สิ่งแวดล้อม : บทเรียน ‘พายุไอดา’ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

บทเรียน ‘พายุไอดา’

 

คลิปวิดีโอแสดงให้เห็นกระแสน้ำเอ่อท่วมรถไฟฟ้าใต้ดิน ชั้นใต้ถุนอพาร์ตเมนต์ และถนนสายหลักๆ ทำให้การเดินทางหยุดชะงัก ผู้คนนับหมื่นติดกับอยู่ในห้องโดยสาร บนท้องถนนและบ้านพักในวันเกิดเหตุพายุ “ไอดา” พัดถล่มรัฐนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา เมื่อต้นเดือนนี้

เป็นสัญญาณเตือนให้ชาวโลกได้รู้ว่า คนอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีระบบสาธารณูปโภคทันสมัยครบครัน หรือเมืองเล็ก เมืองตามชายขอบของประเทศ จะต้องเจอชะตากรรมอย่างนี้หนักขึ้นเรื่อยๆ

มวลน้ำทะลักลงไปในชั้นใต้ดินของรถไฟฟ้าจนกลายเป็นสระน้ำใหญ่ “แคธี่ โฮคูล” ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กถึงกับให้สัมภาษณ์เปรียบเทียบเหมือนเป็นมวลน้ำของน้ำตกไนแองการา เป็นน้ำตกใหญ่ที่สุดในโลกนั่นเลย

รถไฟฟ้าบางสายเจอน้ำทะลักใส่ ต้นไม้หล่นทับราง ผู้โดยสารติดกับตั้งแต่ 3 ทุ่ม ยันตี 4 ประตูรถเปิดออกไม่ได้เพราะระบบไฟฟ้าขัดข้อง

หน่วยกู้ภัยไม่กล้าเข้าไปช่วยเพราะไม่รู้ว่าบนรถรางมีกระแสไฟฟ้าวิ่งอยู่หรือเปล่า

กระแสน้ำแรงจัดซัดเอารถยนต์หมุนเคว้งอยู่กลางถนนกลายเป็นแม่น้ำสายย่อยๆ

ลุงอเมริกันเชื้อสายเอกวอดอร์ วัย 66 ปี เพิ่งรอดชีวิตจากโรคโควิด-19 แต่มาสิ้นลมเพราะน้ำซัดใส่ชั้นใต้ดินของอพาร์ตเมนต์ที่ลุงพักอาศัยอยู่ในเขตบรูกลิน ใจกลางมหานครนิวยอร์ก

เฉพาะรัฐนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุพายุไอดาอย่างต่ำ 46 คน

 

“โฮคูล” เชื่อว่า อากาศวิปริตแปรปรวนอย่างนี้เกิดขึ้นถี่บ่อย ไม่ใช่ในรอบ 100 ปีครั้ง หรือ 500 ปีครั้ง อย่างที่นักวิทยาศาสตร์พูดไว้ซึ่งเกิดจากสาเหตุโลกร้อนขึ้น รัฐบาลจะต้องหาทางรับมือให้มากกว่านี้เพื่อปกป้องชีวิตผู้คน

ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กบอกว่า ชาวนิวยอร์กเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้มีมากถึง 16 คน บ่งชี้ว่าระบบป้องกันภัยพิบัติบกพร่อง มีจุดอ่อนต้องเร่งแก้ไขปรับปรุง เพราะบางคนนั้นเสียชีวิตเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ไม่รู้ว่าพายุมา ฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลันจึงรับมือไม่ทันการณ์

ผู้เชี่ยวชาญอเมริกันเห็นว่า ระบบผังเมืองและโครงสร้างอาคารบ้านเรือนในปัจจุบันจะต้องปรับปรุงใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ภัยพิบัติปัจจุบัน เนื่องจากมีการดัดแปลงสภาพอาคารไม่ได้มาตรฐาน

อย่างเช่น ชั้นใต้ดินของอาคารในมหานครนิวยอร์กดัดแปลงผิดกฎหมาย มีคนพักอาศัยหลายหมื่นคน

 

“ฟิล เมอร์ฟีย์” ผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์ สรุปบทเรียนจาก “ไอดา” ว่า รัฐนิวเจอร์ซีย์ต้องรื้อแผนป้องกันน้ำท่วมฉบับใหม่ แม้แผนได้ผ่านการอนุมัติงบฯ ไปแล้วกว่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 5 แสนล้านบาท ก็ต้องนำกลับมาทบทวนกันใหม่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด

สนามบินนูอาร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ เจอน้ำทะลักใส่จนเจิ่งนอง การขนส่งผู้โดยสารหยุดชะงัก ต้องยกเลิก 400 เที่ยวบิน ระบบขนส่งทางอากาศเป็นง่อยในฉับพลัน

เฮอร์ริเคน “ไอดา” ก่อตัวเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ในทะเลแคริบเบียนแล้วเคลื่อนตัวมายังตอนใต้ของเกาะจาเมกาด้วยความเร็ว 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยกระดับความรุนแรงขึ้นเมื่อผ่านหมู่เกาะเคย์แมน เนื่องจากเกิดปฏิกิริยาจากกระแสน้ำอุ่นและความชื้น ความเร็วจุดศูนย์กลางพายุเพิ่มเป็น 209 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วยกระดับเป็นพายุเฮอร์ริเคนระดับ 1 จนเป็นระดับ 3 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม

อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาเพิ่มความเร็วจนกลายเป็นพายุเฮอร์ริเคนระดับ 4 ความเร็ว 215 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วขึ้นฝั่งที่รัฐลุยเซียนา ในวันที่ 1 กันยายน สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ตอนใต้ของรัฐลุยเซียนาและรัฐต่างๆ ที่พายุลูกนี้พัดผ่านอย่างมาก ทั้งเกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน กระแสลมแรงพัดบ้านเรือนพังยับเยิน ถนนหนทางถูกน้ำท่วมหนัก

กระทั่งพายุพัดขึ้นทางตะวันออกของสหรัฐแล้วอ่อนกำลังลงเมื่อผ่านรัฐนิวเจอร์ซีย์และนิวยอร์ก ความเร็วลมลดเหลือ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ยังหอบน้ำฝนปริมาณมหาศาล เมื่อถึงนิวยอร์ก ฝนเทลงมาภายใน 1 ชั่วโมงวัดได้ถึง 3 นิ้ว จึงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

 

ปรากฏการณ์ “ไอดา” ถล่มสหรัฐ ไม่แตกต่างกับฝนถล่มยุโรป และจีน เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ปริมาณฝนที่ตกในมณฑลเหอหนาน ประเทศจีน ใน 1 ชั่วโมงวัดได้ 7.8 นิ้ว แม่น้ำและลำคลองต่างๆ เจิ่งไปด้วยแผ่นน้ำจนไม่มีทางระบายออก เมืองเจิ้งโจว ศูนย์กลางเศรษฐกิจของมณฑลตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเหลืองและอีก 11 เมืองจมอยู่ใต้บาดาล

เมืองเจิ้งโจวออกแบบผังเมืองป้องกันน้ำท่วมไว้ตั้งแต่ 4 ปีก่อนและก่อสร้างเสร็จไปแล้วเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ ผู้ก่อสร้างคุยว่าแนวป้องกันจะรับน้ำฝนเฉลี่ยได้สูงสุด 1 นิ้วต่อชั่วโมง แต่ฝนที่ตกกลับมีปริมาณมากถึง 7 เท่า

เทียบฝนตกในเจิ้งโจว 3 วันมีปริมาณมากเท่ากับน้ำฝนในช่วงเวลา 1 ปี

เราจึงเห็นภาพเมืองเจิ้งโจวจมอยู่ใต้น้ำ

เห็นผู้คนติดอยู่ในรถไฟฟ้าพยายามหนีตายขณะที่น้ำทะลักเข้าไปในตัวรถอย่างรวดเร็วแต่ประตูรถเปิดไม่ได้เพราะระบบไฟฟ้าขัดข้องจากน้ำท่วม

เช่นเดียวกับชาวยุโรป หนีตายขึ้นไปอยู่บนที่สูงเพราะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน หลังจากฝนเททะลักชั่วโมงเดียววัดปริมาณน้ำได้ 1 นิ้ว

 

บ้านเรา กรมอุตุฯ พยากรณ์ไว้ว่า เดือนกันยายนนี้เป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ช่วงต้นและกลางเดือน บริเวณประเทศไทยตอนบนอากาศจะแปรปรวน มีฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่

และมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้าเป็นระยะๆ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้น ฝนจะลดลงและมีอากาศหนาวเย็นมากขึ้น

ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบทั่วไป กับมีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง

ถ้าฝนตกหนักๆ ติดต่อกันในกรุงเทพมหานคร หัวเมืองใหญ่ๆ และเมืองชายขอบมีปริมาณฝนมากเหมือนที่สหรัฐ หรือฝนที่เจิ้งโจว

เรามีแผนรับมือป้องกันอย่างไรไม่ให้น้ำท่วมฉับพลัน สร้างความเสียหายและเกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอยอดีต?