คุยกับผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มเส้นด้าย’ ‘โควิด’ กระชากหน้ากากความเหลื่อมล้ำ สังคมไทยต้องการ ‘ภาวะผู้นำ’/เปลี่ยนผ่าน

เปลี่ยนผ่าน / เบญจพร ศรีดี

 

คุยกับผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มเส้นด้าย’

‘โควิด’ กระชากหน้ากากความเหลื่อมล้ำ

สังคมไทยต้องการ ‘ภาวะผู้นำ’

 

“มีคนบอกว่าผมโง่ ที่มีแค่จอบแล้วคิดจะมาขุดภูเขาโควิด แต่ผมก็จะทำ เพราะผมมีเพื่อนและประชาชนที่คอยสนับสนุน”

“คริส โปตระนันทน์” ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “เส้นด้าย” เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการก่อตั้งกลุ่มจิตอาสาเพื่อสังคม ซึ่งกลายเป็นที่พึ่งพาของประชาชนในยามบ้านเมืองเกิดวิกฤตโรคระบาด

คริสเล่าว่าจุดเริ่มต้นจริงๆ ของการก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย เกิดขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของน้องชายคนหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม นั่นคือ “กุลเชษฐ์ วัฒนผล” หรือ “อัพ” ผู้บุกเบิกวงการอีสปอร์ตของไทย ที่ติดเชื้อโควิด-19 และมีอุปสรรคในการหารถพยาบาล หาจุดตรวจเชื้อ และการเข้ากระบวนการรักษา กระทั่งต้องหมดลมหายใจ

ด้วยเหตุนี้ พี่ชายของอัพและเพื่อนๆ อีก 3-4 คน ซึ่งเป็นทั้งนักกฎหมาย อดีตเจ้าหน้าที่กู้ภัย และแพทย์ จึงหารือกันและได้ข้อสรุปว่า ปัญหาเหล่านี้ ณ วันนั้น มันสามารถแก้ไขได้

ก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจก่อตั้งกลุ่ม “เส้นด้าย” ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างผู้ป่วยกับโรงพยาบาลและจุดตรวจ

ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว กลุ่มเส้นด้ายได้ขยายเครือข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง โดยมีเหล่าอาสาสมัคร มาทำหน้าที่เป็นพนักงานออฟฟิศ คอยรับโทรศัพท์และประสานงาน

ต่อมา ผู้ก่อตั้งได้พบปัญหาเรื่องเวลาการทำงานของกลุ่มอาสาสมัคร ที่จะมีเวลาว่างไม่ตรงกัน จึงปรับรูปแบบเป็นการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่อาสาสมัคร เพื่อพวกเขาจะได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง

แต่ละวันจะมีโทรศัพท์โทร.เข้ามาที่กลุ่มเส้นด้ายเฉลี่ยวันละประมาณ 2,000 สาย เพื่อลงทะเบียนขอความช่วยเหลือในด้านต่างๆ บางสายก็โทร.เข้ามาปรึกษา แต่ก็มีหลายสายที่โทร.มาร้องไห้ระบายปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ในขณะนี้

สำหรับเงินทุนที่ใช้ในช่วงจัดตั้งกลุ่ม แรกสุดผู้ร่วมก่อตั้งได้ลงขันกันเอง แต่ตอนหลังพวกเขาได้เปลี่ยนกลยุทธ์เป็นการหารายได้ด้วยการขายสินค้า ผ่านการจัดตั้ง “ร้านเส้นด้าย” ขึ้นมา

ผนวกกับเงินสนับสนุนจากประชาชน และเงินค่าใช้จ่ายจากผู้ใช้บริการรถของเส้นด้าย ในการรับส่งคนป่วยที่มีความเสี่ยงไปตรวจหาเชื้อ หรือนำส่งคนป่วยไปรักษาตัวยังสถานพยาบาลต่างๆ

โดยเงินรายได้ทั้งหมดจะถูกนำมาใช้บริหารจัดการภายในออฟฟิศ และจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยชีวิตผู้คนต่อไป

 

คริสย้ำว่ากลุ่มเส้นด้ายไม่ใช่ “หน่วยฉุกเฉินของภาครัฐ” แต่เป็นเพียงกลุ่มจิตอาสาที่จัดตั้งกันขึ้นมาเอง และมีทรัพยากร-กำลังจำนวนจำกัด ที่ผ่านมา ทางกลุ่มพยายามช่วยเหลือประชาชนทุกคนที่ติดต่อเข้ามา แม้ในสถานการณ์จริงต้องยอมรับว่าหลายๆ ครั้งจำเป็นต้องเลือกว่าจะช่วยเหลือใครก่อนเป็นลำดับแรก

“ถ้าถามว่าปรัชญาตรงนี้คืออะไร เราก็เลือกช่วยคนที่เราช่วยได้ เลือกคนที่อยู่ในความสามารถของเรา และต้องเรียนตามตรงว่าหากมีเคสไหนที่เราไม่สามารถทำได้ เราจะพยายามประสานงานอย่างเต็มที่ ไปหาคนที่เขาช่วยท่านได้

“ในทุกๆ วันทีมงานของเราเจอกับภาวะความเครียด จากภาพจริงที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้ ยกตัวอย่าง กรณีช่วยเหลือคุณลุงท่านหนึ่ง ที่เดินทางจากต่างจังหวัดมาเช่าห้องอยู่คนเดียว เพื่อขับรถแท็กซี่รับจ้าง เมื่อรู้ตัวว่าติดเชื้อโควิด-19 คุณลุงก็พยายามหาทางรักษาแต่ไม่มีเตียง

“ทุกๆ วัน เจ้าของห้องเช่าจะนำข้าวไปวางไว้ให้หน้าห้อง จนกระทั่งวันหนึ่งคุณลุงไม่ออกมาเอาข้าว เมื่อเส้นด้ายได้รับการประสานงานก็เลยส่งทีมเข้าไปดู ภาพที่เห็นทำให้ทีมงานหดหู่ใจอย่างมาก เพราะคุณลุงนอนจมกองอุจจาระปัสสาวะ ไม่มีแรงจะลุกไปเข้าห้องน้ำ

“เส้นด้ายจึงนำคุณลุงมาอาบน้ำ ให้ดื่มน้ำ และประสานศูนย์เอราวัณมารับตัวไป (ล่าสุด คุณลุงคนขับแท็กซี่รายดังกล่าวได้เสียชีวิตลงแล้ว)

“การประสานงานไปยังหน่วยต่างๆ บางครั้งก็ได้รับคำตอบมาว่า คริสมันเต็มแล้ว ไปต่อไม่ได้แล้ว มันไม่มีเตียงแม้แต่ที่เดียวแล้ว ผมเข้าใจว่าทุกท่านพยายามแก้ไขปัญหาเต็มที่ แต่ตอนนี้ความจุมันเต็มจริงๆ”

 

สำหรับคริส การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ได้กระชากหน้ากากความเหลื่อมล้ำที่ซุกซ่อนอยู่ในสังคม ให้เผยโฉมออกมาอย่างเด่นชัดว่า จริงๆ แล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีตึกสูงๆ ตึกสวยๆ นั้น ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ยากจน อยู่กันอย่างแออัด และยากลำบาก

แน่นอนว่าสายสัมพันธ์ส่วนตัวของคนมี “เส้นสาย” กลายเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะช่วยให้คุณอยู่รอดได้ในสังคมแบบนี้ ทางกลุ่มจึงนิยามตัวเองว่า “เส้นด้าย” อันหมายถึง “เส้นของคนไม่มีเส้น”

แต่ท้ายที่สุด ก็ไม่ทราบว่า “เส้นด้ายเส้นนี้” จะเดินต่อไปอย่างไร ในวิกฤตที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

“เคยมีคนบอกว่าผมโง่ ที่มีแค่จอบแล้วคิดจะมาขุดภูเขาโควิด แต่ผมก็จะทำเพราะผมมีเพื่อนและประชาชนที่คอยสนับสนุนอยู่ข้างหลัง เราไม่สามารถทำคนเดียวได้ ถ้าทุกคนมาช่วยกัน เราอาจจะยกภูเขานี้ หรือระเบิดมันทิ้งไปเลยก็ได้”

หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มเส้นด้ายย้ำเตือนทีมงานทุกคน ที่ต้องออกไปทำงานท่ามกลางความเสี่ยงเสมอว่า สิ่งที่พวกเราทำทั้งหมด เราไม่ได้ทำเพื่อคนอื่นเท่านั้น แต่เราทำเพื่อตัวเราเองด้วย เพราะทุกครั้งที่เราออกไปช่วยเหลือคน เราจะช่วยลดการติดเชื้อในระบบสาธารณสุขลงได้

เท่ากับเป็นการลดโอกาสที่ตัวเรา ครอบครัวเรา และลูกหลานเรา จะติดเชื้อโควิดไปโดยปริยาย

“ที่ผ่านมาก็มีเหนื่อย มีความเครียด และนั่งคิดทบทวนตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ มันไม่รู้ว่าเราทำแล้วจะจบเมื่อไร เหมือนเราไล่เก็บเศษเม็ดทรายบนทะเลอันอ้างว้าง

“แต่มาคิดอีกที มันก็มีความสุข อย่างน้อยเส้นด้ายได้ทำอะไรเพื่อสังคม มันยังรู้สึกว่าเรายังมีความหวัง คนธรรมดาก็สามารถลุกขึ้นมาทำได้ และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน”

ในฐานะตัวแทนของกลุ่มเส้นด้าย คริสจึงขอเชิญชวนทุกคนให้เข้ามาร่วมกันคนละไม้คนละมือ ในการช่วยยกภูเขาโควิดลูกนี้ออกไป

หรือใครที่มีกำลังอยากจัดตั้งกลุ่มเส้นด้ายในพื้นที่ต่างจังหวัด ก็สามารถประสานเข้ามาได้เลย ทีมเส้นด้าย กทม. พร้อมสนับสนุนความรู้ในทุกด้าน รวมถึงจัดวางระบบให้ด้วย

 

นอกจากภาพความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มคนอาสาที่ออกมาช่วยสังคมยามวิกฤต คริสได้พบ “ด้านมืด” ระหว่างการทำงานในตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยท่ามกลางความยากลำบากเช่นนี้ ก็ยังมีกลุ่มคนที่จ้องแสวงหาผลประโยชน์จากความเป็นความตายของผู้ป่วย

เช่น การได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่าไปตรวจเชื้อโควิด-19 แต่ไม่ได้รับเอกสารผลการตรวจ เพราะโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งอยากจะเก็บคนป่วยไว้รักษาเอง ทั้งๆ ที่เตียงเต็ม

“โรงพยาบาลสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาจาก สปสช. เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยที่ต่อคิวในห้องรักษาก็เหมือนถูกให้ต่อคิวอยู่ แล้วพอตัวเองรักษาไม่ได้ หรือว่าเตียงมันเต็ม ตัวเองก็ไม่อยากโยนถุงเงินอันนี้ไปที่คนอื่น ก็เลยอยากจะเก็บไว้เอง

“หลายครั้งมีเคสร้องเรียนมาทางเส้นด้ายว่าผู้ป่วยติดโควิด-19 เสียชีวิตแล้ว เพราะว่ารอเอกสารผลตรวจ หาเตียงไม่ได้ นี่คือความบ้าคลั่งของความโลภ แล้วผลเสียมันตกที่ประชาชน ให้เขารอความตายบนผลประโยชน์เหรอ? ใครที่เจอเรื่องแบบนี้ติดต่อเข้ามา เส้นด้ายจะเป็นนักกฎหมายให้เอง”

สุดท้ายนี้ คริสได้ฝากข้อความไปถึงท่านผู้นำที่กำลังทำหน้าที่บริหารประเทศอยู่ว่า ขอร้องให้ผู้มีอำนาจช่วยลงมาดูว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะหากรอแต่รายงานการประชุมโดยไม่เห็นภาพจริง ข้อมูลที่ได้ก็อาจคลาดเคลื่อนไปไกล

“หากท่านทำได้ ประชาชนคงจะสรรเสริญและแซ่ซ้องท่านอย่างแน่นอน เพราะท่ามกลางวิกฤต ประเทศของเราต้องการภาวะผู้นำ” ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้ายทิ้งท้าย