โฟกัสพระเครื่อง : เหรียญรูปเหมือน-ธรรมจักร หลวงพ่อบิล วัดแก้ว พระเกจิชื่อดัง-บางแพ

โฟกัสพระเครื่อง–(เสรีภาพ อันมัย)

โคมคำ / [email protected]

 

เหรียญรูปเหมือน-ธรรมจักร

หลวงพ่อบิล วัดแก้ว

พระเกจิชื่อดัง-บางแพ

 

“หลวงพ่อบิล อินทสโร” วัดแก้ว ต.วัดแก้ว อ.บางแพ จ.ราชบุรี อีกหนึ่งพระเถระที่น่าเลื่อมใส โดยในสมัยนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังด้านการแก้คุณไสย ทำนายดวงชะตา และเมตตามหานิยม

ในห้วงที่ยังมีชีวิต สร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังเอาไว้หลายรุ่น ล้วนได้รับความนิยมนำไปคล้องคอติดตัว เพื่อความเป็นสิริมงคล

ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คือ “เหรียญธรรมจักร”

สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.2490 เป็นเหรียญที่สร้างด้วยเนื้อตะกั่วแบบมีหูในตัว พบเจอครั้งแรกที่อุโบสถหลังเก่าวัดแก้ว เนื่องจากอุโบสถหลังเก่าชำรุด จึงทำให้พบเหรียญธรรมจักรนี้ หลังพบหลวงพ่อบิล นำไปให้หลวงพ่อแก้ว วัดหนองเอี่ยน ช่วยปลุกเสก แล้วจึงนำมาปลุกเสกเองอีกครั้งที่วัด

ด้านหน้า เป็นรูปธรรมจักร รอบธรรมจักรมีอักขระยันต์ ส่วนด้านหลัง มีอักขระยันต์

นอกจากนี้ เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2495

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว จัดสร้างด้วยเนื้อทองแดงรมดำ เนื้อทองแดงผิวไฟ และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อบิลครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “พระอธิการบิล เจ้าคณหมวด”

ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “วัดแก้ว ราชบุรี ๒๔๙๕”

กล่าวได้ว่า เหรียญธรรมจักรและเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก จัดเป็นเหรียญหายากอีกเหรียญของชาวบางแพ

 

เป็นชาวบ้านปากดง อ.บางแพ จ.ราชบุรี เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2436 บิดา-มารดาชื่อ นายแผนและนางมด มีช้าง ครอบครัวมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 4 คน ท่านเป็นบุตรคนโต

ช่วงเยาว์วัย บิดานำไปฝากไว้กับพระอาจารย์ที่วัดแก้ว ได้เรียนหนังสือขอมและหนังสือไทยสมัยโบราณจนอ่านออกเขียนได้เป็นอย่างดี

แม้มือท่านจะพิการมาแต่กำเนิด แต่การเขียนหนังสือก็สวยงามมากไม่แพ้คนมือดีทั้งหลาย

จนเมื่อปี พ.ศ.2456 มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทที่พัทธสีมาวัดแก้ว อ.บางแพ จ.ราชบุรี โดยมีหลวงพ่อแดง วัดทำนบ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ยัง วัดแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เชื่อม วัดแก้ว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า อินทสโร

อยู่จำพรรษาที่วัดแก้ว ในระหว่างที่จำพรรษาที่วัดนั้น ขยันหมั่นเพียรท่องบทสวดมนต์ไหว้พระ และช่วยเหลือศาสนกิจมาด้วยดี จนเป็นที่ไว้วางใจของท่านสมภาร และเมื่อเจ้าอาวาสวัดแก้วมรณภาพลง ชาวบ้านวัดแก้วและคณะศิษย์จึงนิมนต์ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดแก้วสืบแทน

เมื่อขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดแก้ว ปกครองคณะสงฆ์ และบริหารศาสนกิจมาด้วยความเรียบร้อย นอกจากนี้ ยังพยายามก่อสร้างถาวรวัตถุ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลังและเป็นศรีมิ่งขวัญแก่ตำบล

พ.ศ.2475 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พ.ศ.2480 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล สมัยก่อนเรียกว่าเจ้าคณะหมวด

พ.ศ.2491 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระชั้นประทวน มีสมณศักดิ์ที่พระครู

พ.ศ.2494 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์

 

แม้ว่าเป็นพระพิการทางแขน แต่เคยเป็นหมอยามาก่อน เป็นพระผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิชาอาคมหลายแขนง เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวบ้านมานักต่อนัก ทั้งคาถาเป่ารักษาโรคภัยต่างๆ คาถาแก้มนต์ดำ ทำนายดวงชะตา วิชาอยู่ยงคงกระพัน อีกทั้งวิชาเมตตามหานิยมนั้นเห็นผลทันตา ว่ากันว่าหมากที่เคี้ยวแล้วเสกให้นั้น ใช้ในทางเมตตามหานิยมดีนักแล

ได้รับการนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดแก้วและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลวัดแก้ว ด้วยอุตสาหวิริยะหลวงพ่อบิล พัฒนาวัดแก้วจนเจริญรุ่งเรือง โดยมีพระคู่ใจที่มีวิชาอาคมใกล้เคียงกันอยู่ที่วัดแก้ว คือ พระอาจารย์หนู

หลวงพ่อบิล ทำวัตถุมงคลเป็นเหรียญและตะกรุดปลุกเสกร่วมกับพระอาจารย์หนู และทำการฝังไว้ใต้ดินพร้อมสั่งให้ลูกศิษย์ทำลายแทงเอาไว้ เมื่อถึงเวลาให้ขุดขึ้นมาเป็นทุนทรัพย์บูรณะซ่อมแซมอุโบสถหากชำรุดทรุดโทรม

ทั้งนี้ เคยมีการเข้าใจผิด ด้วยเหตุถูกใส่ร้าย จนเมื่อความจริงปรากฏ ผู้กระทำจึงต้องมาทำการขอขมาท่านที่วัดแก้ว

 

มีวิทยาคมแก่กล้ามาก ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทราบประวัติ จึงให้พันเอกพระยาศรีสุรสงคราม เดินทางมาวัดแก้ว นิมนต์ไปเสกพระเครื่องที่ใช้แจกทหารไปรบในสงครามอินโดจีน พร้อมเกจิ 108 รูปทั่วประเทศ ในปี พ.ศ.2485

ในสมัย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ก็ได้รับการนิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล 25 พุทธศตวรรษ นอกจากนี้ ยังได้รับนิมนต์ให้ไปร่วมพิธีปลุกเสกที่วัดราชบพิตรฯ ในปี พ.ศ.2481 อีกด้วย นับว่าเป็นผู้มีวิทยาคมเป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์

มรณภาพลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2504 เวลา 06.00 น. สิริอายุ 68 ปี พรรษา 48

ยังความเศร้าสลดให้แก่มวลญาติมิตรศิษยานุศิษย์โดยทั่วไป

บรรยายภาพ

1.หลวงพ่อบิล อินทสโร

2.เหรียญธรรมจักร

3.เหรียญรูปเหมือน รุ่นแรก