การเมืองอำนาจนิยม : บุคลาภิวัตน์ (จบ)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

การเมืองอำนาจนิยม

: บุคลาภิวัตน์ (จบ)

 

สัญญาณบอกอาการบุคลาภิวัตน์

นอกจากการที่ผู้นำ 1) กระชับวงในอำนาจให้แคบเล็กลง และ 2) บรรจุแต่งตั้งผู้จงรักภักดีไว้ในตำแหน่งกุมอำนาจสำคัญทั้งหลายแล้ว

สัญญาณอีก 4 ประการที่บ่งชี้อาการบุคลาภิวัตน์ (Personalization) ของระบอบอำนาจนิยม

ได้แก่ :

 

3)ส่งเสริมญาติพี่น้องให้เข้าสู่ตำแหน่งอันทรงอำนาจ

ปกติแล้วเครือญาติพี่น้องก็เฉกเช่นเพื่อนพ้องบริวารทั้งหลายคือเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือไว้วางใจได้ สำหรับผู้นำอำนาจนิยมยิ่งกว่าพวกเทคโนแครตผู้เชี่ยวชาญ ฉะนั้น ผู้นำจึงพยายามแต่งตั้งเครือญาติพี่น้องให้เข้าสู่ตำแหน่งอันทรงอำนาจอิทธิพลแม้จะย่อหย่อนประสบการณ์ไปบ้างก็ตาม การเอาเครือญาติพี่น้องมาล้อมวงตนเองไว้ในอำนาจช่วยให้ผู้นำมั่นอกมั่นใจว่าตนมีเหล่าบุคคลที่พึ่งพาอาศัยให้ทำตามวิสัยทัศน์การบริหารปกครองของตัวเองได้

ดังที่อดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรักส่งเสริมเครือญาติให้เข้ากุมตำแหน่งสำคัญในกองกำลังความมั่นคงแม้ว่าคนเหล่านั้นจะขาดคุณวุฒิและประสบการณ์ก็ตามที เช่น คูเซย์ ฮุสเซน ลูกชายคนรองของซัดดัมได้รับแต่งตั้งจากพ่อให้เป็นหัวหน้าหน่วยงานข่าวกรองและกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติของอิรัก (https://rewardsforjustice.net/thai/qusay_hussein.html), อูเดย์ ฮุสเซน ลูกชายคนโตได้ควบคุมกองกำลังเฟดายีน ซัดดัม (ผู้เสียสละของซัดดัม) ซึ่งเป็นหน่วยอาสาสมัครพิเศษติดอาวุธจำนวน 3-4 หมื่นคน ไม่ขึ้นต่อสายการบังคับบัญชาของกองทัพประจำการ หากขึ้นตรงต่อทำเนียบประธานาธิบดี (https://rewardsforjustice.net/thai/uday_hussein.html & https://wikipang.com/wiki/Saddam_Fedayeen)

ใกล้บ้านเราเข้ามา สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ก็ผลักดันส่งเสริมจนลูกชายคนโต ฮุน มาเนต ผู้เรียนจบวิทยาลัยการทหารเวสต์ พอยต์ของสหรัฐเป็นคนแรกของประเทศ ได้ครองยศพลเอกเพียงวัยสี่สิบต้นๆ ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (https://workpointtoday.com/ลูกชายคนโต-ฮุน-เซน-นั่ง-2-ต/)

และในทำนองเดียวกัน วุฒิสภาชุดปัจจุบันซึ่งมีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยจึงปรากฏชื่อสมาชิกที่ไว้วางใจได้ของท่านผู้นำและ คสช.อย่าง พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา, พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ, นายสม จาตุศรีพิทักษ์ และ นพ.เฉลิมชัย เครืองาม เป็นต้น (https://workpointtoday.com/family-senator2/)

ชำแหละสภา ‘พี่น้องผองเพื่อน’ พร้อมโหวตบิ๊กตู่นั่งนายกฯ (https://www.posttoday.com/politic/news/589103)

4)การก่อตั้งพรรคหรือขบวนการการเมืองใหม่ขึ้นมา

การที่ผู้นำอำนาจนิยมริเริ่มหาทางก่อตั้งองค์การหรือขบวนการการเมืองใหม่ขึ้นมานั้นก็เพื่อเป็นวิธีการลดทอนอิทธิพลของสถาบันอำนาจการเมืองแต่ดั้งเดิมลง และเบียดขับบรรดาคู่แข่งที่อาจท้าทายตนได้ให้ไปอยู่ชายขอบเสีย นอกจากนี้ ผู้นำยังสามารถใช้พรรคหรือขบวนการใหม่ดังกล่าวเป็นพาหะจัดตั้งผู้สนับสนุนตนด้วย

อาทิ การที่ประธานาธิบดีอัลแบร์โต ฟูจิโมริ ผู้นำอำนาจนิยม-ประชานิยมฝ่ายขวาที่มาจากการเลือกตั้งแห่งเปรู (ครองตำแหน่ง ค.ศ.1990-2000) ทยอยก่อตั้งพรรคและขบวนการการเมืองต่างๆ ขึ้นมาเพื่อเป็นพาหนะเลือกตั้งส่วนตัวบุคคล (personalist electoral vehicle) ของตนในการเข้าชิงชัยทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาคองเกรสตามลำดับ ได้แก่ Cambio 90 (เปลี่ยน 90) ในปี ค.ศ.1990, Nueva Mayor?a (เสียงข้างมากใหม่) ในปี ค.ศ.1995 และแนวร่วมอิสระเปรูในปี ค.ศ.2000 โดยใช้เสร็จแล้วก็ยุบทิ้งเสีย (คาส มูด์เด, ประชานิยม : ความรู้ฉบับพกพา, น.99-102)

หรือกรณีที่ฮูโก ชาเวซ ก่อตั้งขบวนการสาธารณรัฐที่ห้าขึ้นในเวเนซุเอลาเมื่อปี ค.ศ.1997 และคลี่คลายขยายตัวมาเป็นพรรคสังคมนิยมเอกภาพแห่งเวเนซุเอลาในทศวรรษต่อมาซึ่งเขาอาศัยเป็นฐานสนับสนุนขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ ค.ศ.1999-2013 (https://www.britannica.com/biography/Hugo-Chavez)

รวมทั้งการที่ประธานเหมาเจ๋อตุงชี้นำปลุกปั่นยุยงขบวนการเยาวชนเรดการ์ดให้เข้าถล่มโจมตีโค่นล้มแกนนำเดิมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในฐานที่เป็น “กองบัญชาการใหญ่” ของพวกเดินแนวทางลัทธิแก้-ทุนนิยมที่คัดค้านแนวทางการเมืองซ้ายจัดของเหมาเองในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม (Frank Dik?tter, The Cultural Revolution : A People’s History, 1962-1976, 2016)

สำหรับผู้นำอำนาจนิยมไทยเรา การก่อตั้งพรรคการเมืองเพื่อเป็นพาหนะเลือกตั้งส่วนตัวบุคคลชั่วคราว ใช้เสร็จสิ้นภารกิจแล้วก็ยุบทิ้งเสียนั้น มีให้เห็นเป็นประจำ ตั้งแต่พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป.พิบูลสงคราม, พรรคชาติสังคมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, พรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร, พรรคสามัคคีธรรมของแกนนำ รสช.ในอดีต

และล่าสุดพรรคพลังประชารัฐของแกนนำ คสช.ในปัจจุบัน

 

5)การใช้การลงประชามติเป็นวิธีการตัดสินชี้ขาดเรื่องใหญ่ทางการเมือง

เป็นแบบฉบับเลยว่าผู้นำอำนาจนิยมทั้งหลายมักใช้ยุทธวิธีนี้มาฉาบปูนปิดผนึกการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญและหมากกลอื่นๆ ซึ่งมอบหมายอำนาจแก่ตัวเองเพิ่มขึ้นให้หนาแน่นแข็งแกร่งมั่นคง ด้วยการเรียกร้องมหาชนให้เข้าร่วมลงมติเองโดยตรง

คะแนนเสียงประชามติเหล่านี้ก็ทำให้การตัดสินชี้ขาดเรื่องเปลี่ยนย้ายริบฉวยอำนาจทางการเมืองมาไว้ในมือผู้นำดูชอบธรรมยิ่งขึ้น ถึงแม้น้อยนักที่ประชามติจัดเองชงเองดังกล่าวจะสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้อย่างแท้จริง

ตัวอย่างคลาสสิคได้แก่นาซีเยอรมนี รัฐบาลเยอรมันจัดลงประชามติในปี ค.ศ.1934 เพื่อให้มหาชนแสดงความเห็นชอบการหลอมรวมอำนาจหน้าที่ของ [ตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ+ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี+ตำแหน่งหัวหน้ากองทัพ] เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว ปรากฏว่าคะแนนเสียงเกือบ 90% โหวต “เห็นด้วย” ทำให้อำนาจของฮิตเลอร์ผู้เข้าสวมตำแหน่ง “ผู้นำ” (F?hrer) หนึ่งเดียวใหม่ดังกล่าวรวมศูนย์เพิ่มพูนขึ้นไร้เทียมทานหลังจากนั้น (https://www.bbc.co.uk/bitesize/guides/zxs2pbk/revision/9)

ในประเทศไทยระยะใกล้นี้มีการใช้ประชามติมาแสดงความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับโดยคณะรัฐประหาร ได้แก่ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ของ คมช. และรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ของ คสช.

ลักษณะและน้ำหนักของประชามติซึ่งจัดโดยคณะผู้นำอำนาจนิยมไทยดังกล่าวเป็นอย่างไร พิจารณาได้จากการนำเสนอของคุณหทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ นักข่าวบีบีซีไทยผู้สำรวจวิจัยค้นเขียนวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต เกี่ยวกับประชามติครั้งหลังโดยตรงในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญซ่อนกลกับกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อครองอำนาจนำ ในสนามประชามติ” เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2563 (https://www.youtube.com/watch?v=y4AufVKtlcI)

 

6)การสร้างกองกำลังความมั่นคงใหม่ขึ้นมาแยกต่างหากจากกองทัพประจำการแห่งชาติเดิม

เป้าประสงค์ของผู้นำอำนาจนิยมในการนี้คือถ่วงทานกองทัพแต่เดิมโดยหวังว่ามันจะยับยั้งบรรดานายทหารทั้งหลายไม่ให้คิดก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ดังที่เรียกกันว่า coup-proofing หรือมาตรการป้องกันรัฐประหาร

จะว่ากันไปแล้วยุทธวิธีบุคลาภิวัตน์ข้อนี้ของผู้นำอำนาจนิยมนับว่าสุ่มเสี่ยงอยู่ เพราะมันอาจกลายเป็นการแหย่รังแตน คือทำให้ทางกองทัพที่รู้แกวได้กลิ่นเจตนาทำนองนี้ของผู้นำก็เลยพาลตัดสินใจก่อรัฐประหารตัดหน้าเพื่อประท้วงก็เป็นได้ เพราะสิ่งหนึ่งที่กองทัพแห่งชาติสมัยใหม่ถือสาก็คือตนจะต้องผูกขาดการถือครองกำลังอาวุธสงครามในชาติไว้แต่เพียงผู้เดียว (monopoly of war weapons) หัวเด็ดตีนขาดก็จะปล่อยให้มีกองกำลังติดอาวุธสงครามกองที่สองต่างหากจากตนออกไปไม่ได้

ดังที่เคยเกิดปัญหาทหารหาญในกองทัพรู้สึกไม่มั่นคงและขุ่นเคืองใจทำนองนี้ในเมืองไทยมาตั้งแต่ครั้งการก่อตั้งกองกำลังเสือป่าในสมัยรัชกาลที่หก, กองกำลังเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง, กองกำลังตำรวจติดรถถังสมัยอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นต้น (https://www.matichon.co.th/columnists/news_72898)

อย่างไรก็ตาม หากผู้นำช่วงชิงก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธใหม่ขึ้นมาสำเร็จ มันก็เป็นสัญญาณว่าเขาเสริมสร้างการควบคุมอำนาจของตนได้เป็นปึกแผ่น เพราะการมีกองกำลังความมั่นคงที่จงรักภักดีต่อตนเป็นส่วนตัว อยู่นอกเหนือสายการบังคับบัญชาของกองทัพปกตินั้น ย่อมลดทอนโอกาสความเป็นไปได้ที่ผู้นำจะถูกโค่นขับจากตำแหน่งด้วยกำลังทหาร และฉะนั้นจึงเพิ่มพูนอำนาจต่อรองของผู้นำต่อกองทัพขึ้นมาก

ตัวอย่างของการนี้นอกจากกองกำลังเฟดายีน ซัดดัม ของซัดดัม ฮุสเซน ในอิรักข้างต้นแล้ว ก็ได้แก่ กรณีฟรองซัวส์ ดูวาลิเอร์ หรือ “ปาป้าด็อก” ประธานาธิบดีอำนาจนิยมของไฮติจาก ค.ศ.1957-1971 ได้สร้างกองกำลังตองตอง มาคุตส์ขึ้นในปี ค.ศ.1959 อันเป็นกลุ่มเด็กหนุ่มติดมีดดาบผู้ภักดีต่อ “ปาป้าด็อก” อย่างสุดชีวิตจิตใจมาเป็นกองกำลังองครักษ์ของตัวเองซึ่งกลายเป็นมีอำนาจเหนือกองทัพด้วยซ้ำไปในเวลาต่อมา (https://www.csmonitor.com/World/Americas/2011/0120/5-reasons-why-Haiti-s-Jean-Claude-Duvalier-is-infamous/Tonton-Macoutes)