ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 กันยายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | มองบ้านมองเมือง |
ผู้เขียน | ปริญญา ตรีน้อยใส |
เผยแพร่ |
การสิ้นสุดของสรรพสิ่ง
เมื่อมีการคิดค้นนาฬิกาแดดและนาฬิกาทราย สำหรับนับเวลาได้แล้ว มนุษย์จึงเลิกคาดเดาเวลา จากการสังเกตพระอาทิตย์ พระจันทร์ แบบโบราณ
เมื่อมีการคิดค้นกลไกนาฬิกา ที่บอกเวลาได้ถูกต้อง นาฬิกาแดดและนาฬิกาทรายจึงหมดความหมาย กลายเป็นเพียงแค่ของเก่าหรือของอนุรักษ์
เมื่อนาฬิกาขนาดใหญ่ ที่อยู่ตามยอดวิหารหรือปราสาท บอกเวลาให้ผู้คนรับรู้พร้อมกันทั้งหมู่บ้านหรือเมือง ค่อยๆ ลดขนาดลง จนสามารถพกพาหรือผูกข้อมือได้ นาฬิกาข้อมือจึงกลายเป็นอวัยวะใหม่ของร่างกาย ที่จำเป็นอย่างยิ่งในการดำรงชีวิต
เมื่อมีการคิดค้นระบบควอตซ์มาแทนระบบลานนาฬิกาแบบเดิมในปี 1970 ช่วยต่ออายุนาฬิกาข้อมือได้อีกหลายปี
แต่เมื่อระบบแจ้งเวลาอยู่ในทุกแห่งหน ในหลายรูปแบบ ทำให้กระแสความนิยมการผูกนาฬิกาข้อมือจึงค่อยๆ ลดลง
นาฬิกาข้อมือจึงพ้นสมัยไปพร้อมๆ กับโทรศัพท์ตั้งโต๊ะ กล้องถ่ายรูป เครื่องพิมพ์ดีด โทรเลข โทรสาร รวมทั้งเพจเจอร์
มีเพียงพ่อค้านาฬิกา ที่พยายามรักษาตลาดนาฬิกาข้อมือไว้ โดยเปลี่ยนจากเครื่องแสดงเวลา เป็นเครื่องประดับเหมือนอัญมณี ศูนย์การค้าบ้านเรา จึงขยันจัดมหกรรมนาฬิกา เพื่อนำเสนอนาฬิการูปแบบสวยงาม ราคาแพง ให้เศรษฐีซื้อไว้ประดับบารมี ด้วยนาฬิกามีมูลค่าเพิ่ม
และทวีค่าเวลายืมเพื่อน
หากใช้นาฬิกาเป็นกรณีศึกษา เปรียบเทียบกับสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวในวันนี้ รวมไปถึงวิธีปฏิบัติ การดำเนินชีวิต และวิชาชีพของคนปัจจุบัน
จะพบว่าแต่ละสิ่ง แต่ละเรื่อง มีที่มายาวนาน จนเกิดความคุ้นเคย
แต่ก็จะแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ บางสิ่งเกิดขึ้นและสูญสิ้นไปในเวลาไม่นานนัก บางสิ่งเกิดขึ้นและคงอยู่ยาวนานหลายร้อยปี
ถ้าเชื่อตามทฤษฎีที่ว่า สิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่ในโลกปัจจุบัน เกิดขึ้นหลังจากอุกกาบาตตกทำลายสิ่งต่างๆ เมื่อหลายพันปี หรือหลังสงครามโลก ที่ทำลายบ้านเมืองและชีวิตผู้คนทั้งโลกเมื่อร้อยปี
การแพร่ระบาดของไวรัสมงกุฎ ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ คงจะเป็นเหมือนอุกกาบาตอีกลูกที่ตกลงมาบนโลก คงจะเป็นเหมือนสงครามโรค ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครั้ง
โรคร้ายนี้ นอกจากทำลายชีวิตผู้คนจำนวนมาก ยังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต อาชีพการงาน ไปจนถึงความนึกคิดของผู้คน
คงจะมีหลายสิ่งที่จะไม่เหมือนเดิม เช่นเดียวกับนาฬิกาแดดและนาฬิกาทราย นาฬิกาลาน หรือนาฬิกาควอตซ์
เช่นเดียวกับการสอนแบบบรรยายในชั้นเรียน การทำงานในสำนักงาน หรือการรับประทานอาหารในร้านอาหาร
เช่นเดียวกับสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ วารสารศาสตร์ หรือวิศวกรรมสำรวจ
การกักตัวอยู่แต่ในบ้านนานๆ เช่นในเวลานี้ คงเป็นช่วงเวลาให้ไตร่ตรอง ทำความเข้าใจว่า สิ่งใด วิถีใด อาชีพใด และคนประเภทใด ที่จะถึงจุดสิ้นสุด