โรงเรียนอาจเป็นคลัสเตอร์โควิด เพราะเงินเยียวยา ‘2 พัน’ ใครต้องรับผิดชอบ?/รายงานพิเศษ อุสตาซอับดุชชะกูรฺ

รายงานพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

โรงเรียนอาจเป็นคลัสเตอร์โควิด

เพราะเงินเยียวยา ‘2 พัน’

ใครต้องรับผิดชอบ?

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

วันที่ 5 กันยายน 2564 ผู้เขียนได้เกาะติดมาตรการการจ่ายเงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท (ผ่านโลกโซเชียลและลงพื้นที่) อันเป็นนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อบรรเทาและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครองและนักเรียนในสถานการณ์โควิด 19 รวมแล้วจำนวนรวมเกือบ 11 ล้านคน ประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาสังกัด ศธ.ทั้งภาครัฐและเอกชนที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ รวมทั้งสิ้นประมาณ 9.8 ล้านคน

ส่วนสถานศึกษานอกสังกัด ศธ. มีทั้งสินประมาณ 1.2 ล้านคน ประกอบด้วยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร และสถานศึกษาสังกัดเมืองพัทยา

มีไทม์ไลน์การจ่ายเงินไม่เกินวันที่ 7 กันยายนนี้

ซึ่งพบว่าบางเขตการศึกษา บางโรงเรียน เริ่มมีการจ่ายเงินเยียวยานักเรียนจำนวน 2,000 บาท ให้กับผู้ปกครองแล้ว ท่ามกลางความดีใจของเด็กและผู้ปกครอง

อย่างไรก็แล้วแต่ ก็ยังมีอีกนับหลายร้อยโรงเรียนในพื้นที่สีแดงโควิดจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาที่จำเป็นต้องจ่ายหลังวันที่ 7 กันยายนนี้

ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนออีกมุมมองหนึ่งของการดำเนินงานครั้งนี้เพื่อรัฐสามารถบริหารจัดการได้รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ ปลอดภัย ถึงมือนักเรียนและผู้ปกครอง ลดภาระครู สอดคล้องกับยุค 5.0 ช่วงวิกฤตโควิด

 

โรงเรียนอาจเป็นคลัสเตอร์โควิดเพราะเงินเยียวยา “2 พัน” ใครต้องรับผิดชอบ?

ถ้าข้อความนี้เป็นจริงน่าหัวเราะมากๆ

ข้อความนี้ถูกส่งไปในไลน์ต่างๆ

“ฝากแจ้งเตือนโรงเรียนทุกแห่งด้วยครับ การจัดระบบและการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยในการจ่ายเงินให้ผู้ปกครองที่เข้ามารับเงินสด จะต้องทำกันอย่างจริงจัง ไม่ให้คนหนึ่งคนใดมี Timeline ว่าติดเชื้อ Covid จากการไปรับเงินที่โรงเรียน เพราะจะมีผลต่อการขอให้โรงเรียนเปิดเรียนแบบ on site ช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นของสังคมให้ได้ และที่สำคัญ ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนเอกชนมีโอกาสแจกเงินช่วยเหลือผู้ปกครองอย่างถ้วนหน้า ขอให้ช่วยเก็บบันทึกภาพบรรยากาศของแต่ละโรงเรียนไว้ด้วยครับ ด้วยความห่วงใยครับ อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการ กช. 4 กย. 64”

ทำไม ศธ.หรือ สช.ไม่โอนเงิน 2,000 บาทให้เด็ก/ผปค.โดยตรง โอนให้โรงเรียนยุ่งยาก แล้วให้โรงเรียนโอนต่อ/แจกต่อ ด้วยกฎระเบียบมากมายที่ทำให้เป็นภาระแก่โรงเรียนที่อาจจะต้องแจกเงินสดที่โรงเรียนอันมีโอกาสที่จะทำให้โรงเรียนเป็นคลัสเตอร์โควิด

ครูสอนออนไลน์ก็เหนื่อยพอแล้ว?

Big Data กับ Digital เอาไว้ทำอะไร

เชื่อแน่ว่าสัปดาห์นี้โรงเรียนและครูไม่ต้องสอนกัน

บริหารจัดการแบบ 2.0 ทั้งๆ ที่อยู่ยุค 4.0-5.0 ทำไมก็ลองมาดู เหล่านี้คือเสียงสะท้อน

 

สําหรับผู้ปกครองท่านไหนที่เวลานี้กำลังรอฟังข่าวการจ่ายเงินช่วยเหลือนักเรียน เวลานี้ทางรัฐบาลเริ่มทยอยโอนเงินให้แก่เหล่าผู้ปกครองกันบ้างแล้ว (ผ่านโรงเรียน) โดยในเวลาที่ท่านรอรับเงินนี้ก็อย่าลืมเตรียมเอกสารให้พร้อม เพื่อที่สำหรับรับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท โดยกระทรวงการคลังได้โอนเงินให้แก่โรงเรียนทุกสังกัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ปกครองสามารถติดต่อสถาบันการศึกษาของบุตรหลานของท่าน เพื่อรับเงินช่วยเหลือได้โดยตรง

สำหรับท่านผู้ปกครองนักเรียนที่จะรับเงินช่วยเหลือ ให้เตรียมเอกสารเพื่อรับเงินดังนี้

กรณีที่ท่านต้องการรับเป็นเงินสด

สำเนาบัตรประชาชนนักเรียน (โปรดลงลายมือชื่อ วัน เวลา เพื่อเป็นหลักฐาน เซ็นสำเนาถูกต้อง)

สำเนาบัตรประชาชนผู้ปกครอง (โปรดลงลายมือชื่อ วัน เวลา เพื่อเป็นหลักฐาน เซ็นสำเนาถูกต้อง)

กรณีรับผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร (ตรงนี้มีค่าใช้จ่ายการโอนเงิน)

สำเนาบัญชีที่ใช้รับเงิน (โปรดลงลายมือชื่อ วัน เวลา เพื่อเป็นหลักฐาน เซ็นสำเนาถูกต้อง)

นอกจากนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดตามจากสถานศึกษาของท่านเองโดยตรง

ทั้งนี้ รัฐบาลสั่งให้โรงเรียนห้ามหักเก็บไว้เป็นค่าเทอมอย่างเด็ดขาด ระบุเงินทุกบาทต้องถึงมือผู้ปกครอง หากท่านเจอโรงเรียนไหนหักเก็บไว้เป็นค่าเทอมสามารถเข้าแจ้งความได้ทันที

เสียงสะท้อนจากโรงเรียนและครู

 

เหล่านี้คือเสียงสะท้อนจากโรงเรียนและครูส่วนหนึ่ง เช่น

“มันเป็นนโยบายลอยตัว ผลักภาระให้ครู ให้ครูทำงานซ้ำซ้อน และให้ครูโดน ผปค.ด่าแทน รมต. หรือใครก็แล้วแต่ที่ออกนโยบายนี้ ให้ข่าวเอาหน้า แล้วสุดท้ายก็โยนให้ครูแก้ตลอด ถ้าไม่เห็นแก่เด็ก อย่าคิดว่าจะทำ”

“ครูก็มีปอด ถ้ามันโอนผ่านแอพพ์ ‘เข้าบัญชีผู้ปกครองง่ายๆ’ แบบจ่ายโดยไม่มีค่าธรรมเนียมได้ ใครจะอยากจ่ายเงินสด แต่นี่ออกระเบียบหลักฐานการจ่ายเงินต้องมีตราประทับธนาคาร ต้องโอนหน้าเคาน์เตอร์ธนาคารเท่านั้น แล้วครูจะเอาค่าธรรมเนียมต่างธนาคารมาจากไหน?”

“คนที่โดนสองต่อคือครู ทั้งต้องปฏิบัติตามนโยบายที่เปลี่ยนรายวัน ทั้งต้องมานั่งตอบคำถามผู้ปกครอง พอตอบไม่ได้ก็โดนด่าอีก ในขณะที่คนออกนโยบาย ไม่รู้ร้อนรู้หนาว มันไม่ใช่แค่ผู้ปกครองที่เดือดร้อน ครูก็เดือดร้อน และเดือดร้อนแบบสองต่อด้วย กลัวโควิดก็กลัว เงินก็ต้องจ่าย นโยบายก็ต้องปฏิบัติตาม มีใครมาช่วยครูแก้ปัญหาตรงนี้ไหม ก็ไม่นะ ทุกคนโยนให้เป็นความรับผิดชอบครูหมด ทั้งที่ครูเองก็ไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่าผู้ปกครองเลย กระทรวง+สพฐ.+…ก็ไม่เคยให้แนวทางการดำเนินงานอะไรที่มันชัดเจน แล้วยิ่งมีโพสต์โยนขี้ให้ครู ส่งผลให้ตอนนี้มีคนรุมด่าครูเพราะเรื่องนี้ไปเท่าไหร่แล้ว”

กระทรวงศึกษาธิการบอกว่า การจ่ายเงินสามารถทำได้ 2 กรณี

1. จ่ายเงินสด

2. โอนเงิน

ว่าด้วยเรื่องการโอนเงิน หลักฐานการโอน ต้องเป็นสลิป หรือ statement ที่ออกจากบัญชีโรงเรียน ถึงบัญชีของผู้ปกครองเท่านั้น เมื่อโรงเรียนไปถามที่ธนาคาร ธนาคารได้บอกว่าไม่มีเจ้าหน้าที่สำหรับคีย์ข้อมูล ให้ติดต่อที่สำนักงานใหญ่…เมื่อสอบถามไปที่สำนักงานใหญ่ สำนักงานใหญ่บอกต้องสมัคร ktb coperate online (บริการโอนอัตโนมัติ คล้ายๆ พวกเงินเดือน ที่จะเป็นระบบออโต้) ซึ่งมีค่าสมัครตามระดับการสมัคร แต่ที่โรงเรียน ถ้าสมัครต้องเป็นแบบ VIP (ยอด 500,000-5,000,000 ไม่จำกัดจำนวนครั้ง/วัน) ซึ่งมีค่าสมัคร และมีค่าธรรมเนียมในการโอนด้วย ซึ่งสมมุติเป็นเลขกลมๆ แบบขั้นต่ำ 30 บาท นักเรียนมี 600 คือแค่ค่าธรรมเนียมอย่างน้อยๆ คือ 18,000 ไม่รวมค่าสมัคร ไม่สามารถเอาเงินโรงเรียนอุดหนุนอะไรมาจ่ายได้ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ใช้ไม่ได้ โรงเรียนจึงไม่ได้ทำ

ผู้ปกครองหลายคนบอกว่าก็โอนผ่านแอพพ์บัญชีโรงเรียน ก็ไม่สามารถผูก app ได้ และการโอน app เงินจาก บช.ครูถึงผู้ปกครอง ไม่นับเป็นหลักฐานการโอนได้ ทำให้สุดท้ายครูต้องจ่ายเงินสด

ที่อยากบอกคือ ครูคือคนล่างสุดที่ต้องทำงาน คนสั่งเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายรอบ ครูก็คือผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง ต้องแบกความรับผิดชอบ ถ้าเอกสารพลาด ครูคือผู้รับผิดชอบ

ข้อเสนอแนะในอนาคต

– โอนเงินโดยตรง

ศธ.โอนเงินให้เด็ก/ผปค.โดยตรง ไม่ต้องโอนให้โรงเรียนยุ่งยาก อันจะลดภาระแก่โรงเรียน

การต้องแจกเงินสดที่โรงเรียนมีโอกาสที่จะทำให้โรงเรียนเป็นคลัสเตอร์โควิด

หากกระทรวงศึกษาธิการบอกว่าทำไม่ได้ ควรกลับไปศึกษาดูว่าเงินเยียวยา ม.33 ม.40 ประกันสังคมไม่ใช้กระดาษสักแผ่น ทำไมเขาทำอย่างไร เพื่อรัฐสามารถบริหารจัดการได้รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ ปลอดภัยถึงมือนักเรียนและผู้ปกครองลดภาระครู

สอดคล้องกับยุค 5.0 ช่วงวิกฤตโควิด