คำ ผกา | พุทธเทียมหรือปมด้อย

คำ ผกา

ความสัมพันธ์ของพุทธศาสนิกชนชาวไทยกับพุทธศาสนาและพระสงฆ์นั้นซับซ้อน จำเป็นที่จะต้องเข้าไปคลี่คลายมันทีละเปลาะ ถึงพอจะเห็นหนทางว่าเราจะทำความเข้าใจสิ่งนี้อย่างไรดี

ฉันจะลองแกะรอยไปอย่างไม่เป็นทางการ เผื่อมันจะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจ

ตามสถิติคนไทยนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทร้อยละ 85-95 จนทำให้เราถือไปโดยปริยายว่า พุทธศาสนาคือศาสนาประจำชาติ และถ้ามีใครมาถามว่าเอกลักษณ์ของความเป็นไทยคืออะไร เราจะสามารถตอบได้โดยไม่คิดเลยว่า พุทธศาสนา

และฉันก็ค่อนข้างมั่นใจว่าเราทุกคนที่ระบุว่าเรานับถือศาสนาพุทธในบัตรประชาชนนั้น ลึกๆ เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามั่นใจว่าเราเป็น “คนไทย” จริงๆ

ทีนี้ถามว่าคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธมีวัตรปฏิบัติอย่างไรในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน?

ฉันเคยเดินเล่นอยู่ในตัวเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอนเมื่อสักสิบกว่าปีที่แล้ว เราเดินผ่านวัดในช่วงบ่าย และคงจะเป็นวันพระ ฉันได้ยินเสียงพระและ “ศรัทธาวัด” สวดมนต์ในทำนองที่ไม่คุ้นหู และตั้งอกตั้งใจสวด เป็นเสียงกระหึ่มออกมาจากวิหาร ล่องลอยอยู่ในบรรยากาศ

ชวนให้รู้สึกถึงพลังงานบางอย่างที่แม้แต่คนอย่างฉันก็อดไม่ได้ที่อยากจะหลงใหลไปในมนต์ขลังของความเลื่อมใสศรัทธานั้น

อีกครั้งที่เมืองเชียงตุง ประเทศเมียนมา ที่จะได้เห็นว่า การไปวัดเพื่อสวดมนต์ในวันพระนั้นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนที่นั่นมาก และไม่ได้ไปเฉพาะในตอนกลางวัน แต่ไปสวดมนต์ที่วัดในเวลากลางคืนด้วย ไม่ได้นุ่งขาว ห่มขาว แต่แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่ดีที่สุด แล้วก็ตั้งใจมากที่จะไปนั่งสวดมนต์ และเป็นการสวดที่ต่างคนต่างสวด ไม่เกี่ยวกับใคร สวดของใครของมัน

หรือแม้แต่ที่เชียงใหม่ในสมัยที่ฉันถูกยายบังคับให้ไปวัดทุกวันพระ และยายก็ซีเรียสเรื่องการไป “ฟังธรรม” ที่วัดตั้งแต่สายๆ กว่าจะจบจะเลิกก็เกือบเย็น

ทั้งที่แม่ฮ่องสอน เชียงตุง เชียงใหม่ (เท่าที่ฉันมีประสบการณ์) ความสัมพันธ์ของเราในฐานะ “ศรัทธา” กับตัวพุทธศาสนานั้นมีสองระดับ

ระดับแรกคือ เราที่สนทนากับ “ศาสนาพุทธ” โดยตรง นั่นคือการไปวัด การไปไหว้ “พระเจ้า” (แปลว่าพระพุทธรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์พระประธาน) การสวดมนต์ภาวนา การเอาดอกไม้ไปถวายขันแก้วทั้งสาม การจุดธูป จุดเทียน และอีกร้อยอันพันอย่างที่เราต้องทำ โดยไม่ค่อยเกี่ยวกับ “พระสงฆ์” เท่าไหร่

และการมีอยู่ของพระสงฆ์ในทุกๆ กิจกรรมที่เราไปทำนั้นก็เป็นเพียงหนึ่งในองค์ประกอบการไป “ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ศรัทธาในพุทธศาสนา” เป็นองค์ประกอบที่เหมือนไม่ได้ต่างจากหากเราจะไปตีแบดฯ เราต้องมีคอร์ต มีไม้แบดฯ มีลูกขนไก่ ฯลฯ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ ดังนั้น ถ้าเราไปวัดเพื่อทำอะไรสักอย่างเพื่อบรรลุซึ่งหน้าที่ของพุทธศรัทธาที่ดี มันเป็นเรื่องระหว่างเรากับตัวศาสนาพุทธโดยตรง และพระสงฆ์เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ช่วยให้เราบรรลุภารกิจนั้น

ดังนั้น ในสมการนี้ เราจึงไม่ค่อยซีเรียสกับ “ความเป๊ะ” ของพระสงฆ์

เราไม่ได้คาดหวังว่า พระสงฆ์ต้องเคร่งครัด สำรวม ต้องปฏิบัติธรรม ภาวนา ต้องอดอาหาร

ในบริบทนี้ เราไม่ได้ไปวัดเพื่อไหว้พระสงฆ์ เราไปวัดเพื่อการบำเพ็ญ บำเพ็ญทานของเราเอง โดยมีพระสงฆ์เป็นหนึ่งในองค์ประกอบ

ดังนั้น เราจะโฟกัสที่ความ “เคร่ง” หรือพฤติกรรมของตัวเรามากกว่าตัวพระสงฆ์

เราจะไม่แคร์เท่าไหร่ ถ้าพระสงฆ์จะหละหลวม เพราะใครทำใครได้ พระไม่ได้ทำ พระก็ไม่ได้ ก็เท่านั้นเอง

แต่ตราบใดที่พระสงฆ์ไม่บกพร่องในการเป็นองค์ประกอบเพื่อการบำเพ็ญบุญหรือทานของเรา เช่น เราก็โอเค

ถ้าใครเติบโตมาในหมู่บ้านชนบทก็จะชินกับการมีสองบทบาทในความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับชาวบ้าน

นั่นคือ ในระหว่างประกอบ “พิธี” ทุกคนจะอยู่ในที่ในทาง ดูอลังการศักด์สิทธิ์ ดู “ศาสนา” มาก

แต่พอจบพิธีกรรม เดินออกมาจากโบสถ์จากวิหาร ก็คุยหยอกล้อ ด่าทอ หรือเล่นหัวกันเหมือนภาวะศักดิ์สิทธิ์เมื่อสักครู่ไม่เคยเกิดขึ้น

ราวกับว่าพอถอนตัวออกจากพิธีกรรมนั้น ทุกคนก็กลับมาเป็นมนุษย์ เพียงแต่เป็นมนุษย์คนละบทบาท ฝั่งหนึ่งเป็นฆราวาส ฝั่งหนึ่งเป็นนักบวช เท่านั้นเอง

ระดับที่สอง เราสัมพันธ์กับพระสงฆ์ในฐานะที่ท่านทำหน้าที่บริหาร จัดการ ดูแล “วัด” อันเป็นศาสนสถานและสถานที่ที่ให้เราได้ไปบำเพ็ญตนในฐานะคนนับถือศาสนาพุทธ

นั่นแปลว่า พระสงฆ์มีหน้าที่ดูแล ใช้ “ทรัพยากร” ที่เป็น sharing economy ของชุมชน ทั้งที่ดินของวัด โบสถ์ วิหาร ศาลาอเนกประสงค์ เหล่านี้ใช้เงินกองกลางสร้าง สร้างเสร็จก็เป็นสมบัติกองกลางใช้ร่วมกัน

ในบทบาทนี้ชาวบ้านก็ไม่ได้คาดหวังให้พระสงฆ์ไปบรรลุนิพพาน แต่คาดหวังให้พระสงฆ์เป็นนักบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส สุจริต มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองในแบบที่ “ชาวบ้าน” ชอบ

ในวัฒนธรรมอย่างที่ฉันคุ้นเคย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ วัดกับพระประธาน ส่วนพระสงฆ์เหมือนเป็น “พนักงาน” ของศาสนกิจมากกว่าจะเป็นวัตถุประสงค์แห่งการบรรลุซึ่งการเป็นตนบุญด้วยตนเอง

ตรงกันข้าม ฆราวาสต่างหากที่พยายามจะเฆี่ยนตีตัวเองเพื่อให้บรรลุซึ่งการเป็นพุทธศาสนิกที่ดีที่สุดเท่าที่ความทะเยอะทะยานของแต่ละคนจะมี

และในความไม่คาดหวังเรื่องพฤติกรรมที่ต้องเรียบตึงขึงเป๊ะกับพระสงฆ์แล้ว เรายังแยกแยะบทบาทของพระสงฆ์ออกเป็นสองกลุ่ม

คือ พระสงฆ์ที่เข้ามาบวชด้วยตั้งใจจะ “เอาดี” ทางนี้

กับพระสงฆ์ สามเณรที่มาบวชเพื่อ “เรียน” ก่อนมีการศึกษาสมัยใหม่ วัดก็เป็นแหล่งรวมความรู้ ศิลปะวิทยาการหลายแขนง ทั้งอักษรศาสตร์ วรรณกรรม ศิลปะ งานช่าง ศิลปะการต่อสู้ ป้องกันตัว การต่อยอดเรื่องอาคม ของขลัง เด็กชายที่เข้ามาบวชเรียนก็มาค้นหาตนเอง เลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบ จากนั้นก็เป็นที่รู้กันว่า ถึงเวลา พระ-เณรเหล่านี้ก็จะสึกไปเป็นฆราวาส ประกอบสัมมาชีพเหมือนเราๆ ท่านๆ ดังนั้น เรายิ่งไม่คาดหวังความเป๊ะปังเชิงวินัยสงฆ์ใดๆ กับพระ-เณรเหล่านี้ เอาแค่รู้กาลเทศะ ก็งดงามแล้ว

ความสัมพันธ์ระหว่างฆราวาสกับพระสงฆ์ใน “บริบท” เช่นนี้จึงมีความอะลุ้มอล่วย เมตตา ให้อภัย ผ่อนหนักผ่อนเบากันอย่างมหาศาล

ฉันจึงค่อนข้างช็อกที่ต่อมาได้เรียนรู้ว่าสังคมไทยในอีกซีกหนึ่งนั้นมีความคาดหวังกับพระสงฆ์ชนิดที่เหมือนมาจากการคนละประเทศ

นั่นคือ คาดหวังว่าพระสงฆ์จะต้องเป็นอริยบุคคล ต้องสละแล้วซึ่งทางโลก ต้องมีวัตรปฏิบัติไปตามจินตนาการว่าด้วยพระสงฆ์ในอุดมคติ (ซึ่งก็น่าสืบค้นว่าลักษณะพระสงฆ์ในอุดมคตินี้ถูกประกอบสร้างมาอย่างไร)

ทั้งหมดนี้ฉันเดา (เดาล้วนๆ ไม่มีการศึกษาวิจัยใดๆ) ว่า กรุงเทพฯ หรือรัตนโกสินทร์นั้นต้อง “ปะทะ” กับเจ้าอาณานิคม และโลกตะวันตกในแบบที่ต้องพยายาม defend ตัวเองว่า “ฉันก็ไม่แพ้ใครในโลก” หรือ “ฉันก็ไม่ได้ด้อยพัฒนาไปกว่าพวกเธอนะ นังฝรั่งผมทองทั้งหลาย”

ผู้ปกครองและชนชั้นนำไทยต้องเผชิญกับ “คำถาม” จากพวกฝรั่งมังค่า ที่พยายามจะ “ด้อยค่า” ชาวพื้นเมือง ทั้งเรื่องมารยาท อาหารการกิน ความเชื่อ ค่านิยมเรื่องครอบครัว ภาวะผัวเดียวหลายเมีย

ความงมงายในไสยศาสตร์ และอีกสารพัดสิ่งที่เหล่าคนขาวจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ป่าเถื่อน หรือ uncivilized อ่าน บันทึกของแหม่มแอนนา ก็จะเห็นประเด็นเหล่านี้ชัดเจน

และแน่นอนว่าพุทธศาสนาก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกท้าทายอย่างมากเช่นกัน เราจึงเห็นการดีเบตระหว่างปัญญาชนไทยในยุคนั้นกับมิชชันนารี หรือบรรดาผู้ที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนา เช่น ดีเบตระหว่างรัชกาลที่สี่กับหมอบรัดเลย์

สิ่งหนึ่งที่ฝรั่งมังค่าถามกันมากคือเรื่องพฤติกรรมของพระสงฆ์ สามเณรสยาม มองจากสายตามิชชันนารี ที่จะถือว่าเป็นกลุ่มคนที่อุทิศตนเพื่อศาสนาอย่างค่อนข้างสุดโต่งก็ย่อมมองพุทธศาสนาของสยามคล้ายๆ กับที่คนชั้นกลางมีการศึกษาของไทยมองอยู่ตอนนี้คือ ทำไมงมงายในไสยศาสตร์?

ทำไมพระสงฆ์ไม่เคร่งครัดสำรวม? ไม่ทำตัวน่านับถือเยี่ยงนักบวชที่ควรจะเป็น? ฯลฯ

ชนชั้นนำไทยนับตั้งแต่นั้นและต่อมา จึงพยายามจะ defend ว่าพุทธศาสนาของเราเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นเหตุเป็นผลไม่แพ้ศาสนาใดในโลก

และมีความพยายามที่จะ “ปฏิรูป” วงการสงฆ์ให้เรี่ยมเร้เรไร น่าเลื่อมใส ไม่เป็นที่อับอาย

และไม่เป็นเหตุให้ฝรั่งมันอ้างมาล่าเราไปเป็นเมืองขึ้น

ผลพวงจากกระบวนการสู้กับอำนาจอาณานิคมนี้เองที่ตกค้างอยู่ในจิตสำนึกชาวสยาม ที่มั่นใจว่า “เราแกร่งมาก เราสู้ฝรั่งได้ เราเป็นประเทศเดียวที่ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นใคร”

ขณะเดียวกันก็รู้สึกไม่มั่นใจ เหมือนมีปมด้อยเล็กๆ เรื่องกลัวโดนฝรั่งดูถูก เราเลยมี mentality แบบ “เมืองไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก”

เช่น เรากลัวว่า ศาสนาพุทธของเราจะโดนดูถูก เราจึงถูกกระตุ้นได้ง่ายมากจากหนังสือประเภทที่บอกว่า ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ

เพราะการที่มีคนมาบอกเราว่า ขนาดไอน์สไตน์ยังยอมพระพุทธเจ้าเนี่ย มันช่วยเรื่องปมด้อยของเราตรงนี้ได้สุดๆ (ซึ่งถ้าเรา secure จริงๆ เราจะไม่เอาไอน์สไตน์มาเป็นตัวเทียบเคียงนะ)

บางปัญญาชนก็บอกว่า สิ่งที่นักคิดโพสต์โมเดิร์นพูดๆ มาน่ะ พระพุทธเจ้าพูดมาหมดแล้ว

บ้างก็พยายามจะบอกว่า พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่เป็นเหตุเป็นที่สุด วิทยาศาสตร์สุดๆ ไม่มีหลักอะไรจะเป๊ะทางเหตุผลเท่าหลักอิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาทอีกแล้ว

ซึ่งฉันเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นพุทธศาสนาในจินตนาการหรือในอุดมคติของคนไทย มาถึงส่วนที่เป็นพระสงฆ์ เราก็วาดฝัน จินตนาการถึงสงฆ์ในอุดมคติ เคร่งครัด สำรวม สมถะ อุทิศตนเพื่อการปฏิบัติภาวนาสมาธิ วิปัสสนา เมตตาสูง

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ฝัน

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงเราก็ไปวัดเพื่อปล่อยนกปล่อยปลา ขอหวย ถวายสังฆทาน สะเดาะเคราะห์ ขอโชคลาภ เลขมงคล

สิ่งที่เราอยากนำเสนอและอยากให้คนอื่นเห็น คือ พุทธศาสนา ปรัชญา เหตุผล แต่ตัวตนที่แท้จริงของเราอยู่วัดท่าไม้

นี่คือสิ่งที่ฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาเมื่อฉันได้มาปะทะสังสรรค์กับคนนอกหมู่บ้านภาคเหนือที่ฉันเติบโตมา

ซับซ้อนไปกว่า ในขณะที่ปากก็เพรียกหา “พุทธแท้” แต่คนเหล่านี้ก็วัดระดับความเป็นอีลิตกันที่ใครได้เข้าหาพระชั้นผู้ใหญ่ลำดับศักดิ์สูงๆ ที่มีเครื่องอัฐบริขารเป็นเก้าอี้หลุยส์และรถหรูและบริวารห้อมล้อมอย่างแน่น

อ้าว ไหนนิยมความสมถะ ละทิ้งลาภ ยศ สรรเสริญ?

ไม่แค่นั้น คนกลุ่มเดียวกันนี้แหละ ก็ยังชอบ “ขิง” ใส่กันเรื่องใครไปหาพระวัดป่าจริงจังกว่ากัน พระอาจารย์รูปไหนโปรดใครมากกว่าใคร ใครอุทิศถวายบุญมากกว่าใคร ก็กลายเป็น “สัญญะ” ของการแสดงชนชั้น และความ exclusive เหนือใครไปอีก

คนเหล่านี้คือคนประเภท เดี๋ยวๆ ก็หิ้วแอร์เมส เดี๋ยวๆ ก็อวดความพอเพียง หิ้วถุงผ้า ไปทำนา สลับไปสลับมา

ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไร แต่เพื่อสำแดงความ “เหนือ” กว่าใครๆ ในทุกเรื่อง – เท่านั้น

และนี่คือความประดักประเดิดในทุกมิติว่าด้วยความพยายามจะเป็นพุทธที่แท้ที่สุด ถูกต้องที่สุดในโลกของปวงชนชาวสยาม

ล่าสุดเมื่อมีพระอย่างพระมหาไพรวัลย์ และพระมหาสมปอง ออกมาไลฟ์ ในจริตที่ไม่ตรงกับ “พระ” ในจินตนาการ แต่โคตร “จริง” ในโลกแห่งความเป็นจริง คนก็เลยตื่นเต้นกันยกใหญ่ คนดูหลายแสน เพราะมันปลดล็อกปมว่าด้วยความจริงกับจินตนาการที่ไม่ตรงกันของเราในเรื่องพระออกไปเสียที

และการปลดล็อกที่สำคัญมากที่สุดคือ มันปลดล็อกเรื่อง “ปมด้อย” ว่าด้วยกลัว “คนอื่น” ดูถูกว่า พุทธเราไม่ดีพอ

การไลฟ์ของพระสองรูปนี้ ทำให้คนไทย secure กับสิ่งที่เรา “เป็น” ว่าแม้มันไม่เพอร์เฟ็กต์

แต่ไม่มีใครแคร์หรอกจ้า พ่อคุณแม่คุณเอ๊ย

อย่าคิดว่าประเทศเรา พุทธศาสนาของเราเป็นศูนย์กลางจักรวาลขนาดนั้น