ธงทอง จันทรางศุ | ยันฮี-อพอลโล-เหม่งจ๋าย

ธงทอง จันทรางศุ

ประโยชน์อย่างหนึ่งของคนแก่ คือการมีชีวิตอยู่มายาวนานและได้พบเห็นอะไรมามาก

ความรู้เหล่านั้นเป็นของที่เด็กรุ่นใหม่เกิดไม่ทัน ถ้านำมาเล่าสู่กันฟังเมื่อไหร่ก็อาจเป็นที่สนใจไม่มากก็น้อยสำหรับคนที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน

ผมจึงพบว่าหนังสือเรื่องความหลังทั้งหลายอยู่ในข่ายที่ขายได้หรือได้รับความสนใจอยู่เสมอ

ตัวอย่างหนังสือประเภทนี้ที่มีชื่อเสียงก็เช่น ฟื้นความหลัง ของเสฐียรโกเศศ ซึ่งเป็นนามปากกาของพระยาอนุมานราชธน

หรือหนังสือเรื่อง เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ของทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

หนังสือทั้งสองเล่มนี้พิมพ์ซ้ำมาหลายครั้งแล้ว และยังอยู่ในความนิยมของนักอ่านจำนวนมากแม้จนทุกวันนี้

ยุคสมัยที่ปรากฏอยู่ในหนังสือทั้งสองเล่มที่ออกนามมาแล้ว เป็นเรื่องเก่าก่อนผมเกิด เมื่อผมได้อ่านหนังสือดังกล่าวก็ทำให้รู้สึกว่าตัวเองได้ขึ้นยานวิเศษเดินทางไปท่องเที่ยวในอดีตอันรื่นรมย์

ทำให้เข้าใจอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างที่เกิดขึ้นและเป็นไปในบ้านเมืองว่ามีพัฒนาการมาอย่างไร

ในอดีตเมื่อครั้งบ้านเมืองยังไม่เจริญก้าวหน้าอย่างทุกวันนี้คนรุ่นปู่-ย่า ตา-ยายของเราท่านใช้ชีวิตกันมาอย่างไร

 

เมื่อตัวผมมีความสุขเพราะได้อ่านหนังสือประเภทอย่างนั้นแล้ว ก็นึกกำเริบขึ้นมาอยากเขียนหนังสือทำนองเดียวกัน เพื่อบอกเล่าเหตุการณ์บ้านเมืองในสมัยที่ตัวเองเป็นเด็กดูบ้าง

ส่วนลูก-หลานรุ่นหลังเขาจะชอบอ่านหรือไม่นั้นก็ปล่อยตามใจเขาเถิด

เรื่องอย่างนี้ลางเนื้อชอบลางยา เรามีความสุขที่ได้เขียนก็เพียงพอแล้ว

จริงไหมครับ

เมื่อในราวสามปีก่อน ผมเขียนหนังสือทำนองนี้สำเร็จมาแล้วหนึ่งเล่ม ตั้งชื่อแบบคิดเองเออเองว่า “วานนี้ที่สุขุมวิท” และได้สำนักพิมพ์มติชนนี่แหละที่ช่วยเป็นธุระจัดพิมพ์และจำหน่าย ถึงแม้จะไม่คลาสสิคเท่า “ฟื้นความหลัง” หรือ “เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก” แต่ในสายตาผมซึ่งเป็นคนเขียนเองก็เห็นว่าพอถูไถไปได้

เวลาคนเราส่องกระจกก็มักจะเห็นว่าตัวเองหน้าตาดีทุกทีสิน่า

ยิ่งเวลานี้หยุดอยู่กับบ้าน ใช้ชีวิตออนไลน์เสียเป็นส่วนใหญ่ ความกำเริบจึงฟุ้งซ่านขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

 

ตอนนี้กำลังเริ่มเขียนหนังสือเรื่อง “วานนี้ที่ปทุมวัน” ตั้งใจจะเล่าชีวิตวัยเด็กของตัวเองที่ ถือกำเนิดเกิดขึ้นเมื่อ 60 กว่าปีมาแล้วบริเวณย่านที่เรียกว่ารองเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตปทุมวัน

และเมื่อเติบโตขึ้นมาก็ได้เห็นปทุมวันเปลี่ยนแปลงไปตามวันเดือนปีที่หมุนผ่าน ตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้นประถมปีที่ห้าเมื่อปี 2508 มาจนถึงปัจจุบันนี้

ผู้อ่านต้องอดใจคอยหน่อยนะครับ เพราะงานเขียนเล่มนี้เขียนได้ช้ากว่าปกติ เนื่องจากตอนกลางวันก็ต้องประชุมและสอนหนังสือออนไลน์ แถมตอนกลางคืนก็ต้องดูซีรีส์เกาหลีอีก เหลือเวลาทำงานไม่มากครับ อิอิ

จากการที่ต้องเขียนหนังสือเล่มนี้ ทำให้ผมฉุกใจย้อนคิดอะไรหลายอย่าง ยังไม่ต้องถอยหลังไปไหนอื่นไกลหรือลึกซึ้งหรอกครับ เอาแต่เพียงชื่อของละแวกบ้าน ร้านรวง สี่แยก และอื่นๆ ถ้าเฉลียวใจคิดสักหน่อยก็จะได้ความรู้อะไรสนุกสนานบันเทิงใจอีกมาก

ตัวอย่างเช่น คำว่า “รองเมือง” สงสัยกันไหมครับว่าแปลว่าอะไร และมาจากที่ไหน

อันนี้อุ๊บอิ๊บเอาไว้ก่อน เพราะกำลังทำการบ้านอยู่และจะรอเฉลยในหนังสือวานนี้ที่ปทุมวันครับ

ระหว่างนี้พูดถึงเรื่องทำนองเดียวกันนี้แต่เป็นสถานที่อื่นไปพลางก่อนดีกว่า

 

ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ใกล้กันกับสะพานพระรามเจ็ด ซึ่งอยู่เคียงกันกับสะพานพระรามหก โรงพยาบาลที่ว่านี้มีชื่อเสียงโด่งดังพอสมควรและมีชื่อว่าโรงพยาบาลยันฮี เคยสงสัยกันไหมครับว่าโรงพยาบาลอะไรทำไมถึงชื่อแปลกถึงขนาดนั้น

ถามคนรุ่นปัจจุบันไม่มีใครรู้แล้วหรอกครับ ต้องถามคนแก่ขนาดผมนี่จึงจะพอได้ความ

รากของคำว่า “ยันฮี” แปลว่าอะไรนั้นผมก็ยอมแพ้เหมือนกัน แต่แน่ใจว่าเป็นชื่อตำบลแห่งหนึ่ง ในเขตอำเภอสามเงา จังหวัดตาก ตำบลแห่งนั้นมีแม่น้ำปิงไหลผ่าน แล้วอยู่มาวันหนึ่งเมื่อราวปีพุทธศักราช 2500 ประเทศไทยของเรากำลังอยู่ในยุคที่เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จึงเกิดมีโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มหึมาขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำและใช้ประโยชน์ทั้งด้านการเกษตรและการผลิตไฟฟ้า ปรากฏชื่อเวลานี้ว่าเขื่อนภูมิพล และทุกวันนี้ใครต่อใครก็รู้อยู่ว่าเขื่อนดังกล่าวอยู่ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

แต่เมื่อหกสิบปีก่อน หน่วยงานที่ชื่อว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยังไม่เกิดขึ้น หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าที่ตำบลยันฮีเวลานั้น ใช้ชื่ออย่างตรงไปตรงมาว่า การไฟฟ้ายันฮี ครับ

เขื่อนภูมิพลเองก่อนที่จะได้รับพระราชทานนามภูมิพลก็เรียกกันอย่างลำลองว่าเขื่อนยันฮี ตามชื่อตำบลที่ตั้งเขื่อน

แล้วเกี่ยวอะไรกับโรงพยาบาลตรงถนนจรัญสนิทวงศ์เล่า

ใจเย็นๆ นะโยม เดี๋ยวอาตมาจะเล่าให้ฟัง

 

ทีนี้ในเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง ขณะที่การสร้างเขื่อนภูมิพลเพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับให้บริการทั่วทั้งประเทศยังไม่สำเร็จเรียบร้อย พื้นที่พระนครและจังหวัดใกล้เคียงมีปริมาณความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เข้าตำราว่ากว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้

ทางราชการจึงจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกหนึ่งแห่งสำหรับจ่ายไฟให้กรุงเทพฯ และบริเวณโดยรอบโดยเฉพาะ โรงไฟฟ้าพลังไอน้ำนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนถนนจรัญสนิทวงศ์ ที่ตำบลบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

หน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำจะเป็นหน่วยใดไปไม่ได้นอกจากการไฟฟ้ายันฮี

เพราะฉะนั้น โรงไฟฟ้าที่เกิดขึ้นตรงตำบลบางกรวยจึงมีชื่อเรียกย่อว่า โรงไฟฟ้ายันฮี และเป็นที่ตั้งที่ทำการใหญ่ของการไฟฟ้ายันฮีด้วย

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนหนึ่งของตำบลบางกรวยย่านนั้นจึงถูกนำไปผูกติดกับคำว่ายันฮีโดยปริยาย

มาถึงเวลานี้ไม่มีใครรู้จักการไฟฟ้ายันฮีซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเสียแล้ว รู้จักกันแต่โรงพยาบาลยันฮี

แวะไปผ่าตัดกันเล่นๆ เสียหน่อยดีไหมครับ

 

ลองดูอีกสักตัวอย่างหนึ่งก็ได้ อย่างที่ได้เล่ามาแล้วว่าสุดสัปดาห์ก่อนผมไปธุระปะปังที่ศรีราชา น้องชายของผมทราบเหตุดังกล่าวก็ยื่นคำขาดทีเดียวว่าขากลับขอให้แวะเมืองชลบุรีเพื่อซื้อหมูสะเต๊ะร้านอพอลโลด้วย เพราะอร่อยนักหนา และผมก็ได้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกประการพร้อมกับความเห็นด้วยว่าอร่อยจริงจัง

ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าทำหมูสะเต๊ะอย่างไรถึงจะอร่อย แต่ประเด็นอยู่ตรงชื่อร้านครับ

อพอลโลแปลว่าอะไร และทำไมจึงต้องเป็นหมูสะเต๊ะอพอลโล

ถ้าไปกางตำราดูว่า อพอลโลคืออะไร ก็จะได้คำตอบว่าอพอลโลเป็นชื่อของเทพเจ้ากรีกและโรมัน เป็นเจ้าแห่งวิทยาการในเรื่องของการยิงธนู ดนตรีและการเริงระบำ เทพเจ้าองค์นี้ไม่เคยปิ้งหมูสะเต๊ะขายแต่อย่างใด

ระหว่างเดินทางจากศรีราชาไปชลบุรีผมนึกอยู่ในใจว่า ชื่อร้านนี้น่าจะมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนผมเป็นเด็กนักเรียนมัธยม วันที่ 19 กรกฎาคม ปีพุทธศักราช 2512 คนทั้งโลกตื่นเต้นกันขนานใหญ่เมื่อยานอพอลโล 11 ของสหรัฐอเมริกาพามนุษย์อวกาศสามคนไปเดินเล่นบนดวงจันทร์

ความตื่นเต้นเช่นว่านี้ลุกลามมาถึงเมืองไทยด้วย เวลานั้นใครจะทำอะไร ถ้าตั้งชื่อว่าอพอลโลเข้าไว้ก็จะเป็นสิริมงคลยิ่ง

ผมนึกสงสัยว่าน่าจะต้องมีอะไรเกี่ยวข้องกันกับเรื่องที่ผมว่าเป็นแน่

 

เมื่อไปถึงและได้สัมภาษณ์คุณเจ้าของร้านแล้ว ก็ได้ทราบความสมกับข้อสันนิษฐานว่าร้านหมูสะเต๊ะแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากซอยท่าเรือพลี ถนนวชิรปราการ กลางเมืองชลบุรี ตั้งมาก่อนหน้ามนุษย์จะไปเดินเล่นที่โลกพระจันทร์เป็นไหนๆ แต่ว่าตั้งชื่อเป็นชื่อจีนจำยาก

พอมีเหตุการณ์อพอลโล 11 เกิดขึ้น เจ้าของร้านรุ่นคุณพ่อของเจ้าของร้านปัจจุบันก็เปลี่ยนชื่อร้านมาเป็นร้านอพอลโลในทันใด และมีชื่อเสียงรุ่งเรืองมาจนถึงวันนี้

เห็นไหมครับว่าคนรุ่นผมนั้นเห็นชื่อร้านอพอลโลก็นึกไปไกลจนถึงโลกพระจันทร์โน่น

และถ้าความทรงจำของผมไม่ผิดพลาดมากนัก ชื่ออพอลโลได้กลายเป็นชื่อร้านอะไรต่อมิอะไรในเมืองไทยอีกหลายร้านซึ่งไม่ได้เกี่ยวดองอะไรกันเลย ต่างคนต่างอพอลโล

จำได้รางเลือนมีร้านชื่ออพอลโลอีกร้านหนึ่งอยู่ในเวิ้งริมถนนพระรามสี่ แต่ไม่แน่ใจเสียแล้วว่าเป็นร้านอาหารหรือร้านอาบอบนวด ฮา!

จำไม่ได้ขนาดนี้แปลว่าไม่เคยไปกินหรือไปใช้บริการแน่ จำเลยขอให้การยืนยัน

 

อีกสักชื่อหนึ่งปิดท้ายรายการวันนี้นะครับ เป็นเรื่องว่าด้วยเรื่องแยกประชาอุทิศ หรือที่มีชื่อเรียกกันติดปากว่าแยกเหม่งจ๋าย

แยกประชาอุทิศนี้เป็นสี่แยกขนาดใหญ่ที่มีคนผ่านไปผ่านมาอยู่บ่อยๆ ตั้งอยู่ที่ถนนประชาอุทิศ ไม่ไกลนักจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และเป็นเส้นทางที่จะลัดเลาะไปออกถนนเลียบทางด่วนเอกมัยรามอินทราได้

แล้วทำไมสี่แยกประชาอุทิศถึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าแยกเหม่งจ๋ายได้

ข้อนี้เฉลยได้ไม่ยากเลยเพราะตรงหัวมุมสี่แยกนั้นเองเคยเป็นที่ตั้งของร้านอาหารมีชื่อเสียง ชื่อร้านเหม่งจ๋าย ขายอาหารจีนตามสั่ง ในราวปีพุทธศักราช 2530 ผมย้ายบ้านจากสุขุมวิทมาอยู่ที่รัชดาลาดพร้าว ซึ่งอยู่ไม่ไกลนักกับสี่แยกที่ว่านี้ ยังได้พาพ่อ-แม่ไปกินข้าวร้านเหม่งจ๋ายอยู่บ่อยๆ เลยครับ

ชื่อร้านแปลกขนาดนี้ใครๆ ก็ต้องจำได้ แล้วเลยเรียกชื่อสี่แยกนั้นตามชื่อร้านไปเสียเลย

มาถึงทุกวันนี้ ร้านเหม่งจ๋ายที่อยู่ตรงสี่แยกนั้นเลิกกิจการไปนานแล้ว แต่ยังเหลือนามอันเก๋ไก๋ไพเราะนั้นอยู่ในความทรงจำของผู้คนทั้งหลายและเป็นชื่อสี่แยกที่คนรู้จักมากกว่าชื่อแยกประชาอุทิศที่เป็นชื่อแบบทางการเสียอีก

คนแก่เล่าเรื่องอดีตนี้ก็มีความสุขดีจริง ขอบคุณที่อดทนฟังนะครับ

และห้ามมาถามเรื่องอนาคตเป็นอันขาด

ปวดหัว!