ปฏิรูปการศึกษาต้องลดอำนาจ กระทรวง เพิ่มอำนาจชุมชน/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

ปฏิรูปการศึกษาต้องลดอำนาจ

กระทรวง เพิ่มอำนาจชุมชน

 

สัปดาห์ก่อน ได้เขียนถึงการถกแถลงว่าด้วยข้อเสนอให้หยุดการเรียนการสอนของโรงเรียน 1 ปีเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากอุปสรรคหลายประการของการเรียนการสอนออนไลน์ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19

ที่น่ายินดีคือเมื่อเกิดวิกฤตและมีข้อเสนอแบบโยนระเบิดกลางวงขึ้นมาก็เกิดการแลกเปลี่ยนกันอย่างคึกคักในเวทีต่างๆ ว่าด้วยการใช้วิกฤตครั้งนี้เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังได้หรือไม่

ในรายการ “ตอบโจทย์” ทาง ThaiPBS เมื่อเร็วๆ นี้ผมมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อนี้อย่างคึกคักกับผู้รู้ในวงการศึกษา

ผมได้ร่วมสนทนาในหัวข้อ “โควิดป่วนการศึกษาไทย ‘หยุดเรียน-เลิกสอบ?’” กับ “กูรูด้านการศึกษา” 3 ท่านคือ

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี

ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

ดร.อัมพร พินะสา

เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี

คุณหมอสุริยเดวไม่เห็นด้วยกับการหยุดเรียน 1 ปีโดยไม่มีอะไรมารองรับ

“ถ้าเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่ากระทรวง (ศึกษาฯ) กำลังประกาศยกธงขาว ยอมแพ้ ยอมรับว่าระบบนี้ล้มเหลว ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่อย่างนั้นแน่นอน…”

ภาพใหญ่ที่ควรมองไม่ใช่เฉพาะเด็ก แต่ต้องมองสังคมทั้งหมดด้วย

“พ่อ-แม่ ผู้ปกครองก็มีความเครียดอย่างหนัก ศูนย์คุณธรรมได้ทำสำรวจระดับความเครียดสะสม อาชีพที่มีความเครียดสะสมมากที่สุดตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมากลับกลายเป็นนักเรียนนักศึกษา…ที่ตีคู่กันขึ้นมาก็คือพนักงานบริษัทที่ถูกให้ออกจากงาน…”

คุณหมอบอกว่ามองระบบการศึกษาต้องมองทั้งที่ตัวเด็กและระบบด้วย

หมอสุริยเดวเสนอว่าถ้าออกแบบดีๆ จะสามารถทำให้โรงเรียนเป็น “School of Home Schools”

นั่นคือ “ศูนย์เรียนรู้ของ Home School”

นั่นหมายถึงการลุกขึ้นมาเองเพื่อสร้างระบบเป็นศูนย์ของ Home Schools

ทำให้เกิดอาสาสมัครด้านการศึกษา จะได้รู้ว่าครอบครัวไหนพร้อมหรือไม่พร้อมสำหรับระบบ onsite, on-hand, on-air โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่มีปัญหามาก

ต้องย้ำว่าการเรียนออนไลน์ในยุคสมัยนี้มีความจำเป็น

“ผมไปร่วมประชุม World Education Forum ที่เมืองต้าเหลียน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนประกาศเลยว่าเขาจะทำระบบ MOOCs ไม่ใช่แค่ระดับมหาวิทยาลัย แต่จะไหลลงมาถึงระดับโรงเรียนมัธยมเลย…”

เพราะหลังโควิดแล้ว ระบบการเรียนออนไลน์เกิดขึ้นแน่นอน

“คำถามก็คือระบบการศึกษาจะต้องออกแบบอย่างไร เช่น เพื่อไม่ให้ผิดหลักจิตวิทยาพัฒนาการด้วย เด็กไม่มีความเครียดสะสมด้วย จะต้องยกเลิกระบบแพ้คัดออก และระบบตัดเกรด…”

เพราะระบบแพ้คัดออกและตัดเกรดนั้นเป็นการตอกย้ำความเห็นแก่ตัวของสังคม

ดังนั้น โรงเรียนต้องกลายเป็นองค์กรเรียนรู้ของชุมชน (Community Learning Organization) ที่แม้แต่เสาร์-อาทิตย์ พ่อ-แม่ก็สามารถมาเรียนทักษะใหม่ในลักษณะ Upskill, Reskill ตัวเอง

โดยใช้รั้วโรงเรียนเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ มีปราชญ์ชาวบ้านและผู้ช่วยครูต่างๆ มีร่วมกันรังสรรค์ ใช้กติกาสาธารณสุขเหมือนกันเพื่อรักษาระยะห่าง

นั่นหมายถึงการผสมผสานระหว่างดิจิตอลกับออนไซต์และเปิดทางให้ผู้ใหญ่มาเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ของตนเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับตัวในภาวะที่ตลาดแรงงานเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ

“ถ้าทำได้อย่างนี้ พ่อ-แม่ ผู้ปกครองที่ตกงานกันเป็นจำนวนมากก็จะมีที่ยืนทันที…”

นั่นย่อมหมายความว่าระดับการศึกษาของเราก็จะถูกยกสูงขึ้น

รัฐบาลสามารถประกาศได้ว่าต่อไปนี้ “โรงเรียนคือชุมชนแห่งการเรียนรู้”

และคุณครูและโรงเรียนต้องเปลี่ยนบทบาทจากการสอนเป็น coach

ผมเสริมว่าสิ่งที่คุยกันในวงสนทนาวันนั้นคือสิ่งที่คนไทยเรารอมายาวนานแล้ว

นั่นคือการปฏิรูปการศึกษาที่จริงจัง ที่ไม่ได้อยู่บนกระดาษหรือเพียงเขียนไว้ในวาระการประชุม

ตั้งคณะกรรมการมากี่ร้อยกี่พันชุดในหัวข้อนี้แล้วก็ยังทำไม่ได้อย่างเป็นรูปธรรมเสียที

แต่โควิด-19 นี่แหละที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าทางรัฐบาล, ระบบราชการหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดจะชอบหรือไม่ชอบ จะทำหรือไม่ทำก็ตาม

ผมเสนอว่าโควิดทำให้ “น้ำลดตอผุด” เพราะมันบังคับให้เราวิเคราะห์ว่าจุดอ่อนของเรามากมายนั้น พอเจอกับภัยคุกคามอันหนักหน่วงก็ไม่สามารถจะตั้งรับได้

เพราะ “ภูมิคุ้มกันทางสังคม” โดยเฉพาะคุณภาพด้านการศึกษาของเรานั้นไม่มีมากพอที่จะต่อสู้กับการโจมตีของโรคร้ายที่กระหน่ำซ้ำเติมปัญหาดั้งเดิมที่ดำรงอยู่ยาวนานโดยไม่ได้รับการแก้ไข

โควิดกำลังบอกเราว่า “คุณไม่ปฏิรูป คุณไม่เปลี่ยนแปลง คุณก็ไม่รอด…”

 

ดร.อัมพรจากกระทรวงศึกษาฯ บอกว่าโรงเรียนต้องกลายเป็นจุดส่งเสริมนวัตกรรม

“เราทดลองที่เชียงราย ให้คุณครูของชุมชนมารวมตัวกัน ไม่ใช่โรงเรียนเป็นฐาน แต่ให้หมู่บ้านเป็นฐาน…”

ดร.สมพงษ์บอกว่าการทำ sandbox เป็นเรื่องดีแต่ไม่จีรังยั่งยืน

นอกเหนือจาก 29 จังหวัดที่เป็นสีแดง ควรจะทำในจังหวัดอื่นด้วย และให้ท้องถิ่นเป็นคนออกแบบ ให้เขาประชุมปรึกษาหารือกันในจังหวัดว่าควรจะเดินไปทางไหน

“โรงเรียนขนาดเล็กก็ไม่จำเป็นต้องยุบ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กกลายเป็นจุดแข็ง เด็กน้อย พื้นที่เปิด มีชุมชนเป็นฐาน เป็นหน่วยที่มีชีวิตและมีรั้วที่เข้มเข็ง เปิดโลกของการเรียนรู้ให้กว้าง เด็กก็จะได้ประโยชน์เต็มที่…”

นั่นแปลว่าจะต้องมีการ “ปลดล็อก, เปลี่ยน mindset และเริ่มขับเคลื่อน…”

ดร.สมพงษ์อยู่ในวงการศึกษามานาน ปัญหาที่เกิดคือมีการตั้งคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่า แต่ไม่มีผลงานอะไรชัดเจน และลงมือทำเลย

“เริ่มการลงมือทำจริง…และลงไปทำข้างล่างที่ชุมชนเลย”

 

วงสนทนาวันนั้นเห็นพ้องกันครับว่าจะต้องปรับเปลี่ยนกันครั้งใหญ่ด้วยการทำจริง

การตั้งคณะกรรมการบ่อยครั้งเป็นเพียงการซื้อเวลาเพื่อไม่ให้ต้องปรับต้องเปลี่ยน

การที่ยังมีกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ ยังเป็นการหวงอำนาจของผู้บริหารที่ระบบราชการ

คำว่า “กระจายอำนาจ” เป็นเพียงนโยบายบนกระดาษและในรายงานของคณะกรรมการต่างๆ

แต่ไม่เคยถูกนำไปใช้ในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง

เพราะหากมีการออกแบบใหม่และรื้อระบบเดิมจะมีผู้เสียผลประโยชน์จากระบบเดิมจำนวนมาก

เป็นที่มาของการที่เรายังไม่เห็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง

ผมจึงเสนอว่าหากไม่หยุดการเรียนการสอน 1 ปีเพื่อแก้ไขปัญหาของการเรียนออนไลน์ตามที่มีการร้องเรียนกัน อย่างน้อยผมก็คิดว่า

รัฐบาลควรจะประกาศเวลา 1 ปีจากนี้ที่จะว่างเว้นการกำกับสั่งการลงไปที่โรงเรียนทั่วประเทศเพื่อให้แต่ละชุมชนทดลองกับระบบที่เหมาะสมกับตนเอง

เมื่อได้เรียนรู้จากการทดลองจริง ลองผิดลองถูก ร่วมกันเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของชุมชนทั้งหลาย

และมุ่งสร้างความสามารถของครู, นักเรียนและผู้ปกครองในการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่โควิดสะท้อนให้เห็นชัดเจนแล้ว

จึงมาช่วยกันร่างแผนปฏิรูปการศึกษาที่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ก็จะเป็น 1 ปีที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างจริงจัง

ผมรู้ว่ารัฐบาลไม่เอาด้วยแน่ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรที่ฉีกแนวเดิม โควิด-19 ก็จะสามารถประกาศชัยชนะต่อระบบการศึกษาเราได้อย่างเบ็ดเสร็จเช่นกัน