เครื่องเคียงข้างจอ : พาราลิมปิกเกมส์ 2020 / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

 

พาราลิมปิกเกมส์ 2020

 

เริ่มต้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม สำหรับการแข่งขันกีฬาเพื่อคนพิการ “พาราลิมปิก 2020” ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นธรรมเนียมที่เจ้าภาพจะต้องรับผิดชอบจัดการแข่งขันพาราลิมปิกต่อจากโอลิมปิก

ซึ่งการผนวกจัดรวมกันนี้เริ่มต้นในปี 1988 ที่ประเทศเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ

ก่อนหน้านั้น ได้แยกจัดกันเองไม่เกี่ยวกัน และใช้ชื่อว่าการแข่งขันกีฬาคนพิการนานาชาติ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และสหพันธ์กีฬาคนพิการนานาชาติ (ปัจจุบันคือ คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล) ได้ร้องขอให้ประเทศเจ้าภาพโอลิมปิก ได้จัดพาราลิมปิกต่อเนื่องไปด้วย

สำหรับคำว่า “พาราลิมปิก” นั้น มาจากคำว่า พารา ‘Para’ ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่าข้างหรือเคียงข้าง เมื่อต่อด้วยคำว่า Olympic จึงสื่อตรงตัวว่าเป็นการแข่งขันที่จัดคู่ไปกับโอลิมปิกเกมส์และจะอยู่เคียงข้างกันตลอดไป

โดยทั้งสองมหกรรมกีฬามีศักดิ์และสิทธิ์ที่เท่าเทียมกัน

 

พาราลิมปิกเกมส์ได้กำหนดว่านักกีฬาที่จะร่วมการแข่งขันได้จะต้องเป็นนักกีฬาที่มีความบกพร่องใน 3 ประเภทหลัก ดังนี้

1. ความบกพร่องทางร่างกาย ซึ่งแยกออกเป็นอีก 8 ประเภทย่อย ได้แก่ กล้ามเนื้ออ่อนแรง, ข้อติด, แขนขาลีบเล็ก, ขาไม่เท่ากัน, มีรูปร่างแคระ, กล้ามเนื้อตึงตัวมาก, เดินเซ (สูญเสียการทรงตัว), เคลื่อนไหวผิดปกติ

2. ความบกพร่องทางการมองเห็น ซึ่งรวมถึงคนตาบอดสีด้วย

และประเภทที่ 3 คือความบกพร่องทางสติปัญญา

สำหรับประเทศไทยแล้วได้ร่วมการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์มาแล้วทั้งหมด 9 ครั้ง โดยเริ่มส่งนักกีฬาเข้าร่วมครั้งแรกในปี 1984 ที่เมืองสโต๊กแมนเดอวิลล์ ประเทศอังกฤษ และที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ซึ่งจากครั้งแรกนี้นักกีฬาไทยยังไม่สามารถคว้าเหรียญใดๆ มาครองได้เลย

จนกระทั่งในครั้งถัดมาคือปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ ก็ประกาศศักดาหยิบเหรียญเงินในกีฬาพุ่งแหลน จาก “สกุล คำตัน” มาฝากแฟนๆ ชาวไทยได้สำเร็จ

ส่วนเหรียญทองครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2000 ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นเจ้าภาพ จากนักกีฬาว่ายน้ำ “สมชาย ดวงแก้ว” และนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง “ประวัติ วะโฮรัมย์”

จากนั้น ไทยก็สามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้ทุกปี โดยในครั้งที่ผ่านมา คือในปี 2016 ที่กรุงรีโอ เดจาเนโร ประเทศบราซิลเป็นเจ้าภาพ ไทยทำได้ถึง 6 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน และ 6 เหรียญทองแดง รวม 18 เหรียญ

นับว่ามากสุดในประวัติศาสตร์ที่ลงแข่งขัน

 

สําหรับที่โตเกียวเกมส์ ตอนที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ นักกีฬาไทยคว้าไปได้แล้ว 4 เหรียญ เป็นเหรียญทองแดงก่อนจากนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ “สายสุนีย์ จ๊ะนะ” ตามด้วยเหรียญทองแดงจากนักกีฬาปิงปอง “รุ่งโรจน์ ไทยนิยม” และในวันที่ 29 สิงหาคม ก็เป็นทีของ “พงศกร แปยอ” ที่คว้าเหรียญทองแรกในโอลิมปิกครั้งนี้ได้จากกีฬาวีลแชร์เรซชิ่ง และยิ่งไปกว่านั้นยังทำลายสถิติโลกลงได้ด้วยเวลา 46.61 วินาที ซึ่งสถิติโลกเดิมเป็นของนักกีฬาชาวแคนาดาที่ทำไว้ที่ 46.82 วินาที นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของนักกีฬา แฟนกีฬาชาวไทย และประเทศไทยอย่างมาก

นอกจากพงศกร แปยอ แล้วสำหรับกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง ไทยเรายังคว้าเหรียญเงินมาครองได้อีกหนึ่งเหรียญจาก “อธิวัฒน์ แพงเหนือ” ที่แพ้นักกีฬาเหรียญทองไปเพียง 0.01 วินาทีเอง น่าเสียดายอย่างมาก

กว่ามติชนสุดสัปดาห์เล่มนี้จะตีพิมพ์ หวังว่าจะมีนักกีฬาไทยคว้าเหรียญเพิ่มได้อีกจากกีฬาประเภทต่างๆ

 

ซึ่งจะว่าไปแล้วนักกีฬาคนพิการของไทยสามารถนำพาเพลงชาติไทยไปบรรเลงในมหกรรมกีฬาในต่างประเทศมาบ่อยครั้งกว่านักกีฬาคนทั่วไปเสียอีก ซึ่งทุกครั้งที่คนไทยได้ยินเพลงชาติไทยในต่างแดน ก็จะรู้สึกตื้นตันขึ้นมาเสมอ

และยิ่งเป็นเพลงชาติไทยที่มาจากความมุ่งมั่นอดทนของ “คนพิการ” ด้วยแล้ว ก็ยิ่งสร้างความประทับใจมากขึ้นไปอีก คนทั่วไปฝึกเล่นกีฬาเพื่อลงแข่งขันก็ยากลำบากแล้ว คนพิการยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกับการยอมรับจากสังคม จึงมีการรณรงค์เรื่องคนพิการในระดับสากลอยู่เสมอ

สำหรับในพาราลิมปิก 2020 นี้ก็ได้มีการเปิดตัวแคมเปญสำหรับคนพิการขึ้นมา ชื่อว่า #WeThe 15 ซึ่งเลข “15” นั้นสื่อถึงสัดส่วนของประชากรกลุ่มคนพิการที่มีอยู่ 1.2 พันล้านคนจากทั่วโลก ซึ่งนับเป็นร้อยละ 15 ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมดนั่นเอง

ร้อยละ 15 ถือว่าไม่น้อยเลยนะครับ แต่ในความจริงแล้วต้องยอมรับว่าคนพิการยังถูกจัดให้เป็นบุคคลเลเวลสอง ยังขาดการยอมรับ ความเข้าใจ การสนับสนุน และยังมีความเหลื่อมล้ำ และแบ่งแยกเป็น “พวกเขา” “พวกเรา” อยู่บ่อยๆ

แคมเปญนี้มีประเด็นสำคัญ คือ “ขับเคลื่อนความต่างให้เป็นหนึ่ง” โดยมีเป้าหมายที่จะให้โลกยุติการเลือกปฏิบัติ แบ่งแยกคนพิการที่เป็น 15% ออกจาก 85% ที่เป็นคนทั่วไป เพราะแท้จริงแล้วเราคือพวกเดียวกัน

โดยในพิธีเปิดของโตเกียวเกมส์ครั้งนี้ แอนดรูว์ พาร์สัน ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลได้กล่าวทิ้งท้ายถึงแคมเปญนี้ว่า

“ความแตกต่างยิ่งทำให้เราแข็งแกร่ง”

สำหรับสัญลักษณ์ที่ให้เกิดการจดจำ ได้มีการใช้สีม่วงในการรณรงค์แคมเปญนี้ โดยในช่วงการแข่งขันกีฬาโตเกียวพาราลิมปิก 2020 สถานที่สำคัญกว่า 80 แห่งทั่วโลกได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นสีม่วงทั้งหมด เช่น พระราชวังเอลิเซ่ น้ำตกไนแองการ่า ตึกเอ็มไพร์สเตต โคลอสเซียมแห่งกรุงโรม เพื่อขับเคลื่อนการตระหนักรู้ในปัญหาสิทธิมนุษยชนของคนพิการทั่วโลก และสร้างสังคมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

การจัดการแข่งขันพาราลิมปิก 2020 ครั้งนี้ เป็นการจัดขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อโควิด-19 ที่แม้ในการแข่งขันโอลิมปิกที่เพิ่งจบไป จะสอบผ่านในมาตรการการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับนักกีฬา เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง

แต่กับพาราลิมปิกนี้ ประเทศเจ้าภาพยังคงหนักใจไม่น้อย เพราะการแพร่ระบาดยังไม่ลดลง และด้วยสภาพร่างกายของนักกีฬาพิการถ้าติดเชื้อโควิดขึ้นมาอาการจะร้ายแรงกว่าคนทั่วไปด้วย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของระบบสาธารณสุขญี่ปุ่นก็ได้ออกมากล่าวถึงภารกิจที่หนักอึ้งเกินกำลังอยู่แล้วในการรับมือกับโควิดขณะนี้ จนไม่แน่ใจว่าจะมีกำลังพอที่จะรับมือกับนักกีฬาคนพิการที่เจ็บป่วยได้หรือไม่

อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดพาราลิมปิก 2020 ก็คือสถานการณ์ทางการเมืองในอัฟกานิสถาน ที่กลุ่มทาลิบันได้เข้ายึดครองและกุมอำนาจในการปกครองประเทศจากรัฐบาลเดิมไปแล้ว ส่งผลให้นักกีฬาชาวอัฟกานิสถาน เกิดความไม่แน่นอนว่าจะสามารถเดินทางเข้าร่วมการแข่งขันได้หรือไม่

อย่างไรก็ดี ในพิธีเปิดการแข่งขัน คณะกรรมการจัดงานก็ยังคงให้มีการเชิญธงชาติอัฟกานิสถานเดินพาเหรดเข้าสนามเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แม้จะไม่มีนักกีฬาอัฟกานิสถานเข้าร่วมเดินด้วยแม้แต่คนเดียว

ในขณะเดียวกัน มีนักกีฬาอัฟกานิสถานสองคน คือ “ซาเกีย คูห์ดาดาดี” นักเทควันโดสาววัย 23 ปี และฮอสเซน ราซูลี นักวิ่งหนุ่มประเภท 400 เมตร ที่ออกมาวิงวอนให้โลกได้ช่วยเหลือพวกเขาให้ได้เข้าร่วมการแข่งขันที เพราะทั้งสองไม่สามารถเดินทางได้ เนื่องจากเครื่องบินพาณิชย์ถูกห้ามเข้า-ออกในอัฟกานิสถาน

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนได้รับความช่วยเหลือจากคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (ไอพีซี) จนสามารถเดินทางสู่ประเทศญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แม้ปรัชญาของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และพาราลิมปิก จะแยกเด็ดขาดจากการเมือง แต่จากประวัติศาสตร์เราพบว่า การเมืองเสียอีกที่ไม่ยอมปล่อยวาง ยังคงเอาประเด็นของการเมืองระหว่างประเทศและในประเทศมาบั่นทอน ทำร้าย สร้างรอยแผลให้กับมิตรภาพของชาวโลกจากการแข่งขันกีฬาอยู่บ่อยครั้ง

ไม่ยอมแม้แต่กับคนพิการที่มักถูกด้อยค่าอยู่แล้ว

 

เหลืออีกไม่กี่วัน พาราลิมปิก 2020 ก็จะปิดฉากลง ขอเอาใจช่วยให้ประเทศญี่ปุ่นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ สามารถจัดการแข่งขันได้อย่างราบรื่น ให้มีปัญหาน้อยที่สุด และให้เกิดความสวยงามพร้อมมิตรภาพท่ามกลางนักกีฬาพิการจากทั่วโลกได้อย่างที่ตั้งใจ

ในความไม่สมบูรณ์ก็ยังคงมีความงดงาม

พาราลิมปิก เป็นบทพิสูจน์ในเรื่องนี้ได้อย่างดี