หน้าที่เพื่อประชาชน ตำรวจอุทิศตนเพื่อใคร/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

หน้าที่เพื่อประชาชน

ตำรวจอุทิศตนเพื่อใคร

 

“เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ กรุณาปรานีต่อประชาชน

อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก

ไม่มักมากในลาภผล มุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

ดำรงตนในยุติธรรม กระทำการด้วยปัญญา

รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต”

 

พระนิพนธ์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฐายี) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 16 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 ฉายภาพตำรวจในอุดมคติได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

แน่นอนตำรวจต้องเคยฝันและมุ่งมั่นทำหน้าที่ “พิทักษ์สันติราษฎร์” จึงไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบากและอันตราย ออกตรวจตราป้องกันเพื่อผู้คนในสังคมจะได้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีอาชญากรรมขึ้นเมื่อใดตำรวจก็สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีเมื่อนั้น

น้ำดีที่ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์คือตำรวจส่วนมาก น้ำเสียคือส่วนน้อยทำให้ภาพลักษณ์เสื่อมทรามตกต่ำไม่เป็นที่รักที่เชื่อมั่นของประชาชน

จริงอยู่ว่า “สนิมย่อมเกิดจากเนื้อในตน” แต่คนเติบโตขึ้นจากภาวะแวดล้อมเป็นเงื่อนไขเร่งเร้า ตำรวจเป็น 1 ในกลไกของรัฐที่ถูกใช้ปฏิบัติภารกิจผิดทิศผิดทาง

 

การเมืองไทยไม่ปกติมาตั้งแต่ผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แตกคอหักโค่นกันเอง และนับตั้งแต่คณะราษฎรสายปรีดี พนมยงค์ พ่ายแพ้ราบคาบจนต้องถอนสมอจากสมรภูมิแห่งอำนาจ ระบอบประชาธิปไตยไทยก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด

89 ปีที่ล่วงผ่านมา เฉลี่ยทุกๆ 6 ปีจะมีทหารออกมาก่อรัฐประหาร!

คณะผู้ก่อการไม่เคยต้องโทษถูกจำคุกหรือประหารชีวิต รัฐประหารสร้างปัญหาให้กับสังคมไทย ทำให้กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย ครูกฎหมายกลายเป็นศรีธนญชัย คนที่คุมกำลัง มีปืนได้รับความเคารพ หัวหน้าฝ่ายบริหารหรือนายกรัฐมนตรีถ้ามียศทหารชั้น “จอมพล” หรือ “พลเอก” นำหน้าชื่อจะเป็นที่เกรงขามมีอิทธิพลครอบงำการเมืองไทย

สภาพแวดล้อมทางการเมืองแบบนี้สร้างนิสัยให้ผู้นำทางการเมืองไทยชอบผู้คนที่เชื่อฟัง ว่านอนสอนง่าย หรือไม่สงสัยไถ่ถาม

ความคิดความเชื่อวิปริตผิดเพี้ยนกันจนนิยามคำว่า “ความสงบ” เป็นการสยบยอม จำนน เพิกเฉย ทั้งยังจำกัดความคำว่า “ความเห็นที่แตกต่าง” เป็นพวกที่ก่อความวุ่นวาย

ไม่ต้องการให้ตรวจสอบ ไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

ภายใต้คำอวดอ้างว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยนี้ หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยกว่า 80 ปี จึงมีแต่รัฐที่เห็นประชาชนเป็นภัยคุกคาม

 

องค์กรตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับกำราบปราบปรามตลอดมา เช่น การจับกุมคุมขังอันน่าสะพรึงในยุคอัศวินทมิฬเผ่า ที่วันดีคืนดีตำรวจเบิกตัวผู้ต้องขังจากแต่ละโรงพักมายัดใส่รถรวมกันแล้วเอาไปยิงทิ้งทั้งคันรถอย่างเหี้ยมโหด (คดีสังหารหมู่ 4 อดีตรัฐมนตรี-ดร.ทองเปลว ชลภูมิ-ทองอินทร์ ภูริพัฒน์-ถวิล อุดล-จำลอง ดาวเรือง เหตุเกิดที่ ก.ม.14-15 ถนนพหลโยธิน บางเขน กรุงเทพฯ เมื่อ 4 มีนาคม 2492)

ระบบยุติธรรมตายสนิท เอาผิดใครไม่ได้!

รัฐที่ฉ้อฉลทุกสมัยเห็นประชาชนเป็นคนนอก ให้ตำรวจปราบปรามคนเห็นต่าง ทำกันตั้งแต่สะกดรอยติดตาม ก่อกวน คุกคาม ข่มขู่ ตั้งข้อกล่าวหา จับกุม คุมขัง

“กฎหมาย” ไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือคลายปมแก้พิพาท บทบัญญัติในกฎหมายถูกตีความและใช้อย่างไม่ซื่อ มากมายนับไม่ถ้วนที่ถึงขั้น “อยุติธรรม” ใช้อย่างบิดเบือน เบี่ยงเบนเพื่อทำลายฝ่ายตรงกันข้าม

“ความสงบเรียบร้อย” และ “ความมั่นคง” ของรัฐบาลได้รับการปกป้องคุ้มครองจากตำรวจมากกว่าการเคารพ “สิทธิเสรีภาพของบุคคล” ตามรัฐธรรมนูญ

 

เป็นความจริงทีเดียวว่า “คนหยิบมือเดียว” ทำให้ระบบตำรวจพัง

ผู้บังคับบัญชา (จำนวนหนึ่ง)ได้รับคำสั่งจาก “ผู้นำทางการเมือง” เขาทุกคนพร้อมจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือแลกกับประโยชน์จากการอวยยศอวยตำแหน่ง ปฏิบัติการของตำรวจทั้งหลายตลอดมาจึงหนักไปในทางกดข่มคุกคามกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล

ห่างไกลจากคำว่า “กรุณาปรานีต่อประชาชน”

ตำรวจมักมีการตั้งข้อหารุนแรงเกินจริง สาดข้อหาให้ผู้ถูกกล่าวหามากมายเกินพฤติการณ์ เน้นการควบคุมตัวเอาไว้ให้นานเกินความจำเป็นจนทำให้ผู้ถูกกล่าวหารับรู้ได้ถึงเจตนากดดัน ข่มเหง รังแก

เมื่ออำนวยความยุติธรรมไม่ได้ ตำรวจก็ต้องเสื่อม จะประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาชวนเชื่ออย่างไรก็ช่วยไม่ได้

ถึง พ.ศ.นี้แล้วก็ยังไม่มีตำรวจที่คิดจะรื้อโครงสร้างปรับระบบสร้างอนาคตให้ตำรวจไทยเป็นองค์กรที่สามารถทำหน้าที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมพร้อมรับมือกับอุปสรรคใหม่ๆ ทำ “หน้าที่หลัก” ป้องกัน ปราบปราม สืบสวน สอบสวน ให้สังคมได้ดำเนินกิจกรรมอันเกื้อกูลแก่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองมากกว่าการเป็น “ตำรวจของนาย” ที่ใช้ภาษีจากประชาชนดำรงชีพ

 

ถึงวันนี้แล้ว สภาพแวดล้อม “เปลี่ยนแปลง” ไปขนานใหญ่

การสื่อสารสาธารณะข้ามพ้นไปจากกรอบ “สื่อมวลชน” แบบเดิมๆ สู่โลกโซเชียลที่ทุกผู้คนสามารถมีบทบาทเป็นสื่อได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็วและทรงพลังโดยไม่ต้องรอสื่อกระแสหลักเป็นฝ่ายกำหนดวาระ

ขณะที่ผู้คนทั่วโลกสัญจรเคลื่อนย้ายง่ายและรวดเร็วราวไร้พรมแดน มีความรู้ดีขึ้น รู้เท่าทันขึ้น รักอิสระมากขึ้น มีสำนึกในศักดิ์ศรีที่เท่าเทียม และมีข้อเรียกร้องมากขึ้นนั้น ทุกคนสามารถจะวิตกกังวลได้ว่าผู้นำโง่จะพากันไปตาย

น่ากลัวที่สุด คือ คนโง่ บ้า และมีอาวุธ!

ให้นึกถึงภาพที่มีคนเมายาใช้มีดจี้คอตัวประกันซึ่งสามารถปลิดชีวิตได้ในพริบตา

กล่าวในทางการเมืองหรือการบริหาร “โง่” ที่ว่าไม่ได้หมายถึงสมองใช้งานไม่ได้ แต่เป็นความหลงผิดจนหลุดโลก สำคัญผิดจนทำผิดๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกู่ไม่กลับ

“บ้าอำนาจ” ห้าว กร้าวเป้ง จนหลงลำพอง

ส่วน “อาวุธ” นั้นอาจหมายความรวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์หรือสิ่งอื่นใดที่สามารถใช้คุกคามฝ่ายตรงข้ามให้หวาดกลัวในอันตราย

ใช่หรือไม่ว่า ถ้าคนบ้า “บงการ” ให้ใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม กลั่นแกล้งจับกุม คุมขังทำให้สูญเสียอิสรภาพ ระบบยุติธรรมจะวิกฤตหนัก

สภาพแวดล้อมทางการเมืองไทยทำให้ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กลายเป็นอาวุธพิฆาตฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมือง

ตำรวจควรตั้งสติทบทวนภารกิจ

“อำนาจรัฐ” เปลี่ยนมือไปตามวาระ แต่ “ระบบยุติธรรม” ต้องตั้งมั่นคงอยู่ ตำรวจเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม ต้องดำรงความมีอิสระ ใช้สัมปชัญญะและปัญญาพัฒนาความเป็น “วิชาชีพ” เพื่อเกื้อกูลประโยชน์แก่มหาชน

ตำรวจไม่ใช่ “กองกำลัง” ผู้รับใช้คณะบุคคล!?!!