เมื่อไม่เห็นหัวประชาชน/เมนูข้อมูล-นายดาต้า

เมนูข้อมูล / นายดาต้า

 

เมื่อไม่เห็นหัวประชาชน

 

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลที่รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จบแล้ว

จบอย่างมีหลายคำถามที่เกิดขึ้นในใจผู้คน โดยเฉพาะที่ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด

ปรากฏการณ์แรกที่น่านำมาวิเคราะห์อย่างยิ่งคือ ระหว่างสาระหรือเนื้อหาที่นำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ฝ่ายค้านมีความมั่นใจถึงขนาดประกาศว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นการประกาศในความหมายว่าด้วยหลักฐานที่ชี้ให้เห็นความล้มเหลวของการบริหารจัดการจนประเทศเกิดความเสียหายมากมาย ประชาชนเดือดร้อนสาหัสไปทั่ว และเกิดกระแสไม่ยอมรับรัฐบาลชุดนี้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะความเดียดฉันท์ที่มีต่อคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ทั้งที่การอภิปรายของฝ่ายค้านมีความหนักแน่นอย่างยิ่งทั้งโดยข้อมูล หลักฐาน และด้วยเหตุผล

แต่สภาผู้แทนราษฎรยังทำหน้าที่แบบเดิมๆ อิงอยู่กับประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องโดยไม่ไยดีต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชน เคยเป็นอย่างไรก็ยังเป็นอย่างนั้น

ไม่มีพัฒนาการอะไรทำให้รู้สึกได้ว่าวิกฤต และหายนะที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติ และชีวิตประชาชาชนจะกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตสำนึกของนักการเมืองทั้งหลายเหล่านี้ได้

 

ปรากฏการณ์ที่สองคือ เหตุผลที่นำมาใช้สร้างความชอบธรรมในการโหวตครั้งนี้ของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลคือ จะเลือกยืนอยู่ข้างใครระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

เนื้อหาและสาระของการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่มีความหมายอะไรเลย ต่อการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร

สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองไทยข้ามหลักการที่ควรจะเป็นไปสู่เกมการเอาชนะคะคานแบบไม่สนใจหลักการของระบอบไปไกลจนเกินจะกู่กลับแล้ว

เป็นการเมืองที่ขึ้นกับเกมเฉพาะหน้ามากกว่าเรื่องราวที่สะสมมาเป็นภาพรวมเช่นนี้ การคาดการณ์หรือวิเคราะห์ประเมินว่าอะไรจะก่อให้เกิดอะไร ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร น่าจะทำได้ยากขึ้น

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจะเปลี่ยนไปตามเรื่องราวเฉพาะหน้าที่คาดเดาไม่ได้

 

ตามไทม์ไลน์ อีกไม่นานจะมีการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ตามความน่าจะเป็นก็คงเป็นไปตามที่ “นิด้าโพล” สำรวจล่าสุดเรื่อง “อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.” ซึ่งผลออกมาว่า ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ร้อยละ 27.71 ขณะที่ร้อยละ 24.60 ยังไม่ตัดสินใจ

ร้อยละ 15.49 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา

ร้อยละ 9.57 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

ร้อยละ 5.24 ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล

ร้อยละ 4.10 น.ส.รสนา โตสิตระกูล

ร้อยละ 3.21 ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

ร้อยละ 2.20 ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

ร้อยละ 1.67 ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

ร้อยละ 1.37 ไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO)

ร้อยละ 1.14 จะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ร้อยละ 1.06 ผู้สมัครจากพรรคกล้า และผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ในสัดส่วนที่เท่ากัน

ร้อยละ 1.52 อื่นๆ ได้แก่ นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครจากพรรคเสรีรวมไทย ผู้สมัครจากพรรคไทยภักดี ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย และเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

จึงมีความน่าสนใจยิ่งว่า การเมืองที่นักการเมืองเดินสวนทางกับกระแสประชาชน

นักการเมืองโหวตในทางที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับประชาชน

เมื่อถึงเวลาที่ประชาชนจะเป็นผู้โหวตบ้าง จะให้บทเรียนอะไรกับนักการเมือง

แม้ว่าจะเปิดตัวในฐานะผู้สมัครอิสระ แต่ที่สุดแล้วย่อมน่าจะรู้ว่า แต่ละคนมีใคร หรือพรรคการเมืองใดหนุนหลัง

แม้จะเป็นสนาม กทม.ที่อ้างได้ว่าไม่เกี่ยวมากนักกับการเมืองในภาพใหญ่

ก็น่าสนใจยิ่งว่าประชาชนจะคิดเช่นนั้นหรือไม่ การให้บทเรียนกับพรรคการเมืองจะเป็นความคิดหลักของการตัดสินใจหรือไม่

มีแต่ต้องติดตาม