สมุนไพรเพื่อสุขภาพ : ชะเอมเทศ อีกหนึ่งสมุนไพรทางเลือกต้านโควิด-19

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ  โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย / www.thaihof.org

 

ชะเอมเทศ

อีกหนึ่งสมุนไพรทางเลือกต้านโควิด-19

 

นิวไฮ! ทะลุล้านแล้วจ้า ในที่สุดเมืองไทยเราก็มาถึงวันนี้ วันที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิดสะสมทะยานขึ้นเป็นหนึ่งล้านคนในเดือนสิงหาคม 2564

นี่ยังไม่นับเหยื่อโควิดผู้เสียชีวิตรายวันกว่า 200 คน ซึ่งเป็นตัวเลขชี้วัดความรุนแรงของโรคระบาดในประเทศไทย ระหว่างร้องเพลงรอวัคซีนเข็มแรก เข็มสอง เข็มสาม และเข็มสี่?

ประชาชนก็ต้องดิ้นรนแสวงหาสมุนไพรใกล้มือมาใช้ต้านศึกโควิดที่ประชิดตัวเข้ามาทุกที

ในที่นี้จึงขอเสนอสมุนไพรทางเลือกอีกตัวหนึ่งซึ่งชาวไทย-จีนรู้จักกันดี

คือ ชะเอมเทศ ชื่อพฤกษศาสตร์ Glycyrrhiza glabra

 

 

แม้ชะเอมเทศจะมีกำเนิดจากเมืองจีน ชื่อ กำเช่า แต่ก็เป็นสมุนไพรเก่าแก่ที่อยู่ในตำรับยาหลวงของไทยที่ใช้เป็นจุลพิกัดยาคู่กับชะเอมไทยหรืออ้อยสามสวน ซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตร์คนละชื่อกันว่า Albizia myriophylia

แต่หมอยาไทยถือว่าสมุนไพร 2 ชนิดนี้มีรสหวานและสรรพคุณเสมอกัน จึงเรียกชื่อเดียวกัน ต่างกันแค่สร้อยชื่อบอกแหล่งที่มาชะเอมเทศและชะเอมไทยเท่านั้น

ในตำรับยาไทยมักใช้รากชะเอมเทศซึ่งมีรสหวานจัดกว่าน้ำตาลทรายถึง 50-200 เท่า ใครที่นึกถึงสำนวน “หวานเป็นลมขมเป็นยา” แต่ขอบอกว่าใช้ไม่ได้กับรสหวานของชะเอมเทศ ซึ่งมีสรรพคุณยาดีอยู่ที่ความหวานเจี๊ยบนี่แหละ

ตามคัมภีร์สรรพคุณกล่าวว่า รากชะเอมเทศ “แก้โลหิตอันเน่าในอุทร แลเจริญซึ่งหทัยวาตให้สดชื่น แก้กำเดาให้เป็นปรกติ”

พูดง่ายๆ ก็คือ รากชะเอมเทศช่วยแก้การอักเสบของอวัยวะในช่องท้อง ได้แก่ กระเพาะอาหาร ลำไส้ และตับ เป็นต้น

ช่วยให้เลือดลมไปหล่อเลี้ยงหัวใจให้กระชุ่มกระชวย และช่วยควบคุมกำเดาหรือความร้อนในร่างกายให้มีอุณหภูมิเป็นปกติ

ซึ่งตรงกับภูมิปัญญาของฝรั่ง ที่เรียกชะเอมเทศว่า Sweet Root หรือ “ต้นรากหวาน” ซึ่งก็แปลตรงตามชื่อพฤกษศาสตร์ในภาษาละติน คือ กลีเซอร์ (Glycyr) แปลว่า หวาน, ไรซ่า (Rhiza) แปลว่า ราก

จากงานวิจัยพบว่า สารหวานจากรากที่ชื่อ กลีเซอร์ไรซิน (Glycyrrhizin) นี่เอง ที่มีฤทธิ์แก้ไอ ขับเสมหะโดยมีกลไกในการขับเมือกที่หลอดลม และช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้

ยิ่งกว่านั้น สารกลีเซอร์ไรซิน และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น กลาบรานิน (glabranin) ของรากชะเอมเทศยังมีฤทธิ์ปกป้องตับอักเสบอีกด้วย

 

จากภูมิปัญญายาไทย-จีนที่ใช้ชะเอมเทศรักษาไข้กำเดา และโรคทางเดินหายใจ และขจัดพิษในกระแสโลหิตและในตับดังกล่าว จึงจุดประกายให้นักวิจัยในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนได้ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อโควิดลงปอดของสารกลีเซอร์ไรซิน และสารสกัดหยาบของรากชะเอมเทศ

พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อโควิดลงปอดได้อย่างมีนัยสำคัญ

และยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เชื้อโคโรนาไวรัส ซาร์ส-2 เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ด้วยกลไกคลายกล้ามเนื้อเรียบ หลั่งสารเคลือบเยื่อบุทางเดินหายใจ ป้องกันการอักเสบตั้งแต่ในลำคอจนถึงปอด

การศึกษานี้ยังอยู่ในขั้นการใช้ชะเอมเทศรักษาผู้ป่วยโควิดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในอนาคตน่าจะได้ขยับถึงขั้นการทำวิจัยการรักษาทางคลินิกแบบเปรียบเทียบที่เรียกว่า RCT

 

ตรงนี้ทำให้สำนึกในอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษแพทย์แผนไทยที่คิดค้นสูตรยาแก้ไอประสะชะเอมเทศ ชื่อ ยาอำมฤควาที ที่ใช้รากชะเอมเทศหนักเท่ากับตัวยาประกอบอีก 5 ชนิด ได้แก่ โกฐพุงปลา เทียนขาว ลูกผักชีลา เนื้อลูกมะขามป้อมและเนื้อลูกสมอพิเภก เพื่อให้รสหวานของรากชะเอมเทศออกฤทธิ์ได้เต็มที่

ในขณะที่ตัวยาประกอบจะช่วยเสริมฤทธิ์และขจัดพิษไม่พึงประสงค์ของรากชะเอมเทศไปด้วย

ปัจจุบันยาอำมฤควาที เป็นยาในบัญชียาหลักด้านสมุนไพร สรรพคุณแก้ไอ ขับเสมหะ เด็กใช้ได้ ผู้ใหญ่ใช้ดี ชนิดผงผู้ใหญ่ใช้ไม่เกินครั้งละ 1 กรัม ละลายกระสายน้ำมะนาว เด็กลดลงครึ่งหนึ่ง ส่วนชนิดน้ำใช้จิบชุ่มคอชื่นใจ หยุดไอได้ชะงัด

ยาอำมฤควาทีหาซื้อได้ไม่ยาก แต่ถ้าต้องการใช้ผงรากชะเอมเทศล้วนๆ ก็ได้ แต่ต้องใช้ด้วยความรู้และความระมัดระวัง สามารถใช้ผงรากชะเอมเทศได้ไม่เกินวันละ 4 กรัม (จะได้สารกลีเซอร์ไรซินราว 200 มิลลิกรัม)

โดยแบ่งกินผงชะเอมเทศ ครั้งละ 1 กรัม วันละ 4 เวลา หรือจะชงน้ำร้อนดื่มก็ได้ แต่ห้ามใช้ติดต่อกันนาน 4-6 สัปดาห์

และมีการศึกษาว่าการกินผงรากชะเอมเทศเกิน 50 กรัมต่อวันจะเกิดผลเสีย จึงห้ามกินขนาดสูงโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ปัสสาวะน้อยลงเป็นผลให้มีโซเดียมสะสมในร่างกายมาก เกิดอาการบวมที่มือและเท้า ทำให้ไตอักเสบได้

ความหวานของรากชะเอมเทศเป็นยาดีที่ช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยต้านเชื้อหวัดโควิดลงปอดได้ ถ้าใช้ในขนาดและระยะเวลาที่เหมาะสม และความหวานจากชะเอมยังใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ในเครื่องสำอางต่างๆ ด้วย

ประโยชน์มากมายจึงน่าจะหาชะเอมมาปลูกกันมากๆ นะ