อนุสรณ์ ติปยานนท์ : In Books We Trust (28) หนังสือสัญจรของพี่หลวง (5)

 

In Books We Trust (28)

หนังสือสัญจรของพี่หลวง (5)

 

“ด้วยความกล้าและบากบั่นเท่านั้นที่ทำให้คุณเติบโตและเป็นตัวคุณอย่างแท้จริง”

อี.เอ็ม. คัมมิงส์

 

“พอพี่หลวงมามีร้านหนังสือเป็นของตัวเองเป็นที่เป็นทาง เลยทำให้พี่หลวงคิดจะขายหนังสือทางออนไลน์ด้วยไหมครับ?”

“ไม่ครับ คือการใช้ facebook ใช้สื่อออนไลน์ขายหนังสือนี่พี่หลวงเริ่มมาตั้งแต่ช่วงหลังน้ำท่วมแล้ว ที่ใช้ตอนนั้นเพราะว่าพอเราย้ายออกมาจากท่าช้าง เราก็คิดว่าลูกค้าเก่าๆ ของร้านพี่หลวงน่าจะตามหา ประจวบกับมีงานวิสาขบูชาที่ท้องสนามหลวง ก็มีการขายหนังสือกัน พี่หลวงก็ไปออกร้านด้วย เลยเอาล่ะ เราต้องใช้ facebook จริงจังแล้วเพื่อบอกกล่าวชวนคนไปที่ร้าน เราก็ประกาศในเพจเรา ก็ได้ผล มีคนตามมาซื้อหนังสือเยอะเลย พี่หลวงก็รู้เลยว่ามันมีประโยชน์ ก็ขายของทั้งในเพจ ทั้งที่ร้านไปพร้อมกันตั้งแต่นั้นมา”

“การมีเพจ มีสื่อออนไลน์นี่มันดีและเสียอย่างไรต่อการขายหนังสือครับพี่หลวง?”

“เอาข้อดีก่อนนะ คือมันทำให้ทุกคนรู้ข่าวคราวของเรา ทำให้ทุกคนรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ อีกทั้งทำให้พี่หลวงได้อ่านความเห็น ได้รู้ทัศนคติของคนอื่นๆ เกี่ยวกับหนังสือ เกี่ยวกับวงการหนังสือ อย่างแรกเลยคือทำให้พี่หลวงเห็นว่าหนังสือมือสองอะไรที่เขานิยมกัน ราคามันอยู่ที่เท่าไหร่ ต่อมาคือเราได้อ่านความเห็นเกี่ยวกับสังคม เกี่ยวกับเรื่องราวอื่นๆ ทำให้เราปรับตัวได้ อย่างพี่หลวงกลับไปดูข้อความที่เราขายหนังสือยุคแรกๆ เราพบเลยว่าเรายังเลือกหนังสือมาขายทางเพจไม่เป็น หลายเล่มก็ขายยาก แต่พอเราเข้ามาคลุกคลีจับทางได้ พี่หลวงก็เริ่มสร้างเอกลักษณ์ อย่างแรกเลย ใครเป็นลูกค้าร้านหนังสือพี่หลวงจะเห็นว่าพี่หลวงใช้ราคาหนังสือเป็นตัวเลขไทยหมด พี่หลวงคิดว่าอันนี้คืออัตลักษณ์ของเราที่แตกต่างจากคนอื่น ต่อมาคือพี่หลวงจะไม่ใช้คำว่าราคา เพราะใส่ทีไร จะถูกผลักเป็นการขายไปหมด พี่หลวงจะใส่เพียงแค่พี่หลวงชวนอ่านและก็ตัวเลขไทยเท่านั้น ซึ่งตอนหลังคนซื้อก็เข้าใจ ตอนใหม่ๆ มีคนมาถามว่าราคาอยู่ตรงไหน วุ่นวายเหมือนกัน”

“ครานี้เอาข้อเสียบ้าง ข้อเสียคือมันเข้าถึงตัวได้เร็ว อย่างเราเป็นร้านค้า ลงของขาย มีคนจองซื้อแล้ว แต่มีบางคนสนิทกับเรา เขาลงจองไม่ทันก็ส่งข้อความมาขอให้เราขายให้เขาบ้าง บอกไม่กล้าจองที่หน้าเพจกลัวคนรู้ว่าอ่านหนังสือแนวนั้นแนวนี้ด้วย เราก็ลำบากใจ หรือหนังสือหายากบางเล่ม เขาก็ส่งข้อความมาว่าผมให้เพิ่มนะ ขายเล่มนี้ให้ผมเถอะ ซึ่งเราทำไม่ได้ ใครมาจองก่อนก็ได้ก่อน พี่หลวงถือหลักซื่อสัตย์ ยุติธรรม เป็นเรื่องใหญ่เลย”

“ต่อมาคือเรื่องของความคิดเห็น ซึ่งมันเปราะบางนะช่วงแบบนี้ เราก็เห็นคนทะเลาะเบาะแว้งกันเต็มไปหมดจนทำให้เราไม่กล้าพูดเรื่องอื่นนอกจากเรื่องหนังสือเท่านั้น ก็เป็นอะไรที่ทำให้เราได้เห็นการใช้สื่อแบบใหม่มากพอควร”

 

“พอพี่หลวงมาเปิดร้านหนังสือแบบนี้คิดว่าการมีเพจของทางร้านด้วยมีส่วนช่วยไหมครับ?”

“มีมากเลย คืออย่างน้อยเกินกว่าสามสิบเปอร์เซ็นต์หรือหนึ่งในสาม บางวันฝนตกหน้าร้านขายไม่ได้ คนไม่มาดูหนังสือ เราก็ลงขายในเพจมากหน่อย บางวันที่ร้านขายดี เราก็ลดการขายในเพจลง คือพี่หลวงพยายามทำให้มันเกื้อกูลกัน บางคนบอกว่าทำไมพี่หลวงไม่ขายในเพจอย่างเดียวเลย มานั่งเปิดร้านทำไม พี่หลวงก็จะบอกเขาว่าถ้าเราขายแต่ในเพจ คนจะเอาหนังสือมาขายเราเขาก็ไม่รู้จะติดต่อเราที่ไหน อย่างการที่พี่หลวงมีหน้าร้าน ก็จะมีรถซาเล้งผ่านเอาหนังสือมาขายให้ มีคนเอาหนังสือมาขายให้ มันสะดวกเขา และถ้าเรามีแต่หน้าร้านไม่มีเพจขายหนังสือ เราก็ขาดหนทางในการระบายหนังสือออกไปอีกหนทางหนึ่ง พี่หลวงว่าทั้งสองหนทางนี่เอื้อกัน แต่เราต้องจัดจังหวะและความสำคัญให้เป็น”

“ถ้าให้ย้อนเวลากลับไปได้พี่หลวงยังจะทำร้านหนังสือไหม ตอนนี้ใครๆ ก็พูดว่าธุรกิจร้านหนังสือเป็นธุรกิจที่ไปไม่รอดแล้ว ไม่มีอนาคตแล้ว?”

“จริงๆ พี่หลวงอยากทำร้านหนังสือมาตลอดนะ ถึงถ้าย้อนเวลากลับไปได้ พี่หลวงก็คงทำร้านหนังสืออยู่ดี พี่หลวงอยากพูดจริงๆ ว่าทำงานเกี่ยวกับหนังสือมานาน อยากให้รัฐบาลทุ่มเทกับหนังสือมากกว่านี้ อยากให้รัฐบาลจริงจังกับวงการหนังสือมากกว่านี้ อย่างพี่หลวงไปดูตามห้องสมุดอำเภอ ห้องสมุดประชาชน พี่หลวงจะเห็นว่าหนังสือที่มีในห้องสมุดเป็นหนังสือที่บรรณารักษ์อยากอ่าน แทนที่จะเป็นหนังสือที่ประชาชนหรือคนทั่วไปควรได้อ่าน”

“คือบางทีมีแต่หนังสือนวนิยายอ่านเล่นเต็มไปหมด ไม่มีสาระอะไรเลย อันนี้ก็น่าเสียใจควรมีการเปลี่ยนแปลง เราเอางบฯ ไปทำอะไรตั้งเยอะแยะ แต่งบฯ ซื้อหนังสือดีๆ เข้าห้องสมุดเรากลับไม่มี”

 

“พี่หลวงท้อใจกับนโยบายที่ไม่เห็นคุณค่าของหนังสือจากรัฐบาล?”

“ใช่ พี่หลวงว่าเราทุกคนโตมาจากหนังสือ ได้ความรู้จากหนังสือ มีชีวิตที่ดีได้หลายคนก็เพราะหนังสือ แต่ทำไมหนังสือถึงกลายเป็นสิ่งที่ถูกละเลยได้ขนาดนี้ พี่หลวงไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาก แต่มีประโยคหนึ่งของ ‘ศรีบูรพา’ หรือคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่เกี่ยวกับรัฐบาลพี่หลวงจำได้แม่นยำคือ ‘รัฐบาลต้องการให้ข้าพเจ้าเขียนในสิ่งที่รัฐบาลไม่ได้ทำ สำหรับข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าคิดว่าเมื่อรัฐบาลต้องการให้ข้าพเจ้าเขียนอย่างไร รัฐบาลก็ควรทำเช่นนั้น’ ประโยคนี้พี่หลวงชอบมากเพราะมันแสดงให้เห็นถึงความสามารถของนักเขียน นักข่าวในยุคนั้นที่เป็นกระจกส่องภาพให้รัฐบาลว่ารัฐบาลควรทำเช่นไร”

“การอยากให้หนังสือเข้าถึงคนได้มากๆ เป็นสาเหตุหนึ่งใช่ไหมที่หนังสือร้านพี่หลวงมีราคาถูกกว่าร้านขายหนังสือมือสองทั่วไป บางคนบอกเล่มเดียวกัน ซื้อร้านหนังสืออื่นจะมีราคาสูงกว่า”

“พี่หลวงไม่ได้เทียบขนาดนั้น แต่ว่าในใจนั้นพี่หลวงจะคิดว่าหนังสือดีๆ ถ้าคนเขาอยากอ่าน มีคนสนใจจริงๆ เราไม่ควรให้ราคามันเกินความจริง พี่หลวงเลยพยายามตั้งราคาในลักษณะที่คนทั่วไปซื้ออ่านได้ บางคนกำเงินร้อยมาร้านพี่หลวงได้หนังสือไปสี่ห้าเล่มก็มี พี่หลวงดีใจที่คนเข้ามาร้านเราแล้วได้อะไรติดมือกลับไปอ่านมากกว่าจะมาคิดเรื่องยอดขาย คือเราอยู่กับโลกของหนังสือมานาน มีคนบอกทำไมพี่หลวงไม่เก็บเล่มนั้นเล่มนี้ หรือไม่ก็ขายหนังสือมานานต้องมีหนังสือดีๆ มากเลย พี่หลวงอยากบอกว่าพี่หลวงไม่เก็บหนังสือเลย บางเล่มเราชอบมากก็อ่านจนจบและก็ขายเพราะอยากให้คนอื่นได้อ่านบ้าง”

“ถ้าคนที่ติดตามเพจหนังสือของพี่หลวงจะพบคำว่า ‘ในความทรงจำ’ อยู่เสมอๆ เพราะว่าพี่หลวงอยากเก็บอะไรไว้ในความทรงจำมากกว่า”

 

“พี่หลวงตั้งราคาตามหนังสือที่อยากให้คนอ่านแสดงว่าพี่หลวงอ่านหนังสือแทบทุกเล่มที่ขายเลยหรือ?”

“เกือบทุกเล่ม หรืออย่างน้อยก็อ่านไปจนพอรู้ว่าหนังสือเล่มนี้เกี่ยวข้องกับอะไร มีเนื้อหาเด่นตรงไหน คนซื้อเขาจะได้พอคาดเดาออกว่ามันเหมาะกับสิ่งที่เขาสนใจไหม พี่หลวงจะเล่าเรื่องคร่าวๆ แต่ไม่เล่าจนหมด เพราะเราก็อยากให้คนอ่านได้ไปอ่านด้วยตนเองด้วย แต่ว่าการจะเลือกเอาอะไรมาประกอบการลงขายหนังสือนั้นต้องมีข้อมูล ทำให้พี่หลวงต้องอ่านทุกเล่มที่ลงขาย”

“พี่หลวงอยากมีร้านใหญ่กว่านี้ไหม?”

“อยากนะ อยากมีสักสามชั้นให้คนมาเลือกหนังสือได้เดินดูหนังสือเต็มที่ มีที่นั่ง มีเครื่องดื่มให้เขาได้มานั่งคุยกันในร้านหนังสือ แต่มันคงยาก ตอนนี้คงต้องอยู่กับร้านชั้นเดียว คูหาเดียวไปก่อน”

“ไม่รู้เหมือนกันว่าอนาคตของหนังสือจะเป็นอย่างไร แต่พี่หลวงคงอยู่กับมันไปอีกนาน”