จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (19) เส้นทางการล่มสลายของซ่งเหนือ (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (19)

เส้นทางการล่มสลายของซ่งเหนือ (ต่อ)

 

เมื่อหนีได้อย่างปลอดภัยแล้ว ฟังล่ากับมิตรสหายที่เขาได้รู้จักขณะหลบหนีจึงได้รวมตัวกันก่อกบฏขึ้นใน ค.ศ.1120 โดยรวบรวมกำลังจากชาวบ้านได้จำนวนหนึ่งที่สมาทานศาสนามาณี

อนึ่ง ศาสนามาณี (Manichaeism) เป็นศาสนาที่เข้ามาในจีนเมื่อ ค.ศ.694 สาวกของศาสนานี้ต่อมารู้กันว่าเป็นกลุ่มชนที่บูชาแสงสว่าง ด้วยเชื่อว่าพลังของแสงสว่างและความมืดมิดต่อสู้กันชั่วกัลปาวสานเพื่อแย่งชิงจักรวาล

ความเชื่อนี้จึงทำให้อารามของศาสนานี้ถูกเรียกว่า อารามเรืองรอง (Brightness Temple)

เมื่อรวมกำลังได้แล้ว กลุ่มกบฏก็บุกเข้าไปปลิดชีพขุนนางคนหนึ่งที่สมคบกับจูเหมี่ยนกดขี่ขูดรีดชาวบ้าน และเป็นที่รังเกียจของชาวบ้าน เมื่อปลิดชีพขุนนางผู้นั้นแล้ว ฟังล่ากับสหายก็ฉลองชัยชนะ

คืนนั้นเองที่เขาได้ประกาศความผิดของจักรพรรดิซ่งและเหล่าขุนนาง พร้อมกับเรียกร้องให้ชาวบ้านลุกขึ้นสู้กับราชวงศ์ซ่ง ซึ่งชาวบ้านก็ตอบรับด้วยดี

ขบวนการของเขาจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

 

หลังจากนั้นไม่นาน ขบวนการกบฏของฟังล่าก็มีราษฎรเข้าร่วมเรือนแสน และบุกเข้ายึดเมืองต่างๆ ได้ถึง 52 เมืองโดยครอบคลุมพื้นที่มณฑลเจียงซู เจ้อเจียง อันฮุย และเจียงซี

กองกำลังของฟังล่าสามารถรบชนะกองกำลังของซ่งได้หลายครั้ง จนนำไปสู่การประมาทคู่ต่อสู้

เหตุดังนั้น เมื่อซ่งส่งกำลังมาปราบใน ค.ศ.1121 กองกำลังของฟังล่าจึงสูญเสียเมืองที่ยึดมาได้ให้แก่ซ่ง

จนในที่สุดขบวนการของฟังล่าก็ถูกซ่งปราบได้สำเร็จ ตัวเขาและครอบครัวตลอดจนสหายถูกจับกุม

โดยตัวเขาถูกส่งไปยังราชสำนักซ่ง จักรพรรดิซ่งฮุยจงทรงเกลี้ยกล่อมให้เขายอมสวามิภักดิ์ต่อซ่ง

แต่เขากลับด่าทอซ่งฮุยจงจนทรงอับอายและพิโรธ พระองค์จึงให้ประหารฟังล่าและพวก

กบฏฟังล่าจึงถูกปราบลงอย่างเด็ดขาด

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดียวกับที่เกิดกบฏฟังล่านั้น ในอีกที่หนึ่งก็มีขบวนการกบฏเกิดขึ้นเช่นกัน กล่าวคือ ในบริเวณภูเขาเหลียง (เหลียงซัน) อำเภอเหลียงซันในมณฑลซันตงปัจจุบันยังมีแอ่งน้ำที่เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ชาวบ้านที่อยู่รอบทะเลสาบนี้มีอาชีพประมงและสานต้นอ้อต้นกกยังชีพเรื่อยมา

ครั้นถึงสมัยซ่งฮุยจง ราชสำนักได้เข้ามายึดเวิ้งน้ำภูเขาเหลียงเอาไว้พร้อมตั้งกฎขึ้นใหม่ว่า สืบแต่นี้ไปผู้ที่ทำประมงและเก็บต้นอ้อต้นกกจะต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐ ซึ่งอัตราภาษีที่จ่ายจะกำหนดตามขนาดของเรือที่ใช้

การดำรงชีวิตของชาวบ้านที่เดิมก็ยากเข็ญอยู่แล้วจึงยิ่งยากเข็ญลงไปอีก ชาวบ้านในแถบนั้นจึงอดรนทนไม่ได้อีกต่อไป

ดังนั้น ก่อนที่จะเกิดกบฏฟังล่าราวหนึ่งปี ชาวบ้านที่ทนการกดขี่ขูดรีดไม่ได้จึงพากันหนีขึ้นไปยังภูเขาเหลียง โดยมีผู้นำคือ ซ่งเจียง และบริเวณที่ชาวบ้านหลบหนีไปนั้นอยู่ใกล้กับเวิ้งน้ำดังกล่าว จากนั้นซ่งเจียงก็จัดตั้งขบวนการทางการเมืองขึ้นมาเพื่อโค่นล้มซ่ง

ต้นทศวรรษ 1120 นับเป็นช่วงที่วุ่นวายสำหรับซ่งไม่น้อย เพราะต้องเผชิญกับขบวนการของฟังล่าและซ่งเจียงไปพร้อมกัน กล่าวสำหรับขบวนการของซ่งเจียงแล้วทัพของซ่งสามารถเอาชนะได้ในปี ค.ศ.1121 โดยตัวของซ่งเจียงยอมจำนนและสวามิภักดิ์ต่อราชสำนักซ่ง

แต่การยอมจำนนของซ่งเจียงมิได้หมายความว่าขบวนการที่เขาจัดตั้งขึ้นสลายตัวไปด้วย เพราะทัพของขบวนการที่ตั้งอยู่ที่เวิ้งน้ำภูเขาเหลียงยังคงยืนหยัดต่อสู้กับซ่งต่อไป

 

อันที่จริงแล้วบันทึกของซ่งได้กล่าวถึงกบฏซ่งเจียงไว้เพียงแค่ว่า ทัพซ่งได้ใช้อุบายเผาเรือสินค้าสิบลำที่ทัพของซ่งเจียงยึดเอามาจากซ่งก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ เพื่อล่อให้ทัพของซ่งเจียงออกมาติดกับแล้วล้อมปราบ จนตัวซ่งเจียงยอมจำนนดังกล่าว ซึ่งหมายความว่า กบฏซ่งเจียงได้ถูกปราบลงเรียบร้อยแล้ว

แต่การที่ยังมีกองกำลังของกบฏปักหลักสู้ต่อไปนั้น ได้ทำให้เรื่องราวของกบฏซ่งเจียงถูกนำไปบอกเล่าในรูปวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงเรื่อง สุยหู่จ้วน (บันทึกริมเวิ้งน้ำ, the Water margin) วรรณกรรมชิ้นนี้แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง โดยบอกเล่าวีรกรรมของเหล่ากบฏผู้กล้าหาญแห่งภูเขาเหลียง1

ที่กลายเป็นหนึ่งในสี่วรรณกรรมเอกของจีนปัจจุบัน2

กบฏทั้งสามขบวนการจากที่กล่าวมานี้ แม้ซ่งสามารถเอาชนะได้ในที่สุดก็ตาม แต่ปมอันพึงคิดกลับมิได้อยู่เฉพาะประเด็นใครแพ้ใครชนะ หากอยู่ตรงที่กบฏทั้งสามนี้ได้เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่จีนกำลังเผชิญหน้ากับชนชาติอื่นอีกด้วย

เหตุดังนั้น การกบฏที่เกิดขึ้นจึงเท่ากับซ้ำเติมจีนให้ตกอยู่ในปัญหาเสถียรภาพหนักยิ่งขึ้น และสิ่งที่เห็นก็คือ จีนในยุคนี้เลือกใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการเจรจา ไม่ต่างกับที่จีนใช้กับชนชาติอื่นที่กำลังคุกคามตนในขณะนั้น

กรณีกบฏทั้งสามจึงยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า นโยบายประนีประนอมกับปฏิปักษ์ของจีนในยุคนี้บางทีอาจเป็นหนทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อลดทอนภัยคุกคามให้ได้มากที่สุด อันเป็นการลดทอนเพื่อให้ตนได้มีเวลาใส่ใจในการพัฒนาภายในได้มากขึ้น

ถึงแม้การลดทอนนั้นจะต้องแลกด้วยศักดิ์ศรีในบางกรณีด้วยก็ตาม

 

จินกับการล่มสลายของซ่งเหนือ

หลังหนี่ว์เจินตั้งราชวงศ์จินขึ้นใน ค.ศ.1115 แล้ว ระหว่าง ค.ศ.1117 ถึง ค.ศ.1123 ซ่งได้ส่งคณะทูตของตนเดินทางไปยังราชสำนักจินเจ็ดครั้ง และจินได้ส่งคณะทูตของตนมายังราชสำนักซ่งหกครั้ง

ความสัมพันธ์อันดีนี้มีปมปัญหาใหญ่ดำรงอยู่สามประการคือ การร่วมกันโจมตีจักรวรรดิเหลียวให้ยากที่จะยืนอยู่ได้ของซ่งกับจิน การยึด 16 เมืองที่เหลียวเคยได้จากจีนคืนมา และจีนถดถอยลงอย่างรวดเร็ว เมื่อล่วงรู้มาว่าอากู๋ต่ากำลังคิดมุ่งร้ายกับจักรวรรดิจีน

อันที่จริงแล้วทัพจินไม่จำเป็นที่จะให้ทัพซ่งมาช่วยในการเข้าโจมตีทางภาคใต้ของเหลียว อันมีเมืองเอียน (ปักกิ่งในปัจจุบัน) เป็นศูนย์กลาง แต่ในอีกด้านหนึ่งซ่งยังเห็นว่า จินคงเรียกร้องเอาดินแดนอย่างที่ยอมรับกันได้จากการส่งทหารมาร่วมโจมตีเหลียว

และไม่นานหลังจากนั้นจินก็รุกคืบการเรียกร้องของตนขึ้นจริงๆ โดยเพ่งไปที่บรรณาการที่พึงได้จากจีนต่อจากเหลียวที่ล่มสลายไปแล้ว

สนธิสัญญาของทั้งสองเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการใน ค.ศ.1123 สนธิสัญญานี้ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการทหารอย่างยิ่ง เพราะทัพซ่งไม่สามารถยึดเมืองเอียนเอาไว้ได้ ข้างจินไม่เพียงยึดภาคตะวันตกและภาคกลางเมืองหลวงของเหลียวได้เท่านั้น

หากเมื่อสิ้น ค.ศ.1122 ก็ยังยึดเมืองเอียนได้อีกด้วย

โดยจักรพรรดิเหลียวทรงหนีไปไกลสุดทางตะวันตก อันเป็นสัญญาณการสิ้นสุดของราชวงศ์เหลียว การยึดเมืองเอียนของอากู๋ต่านี้มั่นคงเสียจนไม่ว่าใครก็มิอาจตีชิงเอาไปได้ และทำให้ทัพซ่งได้แต่คุมเชิงเอาไว้

โดยอากู๋ต่าได้คืนเมืองเอียนกับอีกหกเมืองที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันให้แก่ซ่ง ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขความร่วมมือของทั้งสอง แต่จินก็ขอให้ซ่งทดแทนค่าภาษีที่เก็บได้จากเมืองเอียนให้แก่ตนอย่างถึงขนาด

ซึ่งภาษีนี้เหลียวเคยเก็บได้เมื่อครั้งยังเรืองอำนาจ

1วรรณกรรมชิ้นนี้ได้รับการแปลเป็นไทยใน ซื่อไหน่อัน และเล่ากวนจง, ซ้องกั๋ง วีรบุรุษเขาเหลียงซาน เล่ม 1-เล่ม 4, จรัสชัย เชี่ยวยุทธ (นามปากกา) แปล (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว, 2553). โดยก่อนหน้านี้ยังมีฉบับที่อำนวยการแปลโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ใช้ชื่อว่า ซ้องกั๋ง นอกจากนี้ วรรณกรรมชิ้นนี้ยังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครทางโทรทัศน์โดยทางฮ่องกงและจีนอยู่หลายครั้ง ภาพยนตร์ที่ฉายในไทยใช้ชื่อว่า ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน จนเป็นชื่อที่ติดตลาดของ สุยหู่จ้วน ในสังคมไทย

2สี่วรรณกรรมเอกของจีนปัจจุบันคือ สุยหู่จ้วน (ซ้องกั๋ง หรือซ้องกั๋ง วีรบุรุษเขาเหลียงซาน) ซันกว๋อเอี่ยนอี้ (สามก๊ก) ซีโหยวจี้ (ไซอิ๋ว) และหงโหลวเมิ่ง (ความฝันในหอแดง) สามเล่มแรกมีการแปลเป็นไทยแล้ว ส่วนเล่มหลังสุดมีการแปลจากฉบับย่อเท่านั้นซึ่งคือ เฉาเสี่ยฉิ้น และเกาอู่, ความฝันในหอแดง, วรทัศน์ เดชจิตกร (นามแฝง) แปล (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, 2523).