ประเทศนี้ไม่มีวันแก้เหลื่อมล้ำได้ เพราะชนชั้นกลางไม่รู้สึกเดือดร้อน! คุยกับ อ.เศรษฐศาสตร์ มธ.

วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กําจร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนมองดูภาพกว้างๆ ว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบอะไรบ้าง พบว่า สำหรับเด็กจบใหม่จะหางานยากขึ้น เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปแบบติดๆ ขัดๆ บางภาคส่วนต้องปิดตัวไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศเราพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการส่งออกมากพอสมควร ฉะนั้น เด็กจบใหม่จะได้รับผลกระทบมาก

ส่วนในภาพใหญ่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศขาดกำลังซื้อ พอเกิดวิกฤต ธุรกิจบางส่วนได้รับผลกระทบ และการผลิตก็กระทบหนัก คนจำนวนมากไม่มีกำลังซื้อ

แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบในทางลบเท่านั้น จะมีบางธุรกิจที่ได้รับผลในทางบวก อาทิ กลุ่มช้อปปิ้งออนไลน์เติบโตมาก การสั่งอาหารฟู้ดเดลิเวอรี่ ผู้คนก็เริ่มโยกย้ายตัวเองเข้าไปอยู่ในภาคส่วนนั้นๆ นั่นแปลว่าคนเราก็ปรับตัวอยู่เสมอ

แต่ในอนาคตถ้าจะให้เกิดความมั่นคงขึ้นจริงๆ “ยุทธศาสตร์หลักของประเทศ” ต้องเปลี่ยน ต้องวางหมากกันใหม่ว่า เราจะเด่นหรือเน้นแค่เรื่องการส่งออกข้าว หรือพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ พอเราไปผูกเศรษฐกิจบ้านเราเอาไว้กับภาคต่างชาติมาก พอได้รับผลกระทบกำลังซื้อต่างๆ ก็กระทบกับบ้านเราเต็มๆ ทำให้คนของเราได้รับผลกระทบจำนวนมาก

ยกตัวอย่างการปรับตัวที่สำคัญ ในประเทศจีนมีการวิเคราะห์กันว่า ที่เขาเติบโตได้เพราะว่ากำลังซื้อของชนชั้นกลางในประเทศจีนมีสูงขึ้น เนื่องจากในช่วง 20 ปีให้หลังที่ผ่านมาเขามีการพัฒนามากขึ้น คนมีกำลังซื้อมากขึ้น

แปลว่าเขาสามารถพึ่งพากำลังซื้อคนในประเทศได้เพื่อที่จะบูสต์ธุรกิจของเขายังคงให้ดำเนินต่อไปได้

 

มองกลับมาที่ประเทศเรา อาจารย์วีระวัฒน์บอกว่า คิดว่าชนชั้นกลางล่างในบ้านเราค่อนข้างมีจำนวนมาก ส่วนตัวผมคิดเองว่า คนที่อยู่เหนือเส้นความยากจนขึ้นไป มีอยู่มากมายมหาศาล คนที่ได้เงินเดือนประมาณ 8-9 พันบาท หรือ 10,000 บาท มีอยู่มากมาย คนเหล่านี้เขาได้รับผลกระทบแน่นอน และที่สำคัญ คนกลุ่มนี้น่าจะขยายตัวขึ้นด้วยซ้ำ เลยต้องย้อนไปสู่เรื่องที่ผมมองว่ากำลังซื้อเป็นเรื่องสำคัญ

เพราะถ้าสมมุติว่าเราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยกำลังซื้อของคนในประเทศ เศรษฐกิจมันก็จะไม่มั่นคง พอเกิดวิกฤตอะไรบางอย่างขึ้น คนก็จะไม่มีเงินออกไปจับจ่ายใช้สอย ธุรกิจก็จะอยู่ไม่ได้

อย่างที่เราเห็นว่าโรงแรม ร้านอาหารจำนวนมากเงียบเหงาไปมากตั้งแต่ระบาดรอบแรกด้วยซ้ำ

ดังนั้น สิ่งที่จะกระทบโดยตรงคือเรื่องกำลังซื้อของคน เมื่อคนไม่มีเงินออกไปจับจ่ายใช้สอย มันก็จะลากให้กลุ่มบางกลุ่ม ก็คือเจ้าของกิจการ เป็นคนชั้นกลางระดับบนได้รับผลกระทบไปด้วย

อีกปัญหาใหญ่ที่สำคัญในประเทศเรา ในสายตาอาจารย์วีระวัฒน์ว่า คือช่องว่างระหว่าง “ความเหลื่อมล้ำ” ที่มันหนักหนาน่ากังวลมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน แต่ถ้าเราไปย้อนดูสถิติทางการของสภาพัฒน์ จากการสำรวจที่เขาเก็บข้อมูลเฉพาะบางกลุ่มบางตัวแทน ทำให้ภาพที่เรามองภาพปัญหาไม่ค่อยเห็น ว่าประเทศเรามันกำลังเกิดปัญหาอะไรขึ้น สถิติที่เราเห็นจากข้อมูลที่นำเสนอกลายเป็นว่าเรื่องเส้นความยากจนมันพัฒนาขึ้น ตรงนี้ก็เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า จริงๆ ถ้าเราไปดูรายงานของเครดิตสวิส ดูฟอร์บส์ ที่รายงานออกมาว่ามหาเศรษฐี 0.01% ของประเทศนี้มีความร่ำรวยเพิ่มขึ้นทุกปีๆ

รายงานที่ระบุว่าประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำสูงในแง่ของรายได้และทรัพย์สิน ตามข้อมูลสำรวจแล้วจะพบว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 50 ของคนที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38 ล้านคนโดยประมาณ เกินกว่าครึ่งหนึ่ง มีเงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 9,000 ถึง 10,000 บาท แต่ว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมดสูงขึ้นไปถึง 12,000-15,000 บาท

มันสะท้อนว่าคนที่ได้ค่าจ้างสูงไปมากๆ ได้เงินเดือนหลายแสนหรือเป็นล้านก็มีอยู่มาก จึงดึงค่าเฉลี่ยมากกว่าคนจำนวนมาก

ความแตกต่างตรงนี้เมื่อเทียบกับต่างประเทศ แถบสแกนดิเนเวียน ที่เป็นประเทศที่เป็นอุดมคติ เขามีรายได้ก่อนหักภาษีความเหลื่อมล้ำของประเทศเขาน้อยกว่า

เช่น คนทำงานเก็บขยะกวาดถนนในประเทศเขา เทียบกับหมอ (ที่หลายคนมองว่าเป็นอาชีพที่มีฐานะทางสังคม)

ความแตกต่างจุดนี้บ้านเรากับเขาต่างกันมาก เขามีช่องว่างก่อนหักภาษีที่ต่ำ แล้วพอหักภาษีไปแล้วก็ยิ่งแคบลงไปอีก แสดงให้เห็นว่าสภาพการใช้ชีวิตของคนฐานรากกับหมอ ไม่มากเท่ากับความแตกต่างกันในบ้านเรา

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ข้อกล่าวหาทางการเมือง นี่เป็นความจริง

อย่างไรก็ตาม อาจารย์วีระวัฒน์คิดว่า ความน่ากังวลตรงนี้เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้มองว่าเป็นความกังวลที่เร่งด่วน และคนทั่วไปอาจจะไม่ได้ตระหนักว่านี่คือความน่ากังวลในอนาคต เพราะความเหลื่อมล้ำมันกัดกินไปอย่างเงียบๆ เป็นเรื่องที่คนไทยอาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นต้องเร่งแก้ไขเหมือนเรื่องโรคระบาด หรือปัญหาเฉพาะหน้าอื่นๆ

แต่ปัญหานี้มันซ่อนอยู่ข้างใน และมันส่งผลค่อนข้างเยอะมากพอสมควรกับหลายๆ สิ่ง อย่างที่เราเห็นได้ชัดเจนที่สุดเลยจากวิกฤตนี้ คือกำลังซื้อ

แต่ในระยะยาวคิดว่า สภาพเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำกันสูงมากมันก็จะตามมาด้วย ความเปราะบาง และปัญหาอื่นๆ ตามมา โดยจะเห็นว่าบ้านเมืองที่มีอาชญากรรมสูง เช่น แถบแอฟริกาใต้ หรือในบราซิล มีปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นมาก

ขณะเดียวกันบ้านเมืองเราก็ประสบปัญหาด้านความร่วมไม้ร่วมมือกันในสังคม

วันนี้ก็เห็นอยู่ว่ามีการแบ่งข้างกันชัดเจน โดยที่หลายครั้งที่เราเห็นว่าการกระทบกระทั่งกัน ต้นเหตุสำคัญมันมีมาจากความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ ที่ทำให้คนเรามีจุดยืนที่ต่างกันและโต้เถียงกันโดยที่ใช้เหตุผลน้อยลง

ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันกัดกินสังคมไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ได้ตระหนัก อันนี้เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก

เมื่อถามว่ามันจะถึงจุดแตกหักหรือไม่

อาจารย์วีระวัฒน์วิเคราะห์ว่าในมุมมองส่วนตัว หากมองจากประสบการณ์ในอดีตของหลายๆ ประเทศ ก็แสดงให้เห็นว่ามันมีจุดแตกหักกันอยู่เมื่อไปถึงจุดหนึ่ง ซึ่งคนจำนวนมากจะไม่ทน

แต่สำหรับประเทศไทย คิดว่ามันเป็นกรณีเฉพาะมากๆ ที่จุดแตกหักนี้ยากจะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีความเป็นไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการลงไปประท้วงลงถนนหรือว่าเกิดการเสียเลือดเสียเนื้อ แต่จุดที่ว่านี้มันเป็นความรู้สึกของคนที่รู้สึกว่าเราจะอยู่แบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว

ที่กล่าวว่ามันน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะเชื่อว่าชนชั้นกลางระดับบนจำนวนมากไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองนี้

ถามว่าเพราะอะไร ก็เพราะชนชั้นกลางเหล่านั้นอาจจะรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ

อีกประการสำคัญคือคนเหล่านี้มักไม่ได้รับผลกระทบ จากทางเศรษฐกิจเมื่อวิกฤตมาถึง พูดง่ายๆ ว่า ถ้าสมมุติว่าเขาทำงานได้เงินเดือนเดือนละ 1 แสนขึ้นไปแล้ววันนี้ยังมีงานทำอยู่ปกติ เขาก็ไม่ได้รู้สึกถึงผลกระทบถึงปัญหาโควิดนี้ด้วยซ้ำ

พอต้องการจะรักษาเขาสามารถเข้าถึงระบบของโรงพยาบาลเอกชนได้ง่ายดาย พอมีปัญหาอะไรก็จะมีเส้นมีสายที่จะสามารถพาเขาไปถึงจุดที่เขาสามารถอยู่สบายได้

เพราะฉะนั้น เขาไม่ได้รับผลกระทบจากตรงนี้ มันก็เหมือนทำให้เราอยู่กันคนละโลกกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไลฟ์สไตล์ต่างกันมาก

พอสังคมต่างกันมากแล้ว ชนชั้นกลางบนก็พยายามแยกตัวเองออกจากการเมือง ซึ่งนี่ก็คือการเมืองอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง

ผมจึงคิดว่าจุดแตกหักมันจะเกิดขึ้นยากด้วยเงื่อนไขนี้ แล้วการที่บ้านเมืองมีสภาพแบบนี้ ที่ไม่ได้วางหลักการถกเถียงกันอยู่บนเหตุผลก็ยิ่งยากกันไปใหญ่

ในทางเศรษฐศาสตร์ เคยมีคำพูดหนึ่งที่คลาสสิคมากกล่าวไว้นานแล้วว่า “ความยากจน” มันเป็นสิ่งที่ทำให้คนต้องดิ้นรน และความยากจนจะกลายเป็นเครื่องมือในการบีบบังคับ ทำให้คนยังต้องอยู่ในระบบเศรษฐกิจนี้และยังคงต้องเล่นไปตามเกมของผู้กำหนด

ซึ่งก็แปลว่า ถ้าสมมุติมีกลุ่มคนจำนวนมากกว่า 20 ล้านคนในประเทศนี้ยังอยู่ภายใต้เส้นความยากจนและยังต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งกำลังซื้อและให้ได้มาซึ่งการอยู่รอดชีวิต ก็ยังจะจำเป็นจะต้องทำงานอยู่ในระบบเศรษฐกิจนี้

อันนี้จะเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้คนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบไปโดยที่ไม่กล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างจริงๆ

ซึ่งก็แปลว่า ผู้กำหนดก็ยังอยู่ได้ ถ้ายังมีคนจำนวนมากพร้อมที่จะทำงานให้เขาอยู่

สรุปโดยภาพรวมแล้ว มันจึงยากที่จะพังลงมาทั้งระบบเศรษฐกิจ เพราะกลุ่มคนข้างล่าง ก็อาจจะรู้สึกว่าต้นทุนในการที่จะเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างมันยาก มันต้องอาศัยความร่วมร่วมมือของคนจำนวนมาก แค่ลำพังการหากินในทุกวันก็ใช้เวลาชีวิตมากพออยู่แล้ว

ดังนั้น การจะต้องมีการร่วมไม้ร่วมมือ มีต้นทุนที่สูงซึ่งคนทั่วไปต้องใช้ แล้วมันก็ไม่ใช่ความผิดของเขาที่เขาไม่ได้ใส่ใจจุดนี้

เพราะแค่ให้เขามีชีวิตรอดได้ในแต่ละวัน ก็เป็นโจทย์ที่ยากมากแล้ว

ชมคลิป