วิรัตน์ แสงทองคำ : เซ็นทรัล… ‘ขาใหญ่’ ขยับ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ / https://viratts.com/

 

 

เซ็นทรัล… ‘ขาใหญ่’ ขยับ

 

ความเคลื่อนไหวอย่างมียุทธศาสตร์ มีแผนการ ในหลายกรณีมักมีขึ้นท่ามกลางวิกฤต

ในวิกฤตการณ์ COVID-19 ดูจะยาวนานพอสมควร ในฐานะผู้นำ ผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งปัจเจก คงต้องทำงานหนักกว่าช่วงใดๆ ไม่เพียงเผชิญปัญหาเฉพาะหน้า หากควรมองไปในอนาคตข้างหน้าด้วย

อย่างกว้างๆ มี 3 ทาง อาจจะทำไปพร้อมๆ กัน

หนึ่ง-ปรับตัว ปรับแผน แก้ปัญหาเฉพาะหน้า

สอง ในวิกฤตย่อมมีโอกาสใหม่ๆ

และสาม-ปรับแผน เตรียมรับ กับช่วงเวลาผ่านพ้นวิกฤต

อันที่จริงเรื่องราว กรณีมีสีสัน และตื่นเต้นหลายๆ เรื่อง มีนัยยะ “ลักษณะร่วม” เป็นการทั่วไป และอาจสะท้อนปรากฏการณ์ใหม่ๆ ด้วย

กรณีกลุ่มเซ็นทรัล ผู้นำเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทยรายหนึ่ง ก็อาจเป็นเช่นนั้น

 

 

มีกิจการหนึ่งที่เรียกว่า “โรงแรม และร้านอาหาร” กลุ่มเซ็นทรัลดูจะเผชิญหน้าด้วยความหนักหนาที่สุด เมื่อมองผ่านบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL (ดู “ข้อมูลจำเพาะ”) กิจการแรกที่เข้าตลาดหุ้นเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว (ปี 2533) ในช่วงต้นๆ ภาวะ “ขาขึ้น” ตลาดหุ้นครั้งประวัติศาสตร์

ในฐานะกลุ่มธุรกิจหลักของกลุ่มเซ็นทรัล “…เป็นเจ้าของ และบริหารงานโรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ในเมืองสำคัญต่างๆ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ Centara Grand, Centara, Centra และ Cosi ตลอดจนแบรนด์โรงแรมต่างชาติ อย่าง Park Hyatt Bangkok และ Hilton Pattaya…ยังได้ร่วมลงทุน Felice Hotel Group เป็นเจ้าของโรงแรมหลายแห่งในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ Hotel Felice, Hotel Relief, Hotel ICI และ Hotel Stork…” รวมทั้ง “…เป็นผู้นำด้านเชนร้านอาหารในประเทศไทย… อาทิ Mister Donut, KFC, Auntie Anne’s, Pepper Lunch, Chabuton, The Terrace, Yoshinoya, Ootoya, Tenya, Katsuya และ Fezt”

อย่างไรก็ตาม ยามนี้ยังไม่ลดละที่จะเพิ่มเครือข่ายธุรกิจ โดยมุ่งไปยังเครือข่ายคาเฟ่ และร้านอาหาร

เปิดฉากมาก่อนหน้าวิกฤตการณ์ COVID-19 เล็กน้อย เข้าซื้อเครือข่ายคาเฟ่-Brown Café มี 11 สาขา โดยเปิดสาขาแรกที่เชียงใหม่ ด้วยเงินลงทุน 620 ล้านบาท

และเมื่อผ่านเข้าช่วงวิกฤตการณ์ที่ว่ามาพักใหญ่ ได้เข้าซื้อร้านอาหารไทย – “ส้มตำนัว” มี 6 แห่ง วงเงิน 200 ล้านบาท

เมื่อข้ามมาดูกลุ่มธุรกิจล่าสุด เพิ่งเข้าตลาดหุ้นในช่วงเวลาอาจหาญ ตามขบวนการ “ยักษ์ใหญ่” เมื่อต้นปี 2563 บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC กิจการหลักสำคัญที่สุดของเซ็นทรัล กิจการในตำนานธุรกิจครอบครัว ตระกูลจิราธิวัฒน์

“ผู้นำธุรกิจค้าปลีกสินค้าหลากหลายประเภทผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลายในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจค้าปลีกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรป”

 

 

แต่แล้วต้องมาเผชิญความเป็นไปอาจไม่ได้คาดไว้ ทั้งราคาหุ้นตกต่ำกว่าราคาจอง ทั้งเผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ จนกิจการประสบการขาดทุน ถึงแม้ไม่มาก

ความพยายามท่ามกลางวิกฤตการณ์ในฐานะรายใหญ่ ที่ว่ามี “สายป่านยาว” มีแผนปรับขบวนอย่างน่าสนใจ โดยเน้นไปที่การปรับโครงสร้างธุรกิจเกี่ยวข้องให้เข้าแบบแผนอย่างที่ควร

นั่นคือ เพิ่มเงินลงทุนเข้าไปในกิจการร่วมทุน ปรับเปลี่ยนให้เป็นกิจการของตนเอง ในกำมือบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ

เริ่มจากกรณี Family Mart (พฤษภาคม 2563) ถึง COL (กุมภาพันธ์ 2564)

กรณีแรก “…CRC ได้เข้าร่วมทุนกับบริษัท Japan FamilyMart Co., Ltd. (JFM) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 โดยถือหุ้นในนามบริษัท เอสเอฟเอ็ม โฮลดิ้ง จำกัด (SFMH) ในสัดส่วน 50.65% และบริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) (RBS) ในสัดส่วน 0.35% และในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 CRC ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มในนามของบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด (CFR) ในสัดส่วน 49% จำนวน 5,757,500 หุ้น ทำให้ CRC กลายเป็นผู้ถือหุ้นเต็ม 100% ในบริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัด (CFM)” สาระสำคัญของถ้อยแถลง ในแผนการจริงจังมากขึ้นในธุรกิจค้าปลีกโมเดลร้านสะดวกซื้อ (Convenience store) ซึ่งเครือข่ายสาขาราว 1,000 แห่ง

อีกกรณี “CRC ปิดดีลในการซื้อกิจการกับบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) (COL) เสร็จสิ้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ด้วยมูลค่ารวม 12,160 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจกลุ่มฮาร์ดไลน์ของเซ็นทรัล รีเทล” เป็นเรื่องใหญ่ขึ้น ในฐานะ “COL …ผู้นำธุรกิจอุปกรณ์สำนักงาน หนังสือ สื่อบันเทิง สินค้าไลฟ์สไตล์ และ e-book ภายใต้แบรนด์ออฟฟิศเมท, บีทูเอส และเมพ (meb e-book) ที่มีช่องทางขายต่าง ๆ ทั้งหน้าร้าน, เว็บไซต์, Line Store, Drive Thru, Call Center, แอพพลิเคชั่นบนมือถือ และบริการ e-ordering…”

ที่น่าตื่นเต้นกว่านั้น สะท้อนแนวทางที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นมากขึ้นของกลุ่มเซ็นทรัล น่าจะอยู่ที่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN กิจการซึ่งเข้าตลาดหุ้นในช่วงขาขึ้นครั้งสำคัญ ปี (2538) แสดงบทบาทเป็น “หัวหอก” ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้าง “พื้นที่” รองรับธุรกิจหลักของกลุ่มเซ็นทรัล

ว่าไปแล้ว CPN แสดงบทบาทอันโดดเด่นอย่างน่าสังเกตมาสัก 2-3 ปีแล้ว

ปี 2558 บรรลุข้อตกลงร่วมมือกับ IKEA เครือข่ายร้านเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังระดับโลก เปิดสาขาที่ 2 ในเมืองไทย ณ Central Plaza Westgate แทนที่แผนการเดิมจะเป็น Mega Bangyai ในที่ที่ใกล้เคียงกัน เป็นยุทธศาสตร์เปลี่ยนคู่แข่งให้เป็นพันธมิตร

ตามมาด้วยปี 2560 CPN ตกลงร่วมมือกับกลุ่มดุสิตธานี ร่วมลงทุนโครงการ mix-used มูลค่ากว่าสามหมื่นล้านบาท เพื่อปรับโฉมโรงแรมดุสิตธานีเดิม โดยมีห้างสรรพสินค้ากลุ่มเซ็นทรัลเข้ามาเปิดพื้นที่ด้วย เป็นที่รู้กันว่าดุสิตธานีดำเนินธุรกิจโรงแรมในฐานะคู่แข่งกับเครือโรงแรมเซ็นทาราด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ปี 2561 CPN ลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท เข้าถือหุ้นบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT ในจำนวนมีนัยยะพอสมควร (ราวๆ 23%) โดยแสดงความประสงค์ไม่เข้ามีบทบาทในการบริหาร

ดีลฮือฮาเกิดขึ้นในปีต่อมา (2561) CPN ผ่านบริษัทย่อย เข้าครอบงำกิจการบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จํากัด (มหาชน) หรือ GLAND เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์หลากหลาย ย่านถนนพระราม 9 ด้วยเงินลงทุนราว 13,000 ล้านบาท ว่ากันว่าเป็นแผนยึดทำเลย่าน “ใจกลางกรุง” แห่งใหม่

เงียบไปพักใหญ่ ล่าสุดเดินหน้าอีกครั้ง (15 สิงหาคม 2564) CPN เริ่มกระบวนการจริงจังเข้าซื้อกิจการบริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF คาดว่าจะใช้เงินทั้งสิ้นไม่น้อยกว่ากรณี GLAND

SF ดำเนินธุรกิจค้าปลีกในโมเดลที่แตกต่าง มีถึง 18 แห่ง อย่างที่เรียกว่า ศูนย์การค้าชุมชน (Neighborhood Center) เช่น Marketplace นางลิ้นจี่, Marketplace นวมินทร์ และ Market Place ดุสิต และศูนย์ไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Center) เช่น J Avenue Thonglor, La Villa Phonyothin ที่สำคัญ มีการร่วมทุนในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ (Super Regional Mail) ได้แก่ Mega bangna

ที่ว่ามา คงไม่ใช่เรื่อง “ขาใหญ่” ขยับ เขมือบ รายเล็กกว่าเท่านั้น