เมื่อเราไม่ด้อยค่ากัน (จบ)/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

เมื่อเราไม่ด้อยค่ากัน (จบ)

 

หนังสือ Reinventing Organizations ของเฟรเดริก ลาลู เล่มนี้เสนอกระบวนทัศน์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกตอนนี้ต่อเนื่องไปถึงอนาคต นั่นคือกระบวนทัศน์สีทีล (สีเขียวอมฟ้า)

เป็นวิธีมองโลกโดยเอาอัตตาตัวเองออกไปวางพักไว้ก่อน เมื่อไม่คิดถึงแต่ตัวเองก็จะไม่ตัดสินใจด้วยความกลัวในโหมดป้องกันภัย ลดการควบคุมบัญชาการลง ปล่อยให้สิ่งต่างๆ เป็นไปในแบบอื่นได้ด้วย

ปัจจัยสำคัญคือไว้วางใจ ทั้งในชีวิตตนเอง คนอื่น รวมถึงสิ่งอื่น

ตลอดเส้นทางวิวัฒนาการทางจิตสำนึก มนุษย์เราคิดในโหมดต่อสู้และป้องกันตัวมาตลอด ตามสัญชาตญาณเอาตัวรอด เราแสวงหาความมั่นคงปลอดภัยจึงล้อมรั้วตัวเองออกจากคนอื่นและสิ่งอื่น

ทว่าด้วยการกระทำเช่นนี้นี่เองที่ทำให้เราโดดเดี่ยวและไม่มั่นคง

กระบวนทัศน์สีทีลชวนให้เรารื้อรั้วออกแล้วเปิดตัวเข้าหาคนอื่นสิ่งอื่น ผูกสัมพันธ์ แลกเปลี่ยน แบ่งปัน เมื่อเปิดตัวออกก็จะเป็นฝ่ายได้รับและรู้สึกถึงความ ‘มีมากพอ’ ของโลกใบนี้ แล้วจะพาตัวเองออกจากโหมดต่อสู้และปกป้องตนเองได้

พูดง่ายๆ คือ ถ้ามีเพื่อนเยอะก็ไม่ต้องกอบโกยมาก เพราะเดี๋ยวก็ช่วยเหลือกันไปมา

ถ้าแบ่งปันกันก็ไม่ต้องแย่งชิง

และถ้าไม่โลภ ทรัพยากรโลกก็เพียงพอสำหรับมนุษย์และสรรพชีวิต

เมื่อไม่กลัวและรู้สึกมั่นคงในใจ เราย่อมตัดสินใจตามคุณค่าในใจตนเอง มิใช่เลือกเส้นทางชีวิตเพียงเพราะจะได้เงินเดือนสูง รายได้ดี มีหน้าตา ผู้คนชื่นชม หรือกระทั่งมีอำนาจ

ธรรมชาติที่แท้ในใจเราคือการทำสิ่งที่รัก ถนัด ปรารถนา ทำด้วยใจแล้วสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นและโลกใบนี้

ที่ทำเช่นนั้นได้เพราะเราคาดหวังกับผลลัพธ์น้อยลง (ไม่ต้องกังวลแล้ว ในเมื่อแวดล้อมไปด้วยมิตรสหายมิใช่คู่แข่งหรือศัตรู) ต่อให้ล้มเหลวหรือผิดพลาดก็นับเป็นบทเรียนบนเส้นทางที่เราเชื่อมั่นและรักจะเดินไป ความมั่นใจนี้ทำให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ของตัวเองและสังคมว่าไม่จำเป็นต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น ข้ามพ้นไปจากการคิดแบบทวิภาวะ ซ้าย/ขวา ถูก/ผิด ดำ/ขาว กู/มึง

เมื่อวางใจในชีวิต วางใจในกระบวนการ พาตัวเองไปอยู่เหนือคุณค่าเดิมซึ่งวัดกันที่ความสำเร็จเชิงวัตถุ เราย่อมมั่นคงในใจตัวเอง เปิดใจให้คนอื่นได้เชื่อและแสดงออกในแบบที่เขาเป็น ในเมื่อความแตกต่างไม่ได้รุกรานความมั่นคงของเรา เมื่อไม่ได้มองโลกแบบ ‘ถ้าอีกฝ่ายชนะ-เราต้องแพ้’ แบบเดิมแล้ว เราเพียงเป็นหนึ่งในลีลาที่แตกต่างกัน กำลังจัดสมดุล แลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน

เหมือนที่เฟรเดริก ลาลู เปรียบว่าเราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างหายใจเข้าหรือหายใจออก เราเลือกทั้งสองอย่างได้-และนั่นคือชีวิต

เมื่อไม่ได้เริ่มที่อัตตา ไม่ใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง เราเป็นเพียงหนึ่งในความหลากหลายของทั้งหมด ขององค์กร ของสังคม

สิ่งที่มาพร้อมกับจิตสำนึกระดับนี้คือความปรารถนาที่จะเข้าถึงความเป็นองค์รวม เห็นทั้งความเป็นชายความเป็นหญิงความเป็นเพศหลากหลายในตัวเรา เป็นอิสระพร้อมกับรับผิดชอบต่อผู้อื่น มีวิถีแบบปลีกวิเวกควบคู่กับการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ใส่ใจตัวเองและใส่ใจคนอื่นไปพร้อมกัน มีเป้าหมายเพื่อตัวเองไปพร้อมกับทำให้โลกดีขึ้นได้-ควบคู่กันไป

ไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

เฟรเดริก ลาลู อธิบายว่า ความเป็นองค์รวมที่สัมพันธ์กับสรรพสิ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราข้ามพ้นสภาวะคู่ตรงข้ามไปได้ โดยจะข้ามพ้นไปได้ก็ต่อเมื่อละวางการตัดสินคนอื่น โอบรับเขาเข้ามาในฐานะมนุษย์ที่มีคุณค่าเท่าเทียมกับเรา

เรื่องแปลกก็คือ ยิ่งเราเรียนรู้ที่จะจริงแท้กับความถนัด ความปรารถนา และเสียงเรียกร้องในใจตัวเองมากขึ้นเท่าไหร่ เรายิ่งเห็นตัวตนที่ไม่เหมือนใครของตนเองมากขึ้น เมื่อนั้นย่อมเห็นว่าเราเป็นเพียง ‘หนึ่งแบบ’ ของทั้งหมด ยังมีผู้คน สัตว์ พืชพรรณ และสิ่งต่างๆ ‘แบบอื่น’ อีกเต็มไปหมด รวมเข้าด้วยกันจึงเป็น ‘ทั้งหมด’

ยิ่งเคารพตัวเองก็ยิ่งเคารพคนอื่น

เห็นว่าตัวเองไม่เหมือนคนอื่น ยิ่งเคารพความต่างของคนอื่น

คล้ายกับความเข้าใจในระบบนิเวศว่าแต่ละสิ่งในธรรมชาตินั้นมีความสำคัญ เชื่อมโยงถักทอเข้าด้วยกันเป็นระบบสลับซับซ้อนเกินจินตนาการ แต่ละสิ่งไม่เหมือนกัน มีรูปแบบ ลักษณะ ประโยชน์แตกต่างกันไป แต่เพราะแต่ละสิ่งมีอยู่ ‘ทั้งหมด’ จึงเคลื่อนไปได้และยังคงสมดุล

เราไม่เหมือนกัน แต่เกี่ยวข้องกัน

รวมเข้าด้วยกันจึงเป็น ‘หนึ่งเดียวกัน’

ถึงจุดนี้ย่อมเกิดความเข้าใจใหม่ขึ้นว่า ความร่ำรวยหาใช่การล้อมรั้วแล้วครอบครองสิ่งที่อยู่ในรั้วของปัจเจก หากคือความสัมพันธ์กับสรรพสิ่งที่เกื้อหนุนกันไม่รู้จบและมีมากพอสำหรับทุกชีวิตบนโลก

เมื่อไม่ด้อยค่าสิ่งใด สรรพสิ่งจึงมีคุณค่าอย่างที่เป็น

คน สัตว์ ต้นไม้ใบหญ้า ธรรมชาติทั้งมวล ล้วนเป็นหนึ่งในลีลาของการแสดงออกของ ‘ทั้งหมด’ ไม่มีซ้าย/ขวา ขาว/ดำ ฉัน/เธอ แต่ทุกสิ่งเคลื่อนไปชั่วนิรันดร์ดุจลมหายใจเข้า-ออก

การยกตัวเองให้เหนือกว่า สำคัญกว่า ดีกว่า ถูกต้องกว่า เป็นกระบวนทัศน์ที่มนุษย์เดินทางผ่านมายาวนาน ฆ่าฟันรบราล้มตายไปมากมาย แถมยังตามมาด้วยปัญหาใหม่อย่างต่อเนื่อง

รวมถึงอคติไม่รู้จบ

เราจะสามารถสร้างกระบวนทัศน์สีทีลให้เกิดขึ้นในสังคมขึ้นได้อย่างไร?

 

ฟัง และวางการตัดสิน-คือข้อเสนอ

เพราะทั้งเขาและเราล้วนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเรียนรู้เพื่อเข้าใจความต่างย่อมเปลี่ยนทั้งเราและเขาไปพร้อมกัน เมื่อฟังโดยไม่ตัดสิน เส้นแบ่งระหว่าง ‘กูกับมึง’ จะเลือนหายไปกลายมาเป็น ‘เรา’ กำลังคุยกัน โดยไม่รู้ว่า ‘เรา’ จะไปลงเอยกัน ณ ที่แห่งใด แต่การเปลี่ยนแปลงของทั้งสองเกิดขึ้นแน่นอน

ฟัง, แล้วจึงไว้ใจ

หรือไว้ใจ, แล้วจึงฟัง

อาจเป็นไปได้ทั้งสองวิธี เหมือนประตูสองบานที่เปิดบานไหนก็เจอห้องเดียวกัน คือห้องปราศจากอัตตาที่มักแบกอคติส่วนตัวเข้าไปตัดสินคนอื่น

เป็นไปได้ไหมว่ามนุษย์อาจเดินทางมาถึงหลักกิโลแรกในประวัติศาสตร์ที่จะเริ่มต้นเส้นทางซึ่งปราศจากการลดคุณค่าของคนอื่นและสิ่งอื่น นำไปสู่วิธีคิดแบบหลอมรวมแทนที่จะแบ่งแยกตัดสิน

มนุษย์กำลังอยู่ในช่วงเวลาของการเรียนรู้คุณค่าที่แตกต่างหลากหลาย ไม่เพียงเฉพาะกับมนุษย์ แต่ยังรวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ไล่เลยไปถึงสิ่งไม่มีชีวิต

เรียนรู้เพื่ออยู่ร่วม มิใช่ครอบครอง

เพื่อมั่งคั่งไปด้วยกัน มิใช่ร่ำรวยลำพังแล้ววิตกกังวล

เพื่อเคารพในสิ่งที่ตัวเองเป็น พร้อมกับเคารพสรรพสิ่ง

มิใช่เพื่อฉัน แต่เพื่อ ‘เรา’

 

มีปลาสองตัวถกกันว่า โลกเป็นแบบที่เราเห็นมาตั้งแต่เกิด หรือยังมีโลกแบบอื่นที่เป็นไปได้อีก

โลกที่แตกต่างไปจากสายน้ำที่คุ้นเคยมีอยู่จริงหรือเปล่า?

คำตอบอยู่ที่ปลาตัวนั้นจะดำผุดดำว่ายในสายน้ำเดิมต่อไป

หรือจะกระโดดขึ้นมา