ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : “ผีโพง”

ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ผีโพง” ไม่ออกเสียง “ร” กล้ำ

ผีโพง เป็นผีชนิดหนึ่งที่แฝงอยู่กับคน ชอบกินของคาว โดยเฉพาะของคาวที่เป็นเมือกคาวจากตัวกบหรือเขียด ผีโพงจึงออกหากินตามทุ่งนาในยามค่ำคืน

เวลาออกหากินจะมีแสงไฟออกจากจมูกเป็นแสงสีขาวปนเขียววูบวาบสำหรับส่องสว่างหาเหยื่อ

คนที่ถูกผีโพงสิงร่าง จะถูกเรียกว่าเป็น “ผีโพง”

สาเหตุของการเป็นผีโพงมีอยู่หลายกระแส บ้างว่าสืบมาจากตระกูลของบรรพบุรุษ

บ้างว่าเป็นเพราะรับของจากผีโพง

และบ้างก็ว่าเป็นเพราะผลกรรมจากชาติปางก่อน

 

ด้านการออกหากิน ผีโพงจะเที่ยวออกหากินในยามค่ำคืน ค่อนดึกในช่วงข้างแรม

คืนที่ชอบที่สุดคือคืนที่มีฝนตกปรอยๆ ก่อนออกจากบ้านจะจัดหมอนผ้าห่มเอาผ้าคลุมเหมือนมีคนนอนอยู่ เพื่อพรางแทนตน หรือต้องการให้คนอื่นเห็นเป็นตนเองนอนอยู่ในที่นอน

จากนั้นจะสะกดคนในบ้านให้หลับสนิท แล้วไปที่บันได เอาจมูกถูไถตัวบันไดจนเกิดแสงไฟจึงจะออกสู่ท้องทุ่งนา

คนที่เคยเห็นมักเล่าตรงกันว่าแสงของผีโพงจะส่องวูบๆ วาบๆ ไปตามคันนา ดวงไฟจากปลายจมูกผีโพงถ้ามองในระยะห่าง จะมีขนาดเท่าลูกส้มโอสีขาวปนเขียว มีเปลวแตกออกร่วงลงดินเป็นระยะๆ

เมื่อจับกบเขียดได้ก็จะสูบตัวกบเขียดเพื่อดูดกินเมือกคาวจนหมดแล้วทิ้งเป็นตัวๆ ไป

หลังจากเที่ยวหากินจนอิ่มจึงกลับไปบ้านเข้านอนเป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 

ในขณะที่ผีโพงออกหากินอยู่นั้น หากบังเอิญใครไปพบเห็นเข้า โบราณท่านห้ามเข้าไปทัก ให้รีบเลี่ยงหนีไปเสีย เพราะผีโพงอาจทำร้ายเพราะความอับอาย

หรือไม่ผีโพงจะเข้ามาวิงวอนขอร้องอย่านำเรื่องไปบอกใคร และมักให้ทรัพย์เป็นค่าตอบแทน

ซึ่งหากรับเอาแล้วกลับไปถึงบ้านทรัพย์นั้นจะกลายเป็นก้อนหินหรือก้อนดิน

หนำซ้ำถ้าผีโพงนั้นเสียชีวิตลง คนที่พบเจอจะกลายเป็นผีโพงแทนต่อไปอีก

คนที่ถูกผีโพงให้ของหรือคนที่ไม่ชอบ บางคนกลั่นแกล้งโดยแอบกลับบันไดคือกลับด้านบนลงล่าง หลังจากผีโพงลงเรือนไปหากิน เมื่อกลับมาแล้ว เชื่อว่าผีโพงจะขึ้นบ้านไม่ได้

เมื่อผีโพงทราบภายหลังว่าใครเป็นคนทำจะใช้ก้านกล้วยหรือไม้คานพุ่งข้ามหลังคาบ้านคนนั้น ซึ่งจะมีผลทำให้คนที่อาศัยอยู่ในเรือนหลังนั้นเจ็บป่วยและเสียชีวิตในที่สุด

โบราณสั่งสอนไว้ว่า ถ้าไม้คานผุใช้การไม่ได้แล้วให้บั่นทิ้งเสีย หรือเวลาเลาะใบตองออกจากก้านกล้วยแล้ว ให้ตัดก้านกล้วยเป็นท่อนๆ ทิ้งไป อย่าทิ้งทั้งๆ ที่ยาวอยู่

ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้ผีโพงนำเอาไปใช้พุ่งข้ามหลังคาคนนั่นเอง

 

เรื่องของผีโพงแม้จะมีปรากฏเฉพาะถิ่นล้านนาเท่านั้น ภาพรวมอาจเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน

แต่ในส่วนของรายละเอียดนั้นในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันบ้างพอสมควร

เช่น เพศ แสงไฟ พฤติกรรม เป็นต้น

กล่าวคือ โดยทั่วไปนั้น ผีโพงเป็นหญิง บางถิ่นว่าเป็นชาย

แสงไฟของผีโพงบางแห่งว่ามีสีแดงเรื่อ บางแห่งว่าไม่มีแสงไฟ

ส่วนพฤติกรรมโดยทั่วไปว่าผีโพงกินแต่เมือกคาวของกบเขียด แต่บางถิ่นว่า กินทั้งคาวเลือด คาวปลา ของเน่าของเหม็นทุกชนิด และแหล่งหากินไม่จำเป็นต้องเป็นทุ่งนา

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน เรื่องราวของผีโพงเป็นเพียงเรื่องเล่า กาลเวลาทำให้ค่านิยมแปรเปลี่ยน วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปตามยุคสมัย สิ่งใดมีเกิด สิ่งนั้นก็มีดับ เป็นสัจธรรมควบคู่กันตลอดไป

 

ดักผ่อผีโพง

แปลว่า ซุ่มดูผีโพง