ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 กันยายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | เครื่องเคียงข้างจอ |
เผยแพร่ |
เก็บตกพาราลิมปิก 2020
หลายคนคงจะได้เห็นหรือได้อ่านข่าวน่ารักๆ ที่เกิดขึ้นในการแข่งขันพาราลิมปิก 2020 ในครั้งนี้บ้างแล้ว
นั่นคือการขอแต่งงานระหว่างนักวิ่งตาบอดและไกด์รันเนอร์ของเธอ
โมเมนต์ที่น่าประทับใจนี้เกิดขึ้นในการแข่งขันวิ่ง 200 เมตร โดยเป็นรอบคัดเลือกในฮีตที่ 4 มีนักวิ่งสาวจากประเทศเคปเวิร์ด ที่เป็นหมู่เกาะอยู่ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ชื่อว่า “เคอูลา นิเดรอา เปเรรา เซเมโด้” ลงแข่งขัน และเธอเข้าเส้นชัยเป็นอันดับสุดท้ายจากทั้งหมด 4 คนในฮีต แน่นอนที่เธอจะไม่ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศต่อไปได้
ถึงเธอจะแพ้ในการแข่งวิ่ง แต่กับเรื่องของหัวใจแล้วเธอชนะขาดลอย
เมื่อ “เอ็มมานูเอล อันโตนิโอ วาซ ดา เวก้า” ซึ่งเป็นไกด์รันเนอร์หนุ่มที่เป็นคู่หูในการวิ่งของเธอ ได้คุกเข่าขอแต่งงานท่ามกลางสายฝนโปรยปราย
หากใครได้ดูคลิป จะพบว่าเมื่อการแข่งขันจบลง ไกด์รันเนอร์ให้เธอยืนรอบนลู่วิ่งสักครู่ระหว่างนั้น เพื่อนนักกีฬาที่แข่งด้วยกันตะกี้พร้อมไกด์รันเนอร์ของแต่ละคน ก็มายืนรวมกันเพื่อเป็นสักขีพยานรักในครั้งนี้
ไกด์หนุ่มกลับมาพร้อมแหวนแต่งงาน และเอ่ยปากขอเธอ แน่นอนที่เธอจะตอบ “ตกลง” เขาจึงบรรจงสวมแหวนให้กับนิ้วของเธอ ก่อนจะสวมกอดกันด้วยความรัก เพื่อนๆ นักวิ่งต่างปรบมือและส่งเสียงเพื่อแสดงความยินดี โดยมีเสียงเชียร์จากคนบนอัฒจันทร์ควบคู่ไปด้วย
ปกติพอการแข่งขันจบลง จะต้องตามด้วยภาพย้อนให้ชมการวิ่งนั้นอีกครั้ง และมาเน้นย้ำด้วยภาพสโลว์ของผู้ชนะเวลาเข้าเส้นชัยในหลายๆ มุมกล้อง แต่กระบวนการนี้รอไปก่อนจ้ะ เมื่อการขอแต่งงานแบบเซอร์ไพรส์นี้จบลง ผู้ชมจึงจะได้ย้อนชมภาพการวิ่งอีกครั้ง
มีแฟนกีฬาหลายคนสนใจในคนที่ทำหน้าที่ “ไกด์รันเนอร์” ว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร
จากข้อมูลไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าไกด์รันเนอร์เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่ ที่รู้คือมีหน้าที่เป็นนักวิ่งพี่เลี้ยงที่ช่วยดูแลคนพิการให้วิ่งไปข้างหน้าได้อย่างถูกทิศทาง ปลอดภัย ซึ่งดูเหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย
ลักษณะที่ถูกต้องเวลาคนทั่วไปจะนำทางคนตาบอด คือ การให้คนตาบอดเกาะหรือแตะที่ข้อศอก การวิ่งก็คล้ายๆ กัน โดยไกด์รันเนอร์จะงอแขนเป็นมุมฉาก ยื่นข้อศอกไปข้างหลังให้คนตาบอดใช้มือจับแล้ววิ่งไปด้วยกัน หรือไม่ก็ใช้เชือกเส้นเล็กๆ ร้อยเป็นห่วงให้ไกด์รันเนอร์กับคนตาบอดจับกันคนละข้างก็ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ไกด์รันเนอร์และนักวิ่งคนพิการควรจะมีสปีดการวิ่งที่พอๆ กัน จะได้ไปเคียงคู่กันได้ตลอดรอดฝั่ง โดยไกด์รันเนอร์ควรจะแข็งแรงกว่าคนวิ่งเล็กน้อย
เวลาวิ่งจะมีการพูดคุยกันด้วย อันนี้ในกรณีที่วิ่งทั่วๆ ไป ไม่ใช่วิ่งแข่งอย่างในพาราลิมปิกนะครับ พูดเพื่อสื่อสารกับนักวิ่งว่าไปทางไหน ข้างหน้าเป็นอย่างไร บอกแม้แต่ว่ามีใครวิ่งตามมา และกำลังแซงทางไหน
รวมทั้งคอยพูดให้กำลังใจ ให้ความเป็นเพื่อนกับเขา สร้างความเชื่อมั่นกับนักวิ่ง เพราะลองคิดดูว่า ถ้าเราเป็นคนตาบอดแล้วต้องมาวิ่งเร็วๆ ไปข้างหน้า เราจะเกิดความกลัวและกังวลแน่นอน แต่ถ้ามีคนวิ่งไปด้วย เป็นสายตาแทนเรา คอยบอกเรา ชี้แนะเรา เราก็จะวิ่งด้วยความมั่นใจมากขึ้น
ไกด์รันเนอร์มืออาชีพคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า
“ไกด์รันเนอร์ที่ดีไม่ได้หมายความว่าจะเป็นนักวิ่งที่ดีเท่านั้น แต่ต้องเป็นคนเปิดกว้าง มีทัศนคติและมองโลกในด้านบวก สำคัญที่สุดคือต้องเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะเมื่อเป็นผู้ฟังที่ดีก็มีแนวโน้มว่าจะเข้าใจคนพิการ สามารถประเมินสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีอีกด้วย”
ดังนั้น ในการวิ่งแข่งขันแบบในพาราลิมปิก ทั้งสองคนจะต้องซ้อมด้วยกันมาอย่างดียิ่ง จนรู้ใจกัน เหมือนเป็นคนคนเดียวกัน เพราะหากช้าหรือเร็วไปเพียงนิดก็ทำให้การวิ่งสะดุดลงได้ โดยมีกฎว่าเวลาเข้าเส้นชัยต้องให้นักวิ่งตาบอดเข้าก่อน
นั่นคือการวิ่งที่คนสองคนต้องเรียนรู้ใจซึ่งกันและกันอย่างถ่องแท้
ไกด์รันเนอร์คนหนึ่งบอกว่า วินาทีที่จะเข้าเส้นชัยนั้นเป็นช่วงที่ตื่นเต้นมาก เพราะคนเป็นไกด์มองเห็น แต่คนตาบอดจะไม่สามารถเห็นเส้นชัยซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของการแข่งขันได้ มันจึงเป็นโมเมนต์ที่เหมือนพุ่งสู่ความสำเร็จไปด้วยกัน
ในการแข่งขันพาราลิมปิกนี้ เราจะได้เห็นกระบวนการจัดการเพื่อให้คนพิการสามารถแข่งขันได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ในหลายๆ ชนิดกีฬา โดยเฉพาะด้วยมาตรฐานแบบญี่ปุ่น ที่มีการฝึกเจ้าหน้าที่และทีมงานให้มีทักษะต่อคนพิการอย่างดีเยี่ยม
นอกจากการใช้ทักษะของคนแล้ว นวัตกรรมสมัยใหม่ก็มีส่วนช่วยนักกีฬาได้มากขึ้น อย่างการแข่งขันกีฬาว่ายน้ำ เราคงจะเคยเห็นว่าเวลานักว่ายน้ำพิการว่ายมาใกล้จะถึงขอบสระเพื่อกลับตัว จะมีเจ้าหน้าที่คอยยื่นไม้ก้านยาวไปเคาะที่ศีรษะของนักกีฬาเพื่อเตือนว่าถึงขอบสระแล้วนะ
เมื่อสองปีก่อน Samsung ได้คิดค้นหมวกอัจฉริยะขึ้นมาเพื่อช่วยการว่ายน้ำของนักกีฬาตาบอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีชื่อว่า “บลายน์แคป”
เจ้าหมวกบลายน์แคปนี้ทำงานโดยอาศัยการสั่น เมื่อมีการส่งสัญญาณโดยโค้ชผ่านบลูทูธจากสมาร์ตวอช หรือโทรศัพท์มือถือ เพื่อส่งสัญญาณเตือนนักว่ายน้ำว่าใกล้จะถึงขอบสระแล้ว นอกจากนั้น อุปกรณ์นี้ยังสามารถเก็บสถิติ และประมวลผลระหว่างฝึกซ้อมได้อีกด้วย
เจ้าหมวกอัจฉริยะนี้ได้มีการนำไปใช้ในการแข่งขันพาราลิมปิกที่กรุงรีโอ เด จาเนโร ในบราซิลเป็นครั้งแรก
เชื่อว่าจะมีอุปกรณ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาเพื่อช่วยนักกีฬาคนพิการในการเล่นกีฬา หรือแข่งขันกีฬา ให้สอดคล้องกับความพิการและความต้องการของนักกีฬาได้มากขึ้นอีกในอนาคต
แต่อุปกรณ์สำคัญที่สุดสำหรับนักกีฬาคนพิการไม่ใช่เครื่องมือใดๆ เลย หากมันคือ “โอกาสและความเข้าใจ” ที่พวกเขาอยากได้จากทุกๆ คน
ไกด์รันเนอร์เป็นตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่ว่านี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เข้าใจกัน สุขทุกข์ด้วยกัน และเผลอๆ ก็อาจเบ่งบานจนเกิดเป็นความรักเหมือนคู่ที่เล่าให้ฟังนี้ก็เป็นได้
สุดท้ายนี้ต้องขอแสดงความยินดี และชื่นชมกับนักกีฬาคนพิการของไทยทุกคนอย่างมากที่ได้ฝึกฝนด้วยความอดทนมานานนับเป็นปีๆ เพื่อทำหน้าที่ตัวแทนของประเทศไทยในการแข่งขันพาราลิมปิก 2020 ในครั้งนี้ ที่ปรากฏเป็นผลการแข่งขันที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง
ยิ่งได้เห็นผลงานของนักกีฬาที่ได้เหรียญมาครอง ไม่ว่าจะเหรียญทอง เหรียญเงิน หรือเหรียญทองแดงก็ตามที ก็ยิ่งชื่นชมและขอมอบเสียงปรบมือดังๆ ให้กับทุกคนจริงๆ ไม่ง่ายเลยนะครับสำหรับคนพิการที่ต้องต่อสู้เอาชนะอุปสรรคจากความพิการของตน ให้มีศักยภาพมากพอที่จะเล่นกีฬาสักอย่างได้ และยิ่งต้องมาแข่งขันกับนักกีฬาชาติอื่นในระดับโลกเช่นนี้ มันเป็นความกดดันไม่น้อยเลย
ผู้ใกล้ชิดกับนักกีฬาคนพิการเหล่านี้ได้บอกว่า “พวกเขามีหัวใจเกินร้อยจริงๆ เขามีแพสชั่นในการเล่นกีฬาสูงมาก มากกว่าคนทั่วไปเสียอีก และพวกเขาอยากจะทำหน้าที่ตัวแทนประเทศไทยให้ดีที่สุด”
เพราะนั่นคือ “โอกาส” ที่จะได้แสดงความสามารถ และแสดงตัวตนให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ และพร้อมจะเปิดรับเอาคนพิการเป็นเพื่อนร่วมโลกอย่างไม่แปลกแยกอีกต่อไป
ขอปรบมือให้นักกีฬาคนพิการที่หัวใจไม่พิการเลยสักน้อยเหล่านี้ดังๆ