จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (18) เส้นทางการล่มสลายของซ่งเหนือ (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (18)

เส้นทางการล่มสลายของซ่งเหนือ (ต่อ)

 

สามขบวนการกบฏ

ซ่งไม่เพียงจะเป็นราชวงศ์ที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่มาจากชนชาติอื่น และอุปสรรคที่มีต่อการพัฒนาภายในในบางครั้งบางคราเท่านั้น แต่ด้วยนโยบายเศรษฐกิจในบางด้านก็ยังทำให้เกิดปัญหากบฏขึ้นมาอีกด้วย

โดยตลอดสมัยแรกที่ซ่งมีฐานทางการเมืองอยู่ทางภาคเหนือนี้ ซ่งต้องเผชิญกับกบฏที่มีอยู่สามขบวนการด้วยกัน

แม้ยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องสืบเนื่องกับยุคนี้เกิดขึ้นอยู่เรื่องหนึ่งคือ ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของรัฐสู่สมัยแรกและรัฐสู่สมัยหลังที่เป็นหนึ่งในสิบรัฐ ที่ซึ่งปัจจุบันคือมณฑลซื่อชวนนั้น ไม่ได้รับผลกระทบจากการศึกมากนัก

จากเหตุนี้ รัฐสู่สมัยหลังจึงสามารถเก็บสะสมทรัพย์สินต่างๆ เอาไว้ได้มาก แต่ครั้นซ่งปราบรัฐนี้ได้แล้วก็เปิดโอกาสให้ทหารของตนเข้าปล้นสะดมราษฎรของรัฐนี้ และให้เคลื่อนย้ายทรัพย์สินของรัฐนี้ไปยังเมืองหลวง

จากนั้นซ่งก็ผูกขาดการค้าของมณฑลนี้ จนทำให้เหล่าพ่อค้าฉวยโอกาสกักตุนและขึ้นราคาสินค้า ส่วนขุนนางในท้องถิ่นนี้ก็ฉวยโอกาสขูดรีดภาษีจากราษฎร พฤติกรรมของพ่อค้าและขุนนางเหล่านี้จึงสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรไปทั่วมณฑล

และหนึ่งในผู้เดือดร้อนก็คือ หวังเสี่ยวปอ ชาวไร่ชาแห่งอำเภอชิงเฉิง (ปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอกว้านในมณฑลซื่อชวน) กับหลี่ซุ่น ผู้เป็นน้องภรรยาของเขา

 

ความไม่พอใจของหวังเสี่ยวปอกับหลี่ซุ่นปะทุขึ้นใน ค.ศ.993 โดยทั้งสองได้รวบรวมชาวบ้านที่เดือดร้อนเหมือนตนได้กว่าร้อยคน แล้วจัดตั้งขบวนการขึ้นต่อสู้กับพ่อค้าและขุนนางที่กดขี่ขูดรีดเหล่านั้น

เวลาผ่านไปไม่ถึงสิบวัน ข่าวการกบฏของลูกพี่ลูกน้องสองคนก็แพร่ไปทั่วมณฑล และทำให้ผู้คนที่มีหัวอกเดียวกันเข้าร่วมกับกบฏเพิ่มเป็นหลายหมื่นคน จากนั้นทัพกบฏก็เคลื่อนเข้าไปยึดเมืองที่เป็นฐานของการกดขี่ขูดรีดเอาไว้ได้

อีกทั้งยังเข่นฆ่าขุนนางผู้ฉ้อฉลเพื่อชำระแค้นอีกด้วย

แต่ไม่นานหลังจากนั้น ทัพซ่งก็ถูกส่งมาเพื่อปราบกบฏ ภายหลังการต่อสู้อย่างดุเดือดและกล้าหาญก็ปรากฏว่า หวังเสี่ยวปอก็ถูกทัพซ่งสังหาร

ครั้นถึง ค.ศ.994 หลี่ซุ่นที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำกบฏสืบต่อก็ได้ตั้งรัฐเป็นของตนเองขึ้นโดยใช้ชื่อว่า ต้าสู่ แล้วตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ (หวัง) แต่ไม่นานหลังจากนั้นรัฐต้าสู่ก็ถูกทัพซ่งปราบลงจนได้เช่นกัน

 

แต่ด้วยการปกครองที่ยังล้มเหลวของซ่ง หลังกบฏนี้ไปแล้วก็ยังมีกบฏขบวนการอื่นเกิดขึ้นอีก

หลังกบฏหวังเสี่ยวปอถูกปราบลงแล้ว หลายพื้นที่ของจีนก็ยังคงหาความสงบได้ไม่ จนในระหว่าง ค.ศ.1102-1105 ได้เกิดภัยตั๊กแตนขึ้นในหลายมณฑล สร้างความเสียหายให้แก่ไร่นาสาโทของราษฎรอย่างรุนแรง

ครั้นถึง ค.ศ.1117 เขื่อนกั้นแม่น้ำเหลืองก็ให้พังทลายลงอีก ทำให้หลายเมืองจมอยู่ใต้น้ำ ราษฎรเสียชีวิตนับล้านคน ที่รอดมาได้ก็ต้องยังชีพด้วยการขุดเอารากไม้และเปลือกไม้มากิน ครั้นนานวันเข้าก็ถึงกับกินเนื้อมนุษย์ด้วยกันเอง

แต่ที่ดูเหมือนโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็นก็คือ ราษฎรยังต้องเผชิญกับการกดขี่ขูดรีดจากขุนนางในกลุ่มที่เรียกว่า “หกโจร” (ลิ่วเจ๋ย, Six Felons)1 ในที่นี้จะยกการกดขี่ขูดรีดของหนึ่งใน “หกโจร” มาเป็นตัวอย่างพอให้เห็นภาพ

 

ขุนนางผู้นี้มีชื่อว่า ไช่จิง

ไช่จิง (ค.ศ.1047-1126) เป็นมหาอำมาตย์ที่รับใช้จักรพรรดิซ่งฮุยจง (ครองราชย์ ค.ศ.1100-1125) อย่างทุ่มเท เช่น เมื่อเห็นว่าซ่งฮุยจงทรงโปรดอุทยานสวนหิน (ฮวาสือหวั่ง, flower and rock network) เขาก็ทุ่มเทรวบรวมหินรูปทรงแปลกประหลาดจากทั่วจักรวรรดิมาประดับไว้ที่อุทยาน โดยผู้ควบคุมการก่อสร้างอุทยานคือ จูเหมี่ยน ที่เป็นหนึ่งใน “หกโจร” เช่นกัน

หรือเมื่อขูดรีดภาษีจากราษฎรมาอย่างผิดๆ เขาจะถวายให้ซ่งฮุยจงหนึ่งส่วน โดยที่เหลืออีกเก้าส่วนเขาจะยักยอกเอาไว้เป็นของตนเอง ไช่จิงใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยจากทรัพย์สินที่ล้วนฉ้อฉลมาทั้งสิ้น

กล่าวกันว่า คนครัวที่เขาจ้างมาทำอาหารนั้น แต่ละคนจะทำหน้าที่เฉพาะตน คือใครที่มีหน้าที่หั่นผัก หั่นเนื้อ นวดแป้ง ปั้นแป้ง ปรุงรส ก่อไฟ ฯลฯ ก็จะทำหน้าที่ของตนไป และด้วยเหตุที่ชอบกินนกกระทาและนกจาบ เขาถึงกับตุนนกทั้งสองชนิดเอาไว้ถึงสามห้องใหญ่

ครั้งหนึ่งเขาถูกขุนนางผู้หนึ่งที่เขาเคยส่งเสริมให้ได้ดิบได้ดีจับได้ว่ายักยอกทรัพย์ เขาถึงกับโกรธแค้นจนใช้อำนาจย้ายขุนนางผู้นี้ไปอยู่ตำแหน่งที่ต่ำลงในเมืองเล็กที่ห่างไกล จนวันหนึ่งคนสนิทของเขาได้กล่าวกับเขาว่า ควรที่จะย้ายขุนนางผู้นี้กลับเข้าเมืองหลวง

ไช่จิงตอบว่า “การเป็นขุนนางกับการเป็นคนดีไปด้วยกันไม่ได้”

ถ้อยประโยคนี้ได้ถูกนำมาใช้เปรียบประชดชีวิตขุนนางมาจนทุกวันนี้

 

อย่างไรก็ตาม ชีวิตของไช่จิงก็เป็นอนิจลักษณ์เมื่อกองทัพจินบุกเข้าตีจีนจนมิอาจตั้งรับได้อีกต่อไป ไช่จิงถูกขับออกจากเมืองหลวง แต่เขาไม่รู้สึกเป็นทุกข์ ด้วยเขาได้สะสมทรัพย์สินเงินทองไว้มากมายแล้ว และขนมันใส่เกวียนเป็นขบวนยาว

ถึงตอนนั้นไช่จิงจึงรู้ว่า เงินมิอาจซื้อทุกสิ่งอย่างได้ เมื่อเขาถูกปฏิเสธจากราษฎร ร้านอาหาร และโรงแรม ตลอดเส้นทางที่เขาอพยพไป ไม่มีที่ใดยอมขายสิ่งที่ตนมีให้แก่ไช่จิง ถึงตอนนั้นเขาจึงกล่าวขึ้นว่า

“มิคาดว่าผู้คนจักเกลียดชังเราปานนี้”

แล้วไช่จิงก็ตายลงด้วยความอดอยากก่อนที่จะเดินทางไปถึงจุดหมาย ทิ้งไว้แต่ตำนานขุนนางที่ฉ้อฉลคนหนึ่งของจีนไว้เป็นนิทัศน์อุทาหรณ์

 

การกดขี่ขูดรีดของ “หกใจร” ดังกล่าวได้ทำให้ราษฎรกลุ่มหนึ่งอดรนทนไม่ไหว และได้รวมตัวตั้งเป็นขบวนการทางการเมืองขึ้นโดยมีผู้นำคือ ฟังล่า ดังนั้น หลังขบวนการนี้พ่ายแพ้กลายเป็นกบฏไปแล้ว กบฏนี้จึงมีชื่อว่า กบฏฟังล่า

ฟังล่า (มรณะ ค.ศ.1121) เป็นชาวนา แต่ถิ่นกำเนิดของเขามีข้อมูลที่ไม่ตรงกันระหว่างเมืองเซ่อโจว (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลอันฮุย) กับเมืองชิงซี (ปัจจุบันคืออำเภอฉุนอันของมณฑลเจ้อเจียง)

เขาเป็นหนึ่งในราษฎรที่ถูกกดขี่ขูดรีดจากหนึ่งในขุนนางที่อยู่ในกลุ่ม “หกโจร” ซึ่งมีชื่อว่า จูเหมี่ยน โดยจูเหมี่ยนได้ส่งคนมารีดไถราษฎรทุกปีจนแทบดำรงชีพอยู่ต่อไปไม่ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีเจ้าหน้าที่สองคนเข้ามาเก็บภาษีในหมู่บ้านของเขาไปทีละบ้าน ทั้งที่ชาวบ้านได้จ่ายไปแล้วในรูปของเสบียงอาหารก่อนหน้านี้

เมื่อมาเก็บอีกก็จะกระทบต่อการบริโภคของราษฎรในฤดูหนาว

จากเหตุนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ทั้งสองเข้ามาเก็บ ฟังล่ากับชาวบ้านในหมู่บ้านก็หมดความอดทน และได้ลุกขึ้นต่อต้านเจ้าหน้าที่ทั้งสองคนนั้น

ผลคือ เจ้าหน้าที่ถูกสังหารไปหนึ่งคน อีกคนหนีไปได้และนำความไปแจ้งต่อทางการให้ส่งทหารมาปราบ ทหารของทางการได้ปราบปรามชาวบ้านอย่างโหดเหี้ยม ศพของชาวบ้านตายเกลื่อนไปทั่วหมู่บ้าน

ส่วนฟังล่าหนีรอดไปได้

1ขุนนางที่มีฉายาว่า “หกโจร” นี้ประกอบไปด้วยไช่จิง (ค.ศ.1047-1126) หวังฝู่ ถงกว้าน (ค.ศ.1054-1126) จูเหมี่ยน หลี่เอี้ยน และเหลียงซือเฉิง