คุยกับทูต พาฟโล โอเรล ยูเครนที่ทันสมัยวันนี้ (ตอน 3)

 

คุยกับทูต พาฟโล โอเรล

ยูเครนที่ทันสมัยวันนี้ (ตอน 3)

 

การปฏิรูปที่ครอบคลุมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนของยูเครนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ยูเครนกลายเป็นแหล่งในการลงทุนแห่งใหม่ ณ ประตูสู่ยุโรป

แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลกระทบมากมายในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมการระบาดของประชาคมโลก ถึงแม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การแพร่ระบาดจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการกระจายวัคซีนไปยังสถานที่ต่างๆ แต่ในวงการแพทย์ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19

นายพาฟโล โอเรล (Pavlo Orel) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย

อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย นายพาฟโล โอเรล (Pavlo Orel) ให้ความเห็นว่า

“ยูเครนก็เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ในปี 2020 จีดีพี (GDP) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของเราลดลง 4% เมื่อเทียบกับผลการประมาณการก่อนการแพร่ระบาดของจีดีพี ซึ่งอยู่ที่ 3.5% ควรสังเกตว่าการลดลงนั้นเกิดจากการดำเนินการตามมาตรการด้านสุขภาพที่เข้มงวด”

“ในปี 2021 จีดีพีของยูเครนคาดว่าจะสูง 3.8-4% ตามข้อมูลของสถาบันชั้นนำระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศยูเครน (NBU) ยังคงคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีในปีนี้ที่ 3.8% เนื่องจากผู้บริโภคที่ยังมีความเชื่อมั่นและการค้ากับต่างประเทศยังเป็นที่น่าพอใจ”

“เราเริ่มรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในยูเครนเมื่อต้นปีราวเดือนกุมภาพันธ์ และในวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา วัคซีน 4.1 ล้านโดส มีประชาชน 2.4 ล้านคนเข้ารับการฉีดวัคซีนครบถ้วน โดยรัฐบาลยูเครนตั้งเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชน 24 ล้านคนภายในสิ้นปี 2021 นี้”

“เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลยูเครนได้ตัดสินใจที่จะผ่อนปรนข้อจำกัดเพิ่มเติม โดยอนุญาตให้กิจการต่างๆ เช่น ร้านอาหาร สามารถปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง และกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากสามารถจัดได้ตราบเท่าที่ผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงานมีผลการทดสอบโควิด-19 เป็นลบ หรือแสดงพาสปอร์ตวัคซีน”

ธงชาติยูเครน

 

ทุ่งสาลีสีทองทาบกับท้องฟ้าสีฟ้าสดใส-เป็นที่มาของผืนธงชาติยูเครน สีฟ้า เหลือง

“ส่วนข้อจำกัดในการเดินทาง รัฐบาลยูเครนจัดทำพาสปอร์ตวัคซีนร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถทำงานร่วมกับพาสปอร์ตวัคซีนโควิดแบบดิจิตอลของอียู (European Digital Passports) ได้อย่างราบรื่น”

“สหภาพยุโรปได้ประกาศรวมยูเครนเข้าไว้ใน ‘รายการสีเขียว’ (Green List) รวมกับประเทศต่างๆ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม และยกเลิกการจำกัดการเดินทางเข้าอียูสำหรับชาวยูเครน แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเกิดตัวแปรของสายพันธุ์เดลต้าในประเทศ ทำให้รัฐบาลยูเครนต้องเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการกักกันตัวบางอย่าง”

ประเทศที่อยู่ในบัญชีรายชื่อสีเขียวของอียูในตอนนี้คือ แอลเบเนีย อาร์เมเนีย ออสเตรเลีย อาเซอร์ไบจาน บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บรูไน แคนาดา อิสราเอล ญี่ปุ่น จอร์แดน โคโซโว เลบานอน มอนเตเนโกร นิวซีแลนด์ กาตาร์ มอลโดวา มาซิโดเนียเหนือ ซาอุดีอาระเบีย เซอร์เบีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา

“ขั้นตอนในการเดินทางเข้าประเทศยูเครน ในปัจจุบันชาวต่างชาติทุกคนที่เดินทางเข้าสู่ยูเครนจะต้องมีเอกสารหลักฐานหรือกรมธรรม์ประกันภัยออกโดยบริษัทประกันภัยที่จดทะเบียนในยูเครน ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองดูแลสุขภาพหรือรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 ตลอดระยะเวลาที่พำนักอยู่ในยูเครน”

“ชาวต่างชาติทุกคนผู้ถือใบอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ชั่วคราว รวมทั้งบุคคลไร้สัญชาติ จะต้องแสดงเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ก่อนเข้าประเทศยูเครน :

– เอกสารยืนยันการรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างครบถ้วนพร้อมวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รวมไว้ในรายการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน หรือ

– การทดสอบอย่างรวดเร็วเป็นลบสำหรับแอนติเจน SARS-CoV-2 ที่ทำไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเข้า หรือ

– ใบรับรองผลการทดสอบ PCR เป็นลบที่ทำไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเข้า”

“ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคมปีนี้ พลเมืองของประเทศยูเครนและนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคนที่อายุมากกว่า 18 ปีซึ่งไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และข้ามพรมแดนประเทศเข้าสู่ยูเครนจะต้องติดตั้งแอพพ์มือถือ Vdoma เพื่อตรวจสอบการแยกตัวเอง แต่ไม่จำเป็นต้องแยกตัวเองหากบุคคลนั้นเดินทางออกนอกประเทศภายใน 72 ชั่วโมง บุคคลสามารถหลีกเลี่ยงการแยกตัวเอง 10 วันหากผ่านการทดสอบ PCR หรือการทดสอบแอนติเจนอย่างรวดเร็วภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเข้าและได้ผลเป็นลบ”

“ส่วนพลเมืองที่ไม่ได้รับวัคซีนที่เดินทางมาจากรัสเซียหรืออินเดีย (รวมทั้งระหว่างทาง) จะต้องผ่านการกักกัน 14 วันโดยไม่ต้องออกนอกประเทศ”

เคียฟ – อาสนวิหารเซนต์-โซฟีอาและอาคารทางศาสนาที่เกี่ยวข้อง อารามเคียฟ-เปเชียสค์ ภาพจาก Paweł pbm Szubert

มาถึงเรื่องการท่องเที่ยวในประเทศยูเครน

เนื่องจากเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อน จึงส่งผลให้อิทธิพลของความเป็นรัสเซียปกคลุมไปทั่วดินแดนของยูเครน

ในขณะเดียวกันดินแดนของยูเครนก็ถูกโอบล้อมไปด้วยรัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ สโลวะเกีย ฮังการี รวมไปถึงโรมาเนีย และมอลโดวา

ด้วยเหตุนี้อิทธิพลยุโรปจึงเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อผู้คนในประเทศนี้เช่นกัน

เกิดส่วนผสมสองวัฒนธรรมระหว่างรัสเซียและยุโรป ส่งผลไปถึงวิถีชีวิตและแนวคิดของผู้คนในยูเครนอีกด้วย

“ยูเครนเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใครอย่างแท้จริง เป็นประเทศในยุโรปสมัยใหม่ที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมนับพันปี ผู้คนมีความคิดสร้างสรรค์ ประเทศมีธรรมชาติอันสวยสดงดงาม และสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์”

“ประเทศของเรายินดีให้การต้อนรับทุกชาติ ศาสนา เราให้คำแนะนำและแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ทั้งหมด”

ส่วนโค้งภูมิมาตรศาสตร์ชตรูเวอ(Struve Geodetic Arc) ภาพจาก Francesco Bandarin

“ชาวยูเครนมีความภาคภูมิใจที่มีวัตถุขึ้นทะเบียนมรดกโลกของยูเนสโก 8 รายการ ได้แก่ อาสนวิหารเซนต์-โซฟีอาและอาคารทางศาสนาที่เกี่ยวข้อง (St. Sophia Cathedral); โบสถ์หรืออาราม เคียฟ-เปเชอร์สก์ ลาฟรา (Kiev-Pechersk Lavra); กลุ่มศูนย์กลางประวัติศาสตร์ลวีฟ (Lviv Historic Centre Ensemble), ส่วนโค้งภูมิมาตรศาสตร์ชตรูเวอ (Struve Geodetic Arc) (ร่วมกับเบลารุส มอลโดวา เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย ฟินแลนด์ นอร์เวย์ รัสเซีย และสวีเดน)”

“ป่าบีชโบราณและป่าบีชปฐมภูมิแห่งเทือกเขาคาร์เพเทียนและภูมิภาคอื่นของยุโรป (Virgin Beech Forests of The Carpathians) (ร่วมกับโครเอเชีย เช็กเกีย นอร์ธมาซิโดเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บัลแกเรีย เบลเยียม โปแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี โรมาเนีย สเปน สโลวะเกีย สโลวีเนีย สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย อิตาลี และแอลเบเนีย)”

อารามออร์โธดอกซ์ Pechersk Lavra

 

“ที่พำนักของมุขนายกมหานครแห่งบูโกวีนาและแดลเมเชีย (Residence of Bukovinian and Dalmatian Metropolitans); โบสถ์ไม้แห่งภูมิภาคคาร์เพเทียนในโปแลนด์และยูเครน (Wooden Churches of the Carpathian Region) ร่วมกับโปแลนด์) และซากอาณานิคมกรีกเก่าแก่ (Chersonesus)”

 

ที่พำนักของมุขนายกมหานครแห่งบูโกวีนาและแดลเมเชีย ภาพจาก Volodymyr Gutsul

 

โบสถ์ไม้แห่งภูมิภาคคาร์เพเทียนในโปแลนด์และยูเครน Wooden Churches of the Carpathian region

 

โบสถ์ไม้แห่งภูมิภาคคาร์เพเทียนในโปแลนด์และยูเครน ภาพจาก Ed89

“กรุงเคียฟ (Kyiv) คือเมืองหลวงของยูเครนที่จัดได้ว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศยูเครนเป็นที่รู้จักกันจากโบสถ์และวิหารอันงดงาม สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของ Kyiv คือ อารามถ้ำเคียฟเปเชิร์สกลาวรา (Kyiv-Pechersk Lavra) มรดกโลกขององค์การยูเนสโกแห่งนี้ เป็นศูนย์รวมของโบสถ์และพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ สถานที่สักการะที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ได้แก่ อารามโดมทองเซนต์ไมเคิล (St. Michael’s Golden-Domed Monastery); วิหารเซนต์โซเฟีย (St. Sophia’s Cathedral); วิหารเซนต์โวโลดีเมียร์ (St. Volodymyr’s Cathedra) และโบสถ์เซนต์แอนดรูว์ (St. Andrew’s Church)”

โบสถ์หรืออาราม เคียฟ-เปเชอร์สค์ ลาฟรา (Kiev-Pechersk Lavra)

“นอกจากนี้ เคียฟยังเป็นเมืองสีเขียวที่มีสวนสาธารณะและสวนสวยให้เลือกมากมาย มีพิพิธภัณฑ์หลายแห่งให้เลือกเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมท้องถิ่น”

กลุ่มศูนย์กลางประวัติศาสตร์ลวีฟ -Lviv Historic Centre Ensemble ภาพจาก Andrew J. Kurbiko

“เมืองลวิฟ (Lviv) ศูนย์กลางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ผู้ที่ได้ไปเยือนจึงจะสามารถเข้าใจได้ว่าทำไมที่นี่จึงเป็นสถานที่ตั้งของอนุสาวรีย์และอาคารโบราณมากมาย และหลายแห่งมีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่ 13”

“เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสามในยูเครนคือ โอเดสซา (Odessa) และเป็นเมืองท่าสำคัญในทะเลดำ โอเดสซา หรือที่มักเรียกกันว่า ‘ไข่มุกแห่งทะเลดำ’ (Pearl of the Black Sea) ในตำนาน มีโรงอุปรากรและโรงละครบัลเล่ต์ โรงอุปรากรในโอเดสซาเป็นหนึ่งในโรงอุปรากรที่ใหญ่ที่สุดในโลก”

โรงละครโอเปร่าและบัลเล่ต์ Odessa ที่มา Murat An shutterstock

โอเดสซาก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2,600 ปีในช่วงเป็นอาณานิคมในยุคกรีกโบราณ เมืองโอเดสซานี้ยังเป็นหนึ่งในสมรภูมิสำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจนเมืองได้รับเกียรติเป็นวีรนคร

เนื่องจากยูเครนเป็นประเทศที่กว้างใหญ่มาก มีผู้คนจากประเทศเพื่อนบ้านหลายเชื้อชาติเข้าไปตั้งรกรากอยู่ในดินแดนของยูเครน ซึ่งล้วนมีอิทธิพลส่งผลต่อความสลับซับซ้อนของอาหาร ยูเครนยังคงรักษาวัฒนธรรมไว้ในอาหารแบบดั้งเดิมที่มีมานานหลายศตวรรษ โดยได้รับอิทธิพลอย่างมากจากดินสีเข้มที่อุดมสมบูรณ์ (chornozem)

“อาหารประจำชาติของยูเครน มักมีรูปแบบพิเศษในการปรุง การปฏิบัติ และมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและศิลปะ การทำอาหารของยูเครนจึงมักอยู่ในรายการเยี่ยมชมของนักเดินทางเสมอ”

นครโบราณทอริกเคอร์โซนีสและอาณาเขตนอกตัวนคร (Chersonesos columns) ภาพจาก Dmitry A. Mottl

 

 

การประเมินสถานการณ์และโอกาสของความสัมพันธ์ยูเครน-ไทย ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

นายพาฟโล โอเรล (Pavlo Orel) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย

อุปทูตยูเครนให้คำตอบว่า

“นับตั้งแต่ยูเครนได้รับอิสรภาพ ประเทศของเราได้สร้างรากฐานที่มั่นคงในการพัฒนาความร่วมมือทวิภาคีที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในหลายด้าน มีความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ราบรื่นและแนบแน่นมาโดยตลอด มีความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเคารพ และความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่เคยมีปัญหาใดๆ ที่อาจขัดขวางความสัมพันธ์ของเรา”

“เราตระหนักถึงบทบาทผู้นำของไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถือว่าราชอาณาจักรไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรหลักของเราในภูมิภาคนี้ รัฐบาลยูเครนพร้อมที่จะเป็นแรงผลักดันใหม่ในการพัฒนาความร่วมมือทวิภาคีกับประเทศไทยในทุกด้านที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน”

“ยูเครนซาบซึ้งอย่างยิ่งที่ไทยได้ให้การสนับสนุนบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนในเขตแดนซึ่งเป็นที่ยอมรับในสากล รัฐบาลยูเครนมั่นใจว่าประเทศไทยจะยังคงยึดมั่นและมีส่วนร่วมมากขึ้นกับนโยบายการไม่ยอมรับการพยายามผนวกดินแดนไครเมีย (Crimea) ของรัสเซีย และจะยืนหยัดโดยบรรทัดฐานและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ”

“ประเทศของเรามุ่งหวังที่จะสานต่อการเจรจาทางการเมืองต่อไป รวมถึงความร่วมมือในระดับสูงในด้านการป้องกันประเทศ การค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นระดับทวิภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดเวทีธุรกิจยูเครน-ไทย และเสริมสร้างการเจรจาทางธุรกิจที่เป็นการเฉพาะระหว่างเรา”

นายพาฟโล โอเรล (Pavlo Orel) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย

“เราขอย้ำถึงความสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสำรวจอวกาศ การต่ออายุความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยในยูเครน และยูเครนรอคอยที่จะจัดการเจรจาทางการเมืองรอบที่สามระหว่างกระทรวงต่างประเทศยูเครนและไทยในอนาคตอันใกล้นี้”

“ผมมั่นใจว่า ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ชาวยูเครนจะเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้นในฐานะที่เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่เป็นที่รักของพวกเขา เพราะการต้อนรับแบบไทยนั้นได้รับการชื่นชมจากชาวยูเครนเสมอมา”

“ในขณะเดียวกัน ผมก็มีความหวังว่า คนไทยจะเลือกยูเครนเป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะยูเครนเป็นประเทศใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่ง ซึ่งมีความหลากหลายและยังไม่ค่อยได้ถูกค้นพบ เป็นเขตแดนการท่องเที่ยวแห่งสุดท้ายของยุโรปซึ่งเต็มไปด้วยประเพณีที่มีสีสันอันงดงาม ผู้คนที่อบอุ่น และมากด้วยประสบการณ์ที่อาจหาไม่ได้ในแผนที่”

โดยสรุป ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ การทหารและเทคนิค วัฒนธรรม และมนุษยธรรม โดยจะร่วมกันสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาและกระชับความร่วมมือระหว่างยูเครนและไทยให้มากยิ่งขึ้นต่อไป