หลังเลนส์ในดงลึก : ‘ร่องรอย’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือโคร่ง - การหมอบซุ่มรอ และกระโจนเข้าหา เป็นวิธีที่เสือเลือกใช้ในการล่าอย่างได้ผล และลายเหลือง-ดำ ก็ช่วยอำพรางตัวได้ดี

 

 

‘ร่องรอย’

 

เส้นทางในป่า แม้เป็นเส้นทางที่ใช้อยู่เป็นประจำ แต่คนทำงานในป่ารู้ดีว่า จะ “วางใจ” ไม่ได้นัก

วางใจในที่นี้หมายถึง จะเริ่มต้นเดินทางอย่างไม่เตรียมพร้อม คิดว่าทางจะราบเรียบ เพราะอยู่ในช่วงฤดูแล้งฝนทิ้งช่วงไปนาน แถมเพิ่งได้รับการเกรดซ่อมแซมกระทั่งราบเรียบ ระยะทาง 20 กิโลเมตร ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง

แต่หลายครั้ง มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย

ในฤดูนี้ช้างคือสาเหตุหลัก พวกมันดึงกอไผ่ล้มลงขวางทางทั้งกอ และมักเป็นช่วงที่ข้างทางเป็นร่องลึก อีกด้านขนาบด้วยผาสูง หาทางเบี่ยงหลบไม่ได้ หากจะไปต่อ ก็ต้องสะสางกอไผ่นั้นให้มีช่องผ่านไปได้

เราจึงต้องเตรียมเครื่องมืออย่างจอบ เสียม เลื่อย เหมือนการเดินทางในช่วงฤดูฝน

ถึงช้างจะไม่ได้ดึงลงมาทั้งกอ ไม่ได้ขวางทาง แต่กิ่งเล็กๆ ของไผ่หนาม เศษเหลือที่ช้างกินทิ้งไว้ ก็ต้องลงเก็บโยนให้พ้นทาง

หลายครั้งเพราะความขี้เกียจ ขับรถผ่านไป หนามแหลมๆ สร้างปัญหากับยางบ่อยๆ เป็นเรื่องปกติที่รถจะมียางอะไหล่สองเส้น

ช่วงเวลาหนึ่งผมใช้เส้นทางประจำซึ่งต้องผ่านดงไผ่อยู่หลายเดือน

บริเวณดงไผ่ เป็นจุดกึ่งกลางแคมป์ ที่ผมอยู่ร่วมกับนักวิจัยและผู้ช่วย เพื่อติดตามเสือ

ทุกครั้งที่ออกมาซื้อเสบียงกลับไปแคมป์ พ้นจากดงไผ่มาราวสองกิโลเมตร ผมมองทางด้านซ้ายมือซึ่งเป็นแนวเขาสูง บนยอดมีชะง่อนหินและผาชันๆ ตรงนั้นในช่วงฤดูฝนจะมีสายน้ำไหลเป็นน้ำตกสวยงาม

มองจากรถที่กำลังแล่น ชะง่อนผาดูสูงชันเกินจะปีนป่าย

ผมมองไปที่ยอดนั้นเสมอ มองอย่างไม่เคยคิดว่า วันหนึ่งจะขึ้นไปนั่งอยู่บนนั้น…

 

วันหนึ่ง เราได้รับวิทยุจากสถานีวิจัย มีข้อความว่า ตำแหน่งของเสืออยู่ในบริเวณสันเขาที่ผมมองเสมอๆ หลายวันแล้ว

หมายถึง เราต้องขึ้นไปตรวจสอบ เพราะตำแหน่งนั้นเสือไม่น่าขึ้นไปอยู่สักเท่าใด

พิกัดจากเส้นรุ้งเส้นแวงนำมาแปลงเข้ากับพิกัดในจีพีเอส ได้ตำแหน่งที่เสืออยู่ค่อนข้างแม่นยำ

มันเป็นจุดหมายที่เรายังไม่เคยไป แต่เครื่องมือบอกให้รู้ว่า จุดหมายมีระยะทางกี่กิโลเมตร ขึ้นสันเขาและลงลำห้วยกี่ครั้ง

ไม่เคยไป แต่รู้ว่าจะพบกับเส้นทางอย่างไร

เมื่อยกเป้ขึ้นหลัง การนึกถึงแต่จุดหมาย โดยไม่พะวงว่าเส้นทางจะเป็นอย่างไร ก็จำเป็น

 

เสือที่อยู่ในตำแหน่งเดิมหลายวัน หากเป็นวิถีปกติ คือมันล่าเหยื่อได้อย่างกระทิงโตเต็มวัย มันกินทุกส่วนของเหยื่อ ใช้เวลาราว 10 วัน เหลือไว้แค่กระดูกท่อนโตๆ

วันนั้น เราเริ่มเดินตั้งแต่แปดโมงเช้า เดินไปตามด่านที่ราบก่อนถึงเชิงเขา เป็นดงไผ่ที่มีด่านสัตว์ป่าตัดไป-มา ที่ราบมีอยู่สัก 2 กิโลเมตร ถึงเชิงเขา ทางชันขึ้นเรื่อยๆ และชันจนกระทั่งต้องใช้วิธีปีนป่าย ใช้ทั้งมือและเท้า

อันที่จริง ในจีพีเอสบอกระยะทางจากเชิงเขาถึงจุดหมายแค่ 450 เมตรเท่านั้น

ดูเหมือนจะใกล้ แต่การจะเคลื่อนที่ไปทีละเมตร ไม่ง่ายเลย เกือบสามชั่วโมงจากเชิงเขา เราถึงที่ราบเล็กๆ มีแอ่งน้ำซับ น้ำไหลรินๆ พื้นรอบๆ แอ่งเป็นโคลน มีรอยตีนเลียงผา นี่คงเป็นที่มากินน้ำประจำ

รอบๆ ไม่มีรอยตีนเสือที่เรากำลังตาม

ตำแหน่งที่เสืออยู่บนยอดเขาอีกไกล ผมเงยหน้าดูทาง ต้องใช้พลังกายและใจอีกไม่น้อย

นึกถึงคำที่เพื่อนชาวมูเซอบอกเสมอ เวลาเดินขึ้นดอย

“เดินขึ้นดอยอย่าเงยหน้าดูข้างบน มันจะท้อ” เพื่อนมูเซอบอก ผมนึกถึงประโยคที่เพื่อนบอกไว้

นึกถึง แต่ทำไม่ได้สักครั้ง

 

เราถึงยอดเกือบบ่ายสาม สายลมเย็นช่วยบรรเทาความอบอ้าว

วันนั้น เราพบว่า ปลอกคอเครื่องส่งสัญญาณตกอยู่ตรงซอกหิน

เสือขึ้นมาที่นี่ ปลอกคอซึ่งมีเครื่องส่งสัญญาณหลุดจากคอ

ต่อไปนี้เราไม่มีโอกาสรู้แล้วว่า เสือตัวนี้ไปไหน

มันให้โอกาสเราติดตามเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

 

เราใช้ชะง่อนหินแคบๆ เป็นที่นั่งกินข้าวในกล่อง ผ่านแนวต้นไม้เห็นผืนป่าเบื้องล่างลิบๆ

ผมนั่งอยู่ตรงจุดที่เคยมองขึ้นมาบ่อยๆ จากข้างล่าง ผมเห็นแต่ความสูงชัน อันยากเกินปีนป่าย

การตามเสือขึ้นมาบนนี้ บอกผมอย่างหนึ่ง

…………….

หนทางชันๆ ยากลำบากไม่ใช่ทางสัญจรปกติหรอก

แต่หนทางเช่นนี้แหละ ที่จะปรากฏ “ร่องรอย” ของเสือ