Urban Vernacular : จิตวิญญาณใหม่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (1)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด / ชาตรี ประกิตนนทการ

 

Urban Vernacular

: จิตวิญญาณใหม่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (1)

 

เกือบครึ่งศตวรรษมาแล้วที่วงวิชาการสถาปัตยกรรมในไทยให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับ “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” (Vernacular Architecture) จนถึงปัจจุบัน คงไม่เกินไปนักถ้าจะกล่าวว่า “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษา” (Vernacular Architecture Studies) กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดหนึ่งของการศึกษาวิจัยทางสถาปัตยกรรมในไทย

ไม่เพียงแค่นั้น แม้กระทั่งในวงการวิชาชีพ แนวคิดนี้ก็เข้ามามีอิทธิพลไม่น้อยต่อการออกแบบสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทย

ปรากฏการณ์นี้แม้ยังห่างไกลเกินกว่าจะเรียกว่าเป็นชัยชนะของกระแสนี้เหนือแนวคิดอื่น

แต่ก็คงไม่มีใครปฏิเสธว่า สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษาจากจุดเริ่มต้นที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ชายขอบ” ทางความคิด แต่ในปัจจุบันนั้นได้กลายเป็น “กระแสหลัก” อย่างหนึ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ประเด็นคือ เมื่อแนวคิดใดก็ตามก้าวขึ้นมาดำรงสถานะของการเป็นกระแสหลัก โดยธรรมชาติย่อมก่อให้เกิดสถานะที่หยุดนิ่งมากกว่าเปลี่ยนแปลง ลดทอนมากกว่าหลากหลาย กีดกันมากกว่าเปิดกว้าง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษาในไทยก็เช่นกัน ผมคิดว่าในปัจจุบันเริ่มตกอยู่ในสภาวะข้างต้นไม่มากก็น้อย และน่าจะถึงเวลาที่ต้องเริ่มทำการทบทวนแนวคิดนี้กันใหม่อย่างรอบด้าน

รวมถึงการสร้างข้อเสนอใหม่บางประการที่จะทำให้แนวคิดนี้ยังคงตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมรูปแบบใหม่ๆ ได้

 

นี่คือสิ่งที่บทความนี้พยายามจะทดลองนำเสนอดูนะครับ แต่แน่นอนว่าข้อเสนอผมอาจจะผิดทั้งหมดก็เป็นได้

แต่อย่างน้อยก็หวังว่าความพยายามนี้จะนำไปสู่การทบทวนตนเองของแวดวงวิชาการทางด้านนี้ต่อไปในอนาคต (ผมเคยนำเสนอแนวคิดนี้ไว้บ้างแล้วใน ไม่ธรรมดา สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในวิถีชีวิตร่วมสมัย (กรุงเทพฯ : สมาคมสถาปนิกสยาม, 2561), หน้า 40-55)

ข้อเสนอหลักของผม คือ งานศึกษาวิจัยทางด้านนี้ในเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมาเริ่มถอยห่างออกจากสิ่งที่เรียกว่า “จิตวิญญาณ” หลักของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษาเสียแล้ว

อะไรคือจิตวิญญาณดังกล่าว

ผมอยากเริ่มด้วยการอ้างกลับไปสู่หนังสือเล่มสำคัญคือ Architecture Without Architects : A Short Introduction to Non-pedigreed Architecture ของ Bernard Rudofsky ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2507 ซึ่งถือเป็นหมุดหมายหลักของการศึกษาทางด้านนี้

ในบทนำหนังสือ Rudofsky อธิบายถึงเป้าหมายหลักของหนังสือว่าคือ การเข้าไปทำลายกรอบความคิดที่คับแคบในการนิยามคุณค่าของสิ่งที่เรียกว่าสถาปัตยกรรม ซึ่ง ณ ขณะนั้นถูกครอบงำด้วยอคติที่เน้นให้คุณค่าเฉพาะแต่มรดกวัฒนธรรมของโลกตะวันตกเพียงอย่างเดียว

ตลอดจนต้องการท้าทายแนวคิดที่ให้ความสำคัญไปที่อัจฉริยภาพเชิงปัจเจกของ “สถาปนิก” ที่มากเกินจริง

ด้วยการเล็งเห็นถึงอคติดังกล่าว Rudofsky จึงเลือกที่จะนำเสนอโลกของสถาปัตยกรรมอีกแบบที่ถูกละเลยและไม่ถูกจัดให้อยู่ในเส้นทางพัฒนาการประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมกระแสหลักมานำเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้ถูกออกแบบโดยสถาปนิก

ไม่ว่าจะเป็นบ้านของกลุ่มชนเผ่าในซูดานและโมร็อกโก, หมู่บ้านใต้ดินในพื้นที่ตอนเหนือของจีน และบ้านเรือริมน้ำของเซี่ยงไฮ้ ฯลฯ

หนังสือนี้ ความจริงตีพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการในชื่อเดียวกันที่จัดขึ้นที่ MOMA (11 พฤศจิกายน 2507 – 2 กุมภาพันธ์ 2508) โดยภายในงานจัดแสดงภาพถ่ายขาวดำขนาดใหญ่ของงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกราว 200 ภาพ โดยปราศจากซึ่งคำอธิบายภาพใดๆ ทั้งสิ้น

นิทรรศการนี้ คือการวิพากษ์วิจารณ์ตรงไปสู่กระแส “สถาปัตยกรรมสมัยใหม่” (Modern Architecture) ที่มีอิทธิพลครอบงำวงการสถาปัตยกรรมในโลกตะวันตกอยู่ ณ ขณะนั้น

นิทรรศการและหนังสือเล่มนี้ เต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งการท้าทายและต่อต้านความคิดกระแสหลัก

ไม่ว่าจะเป็นการท้าทายต่อสุนทรียภาพแบบที่มีโลกตะวันตกเป็นศูนย์กลางผ่านการนำเสนอสุนทรียภาพแบบใหม่ของสถาปัตยกรรมที่อยู่นอกตำราประวัติศาสตร์

ตลอดจนการท้าทายระบบคุณค่าที่ให้ความสำคัญกับ “สถาปนิก” ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบสร้างสรรค์

โดยชี้ให้เห็นว่าการออกแบบแก้ปัญหาทางสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นประสบการณ์ร่วมของชุมชนที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น (มิใช่ผลผลิตของปัจเจกบุคคลนั้น) มีคุณค่าสูงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

งานชุดนี้ได้สร้างผลสะเทือนครั้งใหญ่ในวงการสถาปัตยกรรม ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายมาเป็นรากฐานสำคัญอันหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษา” นั่นเอง

 

ในสังคมไทย แนวคิดนี้แพร่หลายเข้ามาราวทศวรรษที่ 2520 และแน่นอนว่า จิตวิญญาณดังกล่าวก็ถูกส่งผ่านเข้ามาอย่างเห็นได้ชัดในงานศึกษาของนักวิชาการสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นรุ่นบุกเบิก

เช่น วิโรฒ ศรีสุโร ที่บุกเบิกงานศึกษาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน

วิวัฒน์ เตมียพันธ์ และ อนุวิทย์ เจริญศุภกุล กับงานศึกษาเรือนพื้นถิ่นล้านนา

เขต รัตนจรนะ ที่เริ่มค้นคว้าเรือนมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้

และ อรศิริ ปาณินท์ ที่สนใจศึกษาเรือนพื้นถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยต่างๆ ในไทย

งานในกลุ่มรุ่นบุกเบิกนี้ได้เข้ามาท้าทายระบบคุณค่าแบบเดิมในสังคมวัฒนธรรมไทยขณะนั้นที่เน้นแต่งานช่างหลวงจากส่วนกลางบนฐานทางวัฒนธรรมแบบอยุธยา-กรุงเทพฯ

อยากให้ลองนึกถึงทศวรรษ 2500-2510 ที่ “สิมอีสาน” ทยอยถูกรื้อลงและแทนที่ด้วย “โบสถ์มาตรฐาน ก ข ค” โดยที่ไม่มีใครนึกเสียใจหรือเสียดาย

จนวันหนึ่งก็ปรากฏงานเขียนเกี่ยวกับสิมอีสานที่มาพร้อมกับการรื้อฟื้นคุณค่าและความงามที่ถูกมองข้าม จนนำมาสู่การเก็บรักษาแม้กระทั่งสืบทอดรูปแบบดังกล่าวขึ้นใหม่อย่างมากมายอีกครั้งในปัจจุบัน

หรืองานมากมายของ อ.อรศิริ ที่เปิดพื้นที่ให้สถาปัตยกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยๆ ได้มีโอกาสเผยคุณค่าที่มีที่ไม่แพ้เรือนไทยเดิมแบบภาคกลาง จนเป็นงานที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ยุ้งข้าว, เถียงนา และแม่เตาไฟ ได้รับความสนใจศึกษาในฐานะที่เป็นภาพตัวแทนของความฉลาดในการออกแบบหรือแก้ไขปัญหาของชาวบ้านที่ดีไม่แพ้สถาปนิก

งานทั้งหมดนี้แม้ในด้านหนึ่งเป็นเรื่องเฉพาะในวงวิชาการ แต่ผลพวงที่ตามมาไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม งานกลุ่มนี้ได้ก้าวเข้ามายืนเคียงข้างผู้คนหรือกลุ่มวัฒนธรรมที่ถูกละเลย หรือถูกดูหมิ่นว่าต่ำต้อย (ลาว มอญ เขมร กะเหรี่ยง มุสลิม ฯลฯ) ด้วยการเผยให้เห็นภูมิปัญญาของพวกเขาผ่านการสร้างสรรค์ทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นประเภทต่างๆ

สิ่งนี้คือคุณูปการหรือจิตวิญญาณที่สำคัญที่สุดในทัศนะผม ที่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษาของไทยสร้างขึ้นในทศวรรษที่ 2520-2530

 

แต่ปัจจุบัน สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษาได้ผ่านยุคสมัยแห่งการท้าทายความคิดกระแสหลักเข้าสู่ยุคสมัยของการลงหลักปักฐานมั่นคงในราวทศวรรษ 2540 พร้อมกับการเกิดขึ้นของกระแสแนวคิดที่ใกล้เคียงกัน เช่น “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ที่แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง จนคำนี้ถูกนำไปใช้ในเกือบจะทุกเรื่องในสังคมจนนำไปสู่การสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างมหาศาล

และการเกิดขึ้นของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นฐานคิดที่หนุนเสริมกระแสสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นได้อย่างพอเหมาะพอดี

ทั้งหมดนำไปสู่การขยายตัวของวิชาการทางด้านนี้ มีนักวิชาการรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น มีงานวิจัย หนังสือ และบทความที่เกี่ยวข้องผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก

ในแง่ของกรณีศึกษาเองก็ขยายตัวไปสู่กลุ่มวัฒนธรรมย่อยมากขึ้นหรือแม้กระทั่งข้ามไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในงานวิชาการรุ่นล่าสุด

งานวิจัยด้านนี้เริ่มได้รับรางวัลวิจัยอย่างต่อเนื่อง วงการวิชาชีพเองก็เริ่มเห็นว่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเป็นคำตอบที่ควรนำมาต่อยอดเป็นงานออกแบบร่วมสมัยและหลายชิ้นได้รับรางวัลสถาปัตยกรรม

และสุดท้ายนำมาซึ่งการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนทางด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นขึ้นโดยตรงในปี 2546

 

ทั้งหมดสะท้อนชัดถึงความสำเร็จของการผลักดันสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษาในไทย จนทำให้คุณค่าหลายอย่างที่แฝงอยู่ในงานสถาปัตยกรรมเหล่านั้นซึ่งเคยถูกละเลยหรือดูถูก ได้รับความสนใจและยกระดับขึ้นมาเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความสำเร็จข้างต้นก็ทำให้สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษาเปลี่ยนสถานะจากที่เคยเป็น “ชายขอบ” มาสู่ “กระแสหลัก”

และเริ่มเข้าสู่สถานะของการกลายเป็น “บรรทัดฐานทางสังคม” ที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ แม้กระทั่งภาครัฐเองยังหันมาให้ความสนใจมากขึ้น

แน่นอน สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นยังถูกจัดวางสถานะที่ต่ำกว่าสถาปัตยกรรมไทยประเพณีแบบช่างหลวงอยู่เช่นเดิม

แต่ก็ต้องถือว่ามีสถานะที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากหากมองเทียบกับทศวรรษที่ 2520

และด้วยการกลายมาเป็นบรรทัดฐานทางสังคมดังกล่าว จึงทำให้งานศึกษารุ่นหลังแม้จะมีคุณภาพสูงทางวิชาการไม่ยิ่งหย่อนไปกว่างานรุ่นบุกเบิก แต่กลับเริ่มขาดจิตวิญญาณที่ท้าทายและต่อสู้กับการกดทับหรือครอบงำจากความคิดกระแสหลักของสังคมไปทีละเล็กทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว