เครื่องเสียง : ARCAM SA30 Intelligent Integrated Amp. (2) / พิพัฒน์ คคะนาท

พิพัฒน์ คคะนาท/ [email protected]

 

ARCAM SA30

Intelligent Integrated Amp. (2)

 

นอกจากจะมีหน้าตาอนุรักษนิยม และมิได้มีหน้าจอแบบแตะสัมผัสเหมือนเครื่องรุ่นใหม่ๆ แล้ว แอมป์เครื่องนี้ยังมีระบบควบคุมการทำงานแบบเดิมๆ ด้วยรีโมตคอนโทรล ที่มีขนาดกระชับมือและให้ใช้งานได้สะดวก คล่องตัว ด้วยได้เรียงปุ่มควบคุมต่างๆ เอาไว้เป็นกลุ่มที่สะดวกต่อการเข้าถึง ทั้งยังมีไฟเรืองแสงเพื่อให้สามารถกดใช้งานได้ถูกต้องภายในห้องที่แสงสว่างไม่มากนัก

กล่าวสำหรับคุณสมบัติด้านเทคนิคที่น่าสนใจ ได้ระบุเอาไว้ดังนี้

ภาค Analogue Input นั้น ในส่วนของ ADC : Analogue-to-Digital Converter ใช้ชิปเซ็ต AK5552 ของ AKM : Asahi Kasei Microdevices โดยมีอัตรา Sample Rate/Bit Depth ที่ 192kHz/32-bit ในส่วนของ Line Input ให้การทำงานตอบสนองความถี่ 20Hz – 20kHz (+/-0.2dB) โดยมีค่าอัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงรบกวน (Signal-to-Noise Ratio) 112dB ขณะที่ S/N Ratio ของหัวเข็มทั้ง MM และ MC มีค่าเท่ากันที่ 80dB

สำหรับภาค Digital Input ในส่วนของ DAC ใช้ชิปเซ็ตคุณภาพสูง ESS9038K2M ของ Sabre Corporation รองรับ Sample Rates ผ่านออปติคอลได้สูงสุดถึงระดับ 96kHz และผ่านโคแอ็กเชียลได้สูงสุดถึง 192kHz โดยมี Bit Depth ในช่วง 16-bit – 32-bit ให้การทำงานตอบสนองความถี่ 20Hz – 20kHz (+/-0.1dB) โดยมีค่าอัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงรบกวน 113dB วัดค่าความเพี้ยนฮาร์โมนิกรวม+นอยส์ ได้ 0.0007%

มิติโครงสร้างเครื่อง (กว้าง x สูง x ลึก) 433 x 100 x 323 มิลลิเมตร น้ำหนัก 10.7 กิโลกรัม

 

ก่อนหน้านี้ต้องบอกว่าไม่บ่อยครั้งดอกนะครับ หรือหากจะพูดว่านานทีปีหนน่าจะได้ความกว่า ที่จะมีแอมป์ให้เล่นกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงได้ ผ่านเข้ามาให้เห็นและมีโอกาสได้ลอง แต่สังเกตช่วงหลังๆ ในห้วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีแอมป์หลายๆ เครื่องที่ผนวกภาคโฟโนสเตจ มาให้พร้อมเล่นแผ่นไวนีลได้ในตัว

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่มักจะให้เล่นได้เฉพาะกับหัวเข็ม MM เท่านั้น หากจะเล่นมูฟวิง คอยล์ ก็ต้องอาศัยตัวช่วยจำพวก Pre-Preamp. หรือไม่ก็ Step-Up Transformer มาช่วยขยายสัญญาณจากหัวเข็มก่อนส่งไปเข้าแอมป์

จึงเมื่อ ARCAM SA30 เครื่องนี้มาพร้อมภาคโฟโนสเตจ เลยไม่รอช้าที่แรกลองเล่นก็ด้วยการต่อเข้ากับเจ้าแท่นโต๊ะหมุนประจำห้องนี่ล่ะ

แต่นั้น, ก็เป็นหลังจากที่เปิดคู่มือการใช้เข้าไปดูสเป๊กในส่วนของ Phono Inputs ก่อนแล้วนะครับ โดยเฉพาะกับ Input Impedance ของเครื่อง ว่าพอจะไปกันได้ไหมกับหัวเข็มที่ใช้อยู่ในเวลานั้น ซึ่งพบว่ามิได้มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะของเครื่องระบุเอาไว้ที่ 47 กิโลโอห์ม + 200 พิโคฟารัด ขณะที่หัวเข็มนั้น Recommended เอาไว้ที่ 47 กิโลโอห์ม กับ 150-300 พิโคฟารัด

จากนั้นก็หันไปหยิบอัลบั้มไวนีลชุดต่างๆ ของ Sheffield Lab. ซึ่งนานทีปีหน (เหมือนกัน) ที่ระยะหลังๆ มิค่อยจะได้หยิบออกมาจากกล่องสักเท่าไรนัก คือแผ่นเชฟฟิลด์รุ่นแรกๆ นี่ ไม่ได้ใส่ซองแบบที่เรียกกันว่าแจ๊กเก็ต อัลบั้ม หรอกนะครับ เพราะจะบรรจุแผ่นมาในกล่องซึ่งต่างไปจากแผ่นของค่ายอื่นๆ ที่แม้จะเป็นพวกแผ่นไฮ-โซ (ในยุคนั้น) จำพวก Direct-Cut เหมือนๆ กันก็เถอะ

แผ่นเชฟฟิลด์นี่ออกจะดูหรูกว่าหลายช่วงตัว

 

แผ่นเชฟฟิลด์ แล็บ ที่หยิบมาลองก็มีอาทิ Thelma Houston : I’ve Got the Music in Me ที่เธอประชัน (แผด) เสียงร้องกับวง The Pressure Cooker ตามมาด้วยอัลบั้มสุดคลาสสิคที่เป็นการทำงานร่วมกันของสองศิลปิน Lincoln Mayorka & Amanda McBroom ในอัลบั้มชุด Growing Up in Hollywood Town และอัลบั้มแจ๊ซแบบวงใหญ่ของ Harry James & His Big Band : Comin’ From a Good Place เป็นต้น ส่วนอัลบั้มอื่นๆ ก็มีอย่าง Noel Pointer : Phantazia อัลบั้มแจ๊ซสมัยใหม่ (ในยุคสี่ทศวรรษก่อนหน้านี้) ที่มีเครื่องสายอย่างไวโอลินเป็นพระเอก รวมทั้งงานคลาสสิคอล ร็อก ในอัลบั้มชุด Picture at an Exhibition จากกลุ่มศิลปินโปรเกรสซีฟ ร็อก Emerson, Lake & Palmer หรือ ELP ที่ขาร็อกและนักฟังคุ้นกันเป็นอย่างดี

หยิบแผ่นเสียงอัลบั้มเก่าๆ มาฟังอยู่ในห้องนี่ ได้บรรยากาศเหมือนระลึกชาติย้อนกลับไปยุคแรกๆ ที่เริ่มย่างเข้าวงการอย่างไรก็อย่างนั้น เป็นห้วงเวลาของความสุขกับการได้เสพสุนทรียรสจากงานดนตรีดีๆ สนุกไปกับการได้ลองเครื่องโน้น นี้ นั้น กับนานาลำโพง และได้สัมผัสกับหลายหลากซิสเต็ม นึกถึงคืนวันเก่าๆ แล้ว ไม่อยากเดินออกจากห้องฟังมาเจอกับบรรยากาศของสังคมเมืองในยุคปัจจุบันเอาเสียเลยจริงๆ พับผ่าสิ (ครับ)

Growing Up in Hollywood Town สำหรับผมแล้ว, เป็นหนึ่งในอัลบั้มเพลงไม่มากนัก ที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกสัมผัสได้ถึงความพิเศษทางด้านเสียงของดนตรี ที่ลงตัวยิ่งกับเสียงร้องอันใสพิสุทธิ์ของอะแมนดาในเวลานั้น เป็นเสียงร้องและดนตรีที่เสริมกันและกัน อันนำมาซึ่งความสุขอย่างล้นเหลือที่ได้เสพความสุนทรีย์นี้ ทุกเพลง ทุกแทร็ก ฟังได้ไม่รู้เบื่อจริงๆ แม้ว่าบางแทร็กจะให้ความรู้สึกชื่นชอบมากเป็นพิเศษ ทว่ากล่าวโดยรวมแล้วมันคืองานดนตรีที่บอกได้ว่าเป็นนิรันดร์อย่างแท้จริง

ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องขอบคุณการบันทึกเสียงที่ยอดเยี่ยมของเชฟฟิลด์ แล็บ อย่างเป็นสำคัญด้วย เพราะสามารถเก็บทุกรายละเอียดเอาไว้ได้อย่างหมดจด ทั้งในแง่ของเสียงร้องและเสียงดนตรี ที่ให้บรรยากาศเสียงโดยรวมออกมาได้ด้วยความยอดเยี่ยมของความเป็นดนตรีทั้งมวลอย่างแท้จริง

 

และ ARCAM SA30 ก็ไม่ทำให้ผิดหวังแม้แต่น้อย สามารถถ่ายทอดเสียงร้องอันใสบริสุทธิ์ของอะแมนดา (แบบเดียวกับที่เป็นเสน่ห์เสียงของ Julie Andrews ในยุคแรกๆ ของเธอ ที่ทำให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว) ออกมาให้รับรู้ได้เสมือนมีตัวตนอยู่บนเวทีเสียงเบื้องหน้าจริงๆ กอปรกับได้สื่อรายละเอียดของเสียงดนตรีออกมาอย่างครบถ้วน และเปี่ยมไปด้วยพลังอันหนักแน่น ทว่าอบอวลไปด้วยความอบอุ่นของมวลสำนียงดนตรีอยู่ในที ขณะที่เสียงเปียโนและกลุ่มเครื่องสายก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างโดดเด่นเป็นพิเศษ แต่ละแทร็กเปรียบเสมือนอัญมณีชั้นดีที่ถูกเจียระไนโดยฝีมือช่างชั้นเอก จึงเปล่งประกายของน้ำนวลแห่งเสียงร้อง และเสียงดนตรี ออกมาได้อย่างแวววาวแปลบตายิ่งนัก

และให้รู้สึกกลับกันในทันทีที่แอมป์ได้นำเสนอและถ่ายทอดเสียงร้องของเธลมา ที่ได้ ‘แผด’ ขึ้นมาชนิดสามารถ ‘กำราบ’ เสียงดนตรีของทั้งวงเอาไว้ได้อยู่หมัด ในอัลบั้มที่เธอทำงานร่วมกับเธอะ เพรสเชอร์ คุกเกอร์ ทุกแทร็กทั้งเสียงร้องและเสียงดนตรีนำเสนอความคึกคักออกมาได้อย่างหนักแน่น เร้าใจ และให้อารมณ์ร่วมที่หลอมรวมกันระหว่างคนเล่น คนร้อง รวมทั้งคนฟัง ได้อย่างเต็มอารมณ์

แม้จะด้วยข้อจำกัดของแผ่นไวนีล ทำให้อัลบั้มนี้ที่มีเพียง 8 แทร็ก กับเวลารวมไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แต่แอมป์เครื่องนี้ก็สามารถถ่ายทอดความหลากหลายที่ให้ความบันเทิง และสนุกสนาน ของเสียงร้องและเสียงดนตรีที่คละเคล้าไปด้วย Rhythm & Blues, Disco และ Funk ออกมาได้อย่างลุ่มลึกและถึงแก่นดนตรี

ชนิดที่ต้องบอกว่าพาเข้าถึงทุกเส้นเสียงของแต่ละตัวโน้ตได้โดยเปี่ยมไปด้วยพลังเอามากๆ