ไม่เคยมีผู้นำทหาร คุมพรรคการเมืองได้ ครั้งนี้จะจบแบบไหน? บทเรียนพรรคทหาร ในการสืบทอดอำนาจ 16 ปี 2500-2516/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ไม่เคยมีผู้นำทหาร คุมพรรคการเมืองได้

ครั้งนี้จะจบแบบไหน?

บทเรียนพรรคทหาร

ในการสืบทอดอำนาจ 16 ปี 2500-2516

 

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหาร เดือนกันยายน 2500 เดือนธันวาคมก็มีการเลือกตั้งใหม่ พรรคสหภูมิของจอมพลสฤษดิ์ได้ 44 คน ประชาธิปัตย์ได้ 39 คน แต่มี ส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรคถึง 59 คน นอกนั้นเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย

จอมพลสฤษดิ์จึงได้ตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาคือพรรคชาติสังคม โดยใช้พรรคสหภูมิเป็นแกนกลางและรวบรวม ส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรคและพรรคเล็กพรรคน้อยได้ 80 เสียง ให้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ เพราะพรรคชาติสังคมรวมกับเสียง ส.ว.ก็มีผู้สนับสนุนถึง 202 เสียง

ส่วนจอมพลสฤษดิ์เดินทางไปรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกา นายกฯ ถนอมปกครองเป็นเวลาเกือบ 10 เดือน

จอมพลสฤษดิ์ผ่าตัดเสร็จก็เดินทางกลับมายึดอำนาจในวันที่ 20 ตุลาคม 2501

บทบาทของพรรคชาติสังคมก็จบแค่ 10 เดือน แต่จอมพลสฤษดิ์อยู่ต่ออีก 5 ปีก็ป่วยและเสียชีวิตลง

จอมพลถนอม กิตติขจร รับตำแหน่งนายกฯ ต่อจากจอมพลสฤษดิ์…ซึ่งถูกยึดทรัพย์และดำเนินคดีทุจริต

เมื่อรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างนานที่สุดในโลก 9 ปีกว่า เสร็จลง (รัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้าม ส.ส.เป็นรัฐมนตรี วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมด และจะมาจากข้าราชการก็ได้) ก็มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512

ผลการเลือกตั้งพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอมได้ ส.ส. 76 คน ปชป.ได้ 55 คน แต่ ส.ส.อิสระไม่สังกัดพรรค มีมากถึง 71 คน จอมพลถนอมดึงเสียง ส.ส.อิสระมารวมกับพรรคสหประชาไทย ได้ 125 คน เมื่อมี ส.ว.หนุน จึงได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

พอถึงปี 2514 กลุ่ม ส.ส.ได้ขอแก้รัฐธรรมนูญ ลดอำนาจวุฒิสภาลง ให้แยกข้าราชการการเมืองออกจากข้าราชการประจำ ให้ ส.ส.เป็นรัฐมนตรีได้ และมีปัญหาขัดแย้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณ

17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอมรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง แล้วตั้ง “สภาบริหารคณะปฏิวัติ” ขึ้นมาแทน

พรรคทหารชื่อ สหประชาไทย จึงใช้งานได้แค่ 2 ปีกว่า

แต่ไม่ถึง 2 ปีต่อมา ก็มีการต่อต้านอำนาจเผด็จการของกลุ่มถนอม-ประภาสโดยขบวนการนักศึกษา-ประชาชนจนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ขึ้น จนจอมพลถนอมและจอมพลประภาส จารุเสถียร ต้องลี้ภัยการเมืองเดินทางออกจากประเทศไทย

ส่วนยุค รสช. รัฐประหาร 2534 พอจะสืบทอดอำนาจ ก็ตั้งพรรคสามัคคีธรรมมาลงเลือกตั้ง 2535 แค่เดือนพฤษภาคม ก็โดนประชาชนขับไล่เป็นพรรคหนุนทหารที่ทำการรัฐประหารที่มีอายุสั้นที่สุดอยู่ไม่ถึง 6 เดือน

 

ความพยายามสืบทอดอำนาจยุคใหม่

2549-2564 เข้าสู่ปีที่ 16

ทักษิณ ชินวัตร ถูกรัฐประหารกันยายน 2549 โดย คมช. มีการใช้ม็อบ+ทหาร+องค์กรอิสระ+ตุลาการภิวัฒน์+ส.ว.+ส.ส.+สื่อ+การเลือกตั้งใหม่ เพื่อการสืบทอดอำนาจของกลุ่มเผด็จการ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เลือกพรรคที่สนับสนุนเผด็จการ จึงต้องมีรัฐประหาร 2557 อีกครั้ง และยังพยายามสืบทอดอำนาจถึงปัจจุบัน

ปี 2562 มีการตั้งพรรคพลังประชารัฐ แม้ไม่ชนะเลือกตั้งเป็นที่ 1 แต่ก็อาศัยเสียง ส.ว. 250 คนทำให้ไม่มีใครแข่งขันได้ จึงได้เป็นรัฐบาลผสมกับ ปชป. และภูมิใจไทย

เมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจ และโรคระบาดโควิด ปัญหาจึงปรากฏชัดว่า การบริหารแบบที่ผ่านมา 7 ปีจะทำให้คนจน เจ๊ง เจ็บ ตายทั่วประเทศ แต่ประชาชนไม่สามารถเปลี่ยนรัฐบาลได้ทางสภา รัฐธรรมนูญก็แก้ไม่ได้ หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีข้อสรุปว่า…

1. การแก้ปัญหาให้ประชาชนไม่มีอะไรคืบหน้า รัฐบาลไม่สนใจประชาชนว่าคิดอย่างไร แต่ใช้ทุกวิธีการที่จะได้เป็นผู้ปกครองและบริหารต่อไป ความขัดแย้งในรัฐบาลด้วยกันไม่ใช่เรื่องหลัก พวกเขาต้องประนีประนอมกันชั่วคราว เพราะจะต้องร่วมใช้งบประมาณ เพื่อเป็นการกักตุนเสบียงเอาไว้ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในครั้งหน้า

2. การแก้ปัญหาในฝ่ายรัฐบาลจากความขัดแย้งภายในและแบ่งผลประโยชน์ จะมาลงเอยที่การแบ่งอำนาจการบริหารกระทรวง การแบ่งกล้วย

3. การแก้ปัญหาโครงสร้างที่จะต้องดำเนินการโดยการแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่สำคัญคืออำนาจของ ส.ว. และที่มาของ ส.ว. คงไม่ได้รับการแก้ไข แม้มีการหาเสียงช่วงที่ผ่านมาก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องนี้คงเป็นแค่การโกหกประชาชน

4. การแก้ปัญหาเสียงในสภาโดยการซื้อ-ขาย ยังดำเนินการกันอยู่ในสภา แต่สภาไม่ใช่ร้านขายของชำ นี่จึงเป็นความเสื่อมของสภาและประชาชนจะไม่เชื่อถือ ทั้งระบบและตัวบุคคล

เมื่อไม่สามารถใช้สภาเป็นที่แสดงความต้องการทางการเมืองตามเสียงเรียกร้อง การเมืองนอกสภาจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและแรงขึ้นไปอีก ในพื้นที่สาธารณะทั้งในหน้าจอและบนถนน

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน

ไม่เคยมีผู้นำทหารไทยคนใดเคยคุมพรรคการเมืองได้ ยิ่งเมื่อกำลังอ่อนลง ใครลงหลังเสือจะถูกเสือกัด

ดังนั้น การแก้ปัญหาจากนี้ เพียงเพื่อแก้ความขัดแย้งภายในรัฐบาลหลังจากการอภิปราย ให้สังเกตจากการปรับ ครม.

การไม่ปรับ ครม.เลยแม้แต่ตำแหน่งเดียวคงเป็นไปไม่ได้ เพราะนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเสริมความมั่นคงของตัวเองโดยการกำจัดจุดอ่อนและคนที่คิดว่าไม่ซื่อต่อตัวเองออกไป ขณะเดียวกันต้องปรับเปลี่ยนบางคนเพื่อเสริมความเข้มแข็ง

การปรับขั้นแรก คือการประนีประนอมยอมเปลี่ยนแปลงอำนาจภายใน 3 ป. อาจเปลี่ยนให้ ป.ป๊อก อนุพงษ์ เผ่าจินดา มาคุมกลาโหม ป.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ย้ายไปคุมมหาดไทย เพราะจะได้ใช้เป็นกำลังและงบประมาณ สร้างฐานเสียงและเศรษฐกิจสนับสนุน ส.ส.ได้ทุกจังหวัด ส่วน ป.ประยุทธ์ยังเป็นนายกฯ ถ้าไม่ทำ คงมีเรื่องใหญ่

ขั้นสอง การปรับเพื่อลดอำนาจผู้เห็นต่างในรัฐบาล จะทำให้บางคนถูกปรับออก แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ตัว รมช. ธรรมนัส พรหมเผ่า ถ้าเขาไม่ได้ขยับตำแหน่งเลย อยู่ที่เดิม ความขัดแย้งก็อยู่ในสภาพตึงเครียด ถ้าถูกปรับออก ความขัดแย้งก็ยิ่งจะลุกลาม

และอีกทางหนึ่งก็คือเลื่อนตำแหน่งให้เป็น รมว. แต่จะต้องเอาคนออก ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน และจะยอมให้กระทรวงใหญ่หรือเล็ก

ความสามารถของธรรมนัสในการเลือกตั้งครั้งหน้า เขาจะอยู่กับคนอื่นก็ได้ ตั้งพรรคเองก็ได้ และยังมีความสามารถสนับสนุนพรรคเล็กอีก ขึ้นอยู่กับระบบการเลือกตั้งว่าจะเป็นแบบไหน

ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคพลังประชารัฐหรือพรรครัฐบาลจะไม่เป็นแบบการเลือกตั้งปี 2562 เนื่องจากฝีมือการบริหารที่ไม่ได้เรื่อง จะมีการแฉเรื่องการทุจริตต่างๆ กระแสของพรรคจะตกลงมาก แม้จะมีการหาเสียงที่ใช้เงินเข้าช่วย ในสภาพเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ประชาชนบางส่วนคงรับเงิน และจะรับจากทุกพรรคการเมืองที่มาแจก แต่ทำไมเขาจะต้องเลือกพรรคที่ทำงานไม่ได้เรื่องด้วยล่ะ

 

แต่ที่ทำทั้งหมดประชาชนไม่ได้อะไร

การเมืองจะแรงขึ้น…แต่จบอย่างไร?

ที่ว่าการเมืองแรงขึ้นนั้น การต่อสู้ในสภาคงไม่ได้แรงขึ้นแต่อย่างใดเพราะฝ่ายค้านก็มีความสามารถทำได้แค่นั้นเอง เมื่อประชาชนไม่พอใจรัฐบาล จากแรงกดดันทางเศรษฐกิจ คนจนมีเพิ่มมากขึ้น การล้มละลายของ SME และพ่อค้าแม่ขายในท่ามกลางวิกฤต จะเกิดการเรียกร้อนบนถนนมากขึ้น จนพัฒนากลายเป็นวิกฤตการเมืองได้ แม้จะมีโควิดระบาด แต่เมื่อความยากลำบากมากจนถึงที่สุดก็จะไม่มีใครกลัวโรค

การอยู่อย่างไร้ความหวังเป็นเรื่องที่สังคมไทยซึ่งพัฒนามาได้ระดับหนึ่งแล้วยอมไม่ได้ โดยเฉพาะปัญญาชนและคนชั้นกลาง

การประท้วงการเรียกร้องที่เกิดขึ้นอยู่ในทุกวันนี้จะดำเนินต่อไป และคนที่เดือดร้อนจะมากขึ้นทุกสัปดาห์ทุกเดือน

แต่การเคลื่อนไหวในวันนี้มีความจำกัดอย่างมากทั้งเรื่องโรคระบาด และแรงกดดันจากรัฐบาลที่ใช้กฎหมายเกือบทุกฉบับเพื่อสกัดกั้น ตั้งแต่การใช้เครื่องเสียง จราจร กฎหมายความมั่นคง 116 และคดีหมิ่น 112

วันนี้แม้มีรูปแบบและวิธีการที่ดีพอสมควร การคิดรูปแบบคาร์ม็อบ เป็นพัฒนาการที่ดีที่สุดในช่วงนี้ แต่การชุมนุมที่จุดเดิมทุกวันน่าจะยังไม่ใช่ยุทธวิธีที่ดี การย้ายจุดไปได้เรื่อยๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลบางจุด น่าจะดีกว่า บางแห่งอาจจะใช้สัปดาห์ละครั้ง ผู้คนแถวนั้นคงไม่เดือดร้อนมาก

การกระจายการชุมนุมออกไปก็จะทำให้เกิดความคึกคักของผู้คนในปริมณฑล เช่น รังสิต นนทบุรี ปากน้ำ ได้เข้าร่วมและได้มีการศึกษาเข้าใจปัญหาและแนวทางแก้ปัญหา

วิกฤตของประเทศครั้งนี้ร้ายแรงและยาวนาน จะยากลำบากนับ 10 ปี สิ่งที่จะกดทับชาวบ้าน คือความยากจน หนี้สิน โรคภัยไข้เจ็บ การแก้ไขไม่เพียงต้องหาคนเก่งมาบริหารอย่างทันการ ยังต้องการความร่วมมือของเอกชน และนักวิชาการ

ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง วิกฤตการเมืองจะเกิดขึ้นพร้อมกับวิกฤตเศรษฐกิจ ในท่ามกลางโรคระบาด การลดแรงกดดัน คือถอยโดยการยุบสภา หรือยอมแก้รัฐธรรมนูญให้เลือก ส.ส.ร. ถ้าไม่ถอยก็ต้องไปดูตัวแบบพฤษภาคม 2535