ภัยพิบัติกับการปฏิเสธความจริงจากรัฐ/บทความพิเศษ ไซเบอร์ วอชเมน

บทความพิเศษ

ไซเบอร์ วอชเมน

 

ภัยพิบัติกับการปฏิเสธความจริงจากรัฐ

 

“The truth hurts, but silence kills.”

“ความจริงพาให้เจ็บปวด แต่ความเงียบงันปลิดชีวิต”

มาร์ก ทเวน (Mark Twain) นักเขียนชาวอเมริกัน

 

ภัยพิบัติไม่ว่าภัยธรรมชาติหรือโรคระบาด เป็นสิ่งที่อยู่กับมนุษย์มานาน ทั้งรับรู้หรือประสบมากับตัว สภาพที่เกิดขึ้นย่อมถูกรายงานเป็นข้อมูลข่าวสารให้กับคนนอกพื้นที่ที่ยังไม่รับรู้ถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นหรือส่งผลกระทบกับคนเหล่านั้น ได้รับรู้สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

ข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติที่เรามักได้เห็นตั้งแต่ทีวีจนถึงโซเชียลแพลตฟอร์ม มีตั้งแต่ภาพความรุนแรงของภัย ระดับความเสียหายทั้งแบบเชิงสถิติและภาพเหตุการณ์ ข้อมูลความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และ…ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจนถึงการเยียวยาบรรเทาภัยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ

แล้วถ้าภัยพิบัติที่รายงานออกสู่สาธารณชนไม่ได้ยึดโยงกับความเป็นจริงล่ะ? ใครกันที่อ่อนไหวกับเรื่องแบบนั้น จนกล้าที่จะปฏิเสธความจริงและยังพยายามปกปิดหรือบิดเบือนไม่ให้ใครรับรู้

แล้วถ้าใครที่ว่านั้นหมายถึง “รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ” ทำไมแม้แต่เรื่องภัยพิบัติยังรู้สึกอ่อนไหว พวกเขากล้าทำในสิ่งที่ให้เรื่องที่หมายถึงความเป็นความตายของคนจำนวนมากต้องเป็นเรื่องเท็จ?

 

ถ้าใครผ่านงานวรรณกรรมแนวดิสโทเปียของออร์เวลล์อย่างแอนิมอล ฟาร์ม หรือ 1984 หรือได้รับชมสารคดีของเน็ตฟลิกซ์เรื่อง “เส้นทางทรราช” (How to become a tyrant) ไม่นานมานี้ หนึ่งในกลวิธีผู้นำที่มีความเป็นอำนาจนิยมทำนั้นคือ “ผูกขาดความจริง”

กำหนดเรื่องเล่าหรือข้อมูล ทั้งอดีต ปัจจุบันเพื่อส่งผลในอนาคต อย่างที่จอร์จ ออร์เวลล์ พูดไว้ว่า “ผู้ที่ควบคุมอดีต ย่อมควบคุมอนาคต”

เรื่องอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในประเทศนั้น ผู้มีอำนาจรัฐนั้นจะกำหนดให้เรื่องราว ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้เป็นไปตามที่สร้างฐานอำนาจหรือความมั่นคงทางการเมือง เพราะความจริงสำหรับผู้มีอำนาจนั้น เป็นสิ่งนำไปสู่การตั้งคำถาม ถกเถียงและไปจนถึงวิพากษ์วิจารณ์ หากสิ่งที่ถูกเล่าผ่านอำนาจรัฐไม่ไปกันกับสภาพความเป็นจริง จะทำให้เกิดภาวะไร้เสถียรภาพจนถึงขั้นสูญเสียอำนาจการเมืองไปได้

ดังนั้น จึงต้องถูกควบคุมกำหนดความจริงเรื่องต่างๆ แม้แต่ภัยพิบัติ โดยเฉพาะความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของรัฐ ถ้าผู้มีอำนาจต่อให้รวบอำนาจไว้หมดแต่แก้ไขไม่ได้หรือล่าช้า ก็จะปลุกให้คนหาความจริงและนำไปสู่ความไม่พอใจและโกรธแค้นจนกลายเป็นการประท้วงขับไล่รัฐบาลได้

นี่คือสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

 

ขอยก 2 กรณีข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติ ที่สะท้อนความพยายามควบคุมความจริงของผู้มีอำนาจรัฐ ว่าทำไมเรื่องภัยพิบัติก็ยังทำให้ผู้มีอำนาจอ่อนไหวได้

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่จีนได้เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ในมณฑลเหอหนานจากฝนตกใหญ่ที่มากเป็นประวัติการณ์ จนทำให้ทั้งนครเฉิงโจวกลายเป็นเมืองบาดาล น้ำท่วมสูงชนิดรถยนต์แทบจมหาย

ถนนจมและมวลน้ำเข้าระบบรถไฟใต้ดิน

ผู้โดยสารรถไฟใต้ดินต้องยืนแช่น้ำที่ทะลักเข้าตู้โบกี้โดยที่ออกไปไหนไม่ได้เพราะน้ำท่วมทั้งระบบรถไฟ กลายเป็นภาพที่ถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียของจีนและถูกเผยแพร่ออกสู่สื่อต่างชาติ

จากรายงานซินหัว เหตุอุทกภัยนครเฉิงโจว มีประชาชน 1.24 ล้านคนได้รับผลกระทบ เสียชีวิต 302 ราย สูญหาย 50 ราย โดยที่มี 14 รายเสียชีวิตจากการจมน้ำทางรถไฟใต้ดินสาย 5

แน่นอนว่า ข่าวอุทกภัยครั้งใหญ่นี้ถูกรายงานในสื่อต่างชาติด้วย แต่สื่อต่างชาติกลับเผชิญการข่มขู่คุกคามจากการรายงานข่าวนี้

โดยเซาธ์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ และเดอะการ์เดี้ยนรายงานข้อมูลจากการเปิดเผยทั้งสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศจีนและองค์กรสื่อไร้พรมแดน ว่านักข่าวต่างชาติถูกคุกคามระหว่างทำข่าวที่คราวนี้ไม่ใช่จากเจ้าหน้าที่ของทางการจีน แต่เป็นชาวจีนในพื้นที่น้ำท่วม

สื่อต่างชาติหลายสำนักไม่ว่าบีบีซี ซีเอ็นเอ็น อัลจาซีร่า ดอยช์ เวลล์ เอเอฟพี ถูกคุกคามซึ่งหน้าจากฝูงชนที่โกรธแค้น ต่างข่มขู่ให้ยุติรายงานข่าวหรือลบภาพข่าวที่กำลังบันทึก แม้แต่ชาวจีนที่ทำงานกับสื่อต่างชาติก็เจอประจานข้อมูลส่วนตัวเพื่อให้คนไปล่าแม่มด

หลายกรณีร่วมถึงเว่ยโป่ โซเชียลมีเดียของจีนมีการเผยแพร่ข้อมูลที่อยู่ของโรบิน แบรนต์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่รายงานข่าวอุทกภัย โดยมองว่ารายงานข่าวของแบรนต์เน้นแต่ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาของทางการท้องถิ่นของจีน หรือนักข่าวเอเอฟพีถูกชาวเมืองเฉิงโจวคุกคามถึงขั้นแจ้งความกับตำรวจ

แม้ไม่ใช่การคุกคามจากรัฐโดยตรง แต่รัฐบาลจีนมีส่วนที่ส่งเสริมความเป็นชาตินิยมระดับเข้มข้นตลอดหลายปี

ประชาชนจำนวนมากซึบซับอุดมการณ์ที่เชิดชูความยิ่งใหญ่ของประเทศตัวเองและความไม่เป็นมิตรต่อต่างชาติที่มองว่าจ้องทำลายเกียรติภูมิหรือความมั่นคงของชาติจีน

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภัยพิบัติ ต้องไม่มีเรื่องที่ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศจีนหรือรัฐบาลจีนต้องด่างพร้อย ไม่เช่นนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องเท็จ หรือเอาคำเวลานี้คือ เป็นข่าวปลอม!

แม้ว่าต่อมา รมต.ต่างประเทศของจีนจะกล่าวว่า การรายงานข่าวในจีนเป็นไปอย่างเปิดกว้างและเสรี

แต่หากย้อนก่อนหน้าข่าวอุทกภัย ข่าวการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงจนถึงข่าวการละเมิดชาวอุยกูร์ ก็เป็นสิ่งที่ทางการจีนไม่ชอบอยู่แล้ว

นั้นทำให้จีนถูกเรียกว่าเป็นประเทศที่มีการเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสารเข้มข้นที่สุดในโลก

 

กรณีที่ 2 ก็ใกล้ตัวมาก นั่นคือประเทศไทยนี่เอง โดยเฉพาะภัยพิบัติจากโรคระบาดโควิด-19 ได้สะท้อนความล้มเหลวในการรับมือโรคระบาดและความพยายามของผู้มีอำนาจรัฐในการควบคุมความจริงที่เรียกว่า…พังไม่เป็นท่า

สิ่งที่รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันเสียหายหนักจากวิกฤตโควิด-19

นอกเหนือจากตัวเลขผู้ติดเชื้อแต่ละวันที่ไม่สะท้อนความจริงหรือระบบสาธารณสุขที่บอกว่ารับไหวก็เกินไหวจนพังทลาย นั่นคือภาพผู้ป่วยโควิดตายกลางถนนและในบ้านเรือน

ผู้ป่วยโควิดตายกลางถนนในตรอกบ้านพานถม ตรงข้ามวัดบวรนิเวศฯ ร่างไร้วิญญาณอยู่ในสภาพนั้นโดยไม่มีการกู้ศพนาน 6 ชั่วโมง

แต่กรณีผู้ป่วยโควิดตายกลางถนน กลับถูกหน่วยงานรัฐทั้งตำรวจ ดีอีเอส หรือนักการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาล ลดทอนว่าเป็นการจัดฉากเพื่อดิสเครดิตรัฐบาล แทนที่จะเป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการ กลับจุดไฟโกรธแค้นให้กับสาธารณชน พร้อมประณามคนคิดแบบนั้นว่าไม่น่าจะเป็นคนได้แล้ว

หรืออีกความพยายามหนึ่งคือ วัคซีนโควิดอย่างซิโนแวค ที่รัฐบาลไทยจนถึงผู้บริหารในหน่วยงานสาธารณสุขต่างบรรยายด้านดีของวัคซีนซิโนแวค โดยสร้างชุดความจริงของตัวเองทั้งอ้างว่าได้วิจัยตามหลักวิทยาศาสตร์ ว่ามีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อโควิด

ทว่ายิ่งนานวัน งานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับผลการศึกษาวัคซีนซิโนแวคที่ออกมา รวมถึงเชื้อโรคได้กลายพันธุ์จนทำให้วัคซีนซิโนแวคไม่สามารถป้องกันได้ ผิดกับวัคซีนตัวอื่นอย่างโมเดอร์นาหรือไฟเซอร์

คนที่ได้อ่านข้อมูลที่เป็นความจริงอีกชุดก็ออกมาตั้งคำถามถึงความดึงดันของรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนซิโนแวค หรือไปถึงวิจารณ์ว่ามีผลประโยชน์ทางอ้อมหรือเงินทอนจากการจัดซื้อ แต่รัฐบาลก็ได้ออกมาตอบโต้คนวิจารณ์ด้วยวาทกรรม “ด้อยค่าวัคซีน”

แต่ยิ่งรัฐบาลออกมาย้ำสิงที่ย้อนแย้งกับงานวิจัยทางการแพทย์ ยิ่งเร่งความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลให้มากขึ้นและนำไปสู่การประท้วงขับไล่รัฐบาล ไม่นับความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

หนำซ้ำ สถานทูตจีนประจำประเทศไทยออกมาร่วมตอบโต้ข้อวิจารณ์วัคซีนแต่กลับกลายเป็นลงเหวพร้อมกับรัฐบาลไทยไปด้วย ทำให้ประชาชนไทยมองรัฐบาลจีนเชิงลบมากขึ้น

นี่คือตัวอย่างที่ผู้มีอำนาจรัฐพยายามควบคุมความจริง เพราะรับไม่ได้ว่าตัวเองล้มเหลว ทำไม่ได้ตามที่โฆษณาไว้

นั่นย่อมหมายถึงตัวเองต้องสูญเสียอำนาจและหมดอนาคตในที่สุด