การเมืองอำนาจนิยม : ระบอบเผด็จการส่วนบุคคล/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

การเมืองอำนาจนิยม

: ระบอบเผด็จการส่วนบุคคล

 

บุคลาภิวัตน์ –> ระบอบเผด็จการส่วนบุคคล

แนวโน้มบุคลาภิวัตน์ (personalization) ในระบอบอำนาจนิยมทั้ง 6 ประการ อันได้แก่ :

[1) ผู้นำกระชับวงในอำนาจให้แคบเล็กลง

2) บรรจุแต่งตั้งผู้จงรักภักดีไว้ในตำแหน่งกุมอำนาจสำคัญทั้งหลาย

3) ส่งเสริมญาติพี่น้องให้เข้าสู่ตำแหน่งอันทรงอำนาจ

4) การก่อตั้งพรรคหรือขบวนการการเมืองใหม่ขึ้นมา

5) การใช้การลงประชามติเป็นวิธีการตัดสินชี้ขาดเรื่องใหญ่ทางการเมือง และ

6) การสร้างกองกำลังความมั่นคงใหม่ขึ้นมาแยกต่างหากจากกองทัพประจำการแห่งชาติเดิม]

ซึ่งอาจเกิดครบบ้างขาดบ้างแล้วแต่สภาพการณ์กาละเทศะเฉพาะของสังคมการเมืองแต่ละแห่งนั้น

หากดำเนินไปถึงจุดที่ผู้นำรวมศูนย์อำนาจไว้ในกำมือได้เป็นปึกแผ่น ก็จะนำไปสู่ระบบการเมืองที่ทางรัฐศาสตร์เรียกว่า –> ระบอบเผด็จการส่วนบุคคล (personalist dictatorship)

อันมีบุคลิกลักษณะดังนี้คือ :

– ผู้นำปกครองโดยปลอดจากกลไกเหนี่ยวรั้งยับยั้งทั้งปวงและสามารถดำเนินนโยบายได้ตามใจชอบ

– ยากที่ชนชั้นนำด้วยกันจะกดดันให้ผู้นำต้องพร้อมรับผิดต่อการกระทำของตน ส่งผลให้ผู้นำอาจเลือกตัดสินใจผิดๆ ได้โดยไม่ต้องรับผลสืบเนื่องจากการกระทำนั้น

– ผู้นำแวดล้อมตัวเองด้วยที่ปรึกษาผู้จงรักภักดีแทนที่จะเน้นความสามารถ ใครดูท่าเอาใจออกห่างก็จะถูกปลดโละทิ้งไป สร้างแรงกดดันให้ชนชั้นนำต้องกลายเป็นพวกประจบสอพลอผู้นำที่ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้

“ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน”

 

งานวิจัยบ่งชี้ว่าพลวัตของระบอบเผด็จการส่วนบุคคลข้างต้นก่อผลเสียทางการเมืองทั่วด้านได้แก่ (Andrea Kendall-Taylor, Erica Frantz, and Joseph Wright, “The Global Rise of Personalized Politics : It’s Not Just Dictators Anymore”, The Washington Quarterly, 40:1 (Spring 2017), 7-19)

– ในบรรดาระบอบอำนาจนิยมนานาชนิดนั้น ระบอบเผด็จการส่วนบุคคลถือว่าเอื้อเฟื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุด โดยผู้นำแจกจ่ายแบ่งปันทรัพยากรให้กลุ่มผู้สนับสนุนวงแคบๆ บนพื้นฐานระบบอุปถัมภ์ (Eric Chang and Miriam A. Goldenm “Sources of Corruption in Authoritarian Regimes”, Social Science Quarterly, 91:1 (2010), 1-20)

– สถาบันตรวจสอบถ่วงดุลการกระทำของผู้นำอยู่ในสภาพอ่อนเปลี้ยเพลียแรง เอื้ออำนวยให้ผู้นำฉวยใช้อำนาจในทางมิชอบโดยสะดวก

– ระบอบเผด็จการส่วนบุคคลโน้มเอียงจะหาเรื่องพิพาทขัดแย้งระหว่างรัฐมากที่สุดในบรรดาการปกครองในรูปแบบอำนาจนิยมทั้งหลาย เนื่องจากผู้นำสามารถปฏิบัติการสุ่มเสี่ยงได้โดยไม่ต้องกลัวจะถูกเอาผิดลงโทษในประเทศ ส่งผลให้ระบอบนี้น่าจะกล้าทุ่มทุนติดอาวุธนิวเคลียร์มากที่สุดด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคง อาศัยที่มันปลอดกลไกเหนี่ยวรั้งยับยั้งภายใน ดังพฤติการณ์ต่างประเทศของเกาหลีเหนือภายใต้ราชวงศ์คิมเป็นตัวอย่าง (https://www.aljazeera.com/news/2014/4/26/obama-brands-north-korea-a-pariah-state)

– ในทางกลับกัน ระบอบเผด็จการส่วนบุคคลก็เป็นเผด็จการประเภทที่น่าจะดำเนินนโยบายต่างประเทศผิดพลาดมากที่สุด เนื่องจากผู้นำแวดล้อมตัวเองด้วยประดาเชลียร์ชนซึ่งพร่ำบอกสิ่งที่ท่านผู้นำอยากได้ยินได้ฟังด้วยความรักตัวกลัวตาย ทำให้ผู้นำไม่ได้รับฟังข้อสนเทศที่ถูกต้องแม่นยำตามความเป็นจริงในประเด็นนโยบายต่างประเทศจากบรรดาลูกขุนพลอยพยักทั้งหลาย

– ระบอบเผด็จการส่วนบุคคลยังน่าจะมีพฤติกรรมร่วมมือกับรัฐและองค์การระหว่างประเทศน้อยที่สุด เช่น ปัดปฏิเสธที่จะลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศเพราะผู้นำในระบอบนี้สามารถทำตามใจชอบได้สะดวกคล่องตัวกว่าในระบอบอำนาจนิยมแบบอื่นๆ (Michaela Mattes and Mariana Rodriguez, “Autocracies and International Cooperation”, International Studies Quarterly, 58:3 (2014), 527-538)

– ในทำนองเดียวกัน ระบอบเผด็จการส่วนบุคคลน่าจะถลุงความช่วยเหลือจากต่างประเทศเปล่าเปลืองหมดสิ้นไปมากกว่าเผด็จการแบบอื่น เพื่อเติมเต็มกระเป๋าตังค์ของท่านผู้นำและพวกพ้องบริวารแทนที่จะใช้ตามโครงการช่วยเหลือที่วางไว้จริง ด้วยหวังว่าจะได้ต่ออายุอำนาจของตัวเองออกไป ดังกรณีรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ถลุงความช่วยเหลือจากอเมริกาและนานาชาติตะวันตกจนมีอันล่มจมลงอย่างรวดเร็วน่าใจหายราวปราสาททรายเมื่ออเมริกันปลีกตัวทิ้งและถูกกองกำลังทาลิบันรุกโค่นเมื่อเร็วๆ นี้ (https://www.economist.com/asia/2021/08/28/the-afghan-government-was-undone-by-its-own-corruption)

– ทว่าข้อที่แย่ที่สุดก็คือระบอบเผด็จการส่วนบุคคลมีแนวโน้มน้อยที่สุดในบรรดาระบอบอำนาจนิยมทั้งหลายที่จะก่อเกิดกระบวนการสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ได้สำเร็จเมื่อมันล่มสลายลง (Barbara Geddes, Joseph Wright, and Erica Frantz, “Autocratic Breakdown and Regime Transitions : A New Data Set”, Perspectives on Politics, 12:2 (2014), 313-331)

ทั้งนี้เพราะเมื่อผู้นำในระบอบนี้เผชิญพลังท้าทายการปกครองของตนก็มัก “พร้อมที่จะตายคาเก้าอี้” (https://twitter.com/ten_nattawut/status/1422441720826916875) ทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบใหม่ยืดเยื้อและเปลืองเลือดเนื้อชีวิตผู้คน

ดังกรณีการสิ้นอำนาจของซัดดัม ฮุสเซน ในอิรักเมื่อ ค.ศ.2003 และมูอัมมาร์ กัดดาฟี ในลิเบียเมื่อ ค.ศ.2011 เป็นต้น

 

มรดกที่จอมเผด็จการส่วนบุคคลเหล่านี้ทิ้งไว้ข้างหลังคือสถาบันการเมืองการปกครองที่กร่อนกลวงด้วยถูกบิดเบือนฉวยใช้ผิดปกติวิสัยมาต่อเนื่องยาวนานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เกื้อกูลต่อการสร้างประชาธิปไตย บ่อยครั้งภายหลังความล่มสลายของระบอบเผด็จการส่วนบุคคล การเมืองการปกครองจึงเปลี่ยนผ่านไปสู่…

– ระบอบเผด็จการใหม่เช่นระบอบพิบูลสงคราม->ระบอบสฤษดิ์->ระบอบสามทรราชในไทย หรือ

– รัฐล้มเหลว เช่น โซมาเลียหลังระบอบไซอัด บาร์รี หรือ

– ระบอบเผด็จการใหม่ที่ล้มเหลวเช่นระบอบสมเด็จฮุน เซน ในกัมพูชาหลังระบอบเขมรแดงของพอล พต ที่ถูกกล่าวขวัญถึงว่าเป็น “ระบอบล้มเหลวที่ยืนนานที่สุดในโลก”

ดู Charles Dunst, “The Longest Failed Regime in the World”, Los Angeles Review of Books, 6 January 2020, https://lareviewofbooks.org/article/the-longest-failed-regime-in-the-world/

สรุป

หากแม้นบุคลาภิวัตน์ของระบอบอำนาจนิยมลงเอยสำเร็จรูปเป็นระบอบเผด็จการส่วนบุคคลเข้าแล้ว

มันก็พลิกกลับแก้ไขยาก ตราบที่ท่านผู้นำยังนั่งครองตำแหน่งคาเก้าอี้อยู่

ก้าวแรกในการทัดทานต่อต้านจึงได้แก่การร้องทักบุคลาภิวัตน์โดยไวเมื่อมันเริ่มก่อตัวขึ้นก่อนจะสายเกินแก้นั่นเอง