ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 กันยายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
ผู้เขียน | ชนัดดา ชินะโยธิน [email protected] |
เผยแพร่ |
คุยกับทูต พาฟโล โอเรล
ยูเครนที่ทันสมัยวันนี้ (ตอน 2)
ยูเครนได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลกมานานแล้วเพราะมีพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลและมีดินอันอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก
เป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกธัญพืชสำคัญของโลก ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด และข้าวไรย์
จึงได้รับการขนานนามว่า เป็นตะกร้าขนมปังของยุโรป (Breadbasket of Europe) อีกด้วย
และไม่เพียงแต่ด้านการเกษตร ยูเครนยังมีดีทางภาคการผลิตด้านอวกาศและอุปกรณ์อุตสาหกรรม
ยูเครนมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมหนักหลายสาขา ได้แก่ การผลิตโลหะ อุตสาหกรรมด้านวิศวกรรม เครื่องกล เหมืองแร่ อุตสาหกรรมการต่อเรือ การผลิตยานยนต์และเครื่องบินขนาดใหญ่
อีกทั้งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันออก โดยเป็นผู้ส่งออกเหล็กอันดับ 7 ของโลก
ยูเครนเป็นประเทศหน้าด่านระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรป (EU) โดยเฉพาะการเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งน้ำมันจากรัสเซียเข้าสู่ยุโรป มีเมืองโอเดสซา (Odessa) เป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของยูเครน
และเป็นศูนย์กลางการเดินเรือหลักในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้และคาบสมุทรบอลข่าน

นายพาฟโล โอเรล (Pavlo Orel) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย เล่าถึงศักยภาพที่โดดเด่นของยูเครน
“เศรษฐกิจของเรานอกจากทางการเกษตรแล้ว ยังมาจากอุตสาหกรรมเหล็ก และโลหการ การผลิตเครื่องจักร การผลิตรถโดยสาร และยานพาหนะขนส่งสินค้า รถแทร็กเตอร์และการผลิตหัวรถจักรดีเซล อุปกรณ์สำหรับโรงไฟฟ้า กังหัน อากาศยานและเครื่องยนต์ อุปกรณ์สำหรับโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานเคมี”
“ยูเครนเป็นประเทศผู้ผลิตพลังงานนิวเคลียร์อันทรงพลัง มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ท่าเรือน้ำลึกโอเดสซา (Odessa) และท่าเรือใกล้เคียง ซึ่งเป็นประตูออกสู่ทะเล ซึ่งมีความสำคัญระดับโลก”
“บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก Antonov State Company ได้ผลิตเครื่องบินมากกว่า 22,000 ลำ และมากกว่า 100 ประเภท โดยการดัดแปลงเครื่องบินสำหรับผู้โดยสาร การขนส่ง หรือตามวัตถุประสงค์พิเศษ”
“เครื่องบินขนส่งสินค้าสี่เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ Antonov An-124 Ruslan และ AN-225 ‘Mriya’ เป็นอากาศยานที่ถูกออกแบบมาเพื่อการขนส่งลำเลียงทางยุทธศาสตร์ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นความภาคภูมิใจของนักออกแบบด้านการบิน”

“เครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ‘Mriya’ เพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจการบินเพื่อขนส่งที่ไม่บ่อยนักทั่วยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย”
“ความสามารถเฉพาะตัวของ Antonov AN-225 ‘Mriya’ ก็เพื่อการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ (กังหัน รถราง ตู้รถไฟ) ในกรอบของการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยด้วย”


“นอกจากนี้ ยูเครนยังมีอุตสาหกรรมการต่อเรือที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี อู่ต่อเรือตั้งอยู่ในกรุงเคียฟ (Kyiv) และเมืองมายโคลาอีฟ (Mykolaiv) บนชายฝั่งทะเลดำ”
“ที่เมืองเคอร์สัน (Kherson) มีการสร้างเรือเดินสมุทรประเภทต่างๆ ได้แก่ เรือบรรทุกที่มีน้ำหนักถึง 100,000 ตัน เรือขนส่งสินค้าจำนวนมาก เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ตู้เย็น เรือประมง และเรือเดินสมุทรของกองเรือเทคนิค เรือบรรทุกทั้งแบบขับเคลื่อนด้วยตัวเองและแบบไม่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง”


“เรื่องที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงคือ ยูเครนเป็นบ้าน มากกว่าศูนย์กลางของนักพัฒนาซอฟต์แวร์และผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีเกือบ 100,000 คน บริษัทที่ให้บริการไอทีในท้องถิ่นก็มีมากกว่า 1,000 แห่ง เราได้เห็นความสามารถในการวิจัยและพัฒนาหรือ R&D เติบโตขึ้นเป็นตัวเลขสองหลักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในยูเครน โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกกว่า 100 แห่ง”

“ผมเชื่อว่าความสำเร็จของประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นขึ้นอยู่กับคนที่มีการศึกษา จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกโดย QS มหาวิทยาลัยยูเครน 3 แห่งได้รับเกียรติให้เป็น 1 ใน 500 สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ดีที่สุด ซึ่งคุณสมบัติทั้งหมดได้รับการยอมรับในระดับสากลโดย UNESCO, WHO ฯลฯ ซึ่งหมายความว่านักเรียนไทยมีโอกาสได้รับการศึกษาในยูเครน ด้วยโครงการแลกเปลี่ยนออนไลน์และการเคลื่อนย้ายทางวิชาการระหว่างประเทศ นี่เป็นความท้าทายที่ดีมากสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อต่างประเทศในฐานะนักศึกษาต่างชาติ”


“ประชาชนเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดของยูเครน ชาวยูเครนที่โดดเด่นในด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ ได้แก่ อิกอร์ ซิคอร์สกี (Igor Sikorsky) ผู้สร้างเฮลิคอปเตอร์, อีวาน ปูลูจ (Ivan Puluj) นักฟิสิกส์และนักประดิษฐ์ชาวยูเครน ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้พัฒนาการใช้รังสีเอกซ์สำหรับการถ่ายภาพทางการแพทย์ในยุคแรกๆ (ก่อน Wilhelm Roentgen ชาวเยอรมัน), เซอร์ไก โคโรเลฟ (Serhiy Korolev) ชาว Zhytomyr (หนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของยูเครน) ผู้ออกแบบเทคโนโลยีจรวดที่ประสบความสำเร็จเป็นคนแรกและเป็นผู้ก่อตั้งศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการบินในอวกาศ”


“และมิโคลา อาร์โมซอฟ (Mykola Amosov) เป็นตำนานแห่งการแพทย์โลก ผู้แนะนำเครื่องหัวใจและปอดเทียมสู่โลก เป็นต้น”

ส่วนความสัมพันธ์ทวิภาคีไทยกับยูเครน
“ยูเครนถือว่าไทยเป็นพันธมิตรทางการค้าและเศรษฐกิจรายใหญ่รายหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกัน เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของเรา เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 20 อันดับแรกของตลาดที่มีความสำคัญสูงสุด ตามยุทธศาสตร์การส่งออกของรัฐบาลยูเครน” อุปทูตยูเครนชี้แจง
“สินค้าที่ยูเครนส่งมายังประเทศไทยได้แก่ ธัญพืช อาหาร และผลิตภัณฑ์โลหะ ส่วนไทยส่งผลิตภัณฑ์เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ และอาหารไปยังยูเครน”
“นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศของเรา การค้าทวิภาคีและความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้พัฒนาอย่างมีพลวัต แม้ว่าจะมี ‘ขึ้นๆ ลงๆ’ บ้างก็ตาม”

“แต่จากการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้การค้าระหว่างกันลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2020 (ประมาณหนึ่งในสามเมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2019)”
“ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ โดยเราเชื่อว่าการจัดการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมาธิการการค้าร่วม (Joint Trade Commission) ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้บทบัญญัติของข้อตกลงการค้าทวิภาคีที่ลงนามในปี 2017 จะช่วยทำให้ทั้งสองฝ่ายได้จัดลำดับความสำคัญของขอบเขตความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน”
“ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับทวิภาคี คือการจัดประชุมธุรกิจยูเครน-ไทย (Ukrainian-Thai Business Forum)”
“ภาคส่วนที่มีแนวโน้มมากที่สุดสำหรับการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคี ได้แก่ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การบินและอวกาศ อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ แวดวงไอที การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และเภสัชศาสตร์”
“ผมมั่นใจว่าหากรัฐบาลและภาคเอกชนได้มีการเจรจาร่วมกันและมีความพยายามอย่างแข็งขันในการสำรวจศักยภาพที่มีอยู่ (โดยเฉพาะในด้านพลังงาน การบินและอวกาศ ไอที ความมั่นคงด้านอาหาร โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ) การค้าทวิภาคีอาจเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูรับโอกาสใหม่ในการลงทุนร่วมกัน”
ประวัติ นายพาฟโล โอเรล อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย เกิด : 1977 สถานภาพ : สมรส บุตร 3 คน ภาษา : ยูเครน, อังกฤษ, รัสเซีย, เยอรมัน การศึกษา : ปริญญาโทภาษาศาสตร์และภาษาต่างประเทศ
ประสบการณ์ 2001 : เริ่มอาชีพนักการทูต กระทรวงต่างประเทศ ประเทศยูเครน 2002-2004 : ผู้ช่วยเลขานุการ เลขานุการตรีคณะผู้แทนถาวรของประเทศยูเครนประจำสหประชาชาติ (ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน) 2004-2006 : เลขานุการตรี สถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศเยอรมนี (ประเด็นทางการเมือง) 2006-2008 : เลขานุการโท อธิบดีกรมสหประชาชาติ กระทรวงต่างประเทศยูเครน (การคว่ำบาตรของสหประชาชาติ การรักษาสันติภาพ) 2008-2012 : เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศโปรตุเกส (ประเด็นทางการเมือง) 2012-2014 : เลขานุการเอก อธิบดีกรมสหภาพยุโรป กระทรวงต่างประเทศยูเครน (ข้อตกลงสมาคมสหภาพยุโรป-ยูเครน) 2014-2019 : เลขานุการเอก (หัวหน้าแผนกเศรษฐกิจ) สถานทูตยูเครนประจำสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ 2019-2020 : ที่ปรึกษาอธิบดีกรมดินแดนที่ห้า (ตะวันออกกลางและแอฟริกา) กระทรวงต่างประเทศยูเครน 2020-2021 : ที่ปรึกษารองหัวหน้าคณะผู้แทน สถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำราชอาณาจักรไทย มิถุนายน 2021-ปัจจุบัน : อุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำราชอาณาจักรไทย |