วิกฤติศตวรรษที่21 : การปรับขบวนพันธมิตรแปซิฟิกของสหรัฐ และการประชุมสุดยอดกลุ่ม 20

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (26)

การปรับขบวนพันธมิตรแปซิฟิกของสหรัฐและการประชุมสุดยอดกลุ่ม 20

การปรับขบวนพันธมิตรของสหรัฐตั้งอยู่บนลัทธิความเชื่อใหญ่ ได้แก่ ความเชื่อในลักษณะพิเศษของสหรัฐ ว่าคนอเมริกันมีความเป็นพิเศษเหนือกว่าชนชาติอื่น เป็นมรดกทางการเมืองมานับร้อยปี จนถึงประธานาธิบดีโอบามาก็ยังเชื่ออยู่ว่าสหรัฐเป็นประเทศที่ขาดไม่ได้ในการนำโลกไปสู่สันติภาพและความไพบูลย์ (คำสัมภาษณ์ของโอบามาที่เยอรมนีปี 2009)

เมื่อถึงสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ยิ่งปฏิบัติหนักข้อขึ้นถึงขั้นชูคำขวัญว่า “อเมริกาอยู่เหนือชาติใด” และปฏิบัติการโดยลำพัง โดยไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน

ซึ่งขัดกับความเป็นจริงที่สหรัฐอ่อนแอลงมากในทุกด้าน จนไม่สามารถแสดงบทบาทเป็นผู้นำโลกแบบขั้วอำนาจเดียวอีกต่อไป

เมื่อทรัมป์ไปเยือนยุโรปครั้งแรกเดือนพฤษภาคม 2017 เขาได้กล่าวปราศรัยในที่ประชุมสุดยอดนาโต้ กรุงบรัสเซลส์ โจมตีพันธมิตรยุโรปอย่างหนัก แทนที่จะวิจารณ์ผู้นำในนครริยาร์ดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงในสงครามเยเมน

ในพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้าย ทรัมป์ได้โจมตีเยอรมนีว่า “เลว เลวมาก” ที่ส่งรถยนต์ไปขายในสหรัฐอเมริกา ได้เปรียบดุลการค้ามหาศาล และสั่งให้สมาชิกนาโต้ 28 ประเทศจ่ายเงินให้องค์การอย่างที่ควรจะทำ (ความจริงมีการตกลงว่าทุกประเทศต้องจัดสรรงบประมาณทางทหารร้อยละ 2 ของจีดีพีภายในปี 2024)

และเขายังไม่ได้กล่าวถึงข้อผูกมัดที่สหรัฐจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 5 ในการต้องช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ถูกโจมตีทางกำลังทหารและการก่อการร้าย

และที่สำคัญทรัมป์ยังบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับการกดดันจากประเทศยุโรป ให้อยู่ในข้อตกลงภูมิอากาศปารีสต่อไป โดยแจ้งว่าจะตัดสินใจภายหลัง (ซึ่งทรัมป์ได้กล่าวยืนยันที่จะออกจากข้อตกลงหลังจากนั้นไม่นาน)

จากพฤติกรรมของทรัมป์ดังกล่าว เป็นการเปิดโอกาสให้ นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีผู้เจนเวทีของเยอรมนี ประกาศต่อฝูงชนในการเริ่มหาเสียงว่า ความสามารถที่ยุโรปจะพึ่งพาสหรัฐ “สิ้นสุดแล้วในระดับหนึ่ง” และว่า “ยุโรปจำต้องกุมชะตากรรมไว้ในมือของตน” (เป็นวิธีพูดว่า “สหภาพยุโรปก่อนชาติใด” แบบแมร์เคิล)

(ดูบทความของ Rachael Revesz ชื่อ Donald Trump acted like “a drunk tourist” on Europe trip that led Angela Merkel to proclaim end of US alliance ใน theindependent.co.uk 29.05.2017)

กระแสชิงการนำระหว่างสหรัฐกับสหภาพยุโรปชัดขึ้นอีก เมื่อสองประธานใหญ่แห่งสหภาพยุโรป ได้แก่ นายฌอง-คล็อด จังเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และ นายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรป แถลงก่อนการประชุมสุดยอดกลุ่ม 20 (ระหว่าง 7-8 กรกฎาคมที่นครฮัมบูร์ก เยอรมนี) ว่าสหภาพยุโรปให้ความสำคัญแก่เรื่องการส่งเสริมการค้าเสรีและการเติบโตแบบดิจิตอล การปรับปรุงประโยชนฺ์ทางเศรษฐกิจแก่ทุกคน การต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ปราบปรามการเลี่ยงภาษี ต่อสู้การก่อการร้าย ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย สนับสนุนการพัฒนาในแอฟริกา และการเสริมความเข้มแข็งแก่ระบบการเงินโลก

และว่า จากหลักและการปฏิบัติ ในปัจจุบันสหภาพยุโรปได้กลายเป็น “จุดอ้างอิงของโลก” ในด้านประชาธิปไตยเสรี สิทธิมนุษยชนและการค้าเสรี (แทนที่สหรัฐ)

(ดูบทความของ David M. Herszenhorn ชื่อ Ahead of G20 summit, EU sees itself as “global point of reference” ใน politico.eu 05.07.2017)

สถานการณ์ปรับขบวนพันธมิตรในแปซิฟิกของสหรัฐมีพื้นฐานคล้ายกับในภูมิภาคแอตแลนติก แต่มีรายละเอียดต่างไป ที่คล้ายกันก็คือความอ่อนกำลังของสหรัฐจนไม่สามารถรักษาสถานะโลกาภิวัตน์และระเบียบโลกแบบเดิมไว้ได้ และดำเนินการปรับรื้อขบวนใหม่

ที่เด่นได้แก่ ประธานาธิบดีทรัมป์ถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก ในเดือนมกราคม 2017

ความตกลงนี้เจรจากันจนสำเร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 สมัยโอบามา มี 12 ประเทศเข้าร่วมได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐ และเวียดนาม

คณะทำงานของโอบามาอ้างว่าความตกลงนี้จะช่วย “ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ สนับสนุนการสร้างและการรักษาตำแหน่งงาน กระตุ้นนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขัน ยกมาตรฐานการครองชีพ ธรรมาภิบาล และปกป้องสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นแผนใหญ่ควบคู่ไปกับการเจรจาหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนข้ามแอตแลนติกที่ยังไม่สำเร็จ

แต่ฝ่ายบริหารของทรัมป์เห็นว่าความตกลงภาคพื้นแปซิฟิก ไม่เป็นผลดีอะไรแก่สหรัฐ

Participants of the “”Launch Event Women’s Entrepreneur Finance Initiative”, among them the daughter of the US President Ivanka Trump (front) and (second row L-R) World Bank Group President Jim Yong Kim (Front L), Britain’s Prime Minister Theresa May, Australia’s Prime Minister Malcolm Turnbull, Japan’s Prime Minister Shinzo Abe, US President Donald Trump, German Chancellor Angela Merkel, Canada’s Prime Minister Justin Trudeau, Norway’s Prime Minister Erna Solberg, South Korea’s President Moon Jae-in, Netherlands’ Prime Minister Mark Rutte and Secretary-General of the United Nations Antonio Guterres the Managing Director of the International Monetary Fund (IMF) Christine Lagarde and Canada’s Minister of Foreign Affairs Chrystia Freeland attend the “Women’s Entrepreneurship Finance Event” at the G20 Summit in Hamburg, Germany, July 8, 2017. / AFP PHOTO / AFP PHOTO AND POOL / PATRIK STOLLARZ

เช่น ไม่ช่วยการเสียเปรียบดุลการค้า กระทั่งทำให้เสียเปรียบมากขึ้น ไม่ช่วยการสร้างงานในสหรัฐ เป็นข้อตกลงที่แย่มาก สหรัฐควรปลีกตัวมาสร้างความยิ่งใหญ่ของตนตามลำพัง อาศัยความเหนือกว่าทางเศรษฐกิจ-การทหาร ที่ยังพอมีอยู่บ้างกดดันต่อพันธมิตร เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นผลดีแก่สหรัฐมากขึ้น

ส่วนญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรใหญ่ของสหรัฐในภูมิภาคแปซิฟิก และเป็นผู้ได้เปรียบดุลการค้ามากที่สุดรายหนึ่งของสหรัฐ ร้อนรนใจตั้งแต่ทรัมป์ผู้มีแนวนโยบายปกป้องการค้า มีคะแนนนิยมสูง

เมื่อทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เกิดอาการตกใจมาก นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นรุดไปพบกับทรัมป์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2016 ยังไม่ทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง หวังไปเจรจาให้รู้เรื่องว่าสหรัฐจะเอาอย่างไรแน่

ซึ่งย่อมผิดหวังเพราะทรัมป์มียุทธศาสตร์ที่จะไม่ทำให้ผู้อื่นรู้ว่าเขาจะเอาอย่างไร (เป็นไปได้ว่าทรัมป์เองก็ไม่รู้ชัดว่าจะทำอย่างไรกับสหรัฐที่แตกแยกและระเบียบโลกที่ยุ่งเหยิง เว้นแต่ว่าทำตัวให้เป็นข่าวไว้เรื่อยๆ)

หลังกลับจากการพบปะ นายอาเบะได้ให้สัมภาษณ์เชิงหวังในด้านดี

แต่ต่อมาอีกไม่นานนัก ทรัมป์ก็ประกาศถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาคแปซิฟิก

หลังจากเผชิญกับคำพูดแบบชักเข้าชักออกและท่าทียโสไม่ให้เกียรติใครของสหรัฐ

ในที่สุดอาเบะก็ได้ข้อสรุปเช่นเดียวกับนางแมร์เคิลว่า ไม่สามารถพึ่งพาฝากผีฝากไข้ไว้กับอเมริกาต่อไปเหมือนเดิมได้

ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดที่นครฮัมบูร์กเพียงวันเดียว ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปได้ลงนามในสัญญาการค้าเสรีระหว่างกัน สร้างเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลกขึ้น (เกือบ 30% ของเศรษฐกิจโลก 10% ของประชากรโลก และ 40% ของการค้าโลก) เป็นการเคลื่อนไหวทั้งทางเศรษฐกิจผสมการเมือง

AFP PHOTO / POOL / TORU YAMANAKA

นายอาเบะกล่าวว่า “ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดกลุ่ม 20 วันพรุ่งนี้ ผมเชื่อว่าญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปได้แสดงเจตจำนงทางการเมืองอันแรงกล้าที่จะชูธงการค้าเสรี เพื่อต่อต้านการเอนเอียงไปสู่ลัทธิปกป้องการค้า…มันเป็นข้อตกลงแบบชนะ-ชนะ…เป็นการส่งสารอย่างแรงต่อโลก”

(ดูบทความของ Alastair Macdonald และเพื่อน ชื่อ EU, Japan seal free trade in signal to Trump ใน reuters.com 06.07.2017)

พันธมิตรสำคัญในภูมิภาคนี้อีกประเทศหนึ่งได้แก่ เกาหลีใต้ ซึ่งสหรัฐได้เข้ายึดครองตั้งแต่หลังสงครามโลก และสงครามเกาหลี เป็นพื้นที่เล็กๆ บนแผ่นดินใหญ่ที่จะทำให้สหรัฐสามารถตั้งฐานทัพและระบบป้องกันขีปนาวุธ ปิดประตูบางส่วนของจีนและรัสเซีย

ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐ มีความตึงเครียดขึ้นทุกทีโดยไม่ตั้งใจ จากความสัมพันธ์สี่เส้า เกาหลีใต้-สหรัฐ-เกาหลีเหนือ-จีน และปัญหาที่รุมเร้าภายในประเทศ ความสัมพันธ์สี่เส้า ได้แก่ เกาหลีใต้สนิทกับสหรัฐ เป็นคู่ค้าสำคัญมานาน ปัจจุบันจีนกลายเป็นคู่ค้าสำคัญที่สุดของเกาหลีใต้ (ตัวเลขปี 2015 การส่งออกไปยังจีนมูลค่า 131 พันล้านดอลลาร์ ส่งออกไปสหรัฐ 73 พันล้านดอลลาร์ ได้เปรียบดุลการค้าจีนกว่า 40 พันล้านดอลลาร์)

เกาหลีใต้มีเศรษฐกิจที่พึ่งการส่งออกสูง ดังนั้น ย่อมต้องเกรงใจจีน

ขณะที่สหรัฐต้องการปิดกั้นการเติบโตของจีน

เกาหลีเหนืออยู่แบบค่อนข้างโดดเดี่ยว ต้องการขยายความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ที่เป็นชนชาติเดียวกัน เพื่อเพิ่มทางออกที่ไว้วางใจได้ในการติดต่อกับโลกภายนอก

แต่สหรัฐต้องการโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือ สร้างภาพว่าเกาหลีเหนือเป็นหนึ่งในแกนแห่งความชั่วร้าย เป็นผู้คุกคามต่อสันติภาพของภูมิภาคและของโลก

ผู้นำของเกาหลีใต้ที่เป็นปีกขวาก็เออออไปกับสหรัฐ ทำให้สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีระอุขึ้นในรอบสิบกว่าปีมานี้

ในด้านปัญหารุมเร้าภายในประเทศ ได้แก่ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ การว่างงาน และการคอร์รัปชั่นความไม่โปร่งใสของรัฐบาล ซึ่งได้ปะทุขึ้นมาถึงขั้นมีการถอดถอน นางปัก กึน เฮ ประธานาธิบดีปีกขวาออกจากตำแหน่ง และจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ สหรัฐภายใต้การนำของทรัมป์ได้แทรกเข้ามาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ กระพือความตึงเครียดในคาบสมุทร ด้วยข้ออ้างการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ยัดเยียดติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD หรือทาด (เป็นระบบยิงสกัดขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง) ซ้ำทรัมป์เองยังได้ก้าวร้าวถึงขั้นเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้ออกค่าใช้จ่ายการติดตั้งเป็นเงินพันล้านดอลลาร์

ในท่ามกลางความตึงเครียดดังกล่าว ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีออกมาว่า นายมุน เจ อิน แห่งพรรคประชาธิปไตยเกาหลีฝ่ายซ้าย ลูกชายผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือ ได้รับชัยชนะอย่างท้วมท้น

เขาเป็นผู้สนับสนุนการเจรจาเพื่อสร้างความปรองดองและยุติการพัฒนาอาวุธของเกาหลีเหนือ การปฏิรูปกลุ่มบริษัทแชโบลที่ควบคุมเศรษฐกิจเกาหลีใต้

ทั้งนี้เพราะว่าชาวเกาหลีใต้ไม่ได้กังวลต่อการคุกคามของเกาหลีเหนือ อย่างที่ผู้นำปีกขวาของเกาหลีใต้และสหรัฐพยายามทำให้ตื่นกลัวมานานหลายสิบปี

แต่กังวลมากกว่าถึงเรื่องการมีงานทำ สวัสดิการสังคม การศึกษา และความโปร่งใสของรัฐบาล (ดูบทความของ Duyeon Kim ชื่อ What South Korean Election Means for Trump ใน foreignaffair.com 08.05.2017)

ชาวเกาหลีใต้ต้องการเป็นมิตรทั้งจีนและรัสเซีย ซึ่งทั้งสองประเทศไม่พอใจอย่างยิ่งต่อการติดตั้งระบบนี้ สัมพันธ์สหรัฐ-เกาหลีใต้ย่อมไม่ราบรื่นเหมือนที่เคยเป็นมา

สหรัฐยังได้กดดันจีนให้พยายามมากขึ้นในการระงับการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ (ซึ่งรู้ก่อนแล้วว่าย่อมไม่สำเร็จ) และใช้โอกาสนี้สร้างความตึงเครียดทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกและทะเลจีนใต้ เช่น ส่งเรือพิฆาตและเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ ละเมิดหรือคุกคามบริเวณที่จีนถือว่าเป็นน่านน้ำและน่านฟ้าของตน

ท้ายสุดก่อนวันชาติสหรัฐ 4 กรกฎาคมหนึ่งวัน เกาหลีเหนือได้ทดลองขีปนาวุธข้ามทวีป เป็น “ของขวัญ” ให้แก่สหรัฐ และจะส่งให้อีกเป็นชุด

การกระชับมิตรจีน-รัสเซีย

AFP PHOTO / POOL / MARK RALSTON

ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดกลุ่ม 20 เล็กน้อย สี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีนเดินทางไปพบปะกับประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซียอย่างเป็นทางการ

ทั้งสองพบกันมากว่า 20 ครั้งแล้วในรอบสี่ปีมานี้ แต่ครั้งนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากความคับขันในคาบสมุทรเกาหลี ทะเลจีนใต้ การที่สหรัฐตกลงขายอาวุธแก่ไต้หวันมูลค่ากว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์ และสหรัฐมุ่งมั่นปักหลักในตะวันออกกลาง กับทั้งมีการปรับขบวนพันธมิตรสหรัฐดังกล่าวแล้ว

การพบปะกันของสี-ปูติน มีความสำคัญดังนี้คือ

AFP PHOTO / DON EMMERT AND Natalia KOLESNIKOVA

ก) ยกระดับความสัมพันธ์ของสองประเทศสู่ขั้นดีเยี่ยม สร้างความเป็นเอกภาพในนโยบายและการเคลื่อนไหวมากขึ้นในการสร้างระเบียบโลกหลายขั้วอำนาจ

ข) แสดงจุดยืนต่อสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี ว่าไม่เห็นด้วยที่จะมีปฏิบัติการใช้กำลัง หากควรเจรจากัน เกาหลีเหนือควรยุติการทดลองขีปนาวุธ ขณะเดียวกัน สหรัฐและเกาหลีใต้ก็ควรยุติการซ้อมรบซึ่งกระทำเป็นประจำและเป็นการคุกคามต่อเกาหลีและภูมิภาค (เมื่อยุติการซ้อมรบแล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธทาด)

ค) การลงทุนร่วมกัน จีนสัญญาว่าจะลงทุนในรัสเซียมูลค่า 10 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสวนทางกับสหรัฐที่ต้องการปิดล้อมทางเศรษฐกิจกับรัสเซียมากขึ้น

สรุปได้ว่าทั้งสองหมดความเกรงใจต่อสหรัฐและประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว

ทางฝ่ายทรัมป์เองก็ดูหมดความอดทนต่อจีนเช่นกัน หลังการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ทรัมป์ทวีตความว่า “การค้าระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 40 ในไตรมาสแรก พอแล้วกับการทำงานกับจีน-แต่เราต้องลองทำก่อน” (05.07.2017)

การประชุมสุดยอดกลุ่ม 20 โดยปกติเป็นการประชุมเพื่อสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ลดความเห็นต่าง ยึดมั่นในตลาดเสรี แก้ปัญหาช่องว่างทางสังคม การมีงานทำ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

แต่ในคราวนี้แยกกันไปคนละทางสองทาง สหรัฐต้องการอยู่รอดตามลำพัง ในลัทธิปกป้องทางการค้า และการออกจากความตกลงปารีสว่าด้วยโลกร้อน สหภาพยุโรป-ญี่ปุ่น ยึดมั่นในตลาดเสรี

ปูตินแสดงจุดยืนคัดค้านการปกป้องการค้า เห็นว่าเป็นกลไกของมหาอำนาจในการขจัดคู่แข่ง เพิ่มการผูกขาดของตน และยอมรับหลักการความตกลงปารีส

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดียพบปะนอกรอบช่วงสั้นๆ กับ สี จิ้น ผิง แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหากรณีพิพาทชายแดนสามเส้าจีน-ภูฏาน-อินเดียได้ ทั้งที่อินเดียเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกในองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้

นายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีแห่งตุรกีกราดเกรี้ยวต่อเยอรมนีประเทศเจ้าภาพที่ไม่ยอมให้เขาปราศรัยกับชาวตุรกีในเยอรมนี

นอกจากนี้ ยังมีฝูงชนนับหมื่นประท้วงการประชุมอย่างดุเดือด ต้องใช้กำลังตำรวจปราบจลาจลกว่าสองหมื่นควบคุมสถานการณ์

รวมความว่าเป็นการประชุมในความระส่ำระสาย ไม่มีใครฟังใครมากนัก และไม่มีใครนำใครได้ ดูเป็นการจัดกระบวนทัพใหม่มากกว่า ระหว่างสหรัฐฝ่ายหนึ่ง กับที่เหลืออีกฝ่ายหนึ่งจะทำอะไรและอย่างไร เพื่อการศึกใหญ่ข้างหน้า

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงมหาสงคราม