20 ปีเหตุการณ์ 9/11 กับเหยื่อบางกลุ่ม…ที่ถูกลืม/บทความต่างประเทศ

เครดิตภาพ AFP

บทความต่างประเทศ

 

20 ปีเหตุการณ์ 9/11

กับเหยื่อบางกลุ่ม…ที่ถูกลืม

 

ล่วงเลยผ่านมา 20 ปีแล้ว สำหรับเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมโจมตีสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001 หรือที่เรียกติดปากกันว่า เหตุการณ์ 9/11

แต่แม้จะผ่านไปนานเท่าไหร่ หากแต่ร่องรอยของความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังคงมีให้เห็นอยู่ตลอด

เอเอฟพีได้รายงานเกี่ยวกับเรื่องของบุคคลที่ถูกลืมจากเหตุการณ์ดังกล่าว และได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเข้าไปทำหน้าที่สำคัญอีกหน้าที่หนึ่ง

นั่นคือ “พนักงานทำความสะอาด”

ลูเซลลี กิล เป็นหนึ่งในเหยื่อของเหตุการณ์ 9/11 ที่ถูกลืม

เธอเป็นผู้อพยพชาวโคลอมเบียที่ทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาด ที่ใช้เวลาหลายเดือนในการจัดการเก็บกวาดซากปรักหักพังของตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในนครนิวยอร์ก ของสหรัฐอเมริกา ที่ถล่มลงมา หลังถูกผู้ก่อการร้ายขับเครื่องบินชนทั้งสองตึก

กิลป่วยเป็นมะเร็ง ซึ่งน่าจะเป็นผลจากฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว ต้องเข้าไปในพื้นที่ที่ตึกถล่ม ตั้งแต่เช้าวันที่ 15 กันยายน 2001 ท่ามกลางฝุ่นผงที่คละคลุ้งไปทั่วบริเวณ

เธอต้องทำหน้าที่ในการเก็บกวาดพื้นที่บริเวณดังกล่าว วันละ 12 ชั่วโมง

และทำอย่างนั้นทุกวัน เป็นเวลายาวนานถึง 6 เดือน

20 ปีผ่านมา กิลในวัย 65 ปี ก็ยังคงเป็นผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารใดๆ รับรอง และยังใช้ชีวิตอยู่กับผลกระทบอันเกิดจากการทำงานเก็บกวาดครั้งนั้น

กิลป่วยเป็นมะเร็งเต้านม เหมือนกับพนักงานที่ทำงานเก็บกวาดอีกหลายคน ต่างป่วยเป็นมะเร็งเต้านมกันจำนวนมาก

แต่กิลก็สามารถรอดชีวิตจากมะเร็งมาได้

แต่ชีวิตก็ยังคงไม่เหมือนเดิม เพราะอาการป่วยซึมเศร้าที่ตามมา

 

เอเอฟพีรายงานด้วยว่า ช่วง 8 เดือนหลังเหตุการณ์ 9/11 ต้องใช้พนักงานทำความสะอาดหลายหมื่นคนเข้าไปทำความสะอาดบริเวณดังกล่าวที่ถูกเรียกว่า “กราวด์ซีโร่” และบริเวณใกล้เคียง และพนักงานทำความสะอาดเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพ

งานที่ต้องทำคือการจัดการกับซากปรักหักพังและขยะน้ำหนักรวมราว 1.8 ล้านตัน ออกจากพื้นที่ โดยได้ค่าจ้างที่ชั่วโมงละ 7.5-10 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำในตอนนั้น

โดยที่คนเหล่านี้ไม่รู้เลยว่า งานที่ทำอยู่นั้น ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อันเนื่องมาจากแร่ใยหิน และสารพิษอื่นๆ ที่เกิดจากการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ จนนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง โรคใยหินและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงโรคหรืออาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบกับสถานการณ์รุนแรง (พีทีเอสดี) ความวิตกกังวลและอาการซึมเศร้า

กิลกล่าวทั้งน้ำตาว่า “ฉันไม่อยากจะจำวันครบรอบกราวด์ซีโร่” และบอกด้วยว่า เธอยังจำได้ดีว่า หลังการทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง บางครั้งเธอก็พบกับชิ้นส่วนของมนุษย์ “ฉันเกือบจะสติแตกตอนนั้น”

ตอนนี้กิลก็เหมือนกับพนักงานทำความสะอาดคนอื่นๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ 9/11 ที่ไม่สามารถทำงานได้อีกแล้ว เนื่องจากอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากการทำงานในครั้งนั้น

และพวกเธอก็ยังมีความฝันว่า จะได้สถานะผู้พำนักที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้ และอยู่โดยไม่ต้องกลัวการถูกขู่ว่าจะถูกเนรเทศออกนอกประเทศ

เมื่อปี 2017 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐนิวยอร์ก จากพรรคเดโมแครต เคยพยายามเสนอกฎหมายเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่เรื่องกลับไม่เคยถูกนำไปถกกันในสภาคองเกรสแต่อย่างใด

 

รูบีลา อาเรียส พนักงานทำความสะอาดอีกคน บอกกับเอเอฟพีว่า “คนทำความสะอาด ผู้ไม่มีเอกสารรับรองใดๆ เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม เพราะพวกเราต้องสูญเสียสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตไป นั่นคือ สุขภาพ”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองทุนชดเชยเหยื่อ 9/11 ของรัฐบาลกลางสหรัฐ ระบุว่า มีพนักงานทำความสะอาด เจ้าหน้าที่กู้ภัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 2,000 คน ที่ต้องเสียชีวิตลงเนื่องจากอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ 9/11

ตัวเลขของโรซา แบรมเบิล เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ เปิดเผยว่า มีพนักงานทำความสะอาดหลายคนที่ไม่มีเอกสารการทำงาน รวมทั้งบางคนที่ต้องล้มป่วยลง ก็ถูกเนรเทศออกนอกประเทศไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

บางคนเมื่อป่วยก็ไม่สามารถทำงานได้ ทำให้ไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายค่าครองชีพขณะอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้

หนทางเดียวคือกลับไปตายที่บ้านเกิด

คนเหล่านี้จึงเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ 9/11 อีกกลุ่มหนึ่ง ที่ยังไร้ซึ่งการช่วยเหลือและการเหลียวแลจากทางการสหรัฐ แม้จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่เข้าไปเคลียร์พื้นที่บริเวณกราวด์ซีโร่ก็ตาม