพียงอย่างเดียว เพราะในขณะเดียวกันก็เป็นจุดแข็งด้วย โดยเฉพาะในโลกสมัยใหม่ ที่ความทุกข์อันเกิดจากสังคมมันมากเสียจนผู้คนไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไร จึงหันมาจัดการตนเองตามแนวทางของพุทธ (สายเถรวาท)
ในขณะเดียวกัน จุดอ่อนของพุทธในโลกสมัยใหม่ก็ยิ่งกลับชัดมากขึ้นไปพร้อมกัน จนทำให้เกิดความเคลื่อนไหวนานาชาติที่เรียกว่า Socially Engaged Buddhism คือพุทธศาสนาที่ผูกพันกับ (ปัญหา) เชิงสังคม (ด้วย)
แต่ส่วนใหญ่ของปัญญาชนชาวพุทธในประเทศไทยก็ยังยึดถือจุดยืนเดิม คือเน้นศีลธรรมและความหลุดพ้นของปัจเจกบุคคลเพียงด้านเดียว หนังสือสองเล่มของอาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ ซึ่งผู้ใส่ใจพระพุทธศาสนาไม่ควรพลาดคือ เปรียบเทียบการปฏิรูปศาสนาคริสต์-พุทธและสังคมโลกวิสัย และอำลาพุทธราชาชาตินิยม ให้คำอธิบายถึงเงื่อนไขปัจจัยทางสังคมที่ทำให้พุทธศาสนาไทยไม่อาจก้าวตามความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ เช่น องค์กรพุทธในไทยยังไม่หลุดจากการครอบงำโดยรัฐ ส่วนรัฐเองก็ยังคงเป็น “ราชาชาติ” ไม่เคยบรรลุถึงความเป็น “ประชาชาติ” เลย
ด้วยเหตุดังนั้น พุทธไทยจึงปฏิเสธหรือระแวงสงสัยสิ่งที่อาจารย์สุรพศเรียกว่า “จริยธรรมโลกวิสัย” เช่น ประชาธิปไตย, ความยุติธรรมสาธารณะ, ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, ความเท่าเทียมทางการเมืองและเศรษฐกิจ และ ฯลฯ
ไม่แปลกใช่ไหมครับ ในท่ามกลางความยากจนข้นแค้นของผู้คนและความเหลื่อมล้ำอย่างสุดกู่ของสังคมไทย ไม่มีอะไรในพุทธไทยที่เทียบได้กับ “เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย” ของคาทอลิก (ผมไม่ปฏิเสธว่าวัดไทยให้การอุปการะแก่คนจนอยู่ไม่น้อยมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว แต่การสร้างโอกาสที่เท่าเทียมแก่คนจนไม่เคยเข้าไปอยู่ในหลักธรรมคำสอน)
ในท่ามกลางความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมทุกด้านในประเทศ พุทธไทยไม่มีอะไรในหลักธรรมคำสอนที่จะ “ตอบ” (address) ปัญหานี้
รวมถึงความเท่าเทียมระหว่างเพศ ขันติธรรมต่อความแตกต่างในท่ามกลาง “โลกาภิวัตน์” ทุกด้าน หรือคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ถูกนิยามขึ้นใหม่ในยุคสมัยปัจจุบัน ดูเหมือนพุทธไทยก็เห็นว่าอยู่นอกเรื่องของคำสอนหลัก
ผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องมอง “จริยธรรมโลกวิสัย” เป็นขั้วตรงข้ามกับพุทธธรรม เพราะดังที่กล่าวแล้วว่า พลังของศาสนาทุกศาสนาคือสามารถปรับเปลี่ยนให้รองรับค่านิยมร่วมสมัยได้เสมอ คำสอนของพระพุทธเจ้าจึงอาจถูกดึงมาให้ความหมายที่สอดรับกับ “จริยธรรมโลกวิสัย” ได้เช่นกัน
การทำเช่นนี้จะเป็นสัทธรรมปฏิรูปหรือไม่ผมก็ไม่ทราบ แต่ผมคิดว่าจำเป็นต้อง “ปฏิรูป” การตีความคำสอนของพระพุทธเจ้า
ครั้งหนึ่ง ผมได้ยินฝรั่งคนหนึ่งพูดว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างคริสต์ศาสนากับพุทธศาสนาแล้ว คำสอนในพุทธศาสนาไม่แยกระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอื่นๆ รอบตัว เช่น ศีลห้าที่ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ก็ไม่ได้แยกระหว่างชีวิตสัตว์กับชีวิตมนุษย์ ในขณะที่ในคริสต์ศาสนา ธรรมชาติรอบตัว มีขึ้นเพื่อรับใช้หรือให้ประโยชน์แก่มนุษย์ ดังนั้น พุทธศาสนาจึงสอดรับอย่างดีกับ deep ecology คือนิเวศวิทยาเชิงลึก ที่ไม่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง
เรื่องนี้จะจริงหรือไม่อย่างไรก็ตาม แต่ชี้ให้เราเห็นว่า คำสอนทางศาสนานั้นล้วนเกิดขึ้นจากการ “ตีความ” ของมนุษย์ ไม่ใช่คำสอนของศาสดาเพียงอย่างเดียว ลึกลงไปในคัมภีร์เป็นสิบเป็นร้อยเล่มนั้น ทุกศาสนาจึงล้วนสอนสิ่งที่ “ทันสมัย” ในทุกยุคทุกสมัยสืบมาได้
พระพุทธเจ้าสอนเรื่องมนุษยนิยมหรือไม่ ผมจึงเชื่อว่าสอน เพียงแต่เราไม่ดึงเอาคำสอนส่วนนี้ออกมาตีความให้เป็นมนุษยนิยมตามนิยามของยุคสมัยของเราเท่านั้น
เช่นเดียวกับความเสมอภาค, ประชาธิปไตย, ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ, สิทธิสตรี ฯลฯ ก็ล้วนมีในคำสอนทั้งสิ้น เพียงแต่นักปราชญ์พุทธไทยเองกีดกัน (โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) มิให้คำสอนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ถูกเข้าใจไปในทางที่เป็น “จริยธรรมโลกวิสัย” เท่านั้น เพราะไปเน้นอยู่ด้านเดียวคือการแก้ทุกข์ของปัจเจก
ทั้งหมดเหล่านี้ อาจารย์สุรพศเสนอทางออกหนึ่งมานานแล้ว รวมทั้งในหนังสือสองเล่มดังกล่าวด้วย นั่นคือการแยกศาสนาออกมาจากรัฐ หรือในทางตรงกันข้ามรัฐไทยควรเป็นรัฐโลกวิสัย ไม่ใช่รัฐศาสนา
ถ้าพุทธศาสนาและองค์กรศาสนาสูญเสียการอุปถัมภ์และการปกป้องจากอำนาจรัฐ ก็จำเป็นจะต้องหันมาแสวงหาการอุปถัมภ์และการปกป้องจากสังคม ด้วยการรักษาศรัทธาไว้ในหมู่ประชาชนซึ่งมีความหลากหลาย
ส่วนที่นิยมนับถือความมักน้อยในชีวิตดังพระภิกษุ (ในอุดมคติ) ก็จะมีสำนักของตนเอง ส่วนที่นิยมอภินิหารจากพุทธคุณก็มีสำนักของตนเอง และส่วนที่อยากเห็นคุณค่าทางโลกวิสัยสมัยใหม่ที่ตนยึดถือ มีรังสีของศาสนาจับต้องด้วย ก็จะมีสำนักของตนเอง และ ฯลฯ
พุทธศาสนาก็เหมือนศาสนาโบราณอีกหลายศาสนา คือไม่มีเส้นพรมแดนที่ชัดเจน เช่นศาสนาฮินดูในอินเดียนั้นรวมเอาความเชื่อหลากหลายไว้ในชื่อเดียวกันคือฮินดูเหมือนกันหมด พุทธไทยจึงสามารถรวมผีพราหมณ์ไว้ในพุทธได้อย่างสบายๆ มาแต่โบราณกาลแล้ว
ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างพรมแดนที่ชัดเจนขึ้นให้แก่พุทธศาสนา เพียงเพื่อจะสามารถเทียบพุทธศาสนากับศาสนาคริสต์ได้เท่านั้น