นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ศึกเดียนเบียนฟู (3)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในตอนบ่ายที่เรามาถึง ก่อนจะเข้าสู่เมืองแถง เราแวะไปเยี่ยมชมกองบัญชาการใหญ่ฝ่ายเวียดนาม ซึ่งซุกอยู่ในหุบเขาแห่งหนึ่ง ห่างจากตัวเมืองแถงประมาณ 20 ก.ม.

อาจารย์ยุกติ อธิบายว่า เมื่อท่านมาครั้งแรก ที่ตั้งกองบัญชาการถูกทิ้งไว้ตามสภาพ บัดนี้ทางการเวียดนามได้เข้ามาฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพเมื่อยังใช้งานในสมรภูมิจริง สร้างโรงเรือนขึ้นใหม่ตามภาพถ่าย (เป็นกระท่อมมุงหญ้า) รักษาอุโมงค์ใต้ดินให้มั่นคงแข็งแรงขึ้น ทั้งค่ายมีอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่พอสมควร แล้วติดป้ายภาษาเวียดนามและอังกฤษเพื่ออธิบายให้นักท่องเที่ยวเข้าใจว่า อะไรคืออะไร นับเป็นอนุสรณ์สถานสงครามที่น่าชมมาก

หนึ่งในความประทับใจของผมก็คือ กระท่อมซึ่งเป็นที่อยู่และที่ทำงานของรองหัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางการทหารของจีน มีป้ายโลหะบอกไว้อย่างชัดแจ้งหน้ากระท่อม

แปลว่าในศึกเดียนเบียนฟูนั้น ที่ปรึกษาจีนเดินทางร่วมมากับกองทัพเวียดนาม และอยู่ทำหน้าที่ของตนในกองบัญชาการใหญ่ฝ่ายกองทัพเวียดนามเลยทีเดียว

ในวันรุ่งขึ้นเมื่อเราได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์สมรภูมิเดียนเบียนฟูในตัวเมือง เขาทำหุ่นการประชุมปรึกษาหารือเมื่อตอนที่ลุงโฮเดินทางมาเยี่ยมที่กองบัญชาการใหญ่ ลุงโฮและนายพลซ้าปกับนายทหารอีกคนนั่งรอบโต๊ะซึ่งวางแผนที่การรบไว้ มีที่ปรึกษาจีนยืนอยู่คนเดียว ข้างๆ นายพลซ้าป ทำท่าเหมือนกำลังพูดอธิบายแผนการรบบนแผนที่ (ก็คงเป็นรองหัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางทหารคนที่มีกระท่อมอยู่ในกองบัญชาการใหญ่)

อันที่จริง เวียดนามกับจีนปัจจุบันไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นเหมือนสมัยศึกเดียนเบียนฟู เพิ่งรบกันครั้งสุดท้ายในสงคราม “สั่งสอน” เมื่อ 70 กว่าปีมานี้เอง (แต่ไม่รู้ว่าใคร “สั่งสอน” ใครแน่) ในปัจจุบันมีความขัดแย้งกันอย่างเปิดเผยและค่อนข้างแรงกรณีหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ เมื่อนายพลซ้าปเขียนบันทึกศึกเดียนเบียนฟู ท่านพยายามลดความสำคัญของที่ปรึกษาจีนลงด้วย

แต่ในทุกประเทศที่มีอนาคต คือรู้ว่าจะก้าวต่อไปอย่างไร ไม่มีความจำเป็นต้องบิดเบือนอดีตไปเสียทุกเรื่อง คนเราถ้าพร้อมจะก้าวสู่อนาคตจริง ก็วางอดีตไว้อย่างที่มันเป็นจริงได้หลายเรื่อง (แม้ไม่ทุกเรื่องก็ตาม) บังเอิญผมมาจากประเทศที่แบกอดีตไว้พะรุงพะรัง จนไม่พร้อมจะก้าวสู่อนาคต ทำให้เกิดความประทับใจมาก ทั้งๆ ที่รู้ว่าเวียดนามก็เหมือนประเทศอื่นๆ ทั้งโลก คือมีอดีตที่ต้องปิดบังและบิดเบือนอยู่ด้วยกันทั้งนั้น

คนเวียดนามปัจจุบันซึ่งคงไม่ได้ศึกษาศึกเดียนเบียนฟูอย่างละเอียด เชื่อว่านายพลซ้าปแอบตั้งกองบัญชาการใหญ่เพื่อบัญชาการรบที่นี่ โดยฝ่ายฝรั่งเศสไม่รู้ตลอดมา

จริงเท็จอย่างไรผมไม่ทราบ แต่เท่าที่ได้อ่านมา ฝ่ายเวียดมินห์ใช้ยุทธวิธีกำบังฐานปืนใหญ่ของตนอย่างดีมาก จนฝ่ายฝรั่งเศสจับที่ตั้งไม่ได้ ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ฝรั่งเศสไม่สามารถใช้ป้อมค่ายเมืองแถงทั้งหมดของตนเป็นฐานสำหรับการรุกได้ มีการส่งกองกำลังของตนออกลาดตระเวนนอกค่ายเช่นกัน แต่เป็นการลาดตระเวนเพื่อป้องกันค่าย ไม่ใช่เพื่อวางกำลังรุก ส่วนการสำรวจด้วยเครื่องบิน ก็ทำแทบไม่ได้ผลเลย เพราะป่าทึบและเมฆหมอกดังที่กล่าวแล้ว

ผู้บังคับการกองพันปืนใหญ่ฝ่ายฝรั่งเศส ซึ่งเป็นนายทหารปืนใหญ่เจนศึก เชื่อมั่นว่าจะสามารถสงบปืนใหญ่ฝ่ายข้าศึกได้ในเวลาอันสั้น เพราะเมื่อฝ่ายนั้นยิงปืนใหญ่ก็จะสามารถคำนวณที่ตั้งได้ในเวลาอันรวดเร็ว และตอบโต้ด้วยการยิงทำลายฐานปืนใหญ่ของเวียดนามได้อย่างแม่นยำ

แต่เมื่อฝ่ายเวียดนามเริ่มโจมตี กลับปรากฏว่าฝ่ายเวียดนามมีปืนใหญ่มากและรายล้อมค่ายฝรั่งเศสเสียจนจับทิศทางไม่ง่ายอย่างที่คิด ซ้ำยังมีแนวป่าขวางกั้นทำให้คำนวณที่ตั้งได้ยาก ฝ่ายเวียดนามเอง ก็ระวังการตอบโต้ไว้อย่างดี เช่นขุดหลุมเป็นทางลาด ดึงปืนใหญ่ขึ้นไปยิงปากหลุม แล้วลากกลับคืน จนถึงเปลี่ยนที่ตั้งของจุดยิงอย่างรวดเร็ว

ผลก็คือฝ่ายฝรั่งเศสตอบโต้อย่างไม่ได้ผลนัก

ในพิพิธภัณฑ์สมรภูมิในเมือง เขาจัดแสดงทั้งหุ่นที่ทหารกองพล 312 ของเวียดนาม กำลังลากปืนใหญ่ขึ้นไปยังจุดรวมกำลัง และแสดงขอไม้รูปร่างต่างๆ ที่ทหารใช้วางบนบ่าเพื่อลากปืนใหญ่ขึ้น รวมทั้งขอนไม้ที่ใช้ขวางล้อในขณะที่ลากปืนใหญ่ในที่ลาด แสดงให้เห็นถึงความคล่องแคล่วว่องไวของฝ่ายเวียดนามในการขยับเขยื้อนปืนใหญ่ไปพร้อมกัน

บันทึกการรบฝ่ายฝรั่งเศส (ซึ่งหลังปราชัย รัฐบาลฝรั่งเศส ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนนายทหารที่ทำการรบที่เดียนเบียนฟู ตลอดจนถึงผู้บัญชาการใหญ่ทั้งในฮานอย รวมไปถึงนายพลอังรี นาวาร์ ด้วย) กล่าวว่านายพันผู้บังคับการปืนใหญ่ฝรั่งเศสซึ่งเคยฮึกเหิมนั้น นั่งซึมอย่างหมดอาลัยตายอยาก

นายพลซ้าปใช้ปืนใหญ่จำนวนมากนี้ ถล่มค่ายของฝรั่งเศสก่อนเข้าตีเป็นห่าฝน คุ้มกันทหารราบซึ่งบุกเข้าประชิดค่ายฝรั่งเศส จนฝรั่งเศสเสียค่ายไปทีละค่ายเรื่อยๆ (ยุทธวิธีเดียวกับที่นโปเลียนเคยใช้อย่างได้ผลมาแล้ว ครูประวัติศาสตร์อย่างนายพลซ้าปจึงน่าจะรู้จักดี)

ท่ามกลางความลังเลใจ หรือแม้แต่คัดค้านจากนายทหารแห่งกองกำลังฝรั่งเศสประจำตังเกี๋ย แผนยึดและตั้งที่มั่นทางทหารขึ้นที่เมืองแถงของนายพลนาวาร์ก็เริ่มขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1954

เมืองแถงเป็นชุมทางใหญ่ในอาณาบริเวณนั้น สาขาของแม่น้ำยุม ซึ่งไหลผ่านที่ราบหุบเขาเมืองแถง (และอาจารย์ยุกติอธิบายว่าออกเสียงแม่น้ำ “ยม”) สายหนึ่งนำไปสู่ใจกลางของลาว เมืองแถงเคยเป็นชุมทางการค้ามาก่อน มีสินค้าที่มาไกลจากพม่าที่นี่ ซ้ำยังใช้เงินตราถึง 5 สกุลในการแลกเปลี่ยน จากเมืองแถงมีเส้นทางคาราวานล่อ-ลา (ซึ่งเรียกกันว่าเส้นทางปาวีตามชื่อนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส) ไปยังเมืองไล ซึ่งขณะนั้นเป็นคล้ายเมืองหลวงของสหพันธรัฐไต และมีถนนจากเมืองแถงขึ้นไปทางเหนือสู่เมืองที่ใกล้ชายแดนจีน เวียดมินห์ใช้เป็นสถานีเก็บวัสดุสิ่งของรวมทั้งอาหารที่ได้รับความช่วยเหลือจากจีน สำหรับกระจายแก่กองทัพด้วย

เมืองแถงมีประชากรขณะนั้นประมาณ 13,000 คน แต่มีที่นากว้างใหญ่มาก จึงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของภาคตะวันตกเฉียงเหนือ แม้เวียดมินห์ได้ข้าวจากที่นี่มาก แต่แหล่งที่มาของข้าวสำหรับกองทัพเวียดนามมาจากหลายแหล่ง รวมทั้งจีน แถงจึงไม่ใช่แหล่งข้าวที่ขาดไม่ได้ของกองทัพเวียดนาม นอกจากนี้ชาวม้งซึ่งอยู่บนเทือกเขาสูงทางตอนเหนือของเมืองแถง ยังผลิตฝิ่นได้จำนวนมากทุกปี เวียดมินห์ซื้อฝิ่นจากม้งนำมาขายในกรุงเทพฯ เพื่อซื้อหาอาวุธกลับไปใช้ เพราะหลังสงครามกรุงเทพฯ เป็นตลาดค้าอาวุธเถื่อนที่ใหญ่มากแห่งหนึ่ง

ด้วยเหตุดังนั้น ฝ่ายเวียดมินห์จึงมีกองกำลังของตนเองที่เมืองแถงอยู่แล้ว ฝ่ายฝรั่งเศสประเมินว่ามีกำลังอยู่ราว 1 กองพัน ซึ่งถึงอย่างไรก็เป็นอันตรายต่อการยึดเมืองแถงของฝรั่งเศสด้วยพลร่ม

ฝรั่งเศสคิดว่า หากไม่สูญเสียมากนัก การสกัดสินค้าสองอย่างนี้ไม่ให้ตกไปถึงมือเวียดมินห์ก็ถือว่าคุ้ม ซ้ำยังคิดแบบชาวยุโรปว่า หากสกัดต้นทางไปสู่ลาวได้ ก็เท่ากับสกัดอิทธิพลของเวียดมินห์ไม่ให้เข้าลาวได้เหมือนกัน

ฝรั่งเศสไม่เคยคิดมาก่อนว่าการรบที่เมืองแถงจะเป็นการรบแตกหักที่จะตัดสินสงครามอินโดจีนของตน คิดว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสงครามกับเวียดมินห์ซึ่งประกอบกันขึ้นหลายสมรภูมิ

อันที่จริง ขณะนั้นฝรั่งเศสได้เรียนรู้แล้วว่า การจะรักษาอำนาจทางทหารของตนไว้ในเทือกเขาสูงด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ไม่ใช่เรื่องง่าย ในขณะนั้นฝรั่งเศสมีกำลังทหารอยู่ที่เมืองไล อุดหนุนเดียววันลอง (ลูกของเดียววันจีซึ่งเคยถูกนำตัวมาเข้าเฝ้า ร.5) เจ้าเมืองไล ให้มีกองทหารชาวไตของตนเองจำนวนร่วม 1,000 แต่กองทหารฝรั่งเศสที่เมืองไลก็ถูกเวียดมินห์โจมตีอยู่ตลอด ซ้ำหนักขึ้นขนาดที่ อังรี นาวาร์ ตัดสินใจว่าต้องถอนทหารออก ทิ้งเมืองไลเสีย โดยนำบริวารและตัวเดียววันลองออกมาด้วย

(ขืนอยู่ตายแน่ เพราะแม้แต่คฤหาสน์ของเดียววันลองที่ฝรั่งเศสสร้างให้ ในปัจจุบันยังถูกรัฐบาลเวียดนามทิ้งร้าง ไม่มีแม้แต่ป้ายบอกทาง กว่าพวกเราจะหาทางลงจากถนนเจอก็ต้องอาศัยสัญชาตญาณของอาจารย์ยุกติและคนขับรถชาวเวียดคลำทางด้วยการวิ่งย้อนไปย้อนมาหลายครั้ง ทั้งนี้เพราะเดียววันลองอยู่ฝ่ายฝรั่งเศส จึงเป็นศัตรูของชาติ)

แผนการถอนตัวจากเมืองไลนั้นคิดขึ้นคู่ขนานกับแผนการยึดและสร้างป้อมค่ายอันแข็งแกร่งที่เมืองแถง ดังนั้นป้อมค่ายที่เมืองแถงจึงเป็นปฏิบัติการทางทหารแท้ๆ สร้างขึ้นอย่างแข็งแกร่งเพื่อรับการโจมตีเต็มที่

ภารกิจของพลร่มที่จะยึดเมืองแถงคือยึดสนามบิน (หรือพูดให้ถูกคือรันเวย์ ซึ่งมีถึงสองเส้น อยู่ห่างกันประมาณ 1-2 ก.ม.) เพราะป้อมค่ายฝรั่งเศสจะตั้งอยู่ได้ก็ต้องใช้การส่งกำลังบำรุงทางอากาศเท่านั้น ฝรั่งเศสเสียกำลังไปบ้าง เพราะถูกฝ่ายเวียดมินห์ยิงเอาตั้งแต่พลร่มยังไม่ถึงพื้น แต่ในที่สุดปฏิบัติการนี้ก็ประสบความสำเร็จ

นั่นคือยึดสนามบินได้ แต่สนามบินก็ถูกฝ่ายเวียดมินห์ขุดเป็นรูพรุนไปหมดแล้ว ด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐ ทำให้ฝรั่งเศสสามารถส่งรถบุลโดเซอร์ขนาดใหญ่ (ที่ถูกถอดออกเป็นสองชิ้น) ติดร่มชูชีพหลายตัวลงมาได้ จึงเกลี่ยทางวิ่งให้เรียบ และปูทางวิ่งด้วยแผ่นเหล็กเป็นผลสำเร็จ จากนั้นก็สามารถส่งกำลังทหาร และอาวุธยุทธภัณฑ์ขนาดใหญ่ได้สะดวก ขนาดนายทหารระดับบังคับบัญชา ทั้งผู้บัญชาการตังเกี๋ย หรือแม้แต่ นายพลอังรี นาวาร์ เอง ยังสามารถเดินทางมาเยี่ยมกองทหารที่เมืองแถงได้

จากนั้นอีกประมาณ 1 เดือน ทหารฝรั่งเศสสร้าง “ศูนย์ต่อต้าน” หรือค่ายคูขึ้นรอบทั้งสี่ทิศของค่ายใหญ่ ตั้งชื่อเป็นชื่อสาวจาก แอนน์ มารี ไปจนถึงอิสซาแบล (ค่ายใหญ่อันเป็นกองบัญชาการชื่อโคลดีน) ศูนย์ต่อต้านเหล่านี้คือจุดยุทธศาสตร์ตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งของน้ำยม ซึ่งทหารช่างต้องสร้างสะพานเหล็กข้ามน้ำขึ้นแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากค่ายใหญ่โคลดีน แต่ละศูนย์ต้านทานเหล่านี้ ได้ขุดสนามเพลาะและสร้างหลังคาคุ้มปืนใหญ่ไว้ (เหมือนสงครามโลกครั้งที่ 1) ถางที่ให้ไม่มีเครื่องกีดขวางในการยิง รวมทั้งตั้งแนวลวดหนามไว้หลายชั้น เป็นป้อมปราการที่เหนียวแน่นที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีการทหารสมัยนั้นรู้จัก และเท่าที่จะพอหาวัสดุในพื้นที่ได้

ในขณะนั้นฝรั่งเศสมีทหารที่เมืองแถงอยู่ 12 กองพันพร้อมอาวุธอย่างดี มีเครื่องบินประจัญบาน-ทิ้งระเบิดอีก 6 ลำ มีรถถังขนาดเบาอีก 10 คัน และตลอดการรบยังเสริมกำลังพลร่มเข้ามาอีก 6 กองพัน รวมทั้งหมดฝรั่งเศสมีกำลังพลประมาณครึ่งหนึ่งของฝ่ายเวียดนาม แต่มีกำลังยิงสูงกว่าและจากที่ตั้งที่มั่นคงกว่า

ในขณะที่ฝ่ายเวียดนามก็เริ่มส่งทหารหลายกองพล เข้าสู่สมรภูมิเมืองแถง พร้อมทั้งลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์หนักที่ได้รับความช่วยเหลือจากจีนเข้ามา มีอาสาสมัครประชาชนจำนวนมากที่เข้าร่วมความพยายามซึ่งกลายเป็นที่เลื่องลือครั้งนี้ ทั้งชาวเวียดและชนส่วนน้อยในพื้นที่

สมรภูมิเมืองแถงคือการต่อสู้กันด้วยการส่งกำลังบำรุง

นอกจากขนอาวุธหนักจำนวนมากบุกป่าฝ่าเขาขึ้นไปถึงเมืองแถงได้แล้ว (ฝ่ายฝรั่งเศสประมาณว่า ปืนใหญ่หนึ่งกระบอก ต้องใช้คนถึง 150 เพื่อขนย้ายและบำรุงรักษา) การส่งกำลังบำรุงทั้งหมดของฝ่ายเวียดนาม ยังต้องทำด้วยแรงงานมนุษย์ตลอด ที่พิพิธภัณฑ์การรบในเมือง เขาจัดแสดงให้เห็นว่าการขนส่งเสบียงอาหารด้วยจักรยานนั้น ต้องใช้ไม้ไผ่ผูกมัดส่วนต่างๆ ของจักรยานอย่างไรบ้าง จึงจะสามารถขนสัมภาระได้มากมาย

จากบันทึกของหัวหน้ากองลำเลียงคนหนึ่ง (ซึ่งเป็นช่างซ่อมจักรยาน ซึ่งอาสาเข้าร่วมปฏิบัติการลำเลียงข้าว) นั่นไม่ได้แก้ปัญหาไปได้หมด จักรยานคันหนึ่งบรรทุกข้าวถึง 400 ปอนด์ ดังนั้น หากเจอถนนที่มีหลุมบ่อ จึงเป็นไปได้ว่าน้ำหนักทั้งหมดจะลงที่ล้อข้างเดียว และทำให้ยางแตก ต้องหยุดปะยางกันอยู่บ่อยๆ หากต้องเข็นจักรยานขึ้นเขาที่ชันมากๆ ต้องใช้แรงคนถึง 6 คนในการเข็น ระยะทางจากที่รับข้าวกว่าจะถึงเมืองแถงก็คือ 250 ไมล์ ผมอ่านเจอที่ไหนสักแห่งว่า กองทหารเวียดมินห์ที่เมืองแถงต้องการข้าววันละ 21 ตัน (แต่กลับไปหาสถิตินี้ใหม่ไม่เจอครับ)

แต่การส่งกำลังบำรุงให้แก่ทหาร 5-6 กองพลของเวียดมินห์ก็สามารถดำเนินต่อไปได้จนเสร็จสิ้นการรบ

การรบที่เมืองแถงเริ่มขึ้นก่อนจากฝ่ายเวียดมินห์ในคืนวันที่ 13 มีนาคม 1954 นับเป็นการรบที่นองเลือดที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์สงคราม (ยังมีต่อ)