รัฐสู้ไม่ถอย ถือฤกษ์ตุลาคม แหกโค้งสุดท้าย…เปิดประเทศ อัดทุกกระบวนท่าพลิกฟื้นท่องเที่ยว/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

รัฐสู้ไม่ถอย ถือฤกษ์ตุลาคม

แหกโค้งสุดท้าย…เปิดประเทศ

อัดทุกกระบวนท่าพลิกฟื้นท่องเที่ยว

 

เพียงพริบตาเดียว เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือน ก็จะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 เดือนตุลาคม-ธันวาคมแล้ว

ย้อนหลังช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ถือว่าเป็นช่วงที่ผ่านมาด้วยความทุลักทุเล กับการเผชิญการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อจากการระบาดระลอก 2 ปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 คาบเกี่ยวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564

กว่าจะควบคุมการระบาดไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มรวดเร็วก็เข้าเดือนมีนาคม และเปิดให้ประชาชนเดินทางและกลับมาทำกิจกรรมได้อีกครั้งในเดือนเมษายน ตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ก็เปิดแบบไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังห้ามจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ และไม่อนุญาตให้เล่นน้ำ

แต่อย่างไรก็ห้ามไม่ได้ เมื่อคนไทยยึดธรรมเนียมปฏิบัติช่วงสงกรานต์ต้องเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดไปพบปะครอบครัว ร่วมทำบุญตามประเพณี และพากันเดินทางท่องเที่ยว จนสถานที่เที่ยวยอดนิยมเต็มทะลักไปด้วยคนที่อั้นมาตลอดกว่าปีเศษ

ซึ่งเดือนเมษายนที่มีอากาศร้อนอบอ้าว แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลถือเป็นทางเลือกแรกที่ทุกคนคิดถึงและต้องการไปท่องเที่ยว ความหวังของสถานการณ์ที่กำลังเริ่มผ่อนคลายกำลังวิ่งกลับมา

แต่ทว่า ก็ถูกสกัดขาไว้จนล้มหน้าคะมำ เนื่องจากพบการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 เกิดขึ้น และคลัสเตอร์แรกๆ กลายเป็นสถานบันเทิงย่านทองหล่อ จากนั้นก็ลุกลามไปพื้นที่อื่นๆ

ผลพวงจากการระบาดรอบใหม่นี้ ไม่คลี่คลายและจบเร็วเหมือน 2 ครั้งแรก เกิดการระบาดยืดเยื้อ ลากยาวจนถึงปัจจุบัน ที่รัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้

ผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่รายวันพุ่งทะลุ 2 หมื่นคน รวมถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตคงตัวระดับสูง 200-300 คนต่อวัน ทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) หลายครั้งในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา

เรียกได้ว่าการเดินทางตั้งแต่ต้นปีจนใกล้เข้าสู่ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ทุกย่างก้าวระหว่างทางมีความสมบุกสมบันและสาหัสกว่าปกติ หนักสุดกับกลุ่มประชาชนหรือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิดโดยตรง

โดยเฉพาะคนที่เกี่ยวพันในภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยว เจอพิษไข้โควิดเล่นงานมาตั้งแต่การระบาดรอบแรกเดือนเมษายน 2563

แต่เมื่อใกล้เข้าฤดูกาลเข้าปีใหม่ ความหวังก็เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะพ่อทัพของภาคการท่องเที่ยวไทย จึงต้องทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อช่วยเติมลมหายใจให้ผู้ประกอบการ ผ่านการทดลองเปิดประเทศในโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ สมุย พลัส โมเดล เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ เขาหลัก จังหวัดพังงา และเกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นระยะที่ 1

ส่วนในระยะที่ 2 กำหนดเริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เป็นการเปิดเพิ่มอีก 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี (พื้นที่พัทยา บางละมุง สัตหีบ) เพชรบุรี (พื้นที่ชะอำ) ประจวบคีรีขันธ์ (พื้นที่หัวหิน) และเชียงใหม่ (พื้นที่อำเภอเมือง แม่แตง แม่ริม และดอยเต่า)

แต่ในกรณีของกรุงเทพฯ อาจเลื่อนออกไปเป็นเดือนพฤศจิกายนนี้แทน เพราะติดเงื่อนไขการฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ที่ยังไม่สามารถทำได้

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดโควิดในประเทศ ที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังทรงตัวในหลัก 1.5 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขการติดเชื้อที่สูงมาก และมีความน่ากังวลอยู่ แต่ต้องเสี่ยง เพราะภาวะวิกฤตในขณะนี้ ทางเลือกเหลือเพียงแค่การเดินหน้าต่อไป ทั้งที่มีความเสี่ยงว่าจะรอดหรือร่วงอยู่

แต่หากไม่เดินหน้าและหยุดนิ่งเหมือนที่ผ่านมา เท่ากับร่วงสถานเดียวเท่านั้น

เมื่อตัดสินใจในการเดินทางเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการนั้น ความสำคัญขณะนี้คือ การวางแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ของทั้งตลาดต่างชาติ และตลาดคนไทยเที่ยวไทย

ที่หากไม่สามารถชุบชีวิตการท่องเที่ยวไทยได้ เท่ากับเครื่องยนต์การท่องเที่ยวไทยจะดับยาวถึงไตรมาส 4/2565

 

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดหวังว่า การท่องเที่ยวในประเทศไทยจะกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้ในเดือนตุลาคมเป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น และมีข้อจำกัดในการเดินทางออกนอกประเทศ

โดยคาดว่าในปีนี้ตลาดไทยเที่ยวไทย จะมีการเดินทางในประเทศไม่ต่ำกว่าปี 2563 อยู่ที่ 90 ล้านคน-ครั้ง ซึ่ง ททท.พยายามกัดฟันทำให้ได้ตามที่วางเป้าหมายไว้

ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.2 ล้านคน แต่ขณะนี้หวังให้เห็นที่ 1 ล้านคนให้ได้ก่อน

เพราะจากข้อมูลจำนวนต่างชาติเดินทางเข้าไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 40,000 คน บวกกับเข้ามาในโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์อีก 26,400 คน ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา รวมเกือบ 100,000 คน ซึ่งเหลืออีก 900,000 คน ที่ต้องเข้ามาในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี

หากสามารถมาได้เดือนละ 300,000 คน รวมถึงนโยบายการกักตัวของประเทศต้นทางไม่ได้กำหนดให้เมื่อเดินทางกลับประเทศต้นทางแล้วต้องกักตัว เชื่อว่ายังมีโอกาสได้เห็นที่ 1 ล้านคนในปีนี้อยู่

โดย ททท.เตรียมโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบจัดหนักจัดเต็ม

เริ่มที่โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ซึ่งรัฐสนับสนุนค่าโรงแรม 40% ให้คูปองอาหาร 600 บาทต่อคืน และสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 40%

และโครงการทัวร์เที่ยวไทย ที่รัฐสนับสนุนวงเงิน 5,000 บาทเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ ซึ่งปัจจุบันทั้งสองโครงการมีกรอบเงินกู้คงเหลือ 10,988 ล้านบาท จากเราเที่ยวด้วยกัน 5,958 ล้านบาท

และทัวร์เที่ยวไทยที่ยังไม่ได้เริ่มอีก 5,000 ล้านบาท

โดยหากประเมินสถานการณ์พบว่า ตัวเลขติดเชื้อใหม่รายวันลดลง จะเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณาให้คนไทยเริ่มจองสิทธิผ่านทั้ง 2 โครงการได้ตั้งแต่กลางเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้เริ่มเดินทางจริงได้ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมนี้ สอดรับกับช่วงไฮซีซั่นในการท่องเที่ยวด้วย

โครงการซื้อก่อน เที่ยวทีหลัง ที่เปิดโอกาสให้ซื้อแพ็กเกจจองท่องเที่ยวจากโรงแรมที่พักในราคาพิเศษ ที่สามารถจองได้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 และสามารถเข้าพักได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 มีนาคม 2565

รวมทั้งยังเตรียมเปิดตัว 25 แหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพื่อปลุกกระแสการเดินทางภายในประเทศให้นักท่องเที่ยวได้ออกเดินทางครั้งใหม่ ในมุมมองที่อะเมซิ่งยิ่งกว่าเดิม เพื่อให้เกิดการกระจายตัวการเดินทางท่องเที่ยว และเชื่อมไปยังแหล่งท่องเที่ยวหรือกิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ เมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น รัฐบาลยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ หรือควบคุมการเดินทางแล้วนั้น ททท.จะจัดกิจกรรมแสง สี เสียง โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศอย่างเต็มรูปแบบแน่นอน

สิ่งสำคัญในตอนนี้ คงเหลือแค่ให้การเดินทางสามารถทำได้ก่อนเท่านั้น เพราะเชื่อว่าหากรัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดโควิดได้ สามารถเดินทางได้ การท่องเที่ยวจะกลับมาเริ่มต้นใหม่อย่างแน่นอน