Urban Vernacular : จิตวิญญาณใหม่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (2)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด / ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด / ชาตรี ประกิตนนทการ

 

Urban Vernacular

: จิตวิญญาณใหม่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (2)

 

สัปดาห์ก่อนผมสรุปเอาไว้ว่า “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษา” ได้ผ่านยุคสมัยแห่งการท้าทายความคิดที่ครอบงำสังคมเข้าสู่ยุคสมัยของการลงหลักปักฐานในปลายทศวรรษ 2540 จนทำให้แนวคิดนี้เปลี่ยนสถานะจากที่เคยเป็น “ชายขอบ” มาสู่ “กระแสหลัก” จนเริ่มขาด “จิตวิญญาณแห่งการท้าทายความคิดกระแสหลัก” ซึ่งเป็นเหมือนรากแก้วที่สำคัญที่สุดของแนวคิดนี้

อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวไว้ก่อนนะครับว่า การถดถอยไปของจิตวิญญาณ มิได้เป็นการโยนความรับผิดชอบเข้าใส่นักวิชาการรุ่นหลังแต่อย่างใด

และการกล่าวเช่นนี้ก็มิได้กำลังอธิบายว่างานศึกษาวิจัยงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นยุคหลังไม่มีคุณภาพ

ความละเอียดในประเด็นการศึกษาที่มากขึ้น ความก้าวหน้าของระเบียบวิธีวิจัย ตลอดจนกรณีศึกษาที่ไม่ซ้ำเดิมและก้าวข้ามขอบเขตประเทศไทยไปสู่งานพื้นถิ่นในประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่างานศึกษาทางด้านนี้ในปัจจุบันมิได้หยุดยิ่งและมีคุณภาพทางวิชาการ โดยเฉพาะในแง่มุมที่เข้ามาเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยที่ดูจะมีความก้าวหน้าค่อนข้างมาก

แต่ประเด็นที่ผมอยากจะชวนมองและพูดคุยกันก็คือ การหายไปของ “จิตวิญญาณแห่งการท้าทายความคิดกระแสหลัก” นั้นมันเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของทุกความคิดที่เมื่อกลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมแล้วย่อมต้องสูญเสียพลังแห่งการท้าทายไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ผมอยากยกตัวอย่างหนึ่งที่คิดว่าสำคัญให้ลองพิจารณาดู

 

ปัจจุบัน มีสถาปนิกไม่น้อยเลยที่ตามหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมร่วมสมัยจากงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ทั้งในมิติของ space, รูปทรง, องค์ประกอบ, โครงสร้าง ไปจนถึงวัสดุ ซึ่งก็น่าจะดูดีใช่ไหมครับ

แต่ถ้าลองมองดูให้ดี เราจะพบว่า ส่วนใหญ่ของการสร้างสรรค์ใหม่เหล่านั้นมักจะเป็นการหยิบใช้รูปทรง สัดส่วน และองค์ประกอบของงานพื้นถิ่นมาใช้ในเชิง visual เพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้เกิดขึ้นในอาคารมากกว่าที่จะสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ ตัวตน และอำนาจแก่งานพื้นถิ่นเหล่านั้นที่แท้จริง

เข้าใจดีนะครับว่า อาจเรียกร้องมากไปจากงานออกแบบสร้างสรรค์ที่ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องมารับหน้าที่ดังกล่าว

แต่แนวโน้มของกระแสข้างต้นก็ชวนให้เราเห็นได้ชัดและช่วยตอกย้ำถึงสภาวการณ์ของการกลายเป็นความคิดกระแสหลัก ที่ไร้ความหมาย และมีค่าเพียงแหล่งอ้างอิงในเชิง visual ของการออกแบบเท่านั้น

และด้วยเหตุนั้น หากนักวิชาการสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษาต้องการที่จะรักษาจิตวิญญาณอันเป็นรากแก้วดั้งเดิมให้มีพลังอยู่ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษาจะต้องปรับตัวอย่างไร

สิ่งนี้คือประเด็นหลักที่ผมอยากจะทดลองนำเสนอ

 

ผมคิดว่า มีความเป็นไปได้ใหม่ 3 แนวทางที่อาจจะเป็นทางออกในการดึงจิตวิญาณของการศึกษาทางด้านนี้ให้กลับมามีพลังทางสังคมอีกครั้ง

แนวทางแรกคือ การเริ่มเปลี่ยนพื้นที่ศึกษาจาก “พื้นถิ่นชนบท” มาสู่ “พื้นถิ่นเมือง”

ต้องยอมรับว่า พื้นที่ชนบทคือสนามหลักของการศึกษาในด้านนี้มาโดยตลอด ตัวแบบศึกษาส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่บ้านเรือน ยุ้งข้าว เถียงนา วัดพื้นถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ย่อย ฯลฯ

แม้พื้นที่เมืองจะมีงานศึกษาอยู่บ้าง แต่ตัวแบบการศึกษาส่วนใหญ่ก็คือสถาปัตยกรรมดั้งเดิมที่เป็นผลผลิตของความเป็นเมืองในยุคก่อนสมัยใหม่หรือก่อนยุคอุตสาหกรรมทั้งสิ้น เช่น ตึกแถวเก่า ตลาดโบราณ บ้านไม้ริมน้ำ ฯลฯ

หรือหากจะมีการศึกษาที่คาบเกี่ยวมาสนใจยุคอุตสาหกรรม หัวข้อก็มักจะเป็นการศึกษาความเปลี่ยนแปลงหรือการปรับตัวของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นดั้งเดิมเมื่อต้องมาปะทะเข้ากับยุคอุตสาหกรรมเพื่อค้นหาภูมิปัญญาหรือคุณค่าดั้งเดิมในการต่อรองและรับมือกับการคุกคามของความเป็นสมัยใหม่

เราอาจสรุปได้ว่า สถานภาพของงานศึกษาด้านนี้ในไทยเสมือนจะมีความคิดคู่ตรงข้ามในเชิงพื้นที่การศึกษาระหว่าง “ชนบท” กับ “เมือง” โดยมีแนวโน้มที่จะมองว่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคือสิ่งที่เป็นผลผลิตจากสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมเฉพาะในพื้นที่และเวลาแบบแรกเท่านั้น

คำถามคือ พื้นที่เมืองภายใต้ยุคอุตสาหกรรมไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นจริงหรือ?

จะตอบคำถามนี้ได้อาจต้องเริ่มต้นที่การพิจารณานิยามของสิ่งที่เรียกว่า “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” เป็นลำดับแรก

หากพิจารณาตามนิยามของ Amos Rapopot ในหนังสือชื่อ “House Form and Culture” แกอธิบายสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นว่า เป็นสิ่งก่อสร้างที่ตรงข้ามกับสถาปัตยกรรมแบบทางการที่มีความยิ่งใหญ่และสร้างขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีรสนิยมสูง

โดยสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคือ สิ่งก่อสร้างที่เกิดจากการแปล (ทั้งจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมมาสู่รูปธรรมทางกายภาพเพื่อสนองความต้องการในด้านต่างๆ ค่านิยม ตลอดจนความปรารถนา ความใฝ่ฝัน ของคนธรรมดาทั่วไปในวัฒนธรรมนั้นๆ โดยไม่มีผู้ออกแบบ ศิลปิน หรือสถาปนิก

หรือหากว่าตามนิยามของ Paul Oliver ที่เขียนไว้ใน “Encyclopedia of Vernacular Architecture of the World” ก็จะระบุไว้ว่า สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นประกอบไปด้วยที่พักอาศัยตลอดจนอาคารประเภทอื่นทั้งหลายของมนุษย์ที่สร้างขึ้นอย่างสัมพันธ์กับบริบทแวดล้อมและทรัพยากรที่หาได้ในพื้นที่นั้นๆ ถูกสร้างขึ้นตามแบบแผนและเทคโนโลยีที่สืบทอดต่อๆ กันมา

รูปทรงทางสถาปัตยกรรมในทุกส่วนล้วนเกิดขึ้นอย่างตอบสนองความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ เต็มไปด้วยคุณค่าในมิติต่างๆ ตลอดจนสร้างขึ้นอย่างสอดรับกับเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตในแต่ละวัฒนธรรมที่สร้างงานชิ้นเหล่านั้นขึ้นมา

ภายใต้นิยามโดยสังเขปข้างต้น สถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้บริบทแวดล้อมของเมืองสมัยใหม่หลายอย่าง เราอาจนิยามว่าเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบหนึ่งได้เช่นกัน

แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า “Urban Vernacular” หรือ “พื้นถิ่นเมือง”

 

ชุมชนแออัดเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ ในบทความของ Neha Goel เรื่อง “Squatter Settlements : The Urban Vernacular?” ซึ่งศึกษาที่พักอาศัยในชุมชนแออัดหลายพื้นที่ในอินเดีย และงานของสุพิชชา โตวิวิชญ์ เรื่อง “การศึกษาการใช้พื้นที่ วัสดุเหลือใช้ และวัสดุก่อสร้างของบ้านพักอาศัยสำหรับคนรายได้น้อยในเมือง” เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นสถาปัตยกรรมที่คนจนเมืองสร้างขึ้นว่ามีคุณค่าและคุณลักษณะพื้นฐานไม่ต่างจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นชนบท ไม่ว่าจะเป็นการวางผัง การขยายตัว รูปแบบที่พักอาศัยที่เกิดจากการออกแบบและแก้ปัญหาจากประสบการณ์ และมีการเรียนรู้ส่งทอดถึงกันจากครอบครัวสู่ครอบครัว

ที่น่าสนใจคือที่พักอาศัยเหล่านี้มีการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่ม เช่น ศาสนา และชาติพันธุ์ ผ่านวัสดุการก่อสร้างสมัยใหม่ในยุคอุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิววัสดุและสีสันที่ใช้ประดับตกแต่งบ้านเรือน

หากเราตัดประเด็นเชิงพื้นที่ออกไป สิ่งที่ปรากฏในชุมชนแออัดในประเทศอินเดียก็คือภูมิปัญญาในแบบที่ไม่ต่างกันเลยในการก่อรูปสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในชนบท แม้กระทั่งเรื่องความงามบ้านเรือนในชุมชนเหล่านี้ต่างก็คิดสร้างสรรค์ความงามในแบบของเขาตลอดเวลา ซึ่งนักวิชาการจะต้องเข้าไปทำความเข้าใจความงามแบบใหม่เหล่านี้เหมือนที่เคยเข้าไปทำความเข้าใจความงามของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นชนบทในอดีต

อีกกรณีที่น่าสนใจคือ ปรากฏการณ์ทางสถาปัตยกรรมที่นิยมนำองค์ประกอบสถาปัตยกรรมตะวันตก เช่น เสาคลาสสิค หลังคาโดม หน้าจั่วแบบวิหารกรีก ฯลฯ มาออกแบบตกแต่งบ้านเรือน

ปรากฏการณ์นี้แพร่หลายมากในราวทศวรรษที่ 2510-2530 หรือแม้กระทั่งปัจจุบันความนิยมนี้ก็ยังคงอยู่ ซึ่งผมเห็นว่ามันคือสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเมืองอีกแบบหนึ่ง

คนกลุ่มนี้ทำไมต้องใช้องค์ประกอบดังกล่าว อะไรคือค่านิยมที่ส่งผ่านกันในกลุ่มคนที่มีรสนิยมตกแต่งอาคารแบบนี้ พวกเขาใช้มันเพื่อเป็นสัญลักษณ์อะไรและสื่อสารความหมายอะไร พื้นที่ส่วนไหนนิยมตกแต่งด้วยองค์ประกอบอะไร มีรูปแบบที่เราสามารถจัดเป็นลักษณะร่วมกันได้หรือไม่

ทั้งหมดทั้งปวงล้วนเป็นคำถามที่สัมพันธ์กับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษาทั้งสิ้น

คนกลุ่มนี้หากมองในนิยามชุมชนชนบทอาจไม่เข้าเกณฑ์เพราะมิได้อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน มิได้สื่อสารและส่งผ่านค่านิยม ความคิด ความเชื่อด้วยการพบปะแบบเห็นหน้า

แต่หากมองในนิยามชุมชนเมืองสมัยใหม่ที่มิได้ตั้งอยู่บนฐานการอยู่อาศัยในละแวกเดียวกันแต่เชื่อมผสานความเป็นชุมชนผ่านสื่อต่างๆ เราย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสิ่งที่เป็นแรงผลักเบื้องหลังการประดับตกแต่งเช่นนี้เป็นฐานวิธีคิดที่มองค่านิยมและคุณค่าร่วมในแบบเดียวกัน ที่เราจำเป็นต้องเข้าไปทำความเข้าใจ

ตัวอย่างเหล่านี้คือพื้นที่ที่ถูกละเลยหรือถูกดูแคลนว่าไร้รสนิยม ซึ่งไม่ต่างเลยจากสิมอีสาน เถียงนา ยุ้งข้าว ในอดีตที่ถูกมองข้าม และน่าจะเป็นพื้นที่ใหม่ที่ท้าทายให้แก่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษา