ระหว่างรอ ‘รถยนต์พลังงานไฟฟ้า’ เราไป EV Conversion กันก่อน/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

ระหว่างรอ ‘รถยนต์พลังงานไฟฟ้า’

เราไป EV Conversion กันก่อน

 

เคยเขียนเกี่ยวกับ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้ ชื่อตอนว่า “จาก Plant-Based Food ถึง Bitcoin สู่ EV นวัตกรรมสุดล้ำ “อยู่ใกล้แค่ปลายจมูก”

“รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” หรือ EV (Electric Vehicle) ที่เราเคยคิดว่า “เป็นเรื่องไกลตัว” แต่ในวันนี้ EV มาปรากฏตัวในบ้านเราจริงๆ แล้ว และก็มาปรากฏตัวสักระยะหนึ่งแล้วด้วยครับ

ทั้งรถยุโรป อเมริกา และเอเชีย หลากยี่ห้อ ซึ่งหลายท่านคงเคยเห็นแท่นชาร์ตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ติดตั้งในที่สาธารณะ

ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมชั้นนำ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ หรือคอนโดมิเนียมหรู และแน่นอน ต้องมีแท่นชาร์ตติดตั้งที่บ้านเจ้าของรถด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งาน Motor Show ครั้งที่ผ่านมา ค่ายรถยนต์เกือบทุกเจ้า ต่างพากันเปิดตัว “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” กันอย่างคึกคัก

อาทิ Porsche, Jaguar, Audi, Volvo, Lexus, Nissan, Hyundai, Kia, MG, Great Wall โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Tesla ที่เริ่มเห็นวิ่งบนถนน และจอดโชว์สวยๆ หลายคัน

ล่าสุด Foxconn ประกาศตั้งโรงงานผลิต “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” ที่ประเทศไทย ในปี ค.ศ.2022

ยังไม่นับรถโดยสารสาธารณะ ทั้งรถเมล์ รถตู้ ไปจนกระทั่งถึงเรือโดยสารสาธารณะที่หลายแห่งนำยานยนต์พลังงานไฟฟ้าออกให้บริการประชาชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานอุตสาหกรรมไทย ที่ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เปิดสายการผลิตใหม่ๆ

สะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่โลกกำลังเดินหน้าสู่อุตสาหกรรม “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” โดยเฉพาะในบ้านเรามากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากสนนราคาที่งาน Motor Show เป็นเรื่องยากมากที่คนไทยเดินดินกินข้าวแกง จะสามารถเป็นเจ้าของ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” ได้

ไม่ต้องพูดถึง Porsche, Jaguar, Audi, Volvo, Lexus, Tesla เอาแค่ Nissan, Hyundai, Kia, MG ก็ “ล้านอัพ” บางรุ่น “สองล้าน” มีเพียง Great Wall ที่ประกาศ “ต่ำกว่าล้าน” แต่ผมว่าก็คง “เกือบล้าน” นั่นแหละ

ดังนั้น ระหว่างรอ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” คนไทยเดินดินกินข้าวแกง ก็คงจะทำได้เพียงแค่ชวนแวะไปที่ EV Conversion กันก่อน

แล้วที่ว่า “ระหว่างรอ” นั้น “รออะไร?”

รอเทคโนโลยี (เทคโนโลยีมีพร้อมแล้ว) รอแท่นชาร์ตไฟสาธารณะ (ทุกวันนี้มีน้อยมากในระดับที่ต้องบอกว่า “ยังไม่มี”) รอราคา (รอรัฐลดภาษีสรรพสามิต)

ดังนั้น เราไปกันที่ EV Conversion กันดีกว่า

 

EV Conversion คืออะไร?

EV Conversion คือการดัดแปลง “รถยนต์พลังงานฟอสซิล” หรือ “รถยนต์สันดาปภายใน” เชื้อเพลิงเบนซิน-ดีเซล สู่ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หรือ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า”

แน่นอนว่า แม้ปัจจุบันการใช้รถยนต์ในบ้านเรา 99.99% เป็น “รถยนต์สันดาปภายใน” หรือที่คนในวงการเรียกว่า “รถ ICE” ที่ย่อมาจาก Internal Combustion Engine

ทว่า แนวโน้มที่โลกกำลังเดินหน้าสู่อุตสาหกรรม “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” ก็เป็นการเร่งเราในทางอ้อมอยู่เหมือนกัน

แต่ด้วยสนนราคาที่แพงเว่อร์ ทำให้เกิดมีแนวความคิดที่จะดัดแปลง “รถยนต์ ICE” ให้สามารถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า โดยมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงมากนัก เมื่อเทียบกับราคา “รถยนต์พลังงานไฟฟ้าป้ายแดง”

ดังจะเห็นได้ว่า EV Conversion ในบ้านเรา “ไม่ใช่เรื่องใหม่” เพราะมี “ร่องรอยความพยายาม” จากหลายภาคส่วนในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 หรือ 10 ปีมาแล้ว!

 

เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของ EV กันสักเล็กน้อยครับ ซึ่ง EV แบ่งออกเป็น 4 ชนิดดังนี้

1. HEV (Hybrid Electric Vehicle) หรือ “รถยนต์ Hybrid” คือการจับคู่กันระหว่างเครื่องยนต์สันดาปภายในกับมอเตอร์ไฟฟ้า

2. PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) หรือ “รถยนต์ Hybrid แบบเสียบปลั๊ก” โดยพื้นฐานไม่แตกต่างจาก HEV เพียงแต่สามารถชาร์จไฟได้

3. FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) หรือ “รถยนต์เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง” ที่มีการติดตั้ง Fuel Cell Stack ใช้การสร้างปฏิกิริยาไฮโดรเจนเพื่อส่งไฟไปแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน

4. BEV (Battery Electric Vehicle) หรือ PEV (Pure Electric Vehicle) หมายถึง “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” ที่ใช้แบตเตอรี่ในการขับเคลื่อน 100% จากการชาร์จไฟ

สำหรับเทคโนโลยีการดัดแปลง “รถยนต์สันดาปภายใน” หรือ “รถยนต์ ICE” ให้เป็น “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” หรือ “รถยนต์ BEV” นั้น มีองค์ความรู้ที่เกาะเกี่ยวกันอยู่ 7 รายวิชา ประกอบไปด้วย

1. กฎหมาย และความปลอดภัยสำหรับ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า”

2. เทคโนโลยี “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า”

3. วิทยาการดัดแปลง “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า”

4. การออกแบบ และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงหากต้องการดัดแปลง “รถยนต์สันดาปภายใน” ให้เป็น “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า”

5. ความรู้เกี่ยวกับมอเตอร์ และระบบส่งกำลัง “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า”

6. การแพ็กแบตเตอรี่สำหรับ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า”

7. โอกาสทางธุรกิจในการให้บริการดัดแปลง “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า”

 

สําหรับขั้นตอนคร่าวๆ ของการทำ EV Conversion เริ่มต้นที่การถอดรื้อเครื่องยนต์สันดาปภายในออก จากนั้นเป็นขั้นตอนการปรับหน้าแปลน (Flange) เพื่อยึดเกียร์เข้ากับมอเตอร์ (แทนที่เครื่องยนต์) เพลาและช่วงล่าง จากนั้นติดตั้งแบตเตอรี่บน Chassis เชื่อมต่อระบบไฟฟ้าเข้ากับมอเตอร์ (ส่งกำลัง)

เป็นกลไกการทำงานพื้นฐานสำหรับการแปลง “รถยนต์สันดาปภายใน” ให้เป็น “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” ที่มี Model ตัวอย่างมากมายในต่างประเทศ

อาทิ โครงการดัดแปลง Volkswagen หรือ “โฟล์กเต่า” ที่โด่งดังเมื่อหลายปีก่อน หรือจะเป็น Range Rover และขึ้นไประดับ BMW, Aston Martin, Porsche กระทั่งรถเล็กอย่าง Fiat

นำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มคนรักรถคลาสสิค ที่สนใจดัดแปลง “รถยนต์สันดาปภายใน” ให้เป็น “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” กันอย่างมากมาย

โดยหัวใจสำคัญของโครงการ EV Conversion นั้นอยู่ที่ EV Kit หรือชุดมอเตอร์ และระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชุดอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น

ซึ่งในต่างประเทศมีหลายยี่ห้อ อาทิ EV West ที่แจกแจงว่า ใน EV Kit 1 ชุดจะประกอบไปด้วยมอเตอร์ ตัวควบคุม หน้าจอแสดงผล Shunt ตัวแปลงชุดเกียร์ ชาร์จเจอร์

ระบบระบายความร้อน ตัวควบคุมความเร็ว ตัวแปลงไฟกระแสตรง ตัวติดตั้งอุปกรณ์ควบคุม Vacuum Pump สำหรับหม้อลมเบรก และปั๊มน้ำไฟฟ้า

สำหรับสนนราคา EV Kit ของ EV West นั้นอยู่ที่ประมาณ 250,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงทีเดียว

 

สรุปแล้ว EV Conversion เป็นการนำเทคโนโลยีควบคุมมอเตอร์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มารวมกับวิทยาการงานออกแบบรถที่สอดคล้องและเหมาะสม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมองหานวัตกรรมพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็น Smart Grid หรือโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ การติดตั้งแท่นชาร์จสาธารณะสองข้างทาง และบนพื้นถนน

ที่ต้องใช้แหล่งพลังงานธรรมชาติ อาทิ Solar Cell (พลังงานแสงอาทิตย์) หรือ Wind Turbine (พลังงานลม) เป็นหลักให้ได้

สำหรับบ้านเราในปัจจุบัน มีความพยายามจากหลายฝ่าย ในการกดราคาต้นทุนการดัดแปลง “รถยนต์สันดาปภายใน” ให้เป็น “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า”

ซึ่งขณะนี้ สนนราคาอยู่ที่ 300,000 บาท แบ่งเป็น ชุด EV Kit 200,000 บาท ซึ่งประกอบด้วยมอเตอร์ และระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชุดอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น กับแบตเตอรี่ 100,000 บาท

และเมื่อไม่นานมานี้ EEC – HDC (Eastern Economic Corridor – Human Development Center) ได้กำหนดให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่ EEC

ประกอบด้วย มหาวิทยาลัย 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

ทำการถ่ายทอดองค์ความรู้ EV Conversion ให้แก่วิทยาลัยอาชีวศึกษาในเครือข่าย 8 แห่ง

โดยตั้งเป็น “ศูนย์เชี่ยวชาญรถยนต์พลังงานไฟฟ้าดัดแปลง” (EV Conversion Excellence Center) ในเบื้องต้นกำหนดให้ 1 วิทยาลัยอาชีวศึกษา : 10 อู่รถยนต์ (จะได้ทั้งสิ้น 80 อู่)

เพื่อทำการดัดแปลง “รถยนต์สันดาปภายใน” ให้เป็น “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” นำร่องต่อไป